เที่ยวชมถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง ที่อุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีอุตรดิตถ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และและองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ขอเชิญร่วมส่งเสริมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของดีท้องถิ่น เที่ยวชมถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง ตำบลหาดสองแควขึ้น ทุกวันศุกร์แรกของเดือน โดยเปิดถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง อย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560

นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง เป็นถนนคนเดินในหมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีชาวลาวเวียง ซึ่งเป็นกลุ่มคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ บ้างก็ว่ามาจากหลวงพระบาง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 อาศัยอยู่ มีวิถีการดำเนินชีวิตในแบบฉบับของตัวเองมาอย่างยาวนาน ภายในชุมชนมีความเงียบสงบเรียบง่าย และมีวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์

จึงได้จัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียงขึ้นมา มีร้านค้าต่าง ๆ ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ให้มีบรรยากาศย้อนยุค ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยเสื้อพื้นเมืองสีขาว ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงสีพื้นสีเดียว ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยสีพื้น อันเป็นการแต่งกายของชาวลาวเวียงมาจำหน่ายสินค้า ภาชนะใส่อาหารก็มีการรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดขยะอันเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

นางสาวนิตยาวรรณ เลื่อนลอย พัฒนาการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ภายในถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง จะมีการจำหน่ายอาหารและขนมท้องถิ่นของชาวลาวเวียง ในราคาย่อมเยา อาหารบางชนิดไม่มีจำหน่ายที่อื่นมีเพียงที่นี่เท่านั้นนั้น โดยอาหารและขนมที่ห้ามพลาด อาทิ ขนมวงลาวเวียง, ขนมเบื้องลาว, ขนมเผือก, อั่วบักเผ็ด (พริกยัดไส้), ปลาเกลือ, แจ่วเอาะปลาแดก (น้ำพริกเอาะปลาร้า), ขนมลูกตุย, ขนมขี้หนู สีธรรมชาติ, น้ำสมุนไพรท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากอาหารและขนมท้องถิ่นแล้ว ก็ยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้าแฮนด์เมด และของที่ระลึกมากมาย รวมทั้งมีลานแสดงวัฒนธรรมให้เด็กๆ ในชุมชนได้มาแสดงความสามารถ รวมไปถึงมีวงดนตรีย้อนยุคให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วมสนุกขยับแข้งขยับขากันอย่างออกรสออกชาติ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ย้อนยุคให้ชมกันอีกด้วย

นายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว กล่าวว่า ผู้คนในหมู่บ้านใช้ชีวิตสงบเรียบง่ายและมีเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมายาวนาน ในช่วงเช้าชาวบ้านจะตื่นขึ้นมาทำกับข้าวใส่บาตร และจะมีคนคอยส่งสัญญาณโดยการตีเกราะไม้ไผ่เพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้านรู้ว่าพระสงฆ์เริ่มออกบิณฑบาตแล้ว โดยชาวบ้านจะใส่บาตรเพียงแค่ข้าวสวยเท่านั้น ส่วนกับข้าวจะมีนายหาบ หรือนางหาบมาคอยตามเก็บทีหลังเพื่อนำไปถวายพระที่วัด เรียกกันว่า “หาบจังหัน” โดยชาวบ้านจะทำแบบนี้ทุกวัน ยกเว้นวันพระหรือวันที่มีการทำบุญสำคัญในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ ภาษาพูดของชาวลาวเวียงในบ้านหาดสองแคว ก็จะแตกต่างจากภาษาลาวอื่นๆ ทั้งสำเนียงและคำบางคำก็จะใช้ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ เช่นกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ โทรศัพท์ 055 411 686 หรือ อบต. หาดสองแคว โทรศัพท์ 055 496 098