ม.จ.สิทธิพร กฤดากร วิพากษ์เวทมนต์ในกสิกรรม ชี้ มิอาจสรุปชาวนาโง่-ไม่ใส่ใจเพาะปลูก

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร)

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กสิกร ได้ให้ทัศนะวิพากษ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง “ข้าวแรกนาขวัญ” ตั้งคำถามถึงกระทรวงเกษตราธิการ ดังวาทะว่า

“ทุกคนที่ได้รับการศึกษาทราบดีว่าความรู้ในวิทยาศาสตร์ย่อมทำลายความเชื่อฤทธิ์แห่งเวทมนต์ต่างๆ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลเรามีความหวังในเวทมนต์ เพื่อบำรุงกสิกรรมและเศรษฐกิจของบ้านเมือง การศึกษาของเราก็จะดำเนินทางนั้น คือ ถอยหลังเข้าคลอง”

สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์การส่งออกข้าวเพราะข้าวสยามด้อยคุณภาพทำให้ราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลจึงพยายามเตรียมการหาทางแก้ไขโดยในปี 2469 ได้มีการประชุมหารือในการคัดสรรค์เมล็ดพันธุ์ข้าวโดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์เพื่อหาพันธุ์ที่ให้ผลดกมีลักษณะดีเป็นที่ต้องการของตลาดข้าวโดยเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่า ข้าวปิ่นแก้ว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรได้วางแผนที่จะเพาะและขยายพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วทดลองในที่นาคลองรังสิตก่อนและต่อไปหากได้ผลดีก็จะขยายพันธุ์ไปในตำบลต่างๆ แต่แล้วโครงการทดลองข้าวปิ่นแก้วก็ไม่ได้ดำเนินการต่อเพราะในปี 2471 รัฐบาลได้ทำการแจกพันธุ์ข้าวที่เรียกว่า “ข้าวแรกนาขวัญ” ซึ่งเป็นการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับข้าวปิ่นแก้ว

โดยที่บรรดาพ่อค้าข้าวและผู้ประกอบการโรงสีต่างบอกว่าเป็นข้าวดีจากจังหวัดต่างๆ เมื่อได้พันธุ์ข้าวมาแล้วรัฐบาลก็จะนำข้าวมาประกอบในงานพระราชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แล้วจะทำการส่งกลับคืนไปยังท้องถิ่นเดิมเพื่อแจกจ่ายให้ชาวนาทำการเพาะปลูกสืบไป เมล็ดพันธุ์ข้าวที่รัฐบาลได้ปลุกเสกด้วยเวทมนต์นี้ยังผลปรากฏว่าชาวนามีความเลื่อมใสศรัทธาในพันธุ์ข้าววิเศษด้วยเห็นว่าเป็นข้าวที่ผ่านพิธีมงคลก็จะบันดาลให้การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์

แต่ทั้งนี้หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ควรพินิจพิเคราะห์ให้มากยิ่งขึ้นนั้นก็คือ พันธุ์ข้าวแรกนาขวัญจะให้ผลดีตามศรัทธาของชาวนาได้อย่างไร ในเมื่อข้าวนี้เป็นเพียงข้าวพันธุ์ธรรมดาที่ไม่ได้เลือกสรรคัดจากพันธุ์ที่ให้ผลดกผลดี ก็ไม่มีความหวังอะไรที่จะได้ผลมากกว่าธรรมดา เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า รัฐบาลกำลังอาศัยความเชื่อของชาวนาที่ศรัทธาในเวทมนต์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านการประกอบพิธีกรรมประดิษฐ์ให้หลงเชื่อว่าผลจากพิธีกรรมจะอำนวยมรรคผลอันงอกงามแก่ข้าวในนาของตนเอง

การที่รัฐบาลจะทึกทักหยิบยื่นความหวังดีโดยการช่วยเหลือวิกฤติข้าวในครั้งนี้ก็ควรจะเข้าใจสถานการณ์และคิดให้หนักยิ่งขึ้นเพราะชาวนานั้นมิได้โง่เขลาแต่อย่างใด หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้แสดงทัศนะว่า

“หากจะกล่าวว่าเพราะชาวนานั้นโง่เขลาไม่เอาใจใส่ในการเพาะปลูกนั้นก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่พึงสรุปได้ในทันทีเพราะ ข้าพเจ้าเห็นว่าชาวนาทุกตำบลโดยมากปลูกข้าวชนิดที่ปรากฏมาว่าให้ผลมากที่สุด เฉพาะในดินตำบลนั้นๆทั้งคอยแสวงหาพันธุ์ข้าวที่ดีด้วย ฉะนั้นตำบลต่างๆ มักจะปลูกข้าว 2-3 ชนิดที่ได้เคยเห็นกันมาจากความจริงว่าได้ผลไล่เลี่ยกัน และซึ่งจะนำมาให้ผู้ปลูกอย่างมากที่สุดที่จะเป็นได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่ชาวนาจะเปลี่ยนพันธุ์ ทุกคนจะทดลองดูเล็กน้อยก่อน ถ้าเห็นว่าให้ผลมากจึงจะขยายปลูกในปีหน้า”

สะท้อนให้เห็นว่า ชาวนาในสายตาของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร มีความเป็นวิทยาศาสตร์เนื่องจากมีการทดลองและสรุปผลจากการทดลองปลูกเพื่อค้นหาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลดีต่อชาวนามากที่สุด ทำให้อดคิดและสงสัยถึงการกระทำของรัฐบาลที่ต้องการบำรุงกสิกรรมและเศรษฐกิจบ้านเมืองโดยหวังพึ่งในเวทมนต์ที่ตั้งอยู่บนฐานความศรัทธาของชาวนานั้นจะดำรงอยู่ได้ต่อไปอีกนานเพียงใด หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรยังได้แสดงทัศนะในการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวแรกนาขวัญว่า

“ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษาคงจะรู้ศึกษาว่าการพึ่งเฉพาะความเชื่อในเวทมนต์เท่านั้นอาจจะมีอันตรายไม่น้อยถ้าเชื่อในเวทมนต์ หากได้รับความสนับสนุนโดยวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นความสำเร็จมากกว่ากล่าวคือถ้าได้ทำการคัดเลือกพันธุ์หาตระกูลดกและมีแปลงพิสูจน์นาขยายพันธุ์อย่างที่กะไว้แต่เดิมและเมื่อได้พันธุ์ที่ให้ผลดกถ้าจะเรียกเป็นข้าวแรกนาขวัญก็ไม่มีความเสียหายเลย”

อนุสาวรีย์หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ณ ศูนย์วิจัยหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภาพถ่ายโดย ศุภมาศ วงศ์ไทย)

การวิพากษ์เรื่องข้าวแรกนาขวัญ โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ท่านมีความหวังว่ากระทรวงเกษตราธิการจะพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน แต่ดูเหมือนการคาดการณ์ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรปรากฏผลเร็วเกินคาดเพราะในปี 2472 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำราคาข้าวตกเป็นครั้งใหญ่ซึ่งเป็นผลกระทบจากปีก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ลดลงและลำบากแต่ไม่ถึงกับสูญเสียที่ดิน รัฐบาลได้รับใบฏีกาขอยกเว้นอากรค่านาเป็นจำนวนมากจนต้องมีการผ่อนปรนยอมลดอัตราอากรค่านาให้กับชาวนา

สะท้อนให้เห็นว่าการที่รัฐบาลหวังในคุณแห่งเวทมนต์จากพิธีกรรมประดิษฐ์นั้นมิได้สอดคล้องกับยุคสมัยแห่งวิทยาศาสตร์ที่ควรสนับสนุนความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์แก้ไขปัญหาเพื่อหาผลลัพธ์อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

 


แหล่งอ้างอิง :

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร, “บทความของและเกี่ยวกับ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร,” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร. (พระนคร: สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, มปป.)

คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557)


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562 และปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 11 กันยายน 2563