การสลายอำนาจ “นัต” ผีอารักษ์ในพม่าท่ามกลางสังคมพุทธ

นัต
(จากซ้าย) นัต ชเวนาเบย์, นคาแมดอ, นัต ธะจามิน (ตะจาเมง) หรือท้าวสักกะ (พระอินทร์) และ นัต เมงมหาคีรินัต (ภาพจาก The Thirty-Seven Nats, 1991)

ความเชื่อและการบูชาผีแทบเป็นเรื่องสามัญในสังคมมนุษย์หลายยุคสมัย แม้แต่ในพม่าซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็น “ดินแดนแห่งพุทธศาสนา” ท่ามกลางบรรยากาศสังคมพุทธก็ยังมีการบูชาผี และที่พบได้บ่อยคือ นัต ผีอารักษ์ที่แพร่หลายมาก แม้ว่านัตจะเคยผ่าน “การสลายอำนาจ” มาแล้วก็ตาม

การบูชา “นัต” ในสังคมพม่ายังเป็นสิ่งที่พบเห็นตามบ้านเรือนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อรนุช และวิรัช นิยมธรรม ผู้เขียนบทความ “นัต : ผีอารักษ์ในสังคมพม่า” เล่าว่า บ้านของชาวพม่าบางรายยังพบหิ้งบูชานัตตั้งไว้ใกล้กับหิ้งพระพุทธรูป หรือในลานพระเจดีย์ยังมีรูปนัตปั้นเป็นองค์เทพ เทวี ผู้เฒ่า หรือรูปยักษ์ให้ได้พบเห็นกัน

“โวหารลีนตฺถทีปนี” ตำรานิรุกติศาสตร์เก่าแก่ของพม่าแต่งโดย มหาเชยสงฺขยา และสารานุกรมพม่า เล่ม 6 ต่างระบุไว้ทำนองเดียวกันว่า นัตมาจากคำว่า “นาถ” ในภาษาบาลี อันหมายถึง “ผู้เป็นที่พึ่ง”

สารานุกรมพม่าของรัฐบาลเมียนมาร์ กล่าวถึงนัตไว้ 3 นัย ได้แก่ เทพอุปปัตติทรงฤทธิ์ผู้คุ้มครองมนุษย์, วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย และคำขยายสิ่งซึ่งอุบัติขึ้นเอง เช่น “นัตเยดะวีง” หรือ สระนัต-สระธรรมชาติ (<นัต+น้ำ+บ่อ)

ไม่เพียงเท่านี้ ตำรายังกล่าวถึงเทพประจำจักรวาลว่าเป็นนัต เช่น เทพประจำดาวนพเคราะห์ สุริยเทพ จันทราเทพ ผู้เขียนบทความจึงอธิบายว่า นัตตามนัยคำว่า “นาถ” ก็คือเหล่าเทพเทวาบนชั้นฟ้าไปจนถึงผู้ประเสริฐและผู้ทรงอำนาจบนโลกมนุษย์ เป็นนัยตามโลกทรรศน์ในพุทธศาสนา

โดยรวมแล้วนัต ตามคติของชาวพม่าจึงหมายถึงผู้ทรงฤทธิ์ เป็นได้ทั้งเทพยดาและวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับกรณีนัต ที่เป็นวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์จะเป็นภูตผู้เป็นที่พึ่งของปุถุชนทั่วไป มีสถานะกึ่งผีกึ่งเทพ ระดับสูงกว่าผีทั่วไป แต่ไม่เท่าเทพ นัตลักษณะนี้จึงไม่ใช่ผีสามัญอย่างที่เรียกกันว่า ตะเช หรือตะแย แต่เป็นวิญญาณของผู้ตายจากภัยอันร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนให้ความเคารพบูชาและมีพิธีเข้าทรงลงผี อันมาจากความเชื่อว่านัตจะช่วยเหลือและคุ้มภัย ถ้าเปรียบเทียบกับความเชื่อเรื่องผีของไทย คงเปรียบได้กับฐานะและบทบาทผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ของไทย

ผู้เขียนบทความอธิบายว่าความเชื่อเรื่องนัตอยู่คู่สังคมพม่าดั้งเดิมมา นัตดั้งเดิมหรือผู้อารักษ์ที่เป็นผีกลุ่มดี แต่เมื่อศาสนาฮินดูแพร่เข้ามาในพม่า ชาวพม่าก็เริ่มรับเทพฮินดูเข้ามาในวงนัตของตน เกิดนัตเชื้อสายฮินดู อาทิ พิสฺสโน หรือพระวิษณุ มหาปินแน หรือพระพิฆเนศ

เมื่อศาสนาพุทธรุ่งเรืองในพม่า ย่อมมีนัตเชื้อสายพุทธเพิ่มด้วย อาทิ ตะจามีง คือท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ และสูรสฺสตินัตตะมี คือเทวีผู้ดูแลพระไตรปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจำแนกนัตตามความเชื่อแต่ละศาสนาและพัฒนาการทางสังคม ตำราว่าด้วยนัตของพม่าอย่างหนังสือ โตงแซะคุนิจ์มีง ของอูโพจา กล่าวถึงการแบ่งนัตออกเป็น 3 กลุ่ม คือนัตพุทธ นัตใน และนัตนอก

นัตพุทธ คือนัต 37 ตนที่กล่าวในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ได้แก่ มหาสมยสูตร และอาฏนาฏิยสูตร

นัตใน คือนัต 37 ตนที่ถูกำหนดในอยู่ในเขตกำแพงพระเจดีย์ชเวซีโกง ณ เมืองพุกาม ตั้งแต่เมื่อพระเจ้าอโนรธาทรงสะสางพระพุทธศาสนา นัตในบางตนก็ปรากฏชื่อทั้งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาและฮินดู

นัตนอก คือนัต 37 ตนที่อยู่นอกกำแพงพระเจดีย์ชเวซีโกง

ภูเขาโปปา ที่สิงสถิตของเหล่านัตหรือผีสำคัญทั้งหลายในแผ่นดินพม่า

ในบรรดานัตในพม่าก็มีนัตที่มีชื่อเสียง อาทิ มีงมหาคีริ เป็นนัตหลวงที่เกิดแถบเมืองตะกองในพม่าตอนเหนือ และกลายเป็นนัตบ้านนัตเรือน ดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน หรือชเวพีญญีนอง นัตหลวงสองพี่น้องมีกำเนิดทางเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ ถือเป็นนัตคู่ซึ่งเป็นครู บรรดาร่างทรงนัตต้องเซ่นสรวงทุกปี

ตำนานนัตที่มีชื่อบางรายต้องย้อนจุดเริ่มไปถึงตำนานสมัยพุกามยุคแรกก่อนรัขสมัยของพระเจ้าอโนรธา พ.ศ. 1587-1620 (ค.ศ. 1044-1077) ซึ่งความเชื่อถือนัตในยุคนั้นรุ่งเรืองมาโดยตลอด กระทั่งสมัยพระเจ้าอโนรธา ซึ่งเป็นช่วงที่ความเชื่อได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกรณีมีงมหาคีริ จากที่พระเจ้าอโนรธานำพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาสู่พุกาม โดยได้ความช่วยเหลือจากชินอรหัน

ผู้เขียนบทความอธิบายว่า พระองค์มีพระบรมราชโองการให้ทำลายลัทธิอารี หรือลัทธิอะเยจี ไปจนถึงฤาษีชีพราหมณ์ที่ประพฤตินอกรีตนอกรอย และยังทรงให้ยกเลิกพิธีบูชานัตที่เขาโปปา รวบรวมนัตทั้งหลายมาไว้ที่พระเจดีย์ชเวซีโกง ให้ทำหน้าที่พิทักษ์พระเจดีย์แทนจากเดิมที่จะประทับ ณ เขาโปปา

การกำจัดศูนย์รวมนัตที่เขาโปปาเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติความเชื่อของประชาชนจากการพึ่งนัต มาเป็นพึ่งพุทธศาสนา อีกนัยคือย่อมเป็นการจัดระเบียบสังคมใหม่ ลดอำนาจลัทธิอารี ส่งเสริมพระสงฆ์และบูชาพุทธเจดีย์ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าพระเจ้าอโนรธาทรงมีพระบรมราชโองการเช่นนี้เพื่อกำจัดฐานของพวกคิดขบถซึ่งมักไปซ่องสุมในเขาโปปาด้วย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามลดความเชื่อถือของนัตในหมู่ชนท้องถิ่นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เมื่อชาวบ้านไม่อาจละทิ้งความเชื่อถือในนัต อรนุช และวิรัช นิยมธรรม แสดงความคิดเห็นว่า อาจเป็นด้วยชาวบ้านยังเชื่อว่านัตเป็นผู้ที่ช่วยตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน และยังแอบบูชานัตในที่อยู่อาศัย และรับเอามีงมหาคีริ ที่เคยดูแลบ้านเมืองมาเป็นนัตเรือนที่เรียกว่า เองดะวีงนัต เชื่อว่าจะช่วยปกป้องคนในครอบครัว

หลังจากความพยายามของพระเจ้าอโนรธา ตำนานยังกล่าวไว้ว่าเกิดงานบวงสรวงนัตแห่งใหม่ที่หมู่บ้านต่องปะโยง เมืองมัตตะยา ในปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร นัตที่ชาวบ้านนิยมก็กลายเป็นนัตสองพี่น้องเชื้อสายแขกผสมพม่า เรียกกันว่า “ชเวพีญญีนองต่องปะโยงมีงนะบา” แปลว่า “เจ้าสองพี่น้องชเวพีญาแห่งต่องปะโยง” เป็นลูกของยักษ์แมวรรณะที่บำเพ็ญพรตบนเขาโปปากับหนุ่มเชื้อสายแขกข้ารับใช้พระเจ้าอโนรธา นามว่า หม่องพยะตะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

อรนุช-วิรัช นิยมธรรม. “นัต : ผีอารักษ์ในสังคมพม่า”. พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 5. มติชน : กรุงเทพฯ, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2561