พระฤาษีขี่รุ้ง (กินน้ำ) ไม่ใช่พญาเหยี่ยวรุ้ง

ภาพรุ้งกินน้ำโดย LeonardoWeiss, ภาพรูปปั้นฤาษีโดย Srikar Kashyap (via Wikimedia Commons)

ผมได้อ่านศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๓ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ คุณบรรบต เวชกามา ได้นำเสนอมความคิดและเชื่อฝังใจว่า ท่านครูสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีให้พระฤาษี “ขี่พญาเหยี่ยวรุ้ง” ไม่ใช่ “ขี่รุ้งกินน้ำ” และลงท้ายว่า ใครไม่เห็นด้วยก็ว่ามา!

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ครั้นจะไปถามครูสุนทรภู่ว่าความจริงเป็นเช่นไร ก็คงหาคำตอบจากท่านไม่ได้ เพราะท่านลาลับดับขันธ์ไปร่วมสองร้อยปี จึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นดังประการฉะนี้

ถ้าดูจากถิ่นที่อยู่ของพญาเหยี่ยวรุ้งตามที่ท่านกล่าวมา ว่ามีอยู่มากมายตามท้องนา แต่ภูมิทัศน์ในเรื่องพระอภัยมณีส่วนใหญ่นั้นจะเกี่ยวพันอยู่กับน้ำทะเลและท้องฟ้า เมืองต่างๆ ที่กล่าวมาโดยมากก็อยู่บนเกาะ การเดินทางของตัวละครก็สัญจรไปตามทางน้ำทะเลเสียส่วนใหญ่ มีเรือสำเภาเป็นพาหนะ และอาศรมของพระฤาษีก็มีถิ่นที่อยู่บน “เกาะแก้วพิสดาร”  ที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ ดังนั้น แถบชายฝั่งหรือท้องทะเลจะ “มีพญาเหยี่ยวรุ้ง” ปรากฏให้เห็นดังเช่นท้องนาได้อย่างไรหนอ?

จินตนาการของท่านครูสุนทรภู่ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ พิสดารผนวกกับอภินิหารมากมายในเรื่องพระอภัยมณี บนเกาะแก้วพิสดารของพระฤาษีที่ท่านครูสุนทรภู่รังสรรค์ให้พวกเราได้อ่าน ก็จะมีแต่พวกต่างชาติต่างภาษาอยู่นับร้อยที่รอดตายจากสำเภาอับปางแล้วมาอาศัยอยู่กับพระฤาษีซึ่งมีฤทธิ์เดช มีตบะฌานกล้า มีญาณวิเศษ การขี่รุ้ง (กินน้ำ) ย่อมแสดงให้เห็นถึงการเดินทางอย่างรวดเร็วด้วยอภินิหารมากกว่าการใช้สัตว์ อย่างเช่น พญาเหยี่ยวรุ้งเป็นพาหนะในการเดินทาง

ก่อนจะเข้าประเด็น “ขี่รุ้ง” ผมขอยกประเด็น “ขี่เมฆ” ก่อน เพราะตอนที่สุดสาครลาพระฤาษีมาตามหาพระอภัยมณี ได้เดินทางทาพบกับเมืองของท้าวปักกา ที่ล่มและจมอยู่ใต้สมุทรก่อนที่จะเดินทางถึงเมืองการะเวก แล้วต้องต่อสู้กับพวกผีดิบมากมายนานถึงเจ็ดวัน ครั้งนี้พระฤาษีมาช่วยสุดสาคร ซึ่งท่านครูสุนทรภู่ได้แต่งให้พระฤาษี “ขี่เมฆ” มาช่วยดังคำกลอนที่กล่าวว่า

“ทั้งตัวสุดสาครก็อ่อนจิต

รำลึกคิดถึงเจ้าตาที่อาศรม

พอเสียงดังหงั่งหง่างมากลางลม

ปีศาจจมหายวับไปลับตา

เห็นโยคี ‘ขี่เมฆ’ มาเสกเวท

จึงอาเพทพวกผีหนีคาถา

ขึ้นหยุดยั้งนั่งบนใบเสมา

ไหว้เจ้าตาทูลถามดูตามแคลง”

(จากพระอภัยมณี หน้า ๓๘๐)

ในตอนนี้ผมวิเคราะห์ว่าสุดสารครคงจะมายังไม่ไกลจากเกาะแก้วพิสดารมากนัก เพียงแค่จิตรำลึกถึงพระเจ้าตาเท่านั้น พระฤาษีก็แจ้งด้วยญาณวิเศษ แล้วก็ขี่เมฆามาช่วยได้เลย และได้เล่าเรื่องเมืองที่จมมหาสมุทรให้สุดสาครฟัง เสร็จก็หายตัววับกลับไปทันที

สำหรับ “ตอนสุดสาครตกเหว” นั้น สุดสาครเดินทางมาห่างไกลจากเกาะแก้วพิสดารมากที่สุดที่จะคณานับได้ ดังนั้น ตอนอยู่ในเหวถึงจะรำพึงรำพันอย่างไร กระแสจิตก็ยังไม่สามารถส่งไปถึงพระฤาษีได้เร็วทันใจ ดังกลอนที่กล่าวว่า

“โอ้เจ้าตาอาจารย์ของหลานเอ๋ย

พระองค์เคยค่ำเช้าเฝ้าสั่งสอน

มาครั้งนี้ชีวาตม์จะขาดรอน

พระอาจารย์มารดรไม่เห็นใจ

เมื่อต่อตีผีดิบสักสิบโกฏิ

พระมาโปรดหลานรักไม่ตักษัย

โอ้ครั้งนี้มิรู้ด้วยอยู่ไกล

ไม่มีใครบอกเล่าพระเจ้าตา”

(จากพระอภัยมณี หน้า ๓๙๐)

สุดสาครร้องไห้รำพันจนสลบไปอีกนานพอสมควรกว่าจะฟื้น

ตรงนี้ผมคิดว่าจินตนาการของครูสุนทรภู่ต้องการสร้างอิทธิฤทธิ์และความมหัศจรรย์ของพระฤาษีให้เห็นมากยิ่งขึ้นไปอีก ต้องการให้เห็นว่าเดินทางมาอย่างรวดเร็วกว่าตอนแรกที่ขี่ก้อนเมฆสีขาว และท่านคงต้องการให้เห็นเป็นลำแสงที่พวยพุ่งออกมาเพื่อจะได้ช่วยหลานได้ทันการณ์ ถึงแม้ว่าตามธรรมชาติรุ้งที่เกิดขึ้นเป็นลำแสงมีเจ็ดสีโค้งพาดผ่านท้องฟ้ามาจรดพื้นน้ำจนเราเรียกกันว่า “รุ้งกินน้ำ” จะเกิดขึ้นหลังฝนตกก็ตาม แต่รุ้งกินน้ำก็เป็นปรากฏการณ์ที่มีละอองน้ำมารวมตัวกัน ผมเห็นว่าเกาะแก้วพิสดารมีน้ำทะเลล้อมรอบ อาจมีการรวมตัวของละอองน้ำแล้วไปกระทบกับแสงแดดน่าจะทำให้เกิดรุ้งได้ และไม่จำเป็นว่าต้องเกิดขึ้นหลังฝนตกเพียงอย่างเดียว สามารถเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีฝนตกก็ได้ เหตุผลนี้คือข้อสันนิษฐานที่ผมเสนอให้เห็นเรื่องรุ้งที่มาจากเกาะแก้วพิสดาร

อีกประการก็คือ ในเรื่องพระอภัยมณี พระฤาษีเลี้ยงคนไว้มากมายหลายชาติ และท่านครูสุนทรภู่มิได้กล่าวถึงสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์ปีกให้เห็นที่เกาะแก้วพิสดาร จะมีก็แต่สัตว์น้ำและสัตว์ประหลาด เช่น ม้านิลมังกร กอปรกับอิทธิฤทธิ์ที่พระฤาษีมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นพระคาถาอาคมพระเวทต่างๆ ผมจึงเห็นว่าท่านครูสุนทรภู่สร้างอภินิหารให้พระฤาษี รวมทั้งการเหะเหินเดินอากาศ การขี่เมฆ การขี่รุ้ง การหายตัว ฯลฯ ทุกอย่างทำได้ทั้งสิ้น

ผมจึงขอฟันธงเลยว่า ท่านครูสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีให้ฤาษี “ขี่รุ้ง” (กินน้ำ) มาช่วยสุดสาครด้วยอิทธิปาฏิหาริย์แน่นอนผมคิดของผมอย่างนี้ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับคุณบรรพตว่า พระฤาษี “ขี่พญาเหยี่ยวรุ้ง”

สมชาย ฟ้อนรำดี

วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี ถ.รามเดโช

ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี ๑๕๐๐๐