เรื่องซุบซิบของเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ ใน นิทานชาวไร่

นิทานชาวไร่ เป็นหนังสือแนวสรรพสารคดีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ เรื่องเล่าของชาวไร่ แต่เป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” ทั้งความเป็นมาของสายสกุลบรรพชน สภาพบ้านเมืองในอดีต เจ้านายขุนนางที่เคยรู้จัก สภาพชีวิตในต่างประเทศ เป็นต้น จาก น.อ.สวัสดิ์ จันทนี หรือ เรียกกันว่า “ครูหวัด” อดีตบรรณาธิการ นาวิกศาสตร์ (วารสารรายเดือนของกองทัพเรือ) ซึ่งถูกออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ.2496 แล้วไปเป็นชาวไร่ ที่บางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อมาท่านได้รับเชิญให้มาเขียนเรื่องเก่าๆ ใน นาวิกศาสตร์ จึงกลายเป็นที่มาของ “นิทานชาวไร่” ตั้งแต่ฉบับเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.2502 จนได้รับความนิยม จนองค์การค้าของคุรุสภา ได้นำมาพิมพ์รวมเล่ม จำนวน 12 เล่ม โดยจัดพิมพ์ระหว่างปีพ.ศ.2509-2518

จนทางสำนักพิมพ์ศยาม ได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในพ.ศ. 2560 โดยจัดทำเป็น Box Set นิทานชาวไร่ (4 เล่ม พร้อมกล่อง) บรรณาธิการโดย วิชญดา ทองแดง พร้อมเพิ่มภาพประกอบหายากของบุคคล สถานที่ และเรือหลวงกว่า 100 ภาพ  อีกทั้งจัดทำเชิงอรรถและดัชนีชื่อบุคคล พร้อมผนวกเรื่องเล่าอัตชีวประวัติผู้เขียนและงานเขียนชุดกบฏแมนฮัตตัน(13 ตอน) ที่ไม่เคยตีพิมพ์รวมเล่มในฉบับคุรุสภา

อ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ผู้เขียนบทนำเสนอ นิทานชาวไร่ ในฉบับพิมพ์พ.ศ.2560 ไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า

“กล่าวได้ว่า นิทานชาวไร่ เป็นงานเขียนชุดแรกๆ ที่อาศัยข้อมูลที่เรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าอย่างกว้างขวางและเปิดเผยที่สุด ก่อนที่วิธีการประวัติศาสตร์บอกเล่าจะได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ของไทยในเวลาต่อมา

นิทานที่น่าสนใจและมีคุณค่าต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่จำนวนมากในหนังสือชุดนี้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับวงการทหารเรือและไม่ใช่นั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากการบอกเล่าของผู้ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะและได้จดบันทึกไว้”

เมื่ออ่านนิทานชาวไร่แล้ว สิ่งที่นักอ่านจะได้ประการหนึ่ง ดังที่วิชญดา ทองแดง บรรณาธิการหนังสือชุดนี้ ซึ่งทำงานตรวจสอบค้นคว้าต้นฉบับอย่างละเอียด บอกในบทบรรณาธิการว่า

“เรื่องซุบซิบ ที่มีอยู่มากมายใน นิทานชาวไร่ ยังให้ภาพโลกอดีตในแง่มุมที่คนในปัจจุบันอย่างเราๆ ท่านๆ อาจไม่เคยนึกถึง ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด คน ก็เป็น คน แม้แต่บรรดาท่านที่ปรากฏนามในหน้าประวัติศาสตร์ ก็ไม่ต่างจากพวกเรา คือล้วนมีทั้งแง่มุมสง่างาม และด้านที่ผิดพลาดบกพร่อง”