นาคี นาคา ฉบับวาไรตี้ และเกร็ดความแตกต่างของนาคแต่ละจุดที่ปราสาทพนมรุ้ง

นาค ปลายสะพาน นาคราช สมัย นครวัด ที ปราสาทพนมรุ้ง
นาค ปลายสะพานนาคราช สมัยนครวัด

นาคี นาคา ฉบับวาไรตี้ และเกร็ดความแตกต่างของ นาค แต่ละจุดที่ “ปราสาทพนมรุ้ง”

ผู้เขียนเคยทำงานที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ 2 คราว คราวแรกระหว่างปลายปี 2530-2533 คราวที่ 2 อยู่ระหว่างปี 2534-2535

การปฏิบัติงานในคราวแรก เป็นช่วงที่มีการรณรงค์เรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีผู้คนเข้าเยี่ยมชมปราสาทพนมรุ้งกันมากมาย จนถึงพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 และปลายปีนั้นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงกลับคืนสู่ประเทศไทย และนำไปติดตั้งประดิษฐานตามตำแหน่งเดิม

จังหวะเวลาดังกล่าวทำให้สถิติผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลให้ผู้เขียนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องผลัดกันทำหน้าที่บรรยาย และนำชมประวัติความเป็นมาของปราสาทพนมรุ้งให้แก่แขกผู้มีเกียรติวันละหลาย ๆ คณะ

นาค ปลายสะพานนาคราช ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทพนมรุ้ง
นาค ปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ปราสาทเขาพนมรุ้ง (นาคผู้ชาย)

 

การที่ผู้เขียนเดินขึ้นเดินลงทำให้สังเกตเห็นความผิดแผกแตกต่างของ นาค

โดยเฉพาะนาคที่สะพานนาคราชชั้นล่าง นาคที่สะพานนาคราชชั้นบน และนาคที่สะพานนาคราชชั้นบนด้านในของระเบียงคด ปราสาทพนมรุ้ง

การศึกษาศิลปะขอม อาศัยความแตกต่างของศิลปกรรมเป็นเครื่องกำหนดอายุ โดยเฉพาะนาค ไม่ว่าจะประดับอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณสถาน เช่น นาคปลายซุ้มหน้าบัน ของศิลปะสมัยบันทายศรี-ศิลปะคลัง ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16 มีลักษณะเป็นหน้ากาล มีแขน 2 ข้าง คายนาคที่มีรัศมีเล็กๆ บนเศียรคล้าย ๆ มงกุฎเล็ก ๆ ที่ไม่ติดกันในแต่ละเศียร นาคปลายซุ้มหน้าบันและนาคประดับทางเดิน ของศิลปะสมัยบาปวนครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 เช่น ที่ปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำ มีลักษณะเศียรเกลี้ยง ๆ คล้าย ๆ หัวงูธรรมชาติ หรืออาจจะเรียกให้จำง่ายๆ ว่านาคหัวโล้นก็ได้

ส่วนนาคสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 เช่น ที่ปราสาทพิมาย และพนมรุ้ง มีลักษณะเป็นนาคแผ่พังพาน แต่ละเศียรมีเครื่องประดับเป็นรัศมีที่ติดกันตามแนวนอน และเช่นเดียวกันเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น ให้นึกถึงนาคสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ว่า เป็นนาคที่ใส่มงกุฎแบบนางงามจักรวาลก็แล้วกัน

นาคปลายซุ้มหน้าบัน ศิลปะบันทายศรี-คลัง ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 16

ผู้เขียนลองนึกเล่น ๆ ว่า หากตั้งปัญหาถามผู้ที่เคยไปชมทั้งปราสาทพิมายและปราสาทพนมรุ้งว่า นาคปลายราวสะพานนาคราชของพิมาย และพนมรุ้งมีเศียรกี่เศียร คงมีไม่มากนักที่จะตอบถูก

เพื่อมิให้เป็นปัญหาค้างคาใจ ขอตอบแทนไว้ ณ ที่นี้ว่า นาคพิมายมี 7 เศียร นาคพนมรุ้งมี 5 เศียร หากถามว่าเพราะอะไรจึงมีจำนวนเศียรไม่เท่ากัน ขอตอบว่าไม่ทราบครับ

นาค สมัยบาปวน ปราสาทเมืองต่ำ
นาคสมัยบาปวน ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาทเมืองต่ำ

เมื่อผู้เขียนสังเกตเห็นความผิดแผกแตกต่างของนาคตามที่ต่างๆ ณ ปราสาทพนมรุ้ง ได้ตั้งเป็นข้อสมมติฐาน แล้วกำหนดให้เป็นนาคผู้หญิงและนาคผู้ชาย รวมทั้งเป็นการเล่นคำให้คล้องจองมากยิ่งขึ้น จึงเป็นอย่างหัวข้อเรื่องนี้

ก่อนอื่นผู้เขียนขอซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกันของวิวัฒนาการการสร้างปราสาท ศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลขอม ดังนี้คือ เมื่อเลือกสรรทำเลหรือชัยภูมิเพื่อสร้างปราสาทศาสนสถานได้แล้ว จึงทำการถมอัดปรับพื้นรากฐานให้มั่นคง บรรจุวัตถุมงคลในหลุมศิลาฤกษ์ วางผังให้ตรงแกนทิศตามที่ต้องการ นำก้อนศิลามาวางเรียงก่อซ้อนในส่วนฐาน วางกรอบวงกบประตู ก่อผนังขึ้นเรือนธาตุ ชั้นหลังคา จนถึงบัวยอดปราสาท จนได้รูปร่างทรวดทรงตามที่ต้องการ โดยปรับผิวด้านข้างของก้อนศิลาทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งด้านหน้าเป็น 5 ด้านให้เรียบ แล้วจึงปีนขึ้นไปแกะสลักลวดลาย เช่น เสาประดับผนัง เสาประดับกรอบประตู ทับหลัง หน้าบัน นาคปลายซุ้มหน้าบัน กลีบขนุน บันแถลง เป็นต้น

มิน่าล่ะโบราณเขาจึงกล่าวไว้ว่า “เป็นช่างไม่ตกต่ำ” ซึ่งการแกะสลักลวดลายนี้จะแกะด้านหน้าด้านนอกก่อนเป็นเบื้องต้น ในระยะเวลาต่อมาจึงย้อนมาแกะสลักด้านในและด้านหลัง พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เมื่อสร้างปราสาทประธานได้รูปร่างทรวดทรงเรียบร้อยตามต้องการ แกะสลักลาย แล้วจึงทำสิ่งก่อสร้างเป็นวง ๆ เป็นชั้น ๆ ถัดออกไปจนแล้วเสร็จบริบูรณ์

แต่ส่วนใหญ่แล้วปราสาทศาสนสถานที่สร้างด้วยศิลาอิทธิพลขอมในประเทศไทยไม่เคยทำสำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวเลย มักจะทิ้งร้างค้างคาความไม่สำเร็จให้เห็นอยู่เกือบทุกแห่งไป

นาค ปลายสะพานนาคราช ปราสาทพนมรุ้ง
(ซ้าย) นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ปราสาทพิมาย
(กลาง) นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ปราสาทพนมรุ้ง
(ขวา) นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ปราสาทพนมรุ้ง (นาคผู้หญิง หรือนาครีเซฟชั่น)

สะพานนาคราชชั้นบน ด้านหน้าโคปุระของระเบียงคดปราสาทพนมรุ้ง นาคปลายราวสะพาน ที่แผ่พังพาน 5 เศียรอยู่นั้น หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส สวยสดงดงาม ฟันเรียบเรียงเป็นระเบียบ มีเขี้ยวล่างบนข้างละ 2 รวมเป็น 4 ผู้เขียนกำหนดให้เป็นนาคผู้หญิง ตำแหน่งพนักงานต้อนรับ หรือรีเซฟชั่น ถัดเข้าไปภายใน คือสะพานนาคราชชั้นใน นาคปลายราวสะพาน ที่แผ่พังพาน 5 เศียรเช่นเดียวกัน หน้าตากลับถมึงทึงบนหัวมีเขา ตาพองโต เครายาว มีเขี้ยวล่างบนข้างละ 4 รวมเป็น 8 ผู้เขียนกำหนดให้เป็นนาคผู้ชาย ไว้คอยไล่แขก คู่กันกับฝ่ายรับแขก ซึ่งอยู่ด้านหน้าข้างนอก

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง โปรดสังเกตสิงห์

ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นนักโบราณคดีคนหนึ่งเหมือนกัน ขอเสนอข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นไว้ ณ ที่นี้ว่า นาคปลายราวสะพานนาคราชด้านหน้าโคปุระระเบียงคดด้านทิศตะวันออก ปราสาทพนมรุ้ง ที่แผ่พังพาน 5 เศียร มีรัศมีติดกันเป็นพืดตามแนวนอนเหมือนมงกุฎนางงามจักรวาล เป็นนาคในศิลปะสมัยนครวัด เป็นนาคผู้หญิง ฝ่ายต้อนรับหรือรีเซฟชั่น

ส่วนนาคปลายราวสะพานนาคราชชั้นใน ที่แผ่พังพาน 5 เศียร มีรัศมีติดกันเป็นพืดตามแนวนอนเหมือนกัน แต่ตาพองโต มีเครา เป็นนาคนครวัดชั้นหลังกว่า เนื่องจาก นาคพนมรุ้งมี 5 เศียรครึ่งหลังของสมัยนครวัดนิยมและยอมรับอิทธิพลจีนที่เข้ามาแพร่หลายในอาณาจักรขอมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหน้าตาของนาคผู้ชายคอยไล่แขกจึงไปละม้ายคล้ายคลึงกับสิงห์ ที่พระนารายณ์ประทับบรรทมบนทับหลังปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งนักวิชาการทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า นั่นคือการยอมรับอิทธิพลทางศิลปะจีนที่เข้าไปในเขมร เมื่อครึ่งหลังของสมัยนครวัด

นี่คือที่มาของ นาคี นาคา วาไรตี้

ท่านผู้อ่านเคยเห็นกลักไม้ขีดไฟตราพระยานาคหรือไม่ ถ้าเคยเห็นผู้เขียนขอถามว่าเป็นนาคผู้ชายหรือผู้หญิง

จริง ๆ แล้วเป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่แล้ว โดยดูจากคำหน้านาม แน่นอนว่าพระยานาคต้องเป็นผู้ชาย มิฉะนั้นคงไม่เป็นพระยา ถ้าผู้ผลิตประสงค์จะให้เป็นนาคผู้หญิงคงจะใช้คำว่าไม้ขีดไฟตรานางพญานาค

ถ้าจะถามต่อไปว่า แล้วทำไมพระยานาคจึงต้องทำตัวงอ ๆ โต้คลื่น คำตอบก็คือถ้าทำตัวตรง ๆ ตัวจะยาวเลยกลักไม้ขีดไฟไป

คำถามสุดท้าย พระยานาคที่โต้คลื่นอยู่นั้นเป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็ม หมายความว่าเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทร หรือน้ำจืดในทะเลสาบ

คำตอบคือเป็นน้ำทะเลครับ โดยสังเกตจากลักษณาการของพระยานาค ที่คายน้ำออกจากปากนั่นไงครับ เพราะเค็มจัด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2560