ย้อนรอย “มหาเวสสันดร” จากชาดกสู่ “ภาพยนตร์”

โปสเตอร์ ชูชก กัณหา ชาลี" ฉบับปี ๒๕๑๖ วาดโดย บรรหาร สิตะพงษ์

งานเทศน์มหาชาติ นับเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมายในสังคมไทยไม่น้อยเนื่องจากมีความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าถ้าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจะได้รับกุศลมาก งานเทศน์มหาชาติจะจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 8 ค่ำ กลางเดือน 12 หรือวันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีตามปฏิทินสากล ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10

เรียก “เทศน์มหาชาติ” เพราะเป็นการเทศน์มหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาดกเรื่องใหญ่ กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติสุดท้ายในทศชาติเป็นพระเวสสันดรผู้ได้บำเพ็ญบารมีอย่างสูงสุดยากเกินกว่าจะมีผู้ใดทำได้คือการให้บุตรและภรรยาแก่ผู้มาขอ มหาเวสสันดรชาดกจึงเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนของพระเวสสันดรเพื่อนำไปสู่พระโพธิญาณ

หากพิจารณาในแง้วรรณกรรมแล้วมหาเวสสันดรชาดกจัดว่าเป็นวรรณกรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่า โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็น 13 ช่วง หรือ 13 กัณฑ์ โดยมี กัณฑ์ที่ 1 ทศพร กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศ กัณฑ์ที่ 5 ชูชก กัณฑ์ที่ 6 จุลพล กัณฑ์ที่ 7 มหาพน กัณฑ์ที่ 8 กุมาร กัณฑ์ที่ 9 มัทรี กัณฑ์ที่ 10  สักกบรรพ กัณฑ์ที่ 11 มหาราช กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ และกัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์

นอกจากการเทศน์แล้ว การถ่ายทอดเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกก็เป็นไปตามความถนัดมีตั้งแต่ขับขานเป็นทำนองเสนาะร้องแหล่ หรือเล่าขานกันตามภาษาท้องถิ่นตนเองเรื่อยมา

กระทั่งยุคภาพยนตร์เข้ามาและเป็นสื่อสำคัญในเมืองไทย มหาเวชสันดรชาดกจึงได้รับการหยิบยกมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแผ่เรื่องทานบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยบริษัท ไทยสากลธุรกิจ จำกัด ของ ณรงค์ สันติสกุลชัยพร มอบหน้าที่กำกับการแสดงให้ รัตน์ เศรษฐภักดี เจ้าของผลงานกำกับระดับคุณภาพอย่าง “จันดารา” และผู้รับบทเป็นพระเวสสันดร ก็คือ สมบัติ เมทะนี ร่วมด้วย พิศมัย วิไลศักดิ์ นางเอกคู่ขวัญของยุค ในบทพระนางมัทรี

สิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ภาพยนตร์สามารถอ้างอิงกับประเพณีการเทศน์มหาชาติในอดีต คือ บทร้องทำนองแหล่ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานของประเทศไทย

ด้วยเหตุที่ ชูชก กัณหา ชาลี เป็นตัวละครเอกที่สำคัญและคนส่วนใหญ่จดจำกันติดหูแล้ว ในช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2416 ภาพยนต์มหาชาติเรื่องนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า “ชูชก กัณหา ชาลี” ต่อมามีการนำฟิล์มเรื่องนี้มาตัดต่อ ปรับแต่ง ให้เป็นเรื่องใหม่ เน้นตัวละครต่างกัน แล้วนำออกฉายในปี พ.ศ. 2523 ในชื่อใหม่ว่า “พระเวสสันดร”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ชูชก กัณหา ชาลี ภาพยนต์นานาชาติ”. โดย วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2560