เหล้าของล้านนา-ล้านช้าง ความเป็นมาของเหล้าในตำนาน-พิธีกรรม ถึงยุคนายทุน

จิตรกรรมฝาผนัง วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ชาวบ้าน ล้อมวง ดื่ม เหล้า
ล้อมวงดื่มเหล้า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เหล้า หรือสุราซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวล้านนานั้น มีความเป็นมาช้านานหลายชั่วอายุคน ทั้งนี้เพราะเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เช่น การเลี้ยงผี เป็นต้น จนถึงกับมีวลีติดปากที่พูดกันว่า “เหล้าไห ไก่คู่” นั่นก็คือการใช้เหล้า 1 ไห และไก่ 2 ตัว ในพิธีกรรม อย่างไรก็ตามในสมัยของพญามังราย ซึ่งมีการเลี้ยงผีเมืองที่แจ่งศรีภูมินั้น ใช้เหล้าหนึ่งหมื่น หรือ 10 ขวด ดังปรากฏในตำนานเชียงใหม่ว่า

“…หื้อมีหมูพู้ แข้งเต็มกำตัว 1 เหล้าหมื่น 1 ข้าวสารหมื่นหนึ่ง ผ้าขาวฮำ 1 ผ้าแดงฮำ 1 ข้าวตอกดอกไม้ลำเทียนหมากพลู…”

สำหรับเหล้าที่ใช้ในพิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษนั้น ปรากฏหลักฐานในโคลงเรื่องอุสสาบารส ซึ่งแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพและโคลงดั้นโบราณ กวีนิพนธ์เรื่องนี้มีอายุมากกว่า 500 ปี สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นราวสมัยพญากือนา (พ.ศ. 2000) เนื้อหาในโคลงเรื่องนี้มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการฟายเหล้า คือการเสกเหล้าแล้วดื่มเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและเทวดาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นจารีตประเพณีมาแต่ดั้งเดิม ดังโคลงว่า

บารสรับแพ่งแก้ว   สามที เล่าแล

เชิญราชเสวยสุรา   ขื่นเข้ม

บ่เหมือนดั่งทวาริกา   เมืองเทศ พ้นนา

เป็นแต่ดินด้าวนี้   จืดจาง

อนึ่งในโคลงอุสสาบารสที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ซึ่งต้นฉบับเป็นของวัดป่าฮิ้น จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อความตอนที่กล่าวถึงการฟายเหล้า ดังนี้

บาท้าวยกแพ่งแก้ว   มาฟาย เล่าแล

ผายแผ่แก่เทพยดาหลวงหลาย   ชุห้อง

มเหสักข์หมู่ขุนนาย   อามาตย์ ก็ดีเฮย

ทั้งล่ามสีแกล้วกล้า   พวกน้อยผีสาง

จากตัวอย่างของโคลงอุสสาบารสดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมการฟายเหล้าซึ่งมีมาแต่โบราณกาลแล้ว อย่างไรก็ตามพิธีกรรมการฟายเหล้าดังกล่าวได้สูญหายไป จนไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก รู้แต่เพียงว่าเป็นพิธีเสกเหล้าบูชาผีบรรพบุรุษก่อนที่จะดื่มเท่านั้น

ขายเหล้า-ซื้อเหล้า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามในวรรณคดีโบราณของลาวเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อราว 600 ปีที่แล้ว ก็มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการดื่มเหล้าบูชาเทพยดาอารักษ์หลายครั้งด้วยกัน เช่น

อ้ายคว่างเปื้องปานแกว่ง   เซินจอม

ทุกแดนกอยก่าวหมาย   สวางเสื้อ

ฮักสาพ้อมโดยดอม   พูวะนาด

ด้ำปู่เซื้อเซินพ้อม   พ่ำกิน

(คำแปล)

อ้ายคว่างจับเอาปานเหล้าขึ้นมากล่าวพลีกรรมถึงขุนจอม

เชิญผีอารักษ์ทั่วทุกแดนมาร่วมกินเหล้า

ผีรักษาท้าวเจืองก็เชิญมา

ทั้งผีปู่ผีด้ำทั้งหลายก็เชิญมากินหมด

ส่วนคำฟายเหล้า หรือความฟายเหล้านั้น เป็นพิธีกรรมอวยชัยให้พรก่อนดื่ม คล้ายกับการตำจอก ดังตัวอย่างจากหนังสือวัดทะนะทัมบูฮานลาว เช่น

โอม พระพุดทัง โอมพระทัมมัง โอมพระสังคัง อุทะกัง น้ำอันนี้เป็นน้ำสักสิด กูจักซิดใส่คู่แต่งงาน ก็มีอายุยืนดอมกันเท้าเถ้า มีลูกเต้าล้วนแต่ผู้ดี เป็นเสดถีมั่งมีบ่ไฮ้

กูจักซิดใส่คนทุกข์ไฮ้ ก็เป็นคนล่ำลวย

กูจักซิดใส่ควาย ก็เกิดเป็นควายเขาแก้ว

กูจักซิดใส่ฮ้านค้า เปิดใหม่แล้วก็มั่งมีเงินคำ

กูจักซิดใส่ผู้นำ ก็จักเป็นหลักไซของปะเทด

กูจักซิดใส่นะคะเรด ก็จักเป็นเมืองหลวง

กูจักซิดใส่ปวงนักเฮียน ก็ได้เป็นดีบ่น้อย

กูจักซิดใส่ข้อยข้า ข้อยข้าก็กับต่าวเป็นนาย

กูจักซิดใส่ข้าราชกานผู้น้อยก็มาเกิด เป็นใหย่เป็นโต

กูจักซิดใส่พระสังโค และจัวน้อย ก็จักได้เป็นพระยอดแก้ว

โอมอ่านแล้วด้วยบาดพระคาถาว่า อุ อะ มุ มะ มูนมา

มะหามูนมัง มูนลัง โหนตุ สวาหม

จากโคลงท้าวฮุ่ง ขุนเจือง และหนังสือวัฒนธรรมโบราณลาวดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเหล้ามีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนล้านช้างมาช้านานแล้ว ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า วรรณกรรมที่เป็นมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งนี้ ยืนยันให้เห็นถึงความเป็นมาของเหล้าอันเก่าแก่ ก่อนที่คนไทยและคนลาวจะรับอิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งสังคมในยุคนี้เป็นยุคก่อนรับศาสนา หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (ก่อน พ.ศ. 1800) กลุ่มคน 2 พวก คือพวกที่สูงกับที่ราบ ยังไม่รับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ แต่นับถือผี เช่น ผีฟ้า ผีแถน ผีมด ผีเม็ง ฯลฯ อาจเรียกยุคนี้ว่าก่อนประวัติศาสตร์ เพราะยังใช้เครื่องมือหิน ท้าวฮุ่งอยู่ช่วงปลายยุคนี้

ด้วยเหตุดังกล่าว พัฒนาการของเหล้านับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงมีความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับผู้คนที่ลึกซึ้งยิ่ง

ตำนานเหล้าจากเอกสาร

กำเนิดเรื่องเหล้าของล้านช้างปรากฏในความฟายเหล้า ที่กล่าวถึงนายพรานไปพบน้ำเมาโดยบังเอิญในป่าว่า

“เอกะ เอโก มิกคะรุดโท ยังมีกะทาซายผู้หนึ่ง มันก็บายเอาถงลายมาห้อยบ่า แล้วจิ่งแบกเอาไม้สามง่ามกับแหล้งปืน ไปยืนอยู่ระแวกป่า แล้วจิ่งเหลียวขึ้นเทิง…”

ตำนานการเกิดเหล้าของล้านช้างและล้านนา เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของพุทธศาสนา ที่พยายามดึงให้เหล้าเป็นศีลข้อที่ห้า โดยนิทานซึ่งเขียนขึ้นใหม่นี้ บันทึกไว้ในเอกสารใบลานเรื่อง “มูลละเหล้า” ดังที่พรรณเพ็ญ เครือไทย เป็นผู้สรุปใจความไว้ในสารานุกรมไทย ภาคเหนือ โดยอาศัยใบลานของวัดบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดนางวิสาขา โดยกล่าวถึงความเป็นมาของเหล้าว่า ในเมืองพาราณสีมีพรานป่าผู้หนึ่งชื่อสลา ได้เข้าไปหาผลไม้ในป่าหิมพานต์ และพบต้นไม้ซึ่งภายในกลวงมีน้ำขังอยู่ในโพรง เมื่อผลไม้ต่างๆ หล่นตกลงไปก็แช่อยู่ในนั้น ครั้นนกและสัตว์มากินก็เมามายไม่ได้สติ นายพรานจึงตักน้ำนั้นมากิน พร้อมกับนำเอาสัตว์ที่สลบอยู่มาย่างกินด้วย ต่อมาพรานป่าได้ไปพบฤาษีชื่อวรุณณะ ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในป่าแห่งนั้น จึงนำน้ำเมาและเนื้อย่างไปถวาย ฤาษีกินแล้วก็เมามายจนเลิกบำเพ็ญพรตในที่สุด และเรียกน้ำเมานี้ว่าสุราเมรัย

ต่อมาพรานป่ากับฤาษีได้นำน้ำเมานี้ไปเผยแพร่ในเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตได้ลิ้มรสก็ติดใจ รวมทั้งชาวเมืองทั้งหลายซึ่งเรียกน้ำชนิดนี้ว่าเหล้า แต่ชาวเมืองเมื่อกินแล้วก็ขาดสติยั้งคิด ทำให้เกิดเรื่องร้ายต่างๆ ตามมา นายพรานสลากับฤาษีวรุณณะกลัวความผิดจึงหนีไปยังเมืองสาเกต พระยาเจ้าเมืองทราบข่าวจึงขอให้คนทั้งสองต้มเหล้าขาย ชาวเมืองได้กินแล้วก็เมามาย สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งสองคนจึงพากันหนีไปยังเมืองสาวัตถี พระเจ้าสัพพมิตต์ผู้เป็นกษัตริย์จึงโปรดให้เข้าเฝ้า และสั่งให้หมักเหล้า ๕๐๐ ไห ทั้งสองเกรงว่าหนูจะมากินเหล้า จึงจับแมวมัดติดไหเหล้าตัวละไห บังเอิญน้ำเหล้ารั่ว เมื่อแมวได้กินแล้วก็เมาสลบอยู่ คนรับใช้มาพบเข้าคิดว่าแมวตาย จึงกลับไปกราบทูลให้พระยาเจ้าเมืองทรงทราบว่า ในไหเหล้านั้นมียาพิษ พระเจ้าสัพพมิตต์จึงสั่งประหารชีวิตพรานป่าสลาและฤาษีวรุณณะ

ครั้นเมื่อแมวฟื้นจากอาการหายเมาแล้ว คนรับใช้มาพบเข้าจึงไปกราบทูลให้พระยาเจ้าเมืองทรงทราบ พระเจ้าสัพพมิตต์สงสัยในรสชาติของเหล้า จึงลองกินดูพร้อมกับเสนาอามาตย์ ในขณะนั้นพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็นพระอินทร์ เล็งเห็นมนุษย์กระทำการอันเป็นบาป จึงแปลงเป็นพราหมณ์มาปรากฏกายต่อหน้า พระเจ้าสัพพมิตต์ได้เห็นรัศมีแผ่ออกมาจากร่างกาย ก็ถามพราหมณ์ว่าเป็นพระอินทร์จริงๆ หรือ พระอินทร์จึงกล่าวถึงโทษของเหล้าว่า ถ้ากินในเมืองมนุษย์ก็ทำให้คนขาดสติ สามารถกระทำความชั่วต่างๆ ได้ง่าย หากกินในเมืองสวรรค์ก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน

หลังจากได้รับคำชี้แจงสั่งสอนจากพระอินทร์แล้ว พระเจ้าสัพพมิตต์จึงสั่งให้ทำลายเหล้าทั้ง ๕๐๐ ไหนั้น และเลิกกินเหล้าหันมาถือศีลบำเพ็ญทาน เมื่อตายไปแล้วก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนคนทั้งหลายยังเกิดความเสียดาย จึงเก็บเชื้อเหล้าไว้ ทำให้มีเหล้าแพร่หลายสืบมา ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

ชะตากรรมของเหล้าพื้นบ้าน

จากความเป็นมาของเหล้าที่ยาวนาน และกลายมาเป็นข้อห้ามอย่างหนึ่งในศาสนา รวมทั้งเป็นการปิดกั้นโอกาสของชาวบ้านนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า เหล้าต้มหรือเหล้ากลั่นซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล ได้ถูกนายทุนผูกขาดการผลิตไว้แต่เพียงผู้เดียวมายาวนานกว่าห้าสิบปีแล้ว ดังนั้นพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จึงเป็นสิ่งที่เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย หรือ คลท. พยายามที่จะแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ชาวบ้านได้มีทางเลือกในการผลิตเหล้ากินเอง รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสู้กับสุราต่างชาติ

...แต่จะประสบผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดนั้น กรมสรรพสามิตอาจจะคิดหนักหน่อย เพื่อมิให้กลุ่มทุนรายใหญ่อาศัยข้อได้เปรียบลงแข่งขัน และชาวบ้านต้องต่อสู้อีกหลายขั้นตอน กว่าจะได้สิทธิอันชอบธรรมในการผลิต “เหล้า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

จันมี สิดทิมะโนทัม. วัดทะนะทัมบูฮานลาว. วยงจัน : หนุ่มสาว, 1999.

ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว. โคลงอุสสาบารส. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, 2540.

สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, 2537.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : สยามเพรส, 2542.

สำลิด บัวสีสะหวัด. รีดคองปะเพนีลาว. วยงจัน : สีสะหวาดกานพิม, 2001.

สิลา วีระวงส์. มหากาพย์ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง. วยงจัน : เคเอสกานพิม, 2000.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ, 2538.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560