ต้นตอของ “จัตุรัสทราฟัลการ์” แลนด์มาร์ก-ศูนย์กลางประชาธิปไตยอังกฤษที่ราชวงศ์ไทยทรงพาชม

ภาพจัตตุรัสทราฟัลการ์ ใจกลางลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2005 ที่มีประดับตกแต่งต้นไม้ เพื่อรำลึกถึงไวน์มีชื่อจาก Loire Valley ประเทศฝรั่งเศส CARL DE SOUZA / AFP

ในบรรดาสถานที่สำคัญเชิงการท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์ของอังกฤษ จัตตุรัสทราฟัลการ์นับเป็นอีกหนึ่ง “แลนด์มาร์ก” ที่น่าสนใจ แม้แต่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ยังทรงฉายพระรูปบริเวณนี้พร้อมอธิบายว่าเป็น “แลนด์มาร์กประชาธิปไตย” ที่สำคัญของประเทศอังกฤษ

ภาพในอินสตาแกรม (Instagram) ส่วนพระองค์ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี แสดงให้เห็นภาพขณะพระองค์เสด็จเยือนประเทศอังกฤษ โดยทรงฉายพระรูปในสถานที่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างจัตตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) ข้อความตอนหนึ่งที่โพสต์ลงเมื่อช่วงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เขียนว่า

“Trafalgar Square ยามค่ำคืน มืดตึ๊ดตื๋อตอนนี้ ก็ให้ feeling ไปอีกแบบนึง อันที่จริงที่ Trafalgar Square เป็น Landmark สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงลอนดอน เพราะเป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตยของประเทศอังกฤษ (ไม่ใช่ประเทศไทยนะ!) Mayor เขาสนับสนุนเต็มที่ถ้าใครจะประท้วงอะไร หรือแสดงออกอะไรก็มาได้เลย!

ตรงกลางมีรูปปั้นของ Admiral Nelson ผู้เอาชนะนโปเลียไทยนะ!) Mayor เขาสนับสนุนเต็มที่ถ้าใครจะประท้วงอะไร หรือแสดงออกอะไรก็มาได้เลย!นได้ เรียกว่า Nelson’s Column นอกจากนั้นที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์รูปภาพชื่อ National Gallery ด้วย เราเลยได้ไปถ่ายภาพกับสิงโตบอดี้การ์ดของ Admiral Nelson 1 ใน 4 ตัวด้วย แต่ปีนขึ้นไปไม่ได้อย่างที่อยากทำ เพราะมันลื่น” (อ่านเพิ่มเติม ทูลกระหม่อม ทรงพาทัวร์ ‘แลนด์มาร์คประชาธิปไตย’ ของคนอังกฤษ)

จัตตุรัสแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การรบระหว่างอังกฤษกับนโปเลียน แห่งฝรั่งเศส ช่วง ค.ศ. 1803-1815 และที่สำคัญคือครั้งการรบที่วอเตอร์ลู (Waterloo)

ความเป็นมาของการรบที่วอเตอร์ลู ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นโปเลียนสิ้นอำนาจต้องย้อนเริ่มต้นจากการลงประชามติ ช่วงกลางปี ค.ศ. 1804 ประชาชนฝรั่งเศสส่วนใหญ่เห็นชอบให้นโปเลียนเป็นจักรพรรดิ หลังจากนั้นการรวมกำลังพันธมิตรครั้งที่ 3 เพื่อต่อต้านฝรั่งเศสก็เริ่มต้นขึ้น

ฝ่ายพันธมิตรในครั้งนี้ประกอบด้วย อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรีย และสวีเดน การรบครั้งสำคัญคือยุทธนาวีทราฟัลการ์ วันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1805 กองเรืออังกฤษภายใต้การนำของนายพลโฮราชิโอ เนลสัน (Horatio Nelson) โจมตีกองเรือผสมของสเปนและฝรั่งเศสที่แหลมทราฟัลการ์ (Cape Trafalgar ปลายสุดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน มณฑลคาดิซ) กองเรือผสมพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

รูปปั้นนายพล Horatio Nelson ที่จัตตุรัสทราฟัลการ์ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ม.ค. 2006 ภาพจาก JOHN D MCHUGH / AFP

ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตถึง 2,218 นาย เทียบกับที่อังกฤษสูญเสีย 458 นาย เรือรบฝรั่งเศสถูกยึด 11 ลำ เป็นที่น่าเสียดายเมื่อนายพลเนลสัน เสียชีวิตในการรบครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม วีรกรรมของนายพลก็ได้รับความยกย่องอย่างสูง และเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้นโปเลียนไม่สามารถใช้กองทัพเรือบุกอังกฤษได้อีกต่อไป และต้องหันเหไปใช้กำลังทางบก

หลังทำสงครามประสบชัยหลายครา จนมาสู่สนธิสัญญาสันติภาพทิลสิต (9 กรกฎาคม ค.ศ. 1807) นโปเลียน ทรงสถาปนาอำนาจของฝรั่งเศสเหนือยุโรปบนภาคพื้นทวีปได้ นับจากประเทศสเปนทางตะวันตกเฉียงใต้ถึงรัสเซียทางตะวันออกเฉียงเหนือ เหลืออังกฤษประเทศเดียวที่ยังไม่ตกใต้อำนาจของนโปเลียน

หลังจากนั้นมา ฝรั่งเศส กับอังกฤษต่างปะทะกันทั้งทางนโยบาย และยุทธนาวีระหว่างอังกฤษกับชาติพันธมิตรของฝรั่งเศส

กระทั่ง พฤศจิกายน ค.ศ. 1807 อังกฤษออกคำสั่งห้ามเรือชาติที่เป็นกลางทำการค้ากับฝรั่งเศส หรือพันธมิตรของฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนตอบโต้ด้วยการออกพระราชโองการมิลาน (The Milan Decree) มีเนื้อหาระบุบทลงโทษยึดเรือและสินค้าเรืออังกฤษ, เรือที่ทำตามคำสั่งของอังกฤษ หรือมาจากท่าเทียบเรืออังกฤษ หากเรือเหล่านี้เทียบท่าเรือฝรั่งเศส

ไม่นานนัก หลายประเทศที่เดือดร้อนเริ่มมีปฏิกิริยาต่อระบบปิดกั้นนี้และทวีความรุนแรงกลายเป็นสงครามคาบสมุทร (The Peninsular War) ระหว่าง ค.ศ. 1808-1814 เริ่มต้นจากโปรตุเกสที่ไม่ยอมร่วมมือตามพระราชโองการของนโปเลียน ทำให้นโปเลียนต้องส่งกองทัพไปยึดทั้งโปรตุเกส และสเปน ในปี ค.ศ. 1808 หลังจากนั้น นักชาตินิยมโปรตุเกส และสเปน ทำสงครามกองโจรสู้กับฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครอง และขอให้อังกฤษช่วยเหลือ

อังกฤษส่งเซอร์ อาร์เธอร์ เวลเลสลีย์ (Sir Arthur Wellesley) ซึ่งภายหลังเป็นดยุคแห่งเวลลิงตันนำทัพพันธมิตรปราบกองทัพนโปเลียนที่วอเตอร์ลู (ในดินแดนของเบลเยียม) เมื่อ ค.ศ. 1815 (ภายหลังยังเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ค.ศ. 1828-1830 นำทหารตั้งฐานปฏิบัติการในโปรตุเกส ทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพฝรั่งเศส)

กองทัพของพระเจ้านโปเลียน มีกำลังพล 73,000 นาย กองทัพผสมฝ่ายพันธมิตรรวมแล้วมีกำลังพล 118,000 นาย เป็นอังกฤษถึง 31,000 นาย

ผลการรบ พระเจ้านโปเลียนสูญเสียกำลังพล 24,000-26,000 นาย หนีทัพอีก 15,000 นาย พระเจ้านโปเลียนต้องสละราชสมบัติ (อีกครั้ง) ในปี 1815 และกลายเป็นนักโทษทางการเมือง โดยอังกฤษคุมตัวพระองค์ที่เกาะเซนต์ เฮเลนา (Saint Helena) ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ พระเจ้านโปเลียนสิ้นพระชนม์ที่เดียวกันในปี 1821

“จักรพรรดินโปเลียนที่ 1” ภาพเขียนโดย Jacques-Louis David (via Wikimedia Commons)

ขณะที่ฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามรวม 700 ล้านฟรังค์ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดูแลทหารพันธมิตรรวมกว่าแสนนายที่วางกำลังในดินแดนฝรั่งเศสตามแนวพรมแดน 5 ปี

ช่วงเวลาระหว่างนั้นเป็นรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงครองราชย์นานถึง 60 ปี (1760-1820) แต่หลังจากนั้นเป็นพระราชโอรส พระเจ้าจอร์จที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ พระองค์ทรงมีลักษณะตรงกันข้ามกับพระบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความเรียบง่าย, จริงใจ และมีสามัญสำนึก ขณะที่พระเจ้าจอร์จที่ 4 ทรงเป็นนักดื่ม มีหนี้สิน และล้มเหลวกับการอภิเษกสมรส

ช่วงที่พระเจ้าจอร์จที่ 4 ครองราชย์แทนพระราชบิดาเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 10 ปี (1820-1830) สภาพสถาบันกษัตริย์เสื่อมความนิยมลง

ต่อมาเป็นรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 (1830-1837) ทรงเป็นพระอนุชาของพระเจ้าจอร์จที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐา เมื่อพระองค์พระชนมายุ 65 พรรษาแล้วทำให้มิได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเหมือนพระบิดา แต่พระองค์ยังถือเป็นกษัตริย์ทหารเรือ จากที่ทรงรับราชการเป็นทหารเรือมาตลอด และยังถือเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญคือการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1832 ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอังกฤษในระยะต่อมา



อ้างอิง: 

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561