รัชกาลที่ 4 ทรงปิดเรื่อง “ฟันปลอม” เป็นความลับ-ไม่ทรงให้แพทย์แตะพระโอษฐ์

ภาพถ่าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับ นั่ง พระเก้าอี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ยุคต้นรัตนโกสินทร์ “ฟันปลอม” เริ่มปรากฏขึ้นในไทยกันบ้างแล้ว เริ่มมีชนชั้นสูงในไทยใช้ ฟันปลอม กันแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ทรงมี “พระทนต์ปลอม” เช่นกัน แต่ทรงรักษาความลับเรื่องนี้ไว้ “ตราบจนวันสิ้นพระชนม์”

เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เล่าว่า “ฟันปลอม” ในโลกสากล เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 2,700 ปีก่อน ชาวอีทรัสกันทางตอนเหนือของอิตาลี แกะฟันปลอมจากกระดูกสัตว์หรือฟันของมนุษย์ด้วยกันเอง อาจฟังดูเป็นเรื่องน่ารังเกียจสักเล็กน้อย แต่ก็ถูกใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนมากนัก

ต่อมาจึงเริ่มมีฟันปลอมจากกระเบื้องเคลือบในตอนต้นรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2331 ฟันปลอมที่ทำด้วยกระเบื้องเคลือบถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศส และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถใส่ได้แนบสนิทตั้งแต่ พ.ศ. 2394 ที่ รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ หลังจากนั้นก็พัฒนาต่อมาจนเป็นวัสดุอื่นอย่างพลาสติกบ้างตามยุคสมัย

สำหรับในประเทศไทย เอนก นาวิกมูล เล่าว่า ฟันปลอมเริ่มต้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 โดยหลักฐานเรื่องฟันปลอมเก่าสุดในไทยอยู่ในหนังสือกลอนเพลงยาวเรื่อง “หม่อมเป็ดสวรรค์” แต่งโดยคุณสุวรรณ ประมาณ พ.ศ. 2385 เจ้าของฟันปลอมในเรื่องคือ หม่อมเป็ดสวรรค์ ซึ่งเป็นคู่ขาสมรักกับนางในด้วยกันคือหม่อมสุด หรือที่เรียกกันว่า “คุณโม่ง” ฟันปลอมในเรื่องเป็นของหม่อมเป็ดสวรรค์ วัสดุทำจากกะลา

นอกเหนือจากหม่อมเป็ดสวรรค์แล้ว เจ้านายไทยอีกพระองค์ รวมถึงพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ว่ามี ฟันปลอม หรือ “พระทนต์ปลอม” คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเอนกอธิบายว่า พระองค์ทรงรักษาเรื่องพระทนต์ปลอมเป็นความลับข้อหนึ่ง “ตราบจนวันสิ้นพระชนม์”

เหตุผลที่ รัชกาลที่ 4 ทรงเก็บเรื่องพระทนต์ปลอมเป็นความลับ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนพอ แต่เรื่องที่พระองค์ทรงมีพระทนต์ปลอมนั้นกลับไม่เป็นความลับ โดยมีผู้เขียนบันทึกเผยแพร่ไว้หลายแห่ง อาทิ แอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีต่างชาติที่มีชื่อกระฉ่อน ไปจนถึงหมอบรัดเลย์ นายเฟลตัส และนายมอฟแฟต

หนังสือ The English Governess at the Siamese Court แอนนา เขียนอธิบายเรื่องพระทนต์ปลอมไว้ในหน้า 246 เล่ารายละเอียดเรื่องอาการประชวรว่า รัชกาลที่ 4 ประชวรด้วยโรคอัมพาต แม้ภายหลังพระอาการหายขาด แต่ยังมีผลต่อพระพักตร์ด้านหนึ่งสืบเนื่องตามมา และก่อนหน้านี้ พระองค์ทรงสูญเสียพระทนต์ไปเป็นส่วนมาก ทรงใช้พระทนต์ปลอมซึ่งทำจากไม้ฝาง ข้อความส่วนหนึ่งที่เล่าเรื่องพระทนต์ปลอมเขียนไว้ว่า

“…ความนี้เป็นเรื่องลับที่ทรงเก็บไว้อย่างระแวดระวังตราบวันสิ้นพระชนม์”

นายมอฟแฟต (Abbot Low Moffat) เขียนในหนังสือ Mongkut the King of Siam (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2511) ตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2397 หมอบรัดเลย์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระทนต์ปลอมมีค่ากล่องหนึ่ง พร้อมกับภาพประธานาธิบดีเปียศ ซึ่งเป็นของบรรณาการจากหมอดี.เค. ฮิทช์คอค (Dr. D.K. Hitchcock) เชื่อว่าเป็นพระทนต์ปลอมชุดที่ 2 ของพระองค์

พระทนต์ปลอมชุดนั้นทรงสวมไม่สนิท อีกตอนหนึ่งบอกว่า เมื่อ พ.ศ. 2411 (ก่อนรัชกาลที่ 4 จะสวรรคตหนึ่งปี) หมอคอลลลินซ์ (Dr. Collins) ทันตแพทย์นักผจญภัยเดินทางมาจากจีนผ่านสิงคโปร์เข้ามากรุงเทพฯ พร้อมภรรยา เขาผู้นี้ได้ยินข่าวมาว่า พระองค์จะพระราชทานเงิน 1,000 เหรียญดอลลาร์แก่ผู้ประกอบพระทนต์ปลอมอย่างดี 1 ชุด

อย่างไรก็ตาม หมอคอลลินซ์ ไม่สามารถแตะต้องพระโอษฐ์เพื่อนำขี้ผึ้งเข้าไปพิมพ์แบบ เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงอนุญาต ทรงมีพระราชประสงค์จะกระทำแบบด้วยพระองค์เอง เมื่อพิมพ์ไม่สมบูรณ์ก็ไม่พอดีกับพระโอษฐ์

หมอคอลลินซ์ ขอพระบรมราชานุญาตมองเข้าไปในพระโอษฐ์เพื่อดูว่าต้องแก้ไขจุดไหน เพื่อให้พระทนต์ปลอมพอดีกับพระโอษฐ์ พระองค์ทรงพระพิโรธ แต่รุ่งขึ้นพระองค์ทรงขออภัย อีก 2-3 วันต่อมา หมอบรัดเลย์ ได้เข้าเฝ้า และใช้นิ้วหยั่งในพระโอษฐ์เพื่อตรวจสอบ จึงปรากฏว่าชุดพระทนต์ปลอมที่ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอันนั้นใช้ไม่ได้

ท้ายที่สุด พระองค์ทรงอนุญาตให้หมอคอลลินซ์งัดขี้ผึ้งไปพิมพ์แบบในพระโอษฐ์ จนได้พระทนต์ปลอมที่สมพระทัย ส่วนหมอคอลลินซ์ได้รับพระราชทานเงิน 560 ดอลลาร์ และพระราชทานให้อีก 180 ดอลลาร์เพื่อให้ประกอบพระทนต์ปลอมแก่พระบรมวงศานุวงศ์สูงอายุอีกพระองค์หนึ่ง

ข้อมูลที่เอนกสืบค้นสรุปว่า มีพระทนต์ปลอมไม่ต่ำกว่า 3 ชุด ชุดแรกทำจากไม้ฝาง ไม่ทราบว่าใครถวาย (บางแหล่งว่าพระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง ประกอบเข้ากับที่รับสั่งให้ช่างทำอีกส่วนหนึ่ง) ชุดที่ 2 หมอฮิทช์คอคฝากหมอบรัดเลย์มาทูลเกล้าฯ ถวาย และชุดที่ 3 คือชุดที่หมอคอลลินซ์ เข้ามาถวายด้วยตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. “พระทนต์ปลอมพระจอมเกล้าฯ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 5 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2527.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561