ตู้ไทยโบราณ … ตู้เสื้อผ้ากลายเป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์

ตู้ไทย ตู้ ตู้ไทยโบราณ
ตู้ไทยโบราณ ชนิดตู้ขาหมู (ขอบคุณภาพจาก "๑๕ ปี ศิลปะกรุงธนบุรี")

ตู้ไทยโบราณ แต่เดิมผู้เป็นเจ้าของอาจใช้ใส่เสื้อผ้าสิ่งของต่างๆ และเมื่อถวายแก่พระศาสนาแล้ว พระสงฆ์ผู้รับถวายคงจะใช้เป็นที่เก็บหนังสือ หรือพระธรรมคัมภีร์ ตู้เหล่านี้นิยมเขียนลวดลายตกแต่งด้วยวิธีลงรักปิดทอง หรือที่เรียกกันว่า ลายรดน้ำ

ตู้ไทยโบราณ ตู้ขาหมู
ตู้ขาหมู มีลิ้นชัก (ขอบคุณภาพจาก “๑๕ ปี ศิลปะกรุงธนบุรี”)

ส่วนสำคัญของ ตู้ไทยโบราณ ที่ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปนั้น คือ ส่วนล่างของตู้

ตู้ไทยโบราณ ที่มีมุมขาตู้เป็นขาสี่เหลี่ยม เรียกกันว่าตู้ขาหมู ถ้าตู้ชนิดนี้มีลิ้นชักด้วยเรียกว่า ตู้-ขาหมูมีลิ้นชัก แต่หากมุมขาตู้ ทั้ง 4 จำหลักเป็นรูปเท้าสิงห์ ก็เรียกตู้เท้า-สิงห์ และถ้าเป็นตู้ชนิดนี้มีลิ้นชัก ก็เรียก ตู้เท้าสิงห์มีลิ้นชัก นอกจากนี้ยังมีอีกชนิดหนึ่ง คือ ตู้ฐานสิงห์ ซึ่งทำฐานตู้เป็นรูปฐานสิงห์และประเภทสุดท้าย เป็นตู้เท้าคู้ ซึ่งมีลักษณะขาด้านล่างโค้งคู้เข้าหาพื้นตู้เหมือนสิงห์คู้เข่า

สำหรับ ตู้ไทยโบราณ ในสมัยกรุงธนบุรีพบอยู่ 2 ประเภท คือ ตู้ขาหมู และตู้ขาหมูมีลิ้นชัก

ส่วนลายรดน้ำที่เขียนลงบนตู้นั้น ช่างนิยมเขียนลายกนกเป็นพื้น ส่วนมากทำเป็นเถานก ตั้งต้นจากขอบล่าง พุ่งขึ้นสู่ขอบบนของตู้โดยจะเขียนเป็นลายเถากนกเคล้าภาพ ตู้ไทยโบราณที่มีลายกนกเถาแต่งตัวตู้นั้นในสมัยอยุธยาจะทำเป็นตัวกนกใหญ่แต่มีความอิสระ อ่อนช้อย พลิ้วไหว ช่อกนกสะบัดคล้ายเปลวเพลิง ในสมัยธนบุรีซึ่งเป็นระยะคาบเกี่ยวสืบเนื่องของอิทธิพลช่างฝีมือสมัยอยุธยา จึงมีลีลาการเขียนลายคล้ายคลึงกันมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิงข้อมูลและภาพ :

หนังสือ “๑๕ ปี ศิลปะธนบุรี”. จัดพิมพ์โดย ธนาคารกสิกรไทย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560