ประวัติศาสตร์ที่เกือบซ้ำรอย เมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษวางแผนทำสงคราม(โลกครั้งที่ 3)

(จากซ้ายไปขวา) โจเซฟ สตาลิน, ปธน.รูสเวลท์ และวินสตัน เชอร์ชิล เมื่อปี 1943

ความสัมพันธ์ของอังกฤษและโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นทางการทหารซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะในขณะนั้นทั้งสองชาติต่างก็มีศัตรูร่วมกันคือเยอรมัน แม้นการพบกันของผู้นำทั้งสองชาติต่อหน้าสื่อมวลชนทั่วโลกหรือในทางพิธีการฑูตเราอาจจะเห็นภาพของความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดูชื่นมื่น แต่ที่จริงแล้วพวกเขาต่างก็ซ่อนความเกลียดชังและมองอุดมการณ์ทางการเมืองของอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคามต่อชาติของตน

วินสตัน เชอร์ชิล ผู้นำอังกฤษในขณะนั้นคือนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยง เขามองการกระทำของสตาลินผู้นำโซเวียตในการทำสงครามกับฟินแลนด์หรือการร่วมมือกับเยอรมันในการครอบครองโปแลนด์ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าเป็นการกระทำของซาตานที่คุกคามต่อสันติสุขของชาวโลก แต่เมื่อกระแสของสงครามเปลี่ยนไปโซเวียตกลับกลายมาเป็นหนึ่งในชนชาติที่ต้องร่วมต่อสู้กับกองทัพอักษะ เชอร์ชิลจึงจำต้องส่งยิ้มและจับมือกับสตาลินในการกำจัดภัยคุกคามของพวกฟาสซิสต์ให้หมดไป

เดือนพฤษภาคม ปี 1945 กองทัพเยอรมันยอมแพ้ พวกฟาสซิสต์และลัทธินาซีถูกทำลาย ยุโรปกำลังค่อยๆ บูรณะตัวเองจากซากปรักหักพังของสงคราม สันติภาพและความสงบกำลังจะกลับคืนสู่ยุโรป แต่ขณะเดียวกัน วินสตัน เชอร์ชิล กลับมองเห็นว่า การคงอยู่ของกองทัพแดงในยุโรปตะวันออก คือภัยคุกคามระลอกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น เหมือนเมฆหมอกแห่งพายุร้ายที่ค่อยๆ รวมตัวกัน เจตนาของสตาลินในการครอบครองกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก รวมทั้งการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์และแนวร่วมในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป คือสิ่งที่ทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนนี้คิดหนักมาโดยตลอด หนึ่งในหนทางแก้ปัญหาที่เขาพร้อมจะเลือกนั่นคือการทำสงคราม !!!

นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Photo by AFP)

เชอร์ชิลและคณะนายทหารร่วมกันวางแผนเพื่อทำสงครามกับรัสเซีย โดยในแผนการนี้ แน่นอนว่าอังกฤษจะต้องโน้มน้าวให้อเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรหลักเห็นด้วยกับแผนดังกล่าว และมันจะต้องระดมกองทัพเยอรมันซึ่งแม้จะยอมแพ้ไปแล้วให้เข้าร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย กองทัพแดงคงกำลังทหารเอาไว้ในเยอรมัน ออสเตรีย เช็กโกสโลวะเกีย และโปแลนด์ กว่า 40 กองทัพ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับกำลังทหารของฝ่ายพันธมิตรที่มีอยู่ในขณะนั้นจะเป็นอัตราส่วนกำลังทหารโซเวียต 4 นาย ต่อ ทหารพันธมิตร 1 นาย รวมทั้งยานเกราะและรถถัง โซเวียต 2 คัน ต่อ ยานเกราะและรถถังพันธมิตร 1 คัน

จะเห็นว่าโซเวียตได้เปรียบเรื่องจำนวนที่มากกกว่า ดังนั้นการโจมตีแบบไม่ให้ทันตั้งตัว จึงเป็นยุทธวิธีที่สำคัญที่จะต้องนำมาใช้หากจะเปิดสงครามกับโซเวียต และเชอร์ชิลก็คาดการณ์เอาไว้ว่า โซเวียต คงจะยอมสงบศึก หรือ อาจจะยอมเป็นพันธมิตรร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น หนึ่งในชาติอักษะสำคัญที่ยังยืนหยัดสู้อยู่เป็นแน่แท้

ปฏิบัติการไม่คาดคิด หรือ Operation Unthinkable คือชื่อของแผนการ โดยแผนการโจมตีได้กำหนดเริ่มทำการบุกในวันที่ 1 กรกฎาคม 1945 ทหารอังกฤษและอเมริกัน กว่า 47 กองพล จะเจาะแนวรบตรงกลางของกองทัพแดงบริเวณเมืองเดรสเดนและโดยรอบ และศึกนี้จะเป็นการร่วมกันเข้าตีของทหารเยอรมันกว่า 1 แสนนาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอาวุธเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเข้าทำการโจมตีที่ตั้งหน่วยทหารโซเวียตทั่วทุกหัวเมืองใหญ่ของเยอรมัน และการทำสงครามครั้งนี้เชอร์ชิลจะโน้มน้าวให้โปแลนด์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และประสานการโจมตีจากกองทัพโปแลนด์ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เชอร์ชิลรับรู้ถึงความสำเร็จของอเมริกันในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเขายังหวังอีกว่าอเมริกันจะใช้มันเพื่อหยุดการหลั่งไหลเข้ามาของกำลังเสริมกองทัพแดง รวมทั้งทำลายเมืองสำคัญในแผ่นดินโซเวียต แผนการทั้งหมดนี้ถูกร่างขึ้นมาโดยอังกฤษเพียงฝ่ายเดียว และเมื่อมันถูกเสนอไปยังประธานาธิบดี แฮรี เอส ทรูแมน มันจึงได้รับการปฏิเสธทันที โดยอเมริกาจะไม่ใช้กำลังทางทหารใดๆ ต่อการครอบครองยุโรปตะวันออกของโซเวียต รวมถึงจะไม่ร่วมในแผนการที่ทางอังกฤษเสนอมา

การปฏิเสธของประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นการสร้างความผิดหวังต่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินส์ตัน เชอร์ชิล แต่ความผิดหวังครั้งนี้ของเชอร์ชิล คือสิ่งที่ช่วยชีวิตคนเอาไว้นับล้านชีวิต มีการประมาณการณ์กันว่า หากสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นจริงอาจจะกินเวลายาวนานไปถึงปี 1950 หรืออาจจะนานกว่านั้นและตัวเลขการสูญเสียอาจจะเทียบเท่าหรือมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


References
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Unthinkable

[2] http://www.thehistorypress.co.uk/articles/operation-unthinkable-churchill-s-plans-to-invade-the-soviet-union/

[3] https://in.rbth.com/blogs/2013/06/13/operation_unthinkable_churchills_plan_to_start_world_war_iii_26091

[4] https://www.winstonchurchill.org/publications/churchill-bulletin/bulletin-066-dec-2013/operation-unthinkable


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560