ศาลเจ้าไม่ได้มีดีแค่ขอพร แต่สอนเรื่องฮวงจุ้ย

ศาลเจ้า

นอกจากไหว้เจ้าที่บ้านแล้ว ท่านตั้งใจจะไปไหว้เจ้าที่ไหนกันบ้าง มิได้ เราไม่ได้มาชวนให้ท่านไปไหว้เจ้า 9 ศาล เพราะศรัทธาความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่อยากชวนท่านชมสถาปัตยกรรมของ “ศาลเจ้า” ที่ท่านตั้งใจจะไป เพราะวิทยาการแขนงหนึ่งของจีนที่เรียกว่า “ฮวงจุ้ย” หรือชัยภูมิ ดูได้จากอาคารบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งอาคารแบบจีนที่หาดูได้ง่ายในไทยคงไม่มีอื่นได้นอกจาก “ศาลเจ้า”

ไม่ว่าจะเป็นแผนผังอาคาร, โครงไม้สร้างรับน้ำหนัก, รูปแบบอาคารทางเข้า, เครื่องบน ฯลฯ จึงมีหลักของฮวงจุ้ยเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างส่วนต่างๆ สอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม

ขอยกตัวอย่าง 2-3 เรื่อง ที่ ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ” (สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2561)  นั่นก็คือ หน้าบัน และหลังคา

แม้หน้าบันส่วนใหญ่ของศาลเจ้า ที่นอกจากจะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วแล้ว ยังมีหน้าบันแบบอื่นอีก เช่น ในสถาปัตยกรรมเฉาซ่าน หน้าบันมีการสร้างตามวิชาการทางฮวงจุ้ย ดังนี้ หน้าบันธาตุทอง, ไม้, น้ำ, ไฟ และดิน เมื่อมีหน้าบันตามธาตุพื้ฐานทั้ง 5 หลังคาของศาลเจ้าจึงสร้างให้สอดคล้องกับธาตุของหน้าบันด้วย ดังนี้

ลักษณะ หน้าบัน แบบต่างๆ ของ ศาลเจ้า
หน้าบันทรง 5 ธาตุ (จากซ้ายไปขวา) แถวบนธาตุทอง, ไม้ และดิน แถวล่าง ธาตุน้ำ และไฟ (ภาพจากหนังสือศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ)
อาคารของศาลบรรพชน หมู่บ้านหลงหู เมืองเฉาโจว
ภาพที่ 3-63 อาคารของศาลบรรพชน หมู่บ้านหลงหู เมืองเฉาโจว ใช้หลังคาชั้นเดียว (ภาพจาก ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ)

“ในงานสถาปัตยกรรมเฉาซ่านก็พบว่าหลังคาที่มีหน้าบันธาตุต่างๆ (ยกเว้นหน้าบันธาตุไฟ) นิยมสร้างทั้งชั้นเดียว (ภาพที่ 3-63) และซ้อน 2 ชั้น โดยสำหรับอาคารหลังคาซ้อน 2 ชั้น สังเกตได้ว่าหากเป็นหลังคาธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุทอง และธาตุดิน ช่างนิยมใช้หลังคาที่มีธาตุเดียวกันซ้อนไว้ที่ชั้นบน (ภาพที่ 3-64)

แต่ในส่วนของหลังคาที่มีหน้าบันธาตุไฟนั้น ไม่พบว่ามีการสร้างหลังคาที่มีหน้าบันธาตุไฟชั้นเดียว และหลังคาหน้าบันธาตุไฟซ้อน 2 ชั้น แต่กลับพบว่านิยมนำหลังคาที่มีหน้าบันธาตุไฟซ้อนทับบนหลังคาที่มีหน้าบันธาตุอื่นๆ (ภาพที่ 3-65)…”

หลังคา ซ้อนทับ แบบ จีน และ ศาลเจ้าท ศาลเจ้าเทียนโหว ศาลเจ้ากวนอู
ซ้าย (ภาพที่ 3-64) หลังคาที่มีหน้าบันธาตุทองซ้อนกัน 2 ชั้น,, ขวา (ภาพที่ 3-65) ศาลเจ้าเทียนโหวและศาลเจ้ากวนอู เมืองซ่านโถว อาคารทางเข้าของทั้ง 2 ศาลทำเป็นหลังคาซ้อน 2 ชั้น ด้านบนเป็นหลังคาหน้าบันธาตุไฟ ด้านล่างเป็นธาตุไม้ (ภาพจากหนังสือศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ)

ซึ่งการเลือกก่อสร้างและตกแต่งศาลเจ้าแต่ละแห่งนั้น มีคติความเชื่อและวัฒนธรรมของจีนกลุ่มใหญ่ 5 ภาษาในไทย (แต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, กวางตุ้ง, ฮากกา) เป็นตัวกำหนด ศาลเจ้าจึงเป็นภาพสะท้อนกลับไปที่อัตลักษณ์คนจีนโพ้นทะเลเหล่านั้น

งานประดับกระเบื้อง บน หลังคา ของ ศาลเจ้า ศาลเจ้าเกียนอันเกง
งานประดับกระเบื้องตัดบนสันหลังคาอาคารทางเข้าศาลเจ้าเกียนอันเกง (ภาพจากหนังสือศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2561