ว่าด้วยการใช้สรรพนาม “ออเจ้า”

ภาพฉากตอนหนึ่งในละครบุพเพสันนิวาส ออกอากาศทางช่อง 3

ตามกระแสละครดังบุพเพสันนิวาสไม่ใช่เพียงแค่โบราณสถานที่มีผู้คนให้ความสนใจเดินทางไปเยี่ยมชม แต่ยังมีคำพูดฮิตที่พูดกันอย่างติดปากว่า “ออเจ้า” ไม่ว่าในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น แม้กระทั่งผู้ใหญ่ แม่ค้าในตลาดก็เรียกกันเล่นอย่างสนุกสนาน

สรรพนามที่พูดกันอย่างติดปากเข้าใจว่าเป็นสรรพนามเรียกแทนบุคคลหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วคำว่า “ออเจ้า” ใช้อย่างไรกัน? นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร ให้ความเห็นเกี่ยวกับสรรพนาม “ออเจ้า” นี้ไว้ว่า

ในอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๖ ระบุไว้ว่า “ออเจ้า” เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อยแต่ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึงตอนนางทองประศรี (มารดาของพลายแก้ว) นำผู้ใหญ่ไปสู่ขอนางพิมพิลาไลยกับนางศรีประจัน (มารดาของนางพิม) ใช้ “ออเจ้า” เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ (แทนนางศรีประจัน) กับบุคคลระดับเดียวกันและใช้ “ออ” นำหน้าชื่อเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เรียกพลายแก้วว่า “ออแก้ว” ดังในบทเสภาว่า

จะขอพันธุ์ฟักแฟงแตงน้ำเต้า    ที่ออเจ้าไปปลูกในไร่ข้า

แต่ยากยับอับจนพ้นปัญญา      จะมาขายออแก้วให้ช่วงใช้

อยู่รองเท้านึกว่าเอาเกือกหนัง   ไม่เชื่ีอฟังก็จะหาประกันให้

จะเห็นว่า “ออเจ้า” ใช้กับบุคคลที่เสมอกันไปจนถึงบุคคลที่ต่ำกว่า และ “ออแก้ว” ซึ่งหมายถึงพลายแก้วเป็นบุรุษที่ ๓ (บุคคลที่ถูกกล่าวถึง) จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น “ออเจ้า” และ “ออ” ใช้ได้กับเพศหญิงและเพศชาย เช่น ออแก้ว ออพิม เป็นต้น

[ขอบคุณข้อมูลจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร]