ทำไม “นางอัปสร” ถูกเปรียบว่าเป็น “โสเภณีแห่งสรวงสวรรค์” ?

นางอัปสร คือ นางรัมภา ยั่วยวน ผู้ทรงศีล
นางรัมภาพยายามยั่วยวนผู้ทรงศีล (R. Varma, 1894. Credit: Wellcome Library, London.)

ทำไม “นางอัปสร” จึงถูกเปรียบว่าเป็น “โสเภณี” แห่งสรวงสวรรค์?

เรื่องนี้ผู้เขียนมิได้เป็นผู้นึกทึกทักขึ้นมาเอง แต่นี่เป็นคำเปรียบเปรยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกล่าวไว้ในบทกวีที่เล่าถึงที่มาของพวกนาง

แต่ก่อนจะว่าถึงบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ขอเท้าความถึงที่มาของ “นางอัปสร” ด้วยภาษาง่ายๆ กันสักเล็กน้อย ท่านเสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้เป็นราชบัณฑิตเล่าว่า นางอัปสรนี้น่าจะเป็นคนละพวกกับนางฟ้า เทพธิดา ตามตำนานท่านบอกว่า พวกเธอเกิดมาจากพิธีกวนน้ำอมฤต

และที่พวกเธอได้ชื่อว่า “อัปสร” ก็เพราะพวกเธอเกิดจากน้ำ ด้วยคำว่า “อัป” นั้นแปลว่าน้ำ ส่วนคำว่า “สร” ก็แปลว่า เคลื่อนไหว นั่นเอง

นางอัปสร เป็นผู้ที่มีทั้งความงามและความสามารถในการร้องรำทำเพลง แต่ความงามของพวกเธอกลับไม่ได้รับความสนใจจากเหล่าเทวดา ที่มัวแต่จดจ้องรอแย่งชิงน้ำอมฤตกับเหล่าอสูร

เมื่อไม่มีใครรับ นางอัปสร จึงกลายเป็นของกลางที่คอยบำเรอเหล่าเทพ เป็นดั่ง โสเภณี ในสรวงสวรรค์ เหมือนในพระราชนิพนธ์เรื่องนารายณ์สิบปาง ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงบรรยายว่า

ที่สี่ที่ขึ้นจาก   ชลา ลัยฤา              

คือคณาอัปสร   เฉิดแฉล้ม

รูปโฉมสุดโสภา   หาเปรียบ ไม่เลย

งามเนตรงามเกศแก้ม   ก่องฉวี

ท่วงทีมารยาทล้วน   ยวนใจ

เสียงเสนาะขับรำ   ร่ำร้อง

แต่หาสุรเทพใด   รับบ่ มีเลย

เหตุฉะนั้นจึงต้อง   อยู่ลอย

คอยบำเรอเทพไท้    เปรมปรีดิ์

ยามเทพใดมีทุกข์   ช่วยแก้

เปรียบโสภิณีนางในโลก   มนุษย์แล

เป็นแบบแต่นั่นแล้   สืบมา

ด้านราชบัณฑิตเสฐียรพงษ์บอกว่า หลังเหล่านางอัปสรถือกำเนิดขึ้น พระอินทร์ได้รับเอานางอัปสรไปเป็นนางบำเรอจำนวนมาก ราวกับจะตั้งตัว “พ่อเล้า” ที่นอกจากจะเอาไว้เชยชมเองแล้ว ยังใช้นางอัปสรเป็นเครื่องมือในการทำลายตบะของบรรดาฤาษีชีไพร ด้วย

หากฟังท่านเสฐียรพงษ์เล่า สำเนียงของท่านออกจะว่าร้ายพระอินทร์สักนิด ว่าที่พระอินทร์แกต้องคอยทำลายตบะผู้ถือศีล เป็นเพราะกลัวว่าใครจะมาแย่งตำแหน่งของแกเข้า จึงต้องส่งนางอัปสรไปทำให้เขาตบะแตก

นั่นก็จริงอย่างท่านว่า แต่ถ้าไปลองฟังคนที่เข้าข้างพระอินทร์ก็จะบอกว่า ที่ท่านทำไปก็เพื่อรักษา “ระเบียบ” แห่งไตรภูมิ จะปล่อยให้มนุษย์ธรรมดาๆ มีอิทธิฤทธิ์ถึงขั้นทำให้สามโลกต้องปั่นป่วนมิได้

พูดให้ง่ายก็คือ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็จงใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ เกิดเป็นนางอัปสรก็ต้องเชื่อฟังเทพผู้เป็นนาย นางอัปสรจึงต้องใช้เสน่ห์ทางเพศคอยยั่วยวนผู้ทรงศีลตามที่พระอินทร์ท่านต้องการ พวกเธอจึงต้องรับบาปเคราะห์จากสถานภาพที่เธอเลือกมิได้

ตัวอย่างมีในตำนานของฤาษีวิศวามิตรผู้เคร่งฌาน ที่ถูกพระอินทร์ส่งนางอัปสรชื่อ “เมนถา” มาฉอเลาะจนท่านฤาษีเคลิบเคลิ้ม สมสู่จนมีลูกด้วยกันนามว่าศกุนตลา

ภายหลังท่านฤาษีจึงบำเพ็ญฌานอย่างหนักจนตบะ “แข็งโป๊ก” กว่าเดิม ด้านพระอินทร์จึงแก้เกมด้วยการส่งนางอัปสรที่สวยที่สุดในสวรรค์ชื่อว่า “นางรัมภา” มาทำลายตบะของท่านฤาษีอีก แต่คราวนี้ท่านฤาษีไม่เอาด้วย

นางรัมภาจึงถูกฤาษีวิศวามิตรสาปให้กลายเป็นหินถึงหมื่นปี นางอัปสรคนงามจึงกลายเป็นแพะรับบาปของการชิงดีชิงเด่นระหว่างชายผู้มีอิทธิฤทธิ์สองท่านไป

ภาพสลัก นางอัปสร
ภาพสลักหินรูปเทพอัปสร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“เทวดาแก้ผ้า” ใน ผีสางคางแดง โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3, พ.ศ. 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2559