“พระคเณศ” ไม่ใช่ “เทพศิลปะ” รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็นเทพศิลปะ

พระคเณศ

“พระคเณศ” ไม่ใช่ “เทพศิลปะ” รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็น “เทพศิลปะ” !?

ในความคิดของชาวอินเดีย ศิลปะเป็นอัญมณีอันล้ำค่าที่สุดของอารยธรรมมนุษย์ และในศิลปะทุกสาขาเขาถือกันว่าศาสตร์แห่งการแสดง เช่น ดนตรีและนาฏกรรมนั้นถือว่าเป็นเลิศเหนือศิลปะแขนงอื่น

ศิลปะการแสดงที่กล่าวแล้ว มีเทพบรมครูแตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย เช่น ไศวนิกาย ยกย่องว่าพระศิวะมหาเทพทรงเป็นนาฏราช หรือผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ดังจะมีเทวรูปศิวะนาฏราชเป็นสัญลักษณ์

ฝ่ายไวษณพนิกาย ก็นับถือว่าพระนารท (Narada) เป็นครูใหญ่ในอุปเวทแขนงนี้ คือคานธรรพเวท (Gandharva Veda) ดังพระองค์จะปรากฏกายในทุกสถานที่พร้อมกับสะพายวีณาไปด้วยเป็นสัญลักษณ์

ส่วนคติความเชื่อที่ว่าเก่าแก่กว่านั้น มาจากฝ่ายที่นับถือพระพรหม ซึ่งไม่มีแม้แต่นิกายเป็นของตนเอง คือการนับถือพระสรัสวดี (Sarasvati) ว่าเป็นเทพบรมครูทั้งด้านศิลปะการแสดง รวมถึงศิลปวิทยาการทุกแขนง จนการศึกษาเล่าเรียนหรือแม้แต่การศึกษาพระเวท ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิม พระนางก็ยังทรงเป็นมารดาแห่งพระเวท (Vedanam Mataram Pasya)

จะเห็นว่าในคติที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีการนับถือพระคเณศ (Ganesh : พระพิฆเนศวร) ในฐานะบรมครูทางศิลปะ โดยเฉพาะในศิลปะการแสดงเหมือนที่ไทยเรานับถือกัน

แล้วพระคเณศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการไหว้ครูทางศิลปะตลอดจนการศึกษาและการทำงานด้านศิลปะต่างๆ ได้อย่างไร?

คำตอบคือ พระองค์เป็นเทพแห่งการเริ่มต้น อุปสรรคและความสำเร็จ การประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งการไหว้ครูจะต้องมีการอัญเชิญพระองค์เป็นอันดับแรก เพื่อให้ทรงขจัดอุปสรรคและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้หมดไป สิริมงคลและความราบรื่นจะได้บังเกิด ความมุ่งหมายในการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ ก็จะได้สัมฤทธิผล

ดังนั้นจึงนิยมกันต่อไปว่า เรื่องที่สำคัญเช่นการศึกษาและการประกอบสัมมาอาชีพทุกอย่าง เมื่อจะริเริ่มก็ควรไหว้พระคเณศเสียก่อนด้วย เพราะแม้แต่การประกอบพิธีกรรมซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดก็ยังต้องไหว้พระองค์เป็นอันดับแรกมาแล้ว

การที่คนอินเดียเชื่อถือเช่นนี้ จึงไม่เกี่ยวกับการยกย่องให้พระคเณศเป็นเทพบรมครูทางศิลปะอย่างที่คนไทยเรานิยมกัน

เพราะหลังจากทำการไหว้พระคเณศ เพื่อการเริ่มต้นที่ดี และเพื่อให้สิ่งที่จะกระทำนั้นราบรื่นและสำเร็จแล้ว เขาถึงจะไหว้องค์บรมครูของแต่ละสาขานั้นโดยตรง และถ้าในทางศิลปะก็คือพระสรัสวดี

พระสรัสวดี เทวีแห่งศิลปวิทยาการทุกสาขา รวมทั้งทุกสิ่งที่เป็นความรู้ของมนุษย์และเทพเจ้า (Wellcome Library, London. Wellcome Images
[email protected]. Chromolithograph by R. Varma)

ในวันวสันต์ปัญจมี (Vasant Panchami) หรือวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันหยุดราชการตามปฏิทินอินเดียที่ใช้กันทั่วประเทศ เป็นวันไหว้พระสรัสวดีโดยเฉพาะ ผู้ประกอบอาชีพทางศิลปะทุกสาขาจะนำอุปกรณ์และเครื่องมือทำมาหากินของตนไปรับการเจิมหน้าเทวรูปของพระนาง ในวันไหว้พระศิวะเช่น ศิวาราตรี (Shiva Ratri) หรือวันไหว้พระคเณศ เช่น คเณศจตุรถี (Ganesh Chaturathi) ไม่มีการทำแบบนี้

ว่ากันตามเทววิทยาแล้ว พระคเณศไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดง แม้ในทางประติมานวิทยาจะมีรูปที่กำลังฟ้อนรำ หรือนารทนะคเณศ (Naradana Ganesh) แต่ก็ไม่ถือว่าทรงเป็นเทพแห่งนาฏศิลป์ เพราะเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากการนับถือพระศิวะในปางนาฏราชเท่านั้น คนอินเดียชอบเรื่องร้องรำทำเพลง เมื่อพระศิวะเต้นระบำ พระคเณศก็เต้นระบำตามไปด้วย แม้แต่พระอุมาก็ยังมีปางนาฏราช ถ้าว่ากันตามเทวปรัชญาทั้งหมดล้วนแสดงถึงการสร้างโลก

ส่วนเทวรูปพระคเณศทรงวีณา หรือวีณะคณปติ (Vina Ganapati) ก็อาจมีส่วนสร้างความสับสนได้พอสมควรในแง่ที่ว่าจะทรงเป็นเทพแห่งคีตศิลป์หรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงก็คือพระคเณศปางนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียยุคหลังมากด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับปางฟ้อนรำ คือประสงค์จะให้เกี่ยวข้องกับการร้องรำทำเพลง แต่ไม่ได้หมายความว่าทรงเป็นคีตจารย์

พระสรัสวดีเท่านั้นที่ทรงเป็นบรมครูตัวจริงในแขนงนี้ ดังมีการยืนยันไว้ในคัมภีร์ต่างๆ แม้แต่คัมภีร์ฝ่ายไวษณพนิกาย เช่น มัตสยปุราณะ (Matsy Purana) และวีณาที่ทรงถืออยู่เป็นประจำก็เป็นเรื่องของการดนตรีและนาฏศิลป์โดยตรง ไม่เหมือนกับวีณาที่พระนารทสะพายอยู่ตลอดเวลาเพราะว่าทรงเกี่ยวข้องกับพวกคนธรรพ์เท่านั้น นอกจากนี้เทวรูปพระสรัสวดีตามเทวสถานต่างๆ ถ้าไม่ทรงดนตรีก็จะอยู่ในลักษณะฟ้อนรำ (เช่นที่เทวลัยลักษมีนรสิงห์, กรนาฏกะ) ข้อที่เห็นได้ชัดคือการแสดงละครและนาฏศิลป์อินเดีย การเบิกโรงจะกระทำโดยการฟ้อนรำพระสรัสวดี ไม่ใช่ศิวะนาฏราช

พระคเณศทรงอักษร ที่ทำให้มองได้ว่าทรงเป็นเทพแห่งการประพันธ์ด้วย

ส่วนในศิลปะแขนงอื่นๆ แม้พระคเณศจะเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่มากโดยเฉพาะด้านการประพันธ์ เพราะทรงเป็นผู้รจนาคัมภีร์มหาภารตะ (Maha Bharata) รูปบูชาของพระองค์ที่วาดกันสีสวยๆ ก็มีหลายภาพที่แสดงว่ากำลังทรงหนังสือ

แต่ครูหนังสือจริงๆ ก็ยังคงเป็นพระสรัสวดี เพราะถือกันว่าทรงเป็นผู้ประทานอักษรเทวนาครีแก่มวลมนุษยทั่วประเทศอินเดียมีวันไหว้ครูเมื่อเริ่มการศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ ในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า อักษรารัมภา (Akshararambha) ครูที่ไหว้กันนั้นก็คือพระสรัสวดี (เทพอีกองค์ที่พอจะนับเป็นครูหนังสือได้ คือพระพฤหัสบดี แต่เป็นการนับถือกันตามปกรณ์โหราศาสตร์ ซึ่งถือว่าดาวพฤหัสบดีเป็นดาวที่มีอิทธิพลด้านการศึกษา ที่เราไหว้ครูกันวันพฤหัสบดีก็ด้วยเหตุนี้)

การนับถืออย่างนี้ที่จริงก็เคยเข้ามาถึงเมืองไทย และปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา ในด้านศิลปะการแสดงเราเคยมีการเบิกโรงละครด้วยการฟ้อนพระสรัสวดีตามแบบอินเดียมาแล้ว และเพิ่งมาเลิกไปครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แม้ในบทไหว้ครูละครชาตรี ซึ่งมีพื้นฐานดั้งเดิมมาจากละครอยุธยาก็ยังมีคำไหว้พระสรัสวดีหลงเหลืออยู่ ไม่มีการไหว้เทพองค์อื่นแม้แต่พระคเนศ แสดงว่าแต่เดิมเราก็นับถือพระสรัสวดีเป็นครูดนตรีและนาฏศิลป์เหมือนกัน

ส่วนในด้านหนังสือ เป็นที่รู้กันว่าในแบบเรียนอักษรศาสตร์เล่มแรกของเรา คือจินดามณี ฉบับที่เก่าแก่ถึงสมัยอยุธยานั้น มีบทไหว้พระสรัสวดีปรากฏอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ไมเคิล ไรท์ ยังเคยให้ความเห็นไว้ว่า คำว่าจินดามณีนั้นควรจะแปลว่า แก้วมณีแห่งพระนางสรัสวดี เพราะจินดาคือนามพระสรัสวดีในภาษาทมิฬนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นตามที่นิยมกันอยู่ในพวกทมิฬ หนังสืออักษรศาสตร์ทุกเล่มจะเรียกกันว่าจินดามณี เหมือนของเรา และจินดามณีของเราก็เรียบเรียงขึ้นด้วยกลวิธีเดียวกับของพวกทมิฬไม่มีผิด

จึงเห็นได้ชัดว่า การนับถือพระสรัสวดีเป็นครูหนังสือ มีหลักฐานอยู่ในแบบเรียนสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดเล่มนี้ด้วย ส่วนการนับถือพระคเณศว่าเป็นครูหนังสือ ยังมิได้ปรากฏเป็นหลักฐานแน่นหนาดังในปัจจุบันนี้แต่อย่างใด แม้จะมีผู้ให้ความเห็นว่า เทวรูปพระคเณศบางองค์ในสมัยอยุธยานั้นทรงถือเหล็กจาร ทำให้มองได้ว่าทรงเป็นเทพแห่งศิลปะมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่ที่จริงก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นการแสดงถึงความนับถือพระองค์ในฐานะผู้รจนาคัมภีร์สำคัญเช่นมหาภารตะเท่านั้น เป็นเช่นเดียวกับรูปพระคเณศทรงอักษรในอินเดีย หาได้นับถือว่าทรงเป็นครูหนังสือ หรือเทพแห่งศิลปวิทยาการโดยรวมอย่างสมัยของเราไม่

แล้วการนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะในบ้านเราเริ่มต้นเมื่อไหร่ พระสรัสวดีหายไปจากวงการศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะการแสดงและวรรณศิลป์ของเราตอนไหน

คำตอบก็คือ รัชกาลที่ 6

ไม่ก่อนหน้านั้น เพราะพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับพระคเณศทั้งที่ทรงอธิบายพระราชพิธีสิบสองเดือนก็ดีหรือทรงกล่าวถึงการได้เทวรูปพระคเณศจากจัณฑิสิงหส่าหรีในชวาก็ดี ไม่ทรงกล่าวว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ หรือการประพันธ์หนังสือใดๆ เลย

แล้วเหตุใดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับการยกย่องกันมากว่าทรงเป็นบิดาแห่งวิชาภารตวิทยาในเมืองไทยนั้น จึงไม่ทรงนึกถึง หรือไม่ใส่พระทัยต่อคติการนับถือพระสรัสวดีในด้านนี้อันมีมาแต่เดิม?

ข้อนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ อาจเป็นเพราะว่าในรัชสมัยของพระองค์ การนับถือพระสรัสวดีได้เสื่อมไปมากแล้วก็เป็นได้ เพราะอย่างเช่นในฝ่ายดนตรี พวกปี่พาทย์ก็มิได้นับถือพระสรัสวดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะพระนางไม่เคยเป็นครูปี่พาทย์ พระนางถือแต่วีณาเป็นครูมโหรีอันเป็นแบบแผนของดนตรีอินเดียและดนตรีราชสำนักไทยสมัยก่อน ไม่ใช่ปี่พาทย์ซึ่งเป็นแบบแผนของดนตรีชาวบ้าน

เมื่อพวกปี่พาทย์มมามีอิทธิพลขึ้นในราชสำนัก โดยเฉพาะก็ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ลงมา จึงได้วางรากฐานการนบไหว้เทพบรมครูทั้งในทางดนตรีและนาฏศิลป์ โดยยกย่องครูของตน คือ พระภรตมุนี และพระนารทให้มีความสำคัญที่สุด จนแม้พิธีครอบครูของฝ่ายมโหรีและเครื่องสาย ก็ยังกำหนดให้ต้องมาครอบจากฝ่ายปี่พาทย์

เมื่อเป็นเช่นนี้การนับถือพระสรัสวดีในเมืองไทยอย่างน้อยก็เสื่อมไปแล้วทางหนึ่ง คือในทางดนตรีและนาฏศิลป์ คือเสื่อมไปพร้อมกับความร่วงโรยของดนตรีราชสำนัก ซึ่งถูกแทนที่ด้วยดนตรีชาวบ้านนั่นเอง

อีกทั้งความศรัทธาเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะผู้นำของบ้านเมืองย่อมเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด เราเห็นกันแล้วว่าสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงนับถือพระคเณศมาก ถึงแก่ทรงสร้างเทวาลัยคเณศร์ขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเป็นพระราชฐานที่เสด็จประทับทรงงานด้านหนังสือและการละครมากที่สุด ทั้งสองอย่างนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสรัสวดีทรงเป็นบรมครูมาแต่ก่อนทั้งในคติอินเดียและอยุธยา สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงถวายความสำคัญแต่พระคเณศหมดสิ้น เมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์เลยทีเดียว

จนเมื่อกรมศิลปากรเกิดขึ้น และได้รับดวงตราพระคเณศของวรรณคดีสโมสรมาเป็นตราประจำกรม พระคเณศจึงกลายเป็นเทพแห่งศิลปะ รวมทั้งการศึกษาในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ

รวมทั้งพระสรัสวดีก็หายไปจากความคิดเราโดยเกือบสมบูรณ์ภายในเวลาเพียงไม่กี่สิบปีมานี้

เหลือแต่เพียงตุ๊กตาทอง หรือรางวัลพระสุรัสวดีที่แจกกันอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย เป็นเครื่องระลึกว่าครั้งหนึ่งบรรพชนเราเคยกราบไหว้พระนางเป็นครูศิลปะการแสดง หรือหลงเหลืออยู่ในรูปสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ก็ไม่มีความสำคัญอะไรนอกเหนือจากนั้น ศิลปินส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่พระคเณศว่าเป็นครูทางศิลปะเท่านั้น แม้รางวัลของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ก็ยังเป็นรางวัลพระพิฆคเณศทองพระราชทาน

ปัจจุบันมีกระแสเล็กๆ แห่งความพยายามของนักวิชาการด้านนาฏศิลป์ของไทยบางกลุ่ม ที่จะรื้อฟื้นคติการนับถือพระสรัสวดีในศาสตร์แขนงนี้อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เรามีเพลงตระพระสรัสวดีเกิดขึ้นแล้ว โดยการประพันธ์ของอาจารย์เดชน์ คงอิ่ม แห่งสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมีศรีษะพระสรัสวดี ซึ่งคณะศิษย์พ่อครูฤาษีพระภรตมุนีแห่งสำนักวัดสุทธาราม สำเหร่ สร้างขึ้นอย่างงดงามสำหรับนำเข้าพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์แล้ว

อีกไม่ช้าอาจจะมีผู้สืบค้นท่ารำพระสรัสวดีที่สูญหายไปและนำกลับมาเบิกโรงในการแสดงนาฏศิลป์ไทยในอนาคตได้สำเร็จก็เป็นได้

การนับถือพระคเณศในทางศิลปวิทยาการไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่ไม่ใช่การนับถือที่ตรงจุด ดังที่พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระพิฆเนศให้คำจำกัดความสั้นๆ

“พระคเณศไม่ใช่เทพแห่งศิลปะ ท่านเป็นเทพสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง” (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ที่มูลนิธิพระพิฆเนศ)

ดังนั้นจึงน่าจะเป็นสิริมงคลมากกว่า ถ้าผู้ศรัทธาในองค์เทพจะได้กราบไหว้บูชาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้าจะไหว้เทพแห่งศิลปะก็พึงไหว้พระสรัสวดี

แต่ถ้าจะสักการะเพื่อการเริ่มต้น และเพื่อความสำเร็จแห่งกิจการทุกอย่างไม่ว่าด้านศิลปะหรือด้านใดก็ตาม พึงนบไหว้พระคเณศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2560