กำเนิด “ถนนข้าวสาร” จากคลองสู่ถนนชื่ออาหารหลักคนไทยได้อย่างไร

ผู้คนมากมาย บน ถนนข้าวสาร ในเทศกาล สงกรานต์
ผู้คนมากมายเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ (ภาพจาก : MIC Matichon Information Center ศูนย์ข้อมูลมติชน)

ถนนความยาว 400 เมตรเส้นนี้นั้นแสนมหัศจรรย์ มีเรื่องราวเล่าผ่านรุ่นต่อรุ่น “ถนนข้าวสาร” วันนี้ กับแสงสีที่ไร้ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างกลิ่นอาชญากรรม คาวโลกีย์ กับความรุ่งเรือง ศิวิไลซ์ เป็นเมืองของคนต่างถิ่นที่ไม่ซ้ำหน้า และกลายเป็นสถานบันเทิงอีกแห่งของกรุงเทพฯ ไปเรียบร้อยแล้ว

จากภาพสะอาดของนักท่องเที่ยวรุ่นแรก ที่มีทั้งนักศึกษา มิชชันนารี และกองถ่ายทำหนังของฮอลลีวู้ด กลายเป็นความสกปรกของคนต่างถิ่นที่ถูกรังเกียจจากคนท้องถิ่น กลายเป็นผสมผสานทั้งขาจร ขาประจำ อีกทั้งผู้มองเห็นโอกาสธุรกิจ และนักท่องเที่ยวบางคนอาจเปลี่ยนมาเป็นคนไทยไปในที่สุด

เมื่อถนนกรุงเทพฯ เข้ามาแทนที่คลอง ไม่เพียงการสัญจรที่เปลี่ยนไป แต่วิถีชีวิตของคนไทยก็เปลี่ยนไปด้วย เรียกได้ว่าไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปก็ย่อมได้ จากการที่เราต้องเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อมกับรูปแบบการล่าอาณานิคม ในรัชกาลที่ 4 ที่มีการตัดถนน 3 สายแรกของไทยก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร

จนถึงปี 2411 เมื่อรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ มีการปรับปรุงขนานใหญ่ เริ่มจากการตัดถนนราชดำเนินในปี 2442 หลังจากได้เสด็จประพาสยุโรปในปี 2440 และทรงสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ในขณะนั้นตัดถนนข้าวสารในเวลาต่อมา

ก่อนมาเป็นถนนข้าวสารในวันนี้ ถนนนี้คือคลองที่มีการถม เมื่อมีการเริ่มทำถนน เพราะสมัยก่อนนั้นชาวไทยเรานิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ตามคูคลอง ที่มีชื่อถนนข้าวสาร ซึ่งหมายถึงข้าว (Rice) อาหารหลักของคนไทย อีกทั้งชาวนายังเป็นอาชีพที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศอีกด้วย เพราะเป็นถนนในอดีตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วเต็มไปด้วยร้านขายข้าวสาร หรือร้านขายของชำ ที่สมัยก่อนมีการล่องเรือขึ้นมาค้าขายกันทางแม่น้ำเจ้าพระยา

ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณ วัดชนะสงคราม ถนนข้าวสาร
วัดชนะสงครามและบริเวณถนนข้าวสารตรงข้ามกับวัดชนะสงคราม ภาพนี้ถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2488-89 โดยนายปีเตอร์ วิลเลียม ฮันท์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากการสัญจรทางน้ำในสมัยก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อเป็นถนนแล้วได้มีการใช้ขนส่งมวลชนอื่น ๆ อย่างรถราง ซึ่งจะผ่านถนนข้าวสารทางด้านถนนตะนาว ไปทางบางลำพู เทเวศร์ สามเสน และไปสุดที่โรงประปา รถเมล์ไอน้ำและรถเมล์ขาว โดยเริ่มจากรถเมล์ไอน้ำ จากนั้นจึงเป็นรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศ สายที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนเก่า ๆ นั้นก็คือ สาย 19 รถยนตร์ส่วนตัวมีใช้กันอยู่ไม่มากนัก คนที่จะซื้อใช้ได้มักจะเป็นคนที่มีฐานะดี จึงไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในสมัยก่อน

อย่างไรก็ตาม ใครกันจะนึกถึงว่าถนนสายนี้มีชีวิตชีวา มีชื่อเสียงขจรขจายไปในหมู่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ รวมถึงวัยรุ่นไทย อีกทั้งมีเรื่องราวอันเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอาชีพแปลกใหม่บนถนนหรืออาณาบริเวณที่ชยายออกไป เพื่อเป็นการตั้งคำถามถึงวิญญาณของถนนข้าวสารว่าจริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวที่รอความเสื่อมโทรม หรือสวรรค์บนดินของผู้มาใหม่ หรือแหล่งอาชญากรรม ของผิดกฎหมายและเซ็กซ์

นักท่องเที่ยว พ่อค้า แม่ค่า บริเวณ ถนนข้าวสาร
บรรยากาศบริเวณถนนข้าวสารในปัจจุบัน

แม้จะเป็นเพียงถนนสายสั้น ๆ แต่ชุมชนถนนข้าวสารก็มีความเป็นเอกลักษณ์และยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบางลำพู ซึ่งนับเป็นย่านธุรกิจที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในอดีต สภาพทั่วไปของถนนในย่านบางลำพูหรือบริเวณใกล้เคียงถนนข้าวสารนั้นมีสภาพแตกต่างกันไป เช่น

ถนนตานี ไม่ค่อยจะมีการอนุญาตให้ปลูกสร้างตึกแถว เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของวัดบวรนิเวศวิหาร มักจะทำสัญญาให้เช่า-เซ้งเป็นระยะเวลามากกว่า

ถนนตะนาว อันเป็นถนนหนึ่งที่ติดต่อกับถนนข้าวสารนั้น มีการสร้างตึกแถวของคนจีนที่ทำการค้าไปตลอดแนวของถนน ตึกแถวเหล่านี้มีสองชั้นปลูกสร้างกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 แต่เดิมการสร้างตึกแถวมี 2 ประเภท คือ ตึกแถวที่เอกชนสร้างซึ่งสามารถสร้างได้อย่างรวดเร็วตามกำลังทรัพย์ อีกประเภทหนึ่งเป็นตึกแถวที่ปลูกอยู่บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การก่อสร้างจะเป็นไปอย่างมีลำดับขั้นตอน จะต้องมีการขออนุญาตเสียก่อนจึงจะปลูกสร้างอาคารได้ อาคารประเภทนี้จึงมักใช้เวลายาวนานกว่าการปลูกสร้างตึกแถวของเอกชน

ถนนรามบุตรี สมัยก่อนเคยเป็นคลองมาก่อนจนถึงเมื่อสมัยที่มีการตัดถนนในกรุงเทพฯ นั้น มีการถมคลองเพื่อทำเป็นถนนและตั้งชื่อว่า “ถนนรามบุตรี” เป็นย่านที่พักอาศัยของผู้มีฐานะดี มีการปลูกบ้านแบบตึกยุโรปซึ่งนับเป็นรูปแบบที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น

ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนถนนข้าวสารสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวที่ปลูกเรียงรายขนานไปกับถนน บ้านตึกที่มีบ้างส่วนใหญ่เป็นบ้านของขุนนางหรือผู้มีฐานะดีบางคน นอกจากบ้านไม้ที่เป็นสภาพทั่วไปของชุมชนถนนข้าวสารในสมัยก่อนแล้ว เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา  มีการเกิดขึ้นของตึกแถวโดยชาวจีนที่มาพักอาศัยและใช้ทำการค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์ และอัฐบริขาร ทั้งยังเปิดกิจการมาจนถึงปัจจุบันแต่ย้ายไปตั้งอยู่บนถนนตะนาวแทน

ในสมัยก่อนย่าน “ถนนข้าวสาร” นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ว่าเป็นย่านค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์และอัฐบริขาร ก่อนที่จะเป็นย่านเกสต์เฮ้าส์สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ย่ำตรอก ซอกซอย บนถนนข้าวสาร” เขียนโดย ปรารถนา รัตนะสิทธิ์ (สนพ.มติชน, 2550)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2561