“ศาลศีรษะปลาวาฬ” ของแปลกในพระราชวังเดิม

กระดูกปลาวาฬที่นำมาจัดแสดงในศาลศีรษะปลาวาฬ พระราชวังเดิม

ศาลศีรษะปลาวาฬ นี้ตั้งอยู่ในพระราชวังเดิม หรือพระราชวังกรุงธนบุรี บริเวณระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก

ตามหลักฐานประวัติศาสตร์นั้น บันทึกไว้ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีปลาวาฬตัวหนึ่งมาเกยตื้นอยู่ที่ท่าน้ำหน้าพระราชวังเดิม จากนั้นได้มีการสร้างศาลขึ้นเพื่อเอากระดูกปลาวาฬมาประดิษฐาน แต่เมื่อศาลหลังเดิมได้พังลง กระดูกปลาวาฬกลับสูญหาย โดยพังลงในคืนที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2443

จนกระทั่งมีการสำรวจก่อนซ่อมแซมบูรณะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเอง จึงได้พบซากฐานของศาลศีรษะปลาวาฬหลังเดิม ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองทัพเรือ ได้ทำการหารือกับกรมศิลปากร เห็นชอบให้ศร้างศาลใหม่ขึ้นบนฐานของศาลหลังเดิมที่มีการขุดพบ เพื่อใช้จัดแสดงกระดูกปลาวาฬ (ที่ได้พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในคราวสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดีในช่วงการบูรณะครั้งล่าสุด)

กระดูกปลาวาฬที่นำมาจัดแสดงในศาลนั้นเป็นส่วนหัวกระโหลกและขากรรไกรทั้งสองข้าง จากการตรวจสอบของอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเป็นปลาวาฬพันธุ์สิททัง ในสมัยก่อนพบได้บริเวณนอกฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน และในแถบประเทศเขตร้อนทุกประเทศ ลักษณะเด่นคือถ้าหากมองจากด้านบนศีรษะจะเห็นเป็นแนวยาวสันสามแนว

สำหรับศาลศีรษะปลาวาฬในปัจจุบันยังจัดแสดงอยู่ที่พระราชวังเดิมฝั่นธนบุรี ตั้งอยู่ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพฯ ถือเป็นเรื่องแปลกเรื่องหนึ่งของรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์


อ้างอิง :

มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองทัพเรือ. นำชมพระราชวังเดิม(พระราชวังกรุงธนบุรี). 2545. กรุงเทพฯ : กราฟิคฟอร์แมท


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2560