เหตุใดอินจึงตายตามจัน? ดูการจากไปของ อินจัน “แฝดสยาม” และควันหลงที่ตามมา

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก อินจัน ครุ่นคิดถึงการผ่าตัดแยกร่างอย่างสม่ำเสมอ และยิ่งไม่ใช่เรื่องยากที่ต้องตัดสินใจแยกร่างหากคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลงก่อน ในเช้าของวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 (ค.ศ 1874) หลังจากพบว่าจันจากโลกนี้ไปแล้ว ครอบครัวของแฝดสยามได้ส่งข่าวไปถึงนายแพทย์โจเซฟ ฮอลลิงสเวิร์ธ (Joseph Hollingsworth) ซึ่งเป็นหมอประจำครอบครัว เพื่อให้รีบเดินทางมาผ่าตัดแยกร่าง แต่ปรากฏว่าเมื่อแพทย์ผู้นี้มาถึง อินก็หมดลมหายใจเสียแล้ว

ภาพวาดแฝดอิน-จัน เมื่อไปถึงสหรัฐฯ ใหม่ๆ เป็นภาพประกอบบทความในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 4

นายแพทย์ฮอลลิงสเวิร์ธต้องการให้มีการชันสูตรศพ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ทว่าภรรยาหม้ายทั้งสองไม่เห็นด้วย เพราะปริวิตกว่าศพอาจถูกขโมยไปหาประโยชน์ นอกจากนั้นการที่มีผู้เสนอขอซื้อศพของสามีแฝด ก็ทำให้ทั้งสองรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุดร่างของ อินจัน ก็นอนสงบอยู่ในโลงไม้วอลนัต เพื่อให้ญาติมิตรมีโอกาสกล่าวอำลาเป็นครั้งสุดท้ายตามธรรมเนียมฝรั่ง ก่อนนำไปฝังไว้ที่สุสาน

แต่…เรื่องมิได้จบลงอย่างง่ายดายเช่นนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิลเลียม เอช. แพนโคสต์ (William H. Pancoast) แห่งวิทยาลัยแพทย์เจฟเฟอร์สันและคณะ พยายามสุดกำลังเพื่อขอชันสูตรศพ ครอบครัวของอิน-จันปฏิเสธเสียงแข็งได้ไม่นาน ก็ใจอ่อนยอมให้ชันสูตรได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามทำความเสียหายแก่ใบหน้า ศีรษะ หรือส่วนหน้าของร่างกาย

การชันสูตรเริ่มต้นขึ้นที่บ้านของอิน โดยคณะแพทย์ซึ่งประกอบด้วย หมอแพนโคสต์และผู้ร่วมงานอีก 2 ท่าน คือ นายแพทย์แฮร์ริสัน แอลเลน (Harrison Allen) และนายแพทย์ที.เอช. แอนดรูว์ส (T.H. Andrews) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2417 (ค.ศ 1874) หรือ 15 วันกับ 8 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิต แต่ก็ไม่เสร็จสมบูรณ์ คณะแพทย์จึงขอนำร่างคู่ไร้วิญญาณนั้นเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์มึตเตอร์ (Mutter Museum) ในวิทยาลัยแพทย์แห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย

ภาพลายเส้นวาดจากภาพถ่าย ซึ่งถ่ายที่มลรัฐฟิลาเดลเฟีย หลังมรณกรรม ตำแหน่งที่อ้างถึงในรูปนี้อาศัยแฝดอิน-จันเป็นหลักไม่ใช่ตำแหน่งที่มองด้วยสายตาของผู้อื่น (อิน-ขวา จัน-ซ้าย) แสดงให้เห็นท่อนเนื้อและรอยผ่าชั้นแรกจาก a-b และจาก c-d

ในวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ คณะแพทย์ดังกล่าวจึงออกแถลงรายงานการชันสูตรศพ โดยมีใจความสำคัญส่วนหนึ่งว่า “ตับของแฝดสยาม ยื่นผ่านช่องเปิดของท้อง ไปสู่ท่อนเนื้อที่เชื่อมร่างของคนทั้งคู่ไว้” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตับของแฝดอิน-จันเชื่อมต่อกัน ผลของการชันสูตรศพยังบอกด้วยว่า จันเสียชีวิตลงด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ส่วนอินนั้น แม้ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการแน่นอน แต่ก็เชื่อกันว่าเสียชีวิตจากการช็อก

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าว หนังสือ “The Two” กล่าวถึงเพื่อนคนหนึ่งของอิน ชื่อ ไอแซค อาร์มฟีลด์ (Isaac Armfield) ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่แซลลี ภรรยาของอินจัดการเกี่ยวกับศพ เขามีความเห็นว่า อินถึงแก่กรรมเนื่องจากการเสียโลหิต ทั้งนี้เพราะหัวใจสูบฉีดโลหิตไปยังร่างกายของจัน ซึ่งหัวใจหยุดเต้นแล้ว เลือดจากอินจึงไม่ไหลเวียนกลับสู่ร่างของตน

นอกจากอาร์มฟีลด์แล้ว ผู้ช่วยในการชันสูตรนามแนช (Nash) ก็ให้ความเห็นอย่างแข็งขันว่า สาเหตุการตายของอิน คือการเสียเลือดอย่างไม่ต้องสงสัย ทฤษฎีหลังนี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะมีเส้นเลือดเชื่อมระหว่างร่างกายทั้งสองจริง อย่างไรก็ตามสิ่งที่หลายคนตอบไม่ได้คือ หากเลือดไหลไปมาระหว่างกันได้ เหตุใดเมื่อจันเมา อินกลับไม่เมา?

ภาพโปสการ์ดซึ่งพิมพ์จำหน่ายโดยพิพิธภัณฑ์ Mütter เป็นรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ที่หล่อจากร่างของอิน-จัน เมื่อมาถึงพิพิธภัณฑ์มึตเตอร์ถ้าสังเกตจะเห็นเส้นแสดงรอยผ่าเช่นเดียวกับที่เห็นในรูปด้านบน

ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับนายแพทย์อีเบน อเล็กซานเดอร์ (Eben Alexander) ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาท ซึ่งปัจจุบันเกษียณแล้ว แต่ยังเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยเวก ฟอเรสต์ (Wake Forest) ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของครอบครัวบังเกอร์ด้วย เพราะเคยรักษาทายาทในครอบครัวและสนใจในชีวิตของแฝดสยาม รวมทั้งมีประสบการณ์ในการผ่าตัดแยกร่างแฝดมาแล้ว

ท่านให้ความเห็นว่า จากการศึกษาการเสียชีวิตของแฝดลักษณะนี้จำนวนมากมายหลายคู่ในยุคหลังๆ พบว่าแฝดผู้เสียชีวิตทีหลัง มักเสียชีวิตเพราะเลือดไหลไปสู่ร่างของแฝดที่เสียชีวิตไปก่อน แล้วไม่ไหลกลับ ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นเลือดที่ต่อถึงกันในแฝดอิน-จัน มีขนาดไม่ใหญ่ และคงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมต่างฝ่ายต่างไม่ได้รับผลจากยา สุรา หรืออาหารที่อีกฝ่ายหนึ่งบริโภค

ท่านคิดว่า ทฤษฎีดังกล่าวเป็นทฤษฎีที่น่าเชื่อที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราทราบว่าหัวใจของอินยังเต้นอยู่หลังจากจันเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนั้นเส้นเลือดที่มีขนาดเล็กดังกล่าว ยังบอกให้เราทราบว่า อินควรจะเสียชีวิตในเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง มากกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ตามที่บันทึกไว้ ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของท่านเป็นไปได้มาก เพราะจันเสียชีวิตขณะนอนหลับ ไม่มีใครทราบเวลาแน่นอน ที่กล่าวกันว่าอินเสียชีวิตภายหลังจัน 2 ชั่วโมงครึ่งนั้น เป็นการนับเวลาหลังจากที่พบว่าจันเสียชีวิต ไม่ใช่หลังจากเวลาที่จันเสียชีวิตจริง อินอาจเสียเลือดอย่างช้าๆ จนสิ้นชีวิตในที่สุด อาการเหน็บชาตามแขนขาของอินก่อนเสียชีวิตก็คงมีสาเหตุมาจากการเสียเลือดนี่เอง

ภาพวาดแสดงให้เห็นตับที่เชื่อมต่อกัน และเส้นเลือดใกล้เคียง

ในท้ายที่สุดนายแพทย์อีเบนยังคิดว่า ส่วนของตับที่เชื่อมต่อกันนั้น เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่ไม่สำคัญนัก หากแพทย์ในสมัยนั้นกล้าพอที่จะผ่าตัดแยกร่าง ก็มีโอกาสสูงที่แฝดแต่ละคนจะอยู่รอดเป็นบุคคลเดี่ยวได้ ความเห็นของท่านยืนยันคำแถลงการณ์ของสมาคมแพทย์แห่งอเมริกา ซึ่งประกาศในปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) ว่า หากแฝดอิน-จันมีชีวิตอยู่จวบจนขณะนั้น การผ่าตัดแยกตัวจะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของบุคคลทั้งสอง ท่านบันทึกความเห็นส่วนตัวที่เล่าไว้นี้ในบทความสั้นๆ ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)

ป้ายหน้าโบสถ์ บอกทิศทางไปสู่สุสานแก่ผู้มาเยือน

บันทึกการชันสูตรศพ ปรากฏอยู่ในหนังสือของวิทยาลัยแพทย์ประจำฟิลาเดลเฟีย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) อันเป็นแหล่งที่มาของรูปประกอบบางรูปในบทความนี้

สุสานของอิน-จันหลังโบสถ์ที่ไวต์เพลนส์ แม้จารึกไว้ว่าเป็นที่ฝังศพอิน-จันและภรรยาทั้งสอง แต่จริงๆ แล้ว ศพของแซลลี ภรรยาของอินนั้นฝังอยู่ในฟาร์มของอิน

คณะแพทย์ที่พิพิธภัณฑ์มึตเตอร์ ขออนุญาตเก็บตับซึ่งเชื่อมต่ออยู่ด้วยกันนั้นไว้ โดยรักษาไว้ในสารละลายฟอร์มาลิน อย่างไรก็ตามเมื่อร่างของอิน-จันกลับมาถึงบ้าน ก็พบว่าปอดและลำไส้หายไปอย่างลึกลับ ครอบครัวของอิน-จันเรียกร้องหาคำอธิบาย แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มึตเตอร์ยังคงเก็บรักษาหุ่นปลาสเตอร์ที่หล่อจากร่างไร้วิญญาณของแฝดสยามหลังจากเสียชีวิตแล้ว ตลอดจนตับแฝด และนำออกแสดงให้ชมภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย

ภรรยาหม้ายของแฝดอิน-จันตัดสินใจเก็บร่างของคนทั้งคู่ไว้ในห้องใต้ดินประมาณ 1 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้พวกนักขโมยศพเข้ามาหาประโยชน์ ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) จึงย้ายไปฝังไว้ในบริเวณบ้านของจัน แซลลีใช้ชีวิตหม้ายหลังอินเสียชีวิตไปแล้วอีก 18 ปี ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) ด้วยวัย 70 ปี ที่พักพิงสุดท้ายของเธอคือฟาร์มของอิน

ส่วนอะดีเลดนั้น เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) ศพของอิน-จันถูกกู้ขึ้น เพื่อนำไปฝังไว้เคียงข้างกับอะดีเลด ณ สุสานของโบสถ์ไวต์ เพลนส์ (White Plains Church Cemetery) ที่เซอร์รี เคาน์ตี (Surry County) ในนอร์ทแคโรไลนา อันเป็นโบสถ์ซึ่งทั้งสองบริจาคเงินช่วยสร้าง

แม้สิ้นชีวิตไปแล้ว แฝดอิน-จันก็ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

Alexander, Eben. “The Original Siamese Twins : We know why Chang died, but why did Eng?,” in NCMJ. (March-April 2001), pp.66-68.

Allen, Harrison. Transactions of the College of Physicians of Philadelphia. Volume I. 1875, pp.2-46.

Segel, Lawrence M.D. “Together Forever : The life and death of Chang and Eng,” in The Canadian Journal of Diagnosis. (December 2001), pp.54-56.

Warren, John C. “An Account of the Siamese twin brothers, united together from their birth,” in The American Journal of Science and Arts. Hezekiah Howe, 1829, pp.212-216.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เหตุใดอินจึงตายตามจัน?” เขียนโดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566