“กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” ฉบับธนบุรี ว่าด้วยหญิงในอุดมคติของชายไทยผ่านวรรณกรรม

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดดาวดึงษาราม
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดดาวดึงษาราม กรุงเทพฯ

“กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” ฉบับธนบุรี ว่าด้วย “หญิงในอุดมคติ” ของชายไทย

วรรณกรรมเป็นสื่อที่ให้ความบันเทิงกับผู้คน ตอบสนองความต้องการด้านสุนทรียะของผู้คนมาช้านาน แต่จะคับแคบมากหากเรามองประโยชน์ของวรรณกรรมเพียงแค่นั้น เพราะนอกจากจะให้ความบันเทิงหรือตอบสนองอารมณ์ทางด้านศิลปะแล้ว แต่วรรณกรรมยังมีบทบาทต่อสังคมและวัฒนธรรมอย่างปฏิเสธไม่ได้

ศาตราจาย์.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า สิ่งที่เราเรียกว่าวรรณกรรม โดยเฉพาะในสมัยโบราณ มีหน้าที่หรือบทบาทในสังคมมากกว่าความบันเทิงหรือผดุงความรู้สึกทางด้านศิลปะ” ฉะนั้นการศึกษาวรรณกรรมจึงทำให้เราได้เห็นภาพของวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมของสังคมนั้นๆที่วรรณกรรมเกิดขึ้นมา

ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หนึ่งในยุคสมัยที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น “กรุงธนบุรี” ซึ่งเป็นราชธานีของไทยที่สืบเนื่องมาจากอยุธยา กลุ่มคนและวัฒนธรรมคือกลุ่มเดียวกับอยุธยาสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ฉะนั้นวัฒนธรรมกรุงธนบุรีจึงเป็นวัฒนธรรมเดียวกันกับอยุธยา

นอกจากวัฒนธรรมที่สานต่อมาแต่อดีต อีกอย่างหนึ่งคือ วรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมเพื่อความบันเทิง วรรณกรรมอบรมสั่งสอน ล้วนถูกสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบันทั้งสิ้น

วรรณกรรมที่จะหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้คือ “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” แน่นอนว่ากฤษณาสอนน้องคำฉันท์มีอยู่แล้วในสมัยอยุธยา แต่ต้นฉบับนั้นสูญหายไป พระยาราชสุภาวดีและภิกษุอินท์ได้ร่วมกันซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี

ทำไมต้องซ่อม “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์”?

วัฒนธรรมแบบจารีตดั้งเดิมของไทยไล่ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา เป็นสังคมของผู้ชาย กล่าวคือ ชายเป็นใหญ่เหนือผู้หญิง บทบาทการเข้ารับราชการบ้านเมือง หรือบทบาทสำคัญๆในสังคมล้วนเเต่เป็นผู้ชายทั้งนั้น ผู้หญิงจึงเป็นเพศที่ค่อนข้างถูกกดขี่และไม่มีสิทธิ์มีเสียงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จาก บันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตฝรั่งเศษ) ระบุว่า

“อำนาจของสามีนั้นเป็นล้นพ้น ทำอะไรได้สุดแต่ใจในครอบครัวตน แม้จนขายลูกของตัวเมียของตัวก็ได้ตามพลการหมด ยกเสียแต่เมียหลวงได้แต่ขับไล่ไปเสียให้พ้น”

เรียกได้ว่า วรรณกรรมอาจเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐในการควบคุมศีลธรรม กฤษณาสอนน้องคำฉันท์จึงมีความสำคัญในแง่ของการสั่งสอนศีลธรรมให้กับผู้หญิง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะแต่งซ่อมขึ้นมาใหม่ในสมัยธนบุรี

เนื้อหาของกฤษณาสอนน้องคำฉันท์เป็นวรรณกรรมที่มุ่งสอนผู้หญิง ว่าการเป็นภรรยาที่ดีจะต้องปฏิบัติตนต่อสามีอย่างไร สิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ เช่น ควรตื่นก่อนนอนทีหลัง ดูแลเรื่องอาหารการกิน จัดเตรียมที่นอน การรักนวลสงวนตัว และการรักษาศีลธรรมอันดี

ตัวอย่างผู้หญิงที่ดีในอุดมคติชายไทยสมัยธนบุรี
สิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรทำ

อย่าเยี่ยงหญิงชั่ว ไม่รู้คุณผัว ไม่สงวนน้ำใจ
ลิ้นลมคมเหง ล้อเลียนไยไพ ต่อหน้าปราไส ลับหลังนินทา

ไม่ควรขัดใจสามี

ถ้ามีพระราชประสงค สาวสนมใดจง
นุญาตอย่าได้ขัดขวาง

สิ่งที่ผู้หญิงที่ดีควรทำ

เมื่อมีทุรทุกขพระทัย ร่วมทุกขภูวไนย
อย่าอยู่สุขเกษมเกลากาย
เมื่อทรงพระประชวรไม่สบาย แนบนั่งใกล้กลาย
ทูลปลอบให้เสวยซึ่งยา

จะเห็นได้ว่าวรรณกรรมเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์มุ่งเน้นในการควบคุมศีลธรรมให้กับผู้หญิง ในสังคมแบบจารีต และสะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของผู้หญิงถูกกำหนดโดยผู้ชายแทบทั้งสิ้น

ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือ “ผู้แต่ง” ในสมัยอยุธยานั้นใครแต่งไม่อาจทราบได้ เนื่องจากต้นฉบับไม่เหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยธนบุรีนั้นผู้ที่แต่งซ่อมคือ “พระยาราชสุภาวดี และภิกษุอินท์” ซึ่งเป็น “ผู้ชาย” และหนึ่งในนี้เป็น “พระ” นั้นแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมของ ผู้ชายอย่างแท้จริง

วรรณกรรมเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์จึงเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึง บทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงในสมัยโบราณโดยเฉพาะ “สมัยกรุงธนบุรี” รวมถึงภาพของผู้ หญิงในอุดมคติ ของชายไทยในอดีตด้วย แม้วันเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 250 ปี แต่วรรณกรรมเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ยังสะท้อนให้เห็นวีถีชีวิตของผู้คนสมัยธนบุรีได้เป็นอย่างดี…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2550). นามานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ 1 ชื่อวรรณคดี. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2560). เซ็กซ์ดึกดำบรรพ์ของบรรพชนไทย. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ฉะบับกรุงธนบุรี . ขุนบวรรัตนารักษ์ พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอิ่ม ตัญญพงศ์ มารดา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2560