ทำไมต้องเรียกคำช่างว่า “เพิ่มมุม” แทนคำว่า “ย่อมุม”

เจดีย์ประธานทรงปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ที่มีมุมประธานใหญ่กว่ามุมย่อยที่ขนาบ

ที่ผมใช้คำว่า “เพิ่มมุม” แทนคำว่า “ย่อมุม” สืบเนื่องมาจากลายพระหัตถ์ของสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อธิบาย คำว่า ยกมุม (หรือ เพิ่มมุม) ทั้งทรงระบุด้วยว่า ที่เรียก ย่อมุม นั้นผิด (“ย่อมุม” ที่เรียกกันโดยมีคำอธิบายว่า “แตกมุมใหญ่ให้เป็นมุมย่อย ซึ่งตรงข้ามกับการเพิ่มมุม”)

ขอเพิ่มเติมว่า ลายพระหัตถ์ของสมเด็จ ฯ มีอยู่มากกว่า 1 หรือ 2 ครั้งระบุว่า คำช่างหลายคำ เรียกกันผิด จนผิดกลายเป็นถูกไปแล้ว

ลายพระหัตถ์อธิบายการเพิ่มมุม ว่าเกิดจากการยกเป็น กระเปาะ [“ยกเก็จ” (ที่ผมเลือกใช้คำว่า “เพิ่มมุม” แทนที่จะเรียกยกเก็จ เพราะว่าหากต้องระบุจำนวนมุมที่เพิ่มด้วยจะยุ่งยาก)] ยกที่ใดที่นั่นก็เกิดมุมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างดึงลิ้นชักโผล่จากโต๊ะ จึงทำให้เกิดกระเปาะ มุมที่เกิดจากกระเปาะ คือมุมที่เพิ่มจากสี่มุมของโต๊ะ

ภาพขยายมุมประธานใหญ่กว่ามุมย่อยที่ขนาบของเจดีย์ประธานทรงปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

การเพิ่มมุมมีพัฒนาการแรกเริ่มจากอาคารในสมัยอินเดียโบราณ แพร่หลายมาสู่ดินแดนในภูมิภาคนี้ เช่นเกิดเป็นลักษณะเด่นชัดในศิลปะเขมร คือการเพิ่มมุมของปราสาทเขมร เมื่อสืบเนื่องมาเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ในศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงแรก ก็ยังสังเกตได้ชัดเจนจากกลุ่มมุมที่มีมุมประธานใหญ่กว่ามุมย่อยที่ขนาบ (ภาพแรกและภาพขยาย) เมื่อเข้าสู่ช่วงปลาย ตลอดจนในสมัยรัตนโกสินทร์ มุมทั้งหมดจึงเท่ากัน ไม่มีมุมประธานอีกต่อไป ไม่ว่าเจดีย์ทรงใด ๆ ก็ตาม (สองภาพที่เหลือ)

*สมัยที่ยังรับราชการ ผมชี้แจงที่มาของการ “เพิ่มมุม” โดยไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ ให้นักศึกษาต้องยกเลิกเรียกคำว่า “ย่อมุม”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม

มุมทั้งหมดที่เท่ากัน ไม่มีมุมประธานอีกต่อไป ไม่ว่าเจดีย์ทรงใด ๆ ก็ตาม
มุมทั้งหมดที่เท่ากัน ไม่มีมุมประธานอีกต่อไป

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2560