ท่องบางกอก จิบน้ำชา-เริงนารี เปิดสภาพนครโสเภณีและกิจการดังกว่า 50 ปีก่อน

ภาพประกอบเนื้อหา - สำเพ็งสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

ไล่เรื่อยไปตามถนนเจริญกรุง ถนนสําหรับรถยนต์สายแรกของเมือง ก่อนที่จะมีบํารุงเมือง และเฟื่องนคร เดินผ่านปัจจุบันไปสู่อดีต ผ่านยุคของรถราง และรถเจ็ก (รถลาก) จากยุคของกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองบางกอกในอดีตที่มีประชากรไม่มากมายนัก มีรถยนต์ไม่กี่คัน และมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หากบนเส้นทางของผู้ชายชอบสนุกกลับไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ถนนโลกีย์ หญิงนครโสเภณี โรงฝิ่น โรงน้ำชา โรงระบําเปลื้องผ้า เรียงหน้ากันเข้ามาไม่เคยขาด จนกระทั่งยุคของอาบอบนวด ค็อกเทล เลานจ์ และผู้หญิงมือถือแห่งมหานครกรุงเทพฯ

ครึ่งศตวรรษมาแล้วชายหนุ่มเลือดมังกร ร่างเล็ก ผอมเกร็ง ผิวเหลือง เตร็ดเตร่อยู่บนถนนเยาวราชยามพลบค่ำหลังเลิกงานเสมียนร้านค้าส่งเพื่อบ่ายหน้ากลับไปยังบ้านพักย่านตลาดน้อย พลันเขาสะดุดกับสถานที่ และเสียงอันคุ้นเคยที่อยู่เบื้องขวาของถนน เสียง “เพลงงิ้ว” เครื่องสายจีน และคําร้องเสนาะหูแว่วจากภายในหมายอันชวนเคลิบเคลิ้ม ป้ายไม้เหนือประตูบอกว่าที่นี่คือ “ฮว้า ฉ่า” ซึ่งมีความหมายอันชวนเคลิ้มว่า “น้ำชาและดอกไม้” อยู่คู่ถนนสายนี้มานานปี

เป็นความคุ้นเคยที่เขาอยากเปลี่ยนแผนการเดินทางเป็นการแวะพักจิบน้ำชาจีนชั้นดีและทอดอารมณ์กับ “ดอกไม้” ที่นั่นสักชั่วยาม

เพียงก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้าไป ลูกจ้างร้านขายของชําก็รู้สึกเหมือนตนเองเป็น “คนสําคัญ” ของที่นั่น เมื่อ “โก” เจ้าของร้านเชื้อชาติเดียวกัน ออกมาต้อนรับขับสู้เชื้อเชิญให้เข้าพักผ่อนในห้องเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วยเตียงนอน ม้านั่ง และม่านบังตาสีสันสวยงาม

บริกรท่าทางนอบน้อมยกกาน้ำชาร้อน ๆ พร้อมจอกกระเบื้อง และชาจีนห่อเล็ก ๆ ถาดขนมขบเคี้ยวที่บางครั้งก็เป็นถั่วตัด ขนมเปียะ ไม่นานนักหญิงสาวชาวจีนรุ่นกําดัดก็จะมารับหน้าที่ต้อนรับขับสู้ และอยู่เป็นเพื่อนคลายเหงาและคลายเครียด เธอเหล่านั้นมักจะใส่ชุดกี่เพ้าแบบจีน ผัดแป้งทาหน้าขาวนวล แต่ออกจะเย้ายวนอารมณ์กําดัดของชายหนุ่มยิ่งนัก

แต่เขาก็พึงใจเพียงแค่จับมือถือแขน หยอกล้อ เกี้ยวพาตามประสาชายหนุ่มอารมณ์ซุกซน หากจะมากไปกว่านั้นก็คงต้องเป็นเรื่องของฝีไม้ ลายมือหรือเงินตราในกระเป๋าที่จะ “หิ้ว” เธอขึ้น “เล่าเต็ง” หรือพาไปที่อื่น ๆ คนหนุ่มใจร้อนมักจะมาที่นี่และใช้เวลาอยู่ภายใต้อารมณ์ลุ่มหลงอยู่เป็นประจํา ส่วนผู้เฒ่าที่สังขารอ่อนล้ากับชีวิตมามากก็มักเรียก “หมอนวด” ที่ค่อนข้างสูงอายุ และอยู่ประจํามาบริการนวดเฟ้นแก้ปวดเมื่อยเป็นการพิเศษ

หมอนวดเหล่านี้เองที่มีพื้นเพและความเป็นมาจาก “คนรับใช้” ในโรงยาฝิ่นที่เคยให้บริการลูกค้า ทั้งนวดเฟ้น และปั้นยาฝิ่น หลังจากโรงฝิ่นถูกสั่งปิด สถานที่ที่สามารถจะทํามาหากินได้ก็คือโรงน้ำชาต่าง ๆ นี่เอง

ย้อนขึ้นไปทางตึก 7 ชั้น ชายจีนคนหนึ่งมาเช่าที่โรงงิ้วบริเวณตึก 7 ชั้น ตรงข้ามสี่แยกเฉลิมบุรี ข้างโรงหนังเทียนกัวเทียน เปิดโรงน้ำชาขึ้นอีกแห่งให้ชื่อว่าร้าน “หลักลัก” ในภาษาจีนมีความหมายถึง ความสุข 6 อย่าง เป็นโรงน้ำชาอยู่ชั้นบน และมีโรงงิ้วอยู่ชั้นล่าง และกลายเป็นโรงน้ำชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น เพราะการบริการ และผู้หญิง รวมทั้งการแสดงต่าง ๆ ปัจจุบันชื่อของ “หลักลัก” อันโด่งดังยังปรากฏอยู่ในสารบบของโรงน้ำชายุคเริ่มแรก แต่ย้ายสถานที่มาอยู่ย่านศูนย์การค้าวรรัตน์ ถนนจันทน์

ห่างจาก “หลักลัก” ไม่มากนัก บริเวณตึก 5 ชั้นเยาวราช มีร้านน้ำชาชั้นยอดอีกร้านหนึ่งที่มีจุดขายค่อนข้างแตกต่างและถือกันว่าเป็นแนวคลาสสิค กล่าวคือ ร้านดังกล่าวอยู่ตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรี (พ.ศ. 2537 เป็นห้างแปซิฟิก) เพราะเป็นร้านน้ำชาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของตึก สามารถมองเห็นทิวทัศน์รายรอบได้กว้างไกล ชาวโรงน้ำชาในยุคนั้นถือเป็นจุดชมวิวอีกแห่งของกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากภัตตาคารระดับหรูบนยอดตึกสูงของโรงแรมในปัจจุบัน

อดีตเมืองบางกอก โรงน้ำชาและหญิงโสเภณี

ในยุคที่โรงยาฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โรงน้ำชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนซึ่งอยู่ไล่เลี่ยเวลากันนั้น ก็มาถึงยุคเฟื่องฟู “ผู้หญิงและน้ำชา” กลายเป็นที่ปรารถนาของชายในสมัยนั้น หากไม่นับรวมบรรดา ซ่องซึ่งเกิดขึ้นทั่วทุกมุมของเมืองบางกอก โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกับพัฒน์พงศ์เวลานี้ (พ.ศ. 2537) ย่านเยาวราช สําเพ็ง และใกล้เคียง ก็ตื่นอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ห้าทุ่มเที่ยงคืนซึ่งถือว่าดึกมากแล้วในสมัยนั้น ถนนเริงรมย์แห่งนี้มีตั้งแต่ โรงยาฝิ่น ร้านเหล้า โรงหวย โรงน้ำชา หากเอ่ยชื่อตรอกซอกซอยเหล่านี้ ชายหนุ่มในยุคนั้นคงจําได้ไม่ว่าจะเป็น ตรอกบําเพ็ญบุญ (สะพานถ่าน) ย่านสามยอด สะพานเหล็ก ย่านสําเพ็ง หรือมายุคหลัง ๆ ก็ขยายตัวไปถึงย่านหัวลําโพง และซอยทรัพย์

สํานักบริการอันมีหญิงนครโสเภณีเป็นจุดขายเหล่านี้มักแยกแยะกันไม่ออกอย่างแจ่มชัด ไม่ว่าจะเป็นซ่อง โรงระบําโป๊ หรือโรงน้ำชา ของชาวจีน เพราะในความหมายและความต้องการอันแท้จริงของบรรดาลูกค้าแล้วก็คือ การปลดปล่อยอารมณ์กําดัดและผ่อนคลายกับหญิงบริการ จะต่างกันที่รูปแบบและจุดขายเท่านั้น เช่น “ซ่อง” เป็นสถานที่ประกอบกิจอย่างตรงไปตรงมา มีลักษณะเป็นบ้านหรือห้องแถว เป็นห้องขนาดเล็ก และเตียงนอน ส่วนใหญ่สมัยนั้นมีเจ้าของเป็นคนไทยและมักจะมี “แม่เล้า” เป็นผู้จัดการทั่วไปคอยต้อนรับขับสู้

ส่วนโรงน้ำชานั้นมีลักษณะที่ผสมกลมกลืนเอาวัฒนธรรมจีนเข้ามาในการบริการ เพราะส่วนใหญ่เจ้าของเป็นชาวจีนแท้ที่เข้ามาทํามาหากินในเมืองไทย

จะต่างและแปลกแหวกแนวออกไปค่อนข้างมากก็เห็นจะเป็นโรงระบําโป๊ที่บริเวณตึก 7 ชั้น ของนายหรั่ง เรืองนาม ซึ่งขึ้นชื่อมากในยุคนั้น (ราวปี พ.ศ. 2488) ว่ากันว่านายหรั่งเป็นลูกครึ่ง (เยอรมัน-ฮอลันดา) เป็นชาวตะวันตกที่นําของแปลกใหม่เข้ามาสู่ถนนสายเริงรมย์ของไทยในยุคเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน (นับจาก พ.ศ. 2537)

คนหนุ่มยุคนั้นจะรู้จักโรงละครของนายหรั่งเป็นอย่างดี ใคร ๆ ก็อยากแวะเวียนไปย่านตรอกบําเพ็ญบุญ โรงระบําที่ว่านั้นอยู่บนชั้นสองของตึก ก่อนช่วงการแสดงราว 20 นาที จะมีสาว ๆ นุ่งน้อยห่มน้อยออกไปเต้นรําเป็นการเชิญชวนลูกค้าให้เข้ามาชม ช่วงเริ่มการแสดงจะมีการบรรเลงเพลงมาร์ชเป็นการโหมโรง หลังจากนั้นสาว ๆ ในชุดแบบฝรั่งก็จะออกมาเต้นรําเปิดผ้าผ่อนให้ชมจากน้อยไปหามาก จนกระทั่งในช่วงสุดท้ายของการแสดงก็จะเปลื้องผ้าเกือบหมด

โรงระบําของนายหรั่งมีชื่อเสียงอยู่พักใหญ่ก็ต้องปิดตัวเองลง อาจจะเป็นเพราะด้วยปัญหาเศรษฐกิจทําให้ไม่สามารถเปิดแสดงต่อไปได้ สีสันของถนนเริงรมย์สมัยนั้นจืดจางลงไปอีกเล็กน้อย แต่ความต้องการของบรรดาลูกค้าประจําก็ไม่เคยเปลี่ยน

หลังปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีที่ประกาศยกเลิกใบอนุญาตโรงยา ฝิ่น และสถานโสเภณีที่มีอยู่มากมาย แต่การบริการรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ยังคงมีอยู่และเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างเท่านั้น

มองอดีตผ่าน “เสฐียรโกเศศ”

มีหนังสืออันถือเป็นบทความสําคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง เขียนโดยท่านเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) เมื่อปี 2512 ชื่อ “ฟื้นความหลังภาค 3” ได้เล่าเรื่องราวของสถานเริงรมย์ การเที่ยวผู้หญิงในอดีตไว้อย่างละเอียด

“…แม้แต่ในกรุงเทพเองในสมัยนั้น ก็คงมีจํากัดอยู่ในสามเพงเท่านั้น หรือกระจายออกไปที่อื่นบ้างแล้ว ข้าพเจ้าก็ทราบไม่แน่ชัดเพราะยังเด็กมากอยู่ จะไปรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเรื่องพรรนี้ ยังจําได้เงา ๆ เมื่อข้าพเจ้ามีอายุราว 7-8 ขวบ คนที่บ้านเคยพาแวะไปที่ตึกแถวห้องหนึ่งที่ถนนเจริญกรุง ตอนข้างวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรในปัจจุบันนี้ แล้วถูกผู้หญิงสาว ๆ สองสามคนกลุ้มรุมแก้ผ้า และอาบน้ำทาขมิ้นและแป้งให้…

“เราอาจเดาได้ด้วยเหตุผลว่า “หญิงหาเงิน” หรือ “หญิงหากิน” ด้วยการค้าประเวณี จะต้องเกิดมีขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญด้วยเงินทอง ซึ่งทุกคนต้องการ อันเนื่องด้วยมีชาวต่างประเทศ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทําการค้าขาย ตั้งเป็นห้างเป็นหอขึ้น แต่การค้าประเวณีผิดกว่าการค้าชนิดอื่น เพราะถือว่าชั่ว จึงเรียกผู้หญิงหา กินอย่างนี้ว่า “หญิงคนชั่ว”

“เมื่อเวลาล่วงมาแล้ว 70 ปี หรือกว่านั้น ที่สนุกในกรุงเทพฯมีอยู่เป็นหย่อม ๆ ตามบ่อนเบี้ยและโรงหวย เพราะมีคนไปเล่นเบี้ย และแทงหวย และเที่ยวเตร่หาความสําราญ มีคนพลุกพล่านในเวลาค่ำคืน ที่สนุกเหล่านี้มีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ทําเลที่ตั้งของสถานที่เช่นนั้น แต่ที่สนุกมากคือ ในท้องสามเพงลางตอน…”

หญิงจีนครองตลาด นครโสเภณี

เสฐียรโกเศศยังกล่าวถึง “โรงผู้หญิงคนชั่ว” ไว้อีกตอนหนึ่ง ซึ่งพอจะนํามาเชื่อมโยงกับเรื่องราวของโรงน้ำชาซึ่งเป็นของคนจีน และ “ซ่อง” ไว้ว่า

“เมื่อข้าพเจ้าเป็นหนุ่มแล้ว โรงผู้หญิงคนชั่วที่ตรอกแตงและตรอกโรงเขียนไม่มีแล้ว ไม่ใช่เห็นว่าโรงผู้หญิงคนชั่วไทยเป็นบ่อเกิดแห่งความ ฟุ้งเฟ้อ และผิดศีลธรรม แต่ที่ต้องเลิกไปเพราะบริเวณตรอกเหล่านั้นกลายเป็นโรงผู้หญิงคนชั่วชาวกวางตุ้งไปหมด นี่เห็นไหม ถูกแย่งเอาไป แม้แต่อาชีพค้าประเวณี ยังเหลือที่เป็นโรงคนชั่วหญิงไทยอยู่ก็ที่ตรอกเต๊า สมัยนั้นที่หน้าโรงผู้หญิงคนชั่วยังไม่มีโคมเขียวจุดแขวนไว้ เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นโรงผู้หญิงอย่างนั้น…

“เมื่อเดินผ่านโรงหญิงคนชั่วจีนในเวลาเย็น ๆ ตอนหัวค่ำ ที่จริงจะเรียกว่าโรงจะต่ำไป เพราะจะกลายเป็นพวกโรงม้าโรงรถ ควรเรียกว่า อาคารจะเหมาะกว่า เพราะเป็นตึก 2 ชั้น ตรงบานประตูมีลูกกรงไม้รูป กลม ๆ ใหญ่ ๆ มีขนาดเขื่องโตเท่าลําแขน ปิดเปิดได้เมื่อต้องการ ลูกกรงไม้นี้ไม่ได้วางกั้นตามแนวดิ่ง แนวตั้ง แต่กั้นขวางตามแนวนอน มีช่องว่างระหว่างลูกกรงพอยื่นแขนลอดเข้าไปหรือออกมาได้สะดวก เมื่อมองลอดช่องลูกกรงเหล่านี้เข้าไปจะเห็นหญิงสาวชาวจีน 2-3 คน ข้าพเจ้าจําได้ว่าเคยเข้าไปนั่งข้างในนั้น 2 หรือ 3 ครั้งเป็นอย่างมาก…

“ห้องหับที่หลับที่นอนของหญิงคนชั่วจีนที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็นมา ดูสะอาดสะอ้านหมดจด น่าทอดกายลงนอนเล่นได้สบาย พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์ใช้สอยอย่างดีในสมัยนั้นก็มีอยู่ครบครัน ชาวจีนถือเป็นวิสาหกิจ กล้าได้กล้าเสียกว่าไทย..”

ท่านเสฐียรโกเศศได้บันทึกเรื่องราวของ “โรงผู้หญิงคนชั่ว” ไว้จากประสบการณ์ที่ได้คบหาเพื่อนชาวจีน ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าตํารับในเรื่องของสถานบริการต่าง ๆ เริ่มจากโรงยาฝิ่น กลายมาเป็นโรงน้ำชา และพัฒนาขึ้นมาเป็นโรงแรมระดับต่าง ๆ ในปัจจุบัน เรื่องของถนนสายเริงรมย์เหล่านี้มักไม่พ้นย่านเยาวราช สะพานหัน และใกล้เคียง ท่านพูดถึงอดีตครั้งนั้นไว้ว่า

“มีโรงผู้หญิงคนชั่วและร้านเหล้าร้านขายอาหารอยู่หลายแห่ง ถ้าจะไปเที่ยวสามเพงยามราตรี ก็ไปเที่ยว 2 จุดนี้ ร้านขายอาหารส่วนมากเป็นร้านน้ำชา ขนมจีบซาลาเปาเป็นพื้น แต่จะสั่งทําอาหารเป็นจานก็มีส่วนที่เป็นร้านขายอาหารจีนชาวแต้จิ๋วซึ่งเป็นร้านอย่างกินโต๊ะ เท่าที่จําได้มีผู้รู้จักกันดีคือร้านบันไดทอง เพราะตามขั้นบันไดด้านตั้ง ซึ่งจะขึ้นไปชั้นบน ติดแผ่นทองเหลืองสลักเป็นลวดลายโปร่ง ขัดเสียเหลืองสุกปลั่ง จึงได้มีชื่อว่าเช่นนั้น…”

ดอกไม้และน้ำชา

ในประสบการณ์ครั้งหนึ่งของท่าน ได้พูดถึงเรื่องของร้านน้ำชา ร้านอาหาร ขนมจีบซาลาเปาในย่านสําเพ็ง เยาวราช ว่ามักเป็นของชาวจีนกวางตุ้ง รวมทั้งสถานบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีหญิงสาวชาวจีนเข้ามาให้บริการกันมาก และหญิงสาวเหล่านี้ก็เป็นเชื้อสายกวางตุ้งเช่นกัน เป็นประสบการณ์ในอดีตที่ทําให้เห็นบรรยากาศของการขึ้น “เล่าเต๊ง” ของบรรดาชายหนุ่มในยุคนั้น สภาพแวดล้อมภายในไม่ต่างจากโรงน้ำชาในยุคเริ่มแรกเท่าไรนัก

“…พอแหวกม่านเข้าไปประตูพ้นไปแล้วก็เจอนางสาวชาวกวางตุ้ง แก้มแดงดังดอกท้อนั่งอยู่ในห้องนั้นแต่คนเดียว เมื่อเห็นเราผลุดเข้ามา ก็ลุกขึ้นมาต้อนรับ ปากก็พูดเป็นภาษากวางตุ้ง 2-3 คํา ฟังไม่เข้าใจ แต่เดาได้ความเมื่อข้าพเจ้าและนายสมนั่งเก้าอี้ม้ายาวไม้ชิงชันเรียบร้อยแล้ว หญิงคนนั้นก็รินน้ำชามาให้ดื่มคนละถ้วย มีเวลาสังเกตดูห้องหับและที่นอนหมอนมุ้งก็สะอาดสะอ้าน เสียอย่างเดียว ไม่มีหมอนหนุนศีรษะอย่างเป็นเบาะ แต่มีหมอนกระเบื้องลายครามอยู่แทนที่ หมอนชนิดนี้เห็นจะสําหรับผู้หญิงจีนใช้หนุนศีรษะเพื่อไม่ให้ทรงผมยับ เกิดยุ่งเหยิง…”

นั่นคงเป็นบรรยากาศการขึ้น “เล่าเต๊ง” ของโรงน้ำชาตํารับดั้งเดิม อย่างไรอย่างนั้น

“แต๋ไม้” เป็นคําที่นักเที่ยวโรงน้ำชามักจะได้ยินได้ฟังจากโกเจ้าของร้านอยู่เป็นประจํา นั่นก็หมายความถึงว่า ต้องการขึ้นห้องหรือไม่ ภาพของ “ห้อง” หรือ “ห้องพิเศษ” ของบางคนที่เคยผ่านประสบการณ์จากโรงน้ำชามาแล้วอาจจะต่างออกไปบ้าง กล่าวคือ เป็นห้องกั้นด้วยฝาไม้ ประตูไม่มีกลอน หรือไม่ก็เป็นม่านรูด มีเตียง โต๊ะ เก้าอี้ กระโถน ปากแตร น้ำชาพร้อมอุปกรณ์การดื่มชา (ต่อมาเพิ่มน้ำเปล่าและขวดโซดาเข้าไปด้วย) ที่สําคัญห้องพิเศษที่ว่า มีขนาดเล็ก และฝาห้องกั้นไม่ถึงเพดานทําให้เสียงเล็ดลอดทั่วถึง หรือหากขึ้นยืนบนเตียงก็สามารถเห็นภายในห้องอื่น ๆ ได้

โรงน้ำชายุคกามาบาร์เบอร์

ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวงมาแล้วที่มีการควบคุมเรื่องกามโรค หรือ “จาโบ๊ฮวง” ในภาษาจีน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 ควบคุมเรื่องนี้ในเขตเมืองหลวงและหัวเมืองบางแห่ง นั่นหมายความว่า สถานนางโลมหรือแหล่งแพร่เชื้อเหล่านี้เริ่มมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนต้องควบคุมเช่นนั้น มีข้อมูลที่ระบุว่าในปี 2492 มีสถานโสเภณีจดทะเบียนอย่างถูกต้อง 99 สํานัก มีหญิงบริการ 427 คน ต่อมามีการออกกฎหมายยกเลิกโรงยาฝิ่น เมื่อปี 2501 และยกเลิกการตั้งสถานโสเภณีในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะเชื่อกันว่าสถานบริการเหล่านี้คือแหล่งรวมของเหล่ามิจฉาชีพโจรผู้ร้าย

ทั้งสถานนางโลมโรงน้ำชา สถานเริงรมย์รูปแบบต่าง ๆ นั้นมีการควบคุมการบริการอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 เพื่อควบคุมการให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะการบริการทางเพศที่มาในรูปแบบต่าง ๆ

มีบางมาตราที่บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงสถานเต้นรํา รําวง รองเง็ง ทั้งประเภทที่มีและไม่มีหญิงพาร์ตเนอร์บริการ สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่น โดยมีหญิงบําเรอสําหรับบริการลูกค้า หรือมีที่สําหรับพักผ่อนหลับนอน หรือมีบริการนวดให้กับลูกค้า รวมไปถึงสถานนวด อบตัว สถานบันเทิง แต่กฎหมายที่ออกมาก็ไม่สามารถควบคุมการเติบโตของจํานวนหญิงบริการ และสถานบริการต่าง ๆ ได้เลย เพียงแต่ทําให้รูปแบบ “การขาย” แตกแขนงออกไปมากมาย โรงน้ำชาที่ซบเซาไปจากถนนโลกีย์ในอดีตกลับไปผุดอยู่ทั่วไปย่านพระโขนง ลําสาลี สะพานควาย ไกลออกไปถึงรังสิต

แต่บริการกลับแตกต่างออกไปจากยุคที่หญิงจีนเฟื่องฟู หรือโสเภณีไทยยุคแรก กาน้ำชาหายไปจากห้องพิเศษ เปลี่ยนเป็นขวดโซดาใส่น้ำ หมอนกระเบื้องกลายเป็นหมอนฟูก หมอนวดมือดีและสาวบริการกลายเป็นโสเภณีที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป (ว่ากันว่าโรงน้ำชาปัจจุบัน พ.ศ. 2537 เป็นแหล่งโสเภณีเด็ก)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2561