สุนทรภู่ ต้องกินเหล้าจึงประพันธ์ได้ดีจริงหรือ?

จิตรกรรม คน ดื่ม สุรา เหล้า
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี

ทำไมคนถึงเข้าใจว่า “สุนทรภู่” ติดสุรา?

จากเหตุการณ์ครั้งที่ท่านเคยติดคุกในคดีเมาเหล้าจนก่อการทะเลาะวิวาทถึงขั้นทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ของแม่จัน (ภรรยาของสุนทรภู่คนที่ถูกพูดถึงในบทประพันธ์ นิราศพระบาท) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจว่าสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา

อีกทั้งบทประพันธ์อันไพเราะในนิราศภูเขาทอง ในตอนหนึ่งที่ว่า

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง   มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา   ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ   สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย   ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก   สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป   แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน ฯ

ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หลายคนอนุมานกันอีกว่าสุนทรภู่ต้องดื่มเหล้าก่อนแต่งกลอนบทนี้เป็นแน่ หรือไม่ก็ต้องเกิดอาการอยากสุราตามนิสัยของผู้ติดสุราที่เดินทางผ่านโรงผลิตสุราก็เกิดอาการอยากสุราจึงแต่งกลอนบทนี้ขึ้น อีกทั้งยังเกิดความเข้าใจผิดที่ว่า “สุนทรภู่จะต้องดื่มเหล้าจึงจะแต่งกลอนออกมาได้ไพเราะ” ขึ้นอีกประการหนึ่ง

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสุรา

สุรา หรือ เหล้า คือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ชนิดเอทิลแอลกอฮอล์) เป็นส่วนประกอบสำคัญ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ผู้ที่กินเหล้าในปริมาณไม่มาก จะรู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกดจิตใต้สำนึก (Conscious) ที่คอยควบคุมตนเอง ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่หากกินมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่นๆทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด แม้กระทั่งหมดสติในที่สุด

ทฤษฎีความฝันของ Sigmund Freud            

Freud ศึกษาเกี่ยวกับความฝันว่า มนุษย์เรามีส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมแบ่งเป็นออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ จิตใต้สำนัก (Conscious) และ จิตไร้สำนึก (Unconscious) กล่าวคือ จิตใต้สำนึก (Conscious) เป็นส่วนคัดกรองให้เราเลือกแสดงพฤติกรรมที่สังคมยอมรับออกมาสู่สายตาคนภายนอก ส่วนพฤติกรรมใดที่สังคมไม่ยอมรับมนุษยก็จะผลักไปเก็บไว้ในส่วนที่เรียกว่า จิตไร้สำนึก (Unconscious)

เมื่อพฤติกรรมที่ถูกผลักเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก (Unconscious) สะสมกันจนหนาแน่น มนุษย์จะมีกระบวนการระบายความเครียดและข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ออกด้วยกระบวนการฝัน

ความฝันเป็นกระบวนการมหัศจรรย์ของมนุษย์

มนุษย์ระบายข้อมูล ความเก็บกด และความเครียดที่อัดแน่นอยู่ใน จิตไร้สำนึก (Unconscious) ผ่านความฝัน ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้มนุษย์ไม่ไปกระทำพฤติกรรมเหล่านั้นในชีวิตจริง

เมื่อเปรียบเทียบความฝันกับงานเขียน Freud เชื่อว่า การเขียนเป็นการระบายความปรารถนา ของนักเขียนเอง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความทรงจำในวัยเด็กหรือเหตุการณ์เมื่อเป็นผู้ใหญ่ และอาจจะเป็นความต้องการด้านมืดของผู้เขียนเองก็ได้

การเขียนเป็นช่องทางระบายอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้เขียนไม่เป็นบ้าและป้องกันไม่ให้ผู้เขียนไปกระทำตามแรงปรารถนาด้านมืดของตนจริงๆ

Freud มองว่าการเขียนเรื่องแนวอาชญากรรมโดยฉากฆาตกรรมตัวละครนั้น เป็นการระบายความปรารถนาด้านมืดของนักเขียนที่อาจจะมีความต้องการฆ่าคนแต่กฎหมายและสังคมไม่ยอมรับพฤติกรรมนี้

พฤติกรรมนี้จึงถูกผลักให้ไปอยู่ในจิตไร้สำนึก (Unconscious) และนักเขียนระบายมันออกมาทางจิตใต้สำนึก (Conscious) ผ่านงานเขียน ซึ่งกระบวนการเขียนจะทำให้เขาไม่ไปฆ่าคนในชีวิตจริง

ประเด็นสุนทรภู่ต้องกินเหล้าจึงประพันธ์ได้ดีจริงหรือ?

หากพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับสุราที่ว่าหากดื่มสุราในปริมาณไม่มาก จะรู้สึกผ่อนคลายอาจทำให้หลายคนคิดว่า “นี่ไงสุนทรภู่ดื่มเหล้าให้ตัวเองผ่อนคลายเลยแต่งกลอนออกมาไพเราะ”

แต่ต้องไม่ลืมว่าสุราไม่ใช่แค่ทำให้ผ่อนคลายเท่านั้นเพราะถ้าดื่มในปริมาณมากก็จะทำให้เสียการทรงตัวได้เช่นกัน

ดังนั้นการดื่มเหล้าเพื่อสร้างอารมณ์สุนทรีย์ในการแต่งกลอนคงฟังดูแปลกๆไปเสียหน่อยเพราะสุนทรภู่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการประพันธ์สูงอยู่แล้ว

และจากทฤษฎีความฝันของ Freud ที่ว่าการเขียนเป็นการระบายความเก็บกดของนักเขียนก็อธิบายข้อสันนิษฐานที่ว่า สุนทรภู่ดื่มเหล้าเพื่อผ่อนคลายนั้นไม่จริง เพราะแม้แอลกอฮอล์จะเป็นสารที่ไปกดจิตใต้สำนึก (Conscious) เอาไว้ทำให้คนกล้าแสดงสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึก (Unconscious) ออกมา แต่กวีหรือนักเขียนไม่จำเป็นต้องใช้สุราเป็นตัวช่วยระบายความเก็บกดออกมาเพราะกวีสามารถระบายออกมาผ่านการเขียนได้อยู่แล้ว

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ณ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

อีกข้อมูลที่น่าสนใจจากครูทอม คำไทย ที่กล่าวว่า

“สุนทรภู่ไม่ได้จะดื่มเหล้าอย่างเดียวเสียหน่อย ใน รำพันพิลาป ท่านเล่าถึงตอนบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม เล่าว่าสภาพสถาปัตยกรรมเป็นอย่างไร บริเวณกุฏิเป็นอย่างไร มีต้นไม้อะไรอยู่ตรงไหนและนี่เองครับที่ทำให้รู้ว่าสุนทรภู่ชอบดื่มอะไรนอกจากเครื่องดื่มมึนเมา

เห็นทับทิมริมกระฎีดอกยี่โถ   สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย
เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย   เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส   ด้วยยามอดอัตคัดแสนขัดสน
จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน   จะจากต้นชาให้อาลัยชา

จะเห็นว่านอกจากเหล้าสุนทรภู่ก็ดื่มชาด้วยอาจเป็นเพราะขณะนั้นสุนทรภู่กำลังบวชอยู่ด้วยแต่บทกลอนข้างต้น สุนทรภู่ก็แต่งได้ไพเราะโดยไม่ได้ดื่มเหล้าสักนิดเลย

ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า สุนทรภู่ไม่ต้องกินเหล้าก็ประพันธ์งานออกมาได้ไพเราะเช่นกัน เหล้าไม่ใช่ตัวช่วยหรือสิ่งจำเป็นสำหรับ กวีสี่แผ่นดิน อย่างสุนทรภู่ผลงานแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิงข้อมูล :

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ.(ออนไลน์).สืบค้นจาก: http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/alooh/data.html. สืบค้นเมื่อ1 มิถุนายน 2560.

ครูทอม คำไทย. (2559). สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง. กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก.

เรือนไทยตู้หนังสือ. นิราศภูเขาทอง. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2560