ทำไมคนไทยค้าขายสู้คนจีนไม่ได้ ถ้า “ขยัน-ประหยัด-อดทน” เท่ากัน?

คนจีน ย่านคนจีน สำเพ็ง พ.ศ. 2452
ภาพประกอบเนื้อหา - สำเพ็ง เมื่อ พ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น

คนจีน “ค้าขายเก่ง” แถมยังขยันและอดทน เหมือนเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้คนทั่วไปมองว่าชาวจีนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเมื่อเทียบกับคนไทย แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้นโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัย นอกเหนือจากบุคลิกหรือลักษณะนิสัยส่วนตัวแล้ว ยังมีข้อสังเกตจากปัจจัยอื่นที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้ชาวไทยค้าขายไม่เก่งเท่าชาวจีน

เหตุผลที่คนสนใจอย่างลักษณะนิสัยเรื่อง “ความขยัน”, “ประหยัด” และ “อดทน” เมื่อดูจากงานวิจัยของสุวิทย์ ธีรศาสวัต เรื่อง “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2310-2394)” จะพบว่า ผู้วิจัยนำเสนอเหตุผลเบื้องหลังที่ลึกไปกว่าลักษณะนิสัยของคนแต่ละเชื้อชาติ ไปสู่เรื่องภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

สุวิทย์ เขียนบทความสรุปปัจจัยที่เชื่อว่ามีแนวโน้มเป็นต้นตอที่ทำให้คนจีนค้าขายได้โดดเด่นกว่าคนไทยโดยแยกแยะเหตุผลหลักอย่างน้อย 2 ประการ คือ คนไทยถูกขูดรีดด้วยระบบไพร่ และ คนจีนได้รับอภิสิทธิ์ทางการค้ามากกว่า

สภาพแวดล้อมสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ผู้วิจัยฉายภาพเบื้องหลังบริบทแวดล้อมที่นำมาสู่สภาพความเป็นไป 2 ประการข้างต้นว่า ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-3 พ.ศ. 2325-2394) เป็นช่วงที่สังคมแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน เรียงลำดับชนชั้นสูงไปถึงต่ำแบบคร่าวๆ ได้ 4 ลำดับ คือ ชนชั้นเจ้า, ชนชั้นขุนนาง (รับราชการกับกษัตริย์ ขุนนางมีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป ข้าราชการมีศักดินา 300-400 ไร่), ชนชั้นไพร่ (ราษฎรสามัญทั่วไป) และ ชนชั้นทาส หรือคนที่ถือเป็น “สมบัติ” ของชนชั้นอื่น

ชนชั้นของไทยไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิดเหมือนระบบวรรณะของอินเดีย ของไทยสามารถเลื่อนชั้นได้ แต่ผู้วิจัยพบว่า การเลื่อนชั้นมีให้เห็นน้อยมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ทาสจะเป็นอิสระได้ต่อเมื่อมีสงครามแล้วอาสาไปรบ เมื่อรอดตายก็เป็นอิสระ หรือหาเงินไถ่ตัวได้

ทาสว่ายากแล้ว แต่สำหรับไพร่ ขุนนาง และข้าราชการ เลื่อนชั้นยากกว่าอีก สำหรับช่วงต้นรัตนโกสินทร์พบหลักฐานเกิดขึ้นครั้งเดียวคือการรัฐประหารล้มอำนาจสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พวกที่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นมากกว่าพวกอื่นคือ ไพร่ได้เป็นขุนนางและข้าราชการ ไพร่ในช่วง พ.ศ. 2374-2392 มี 675 คน จาก 4,355 คน ได้เลื่อนชั้นเป็นข้าราชการและขุนนาง

ขณะที่ชนชั้นปกครอง (เจ้า, ขุนนาง และข้าราชการ) รวมกันแล้วมีร้อยละ 8.5 ของประชากรทั้งหมด ได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ส่วนไพร่และทาส รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.33 ถูกชนชั้นปกครองกดขี่ขูดรีด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่มีโอกาสทำการค้า

กระบวนการขูดรีดที่ว่า ผู้วิจัยอธิบายว่า ทำผ่านระบบเกณฑ์แรงงาน และระบบภาษี

ระบบเกณฑ์แรงงาน

ระบบเกณฑ์แรงงานสำหรับกรณีไพร่ ถูกขูดรีดแตกต่างกันตามประเภทไพร่ ไพร่หลวงมีมูลนายเป็นเจ้ากรมนายกองต่างๆ ทำงานให้ “หลวง” มากที่สุด ก่อนพ.ศ. 2328 ต้องทำงานให้หลวงปีละ 6 เดือน ตั้งแต่โตเป็นหนุ่ม ความสูงวัดจากพื้นถึงไหล่ 2 ศอก 1 คืบขึ้นไป จนอายุ 70 ปีจึงจะปลดชรา

ส่วนไพร่สม สังกัดมูลนายมีลักษณะเป็นคนใช้ส่วนตัวของเจ้าและขุนนางมากกว่าไพร่หลวง แต่ไม่ต้องทำงานหนักเท่าทาส การเกณฑ์แรงงานเหล่านี้ทำให้ไพร่และทาสได้รับความลำบาก เพราะรัฐบาลให้เฉพาะที่พักอาศัย ส่วนอาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยา หรือแม้แต่อาวุธเมื่อกรณีอยู่เวรหรือไปรบในสงคราม ไพร่และทาสต้องหามาเอง ไพร่และทาสไม่ได้รับเงินเดือนหรือเบี้ยหวัด นอกจากแค่ใช้แรงงานให้หลวง

ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้นพบว่า ไพร่หลวงร้อยละ 40 ทำงานให้หลวงไปจนตาย ไพร่หลวงที่ปลดชรามีเพียงร้อยละ 5.03 หนีร้อยละ 12.7 พิการร้อยละ 5.46 บวชร้อยละ 8.17 เสียจริต 0.6 นอกจากนี้ยังพบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1-2 ไพร่หลวงหนีจากกรมกองไปเข้าป่าจำนวนมากเพราะทนการขูดรีดแรงงานและภาษีไม่ไหว

ระบบเกณฑ์แรงงานทำให้ไพร่มีเวลาทำการผลิตน้อยมาก เนื่องจากต้องใช้แรงงานและยังต้องเดินทางไป-กลับ ผู้วิจัยนับแล้วว่าก่อนปี 2328 ต้องเดินทางปีละ 6 ครั้ง ช่วง 2328-2352 เดินทางปีละ 4 ครั้ง และหลัง 2352 เดินทางปีละ 3 ครั้ง

ระบบภาษี

สำหรับระบบภาษีก็ถูกรัฐบาลเก็บยิบยับ ไพร่ส่วนใหญ่มักทำนาจะเสียอากรค่านาตามประเภทและพื้นที่นา (ขุนนางหรือเจ้า รัฐบาลไม่เก็บอากรนาคู่โคหรือนาฟางลอย กระทั่งเก็บครั้งแรกใน พ.ศ.2367 หรือต้นรัชกาลที่ 3) นอกจากเสียแล้ว ไพร่ยังต้องเดินทางไปเสียอากรค่านาเป็นข้าวให้ถึงฉางหลวงในกรุงเทพฯ การจ้างส่งมีค่าใช้จ่ายสูง (รัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2354 รัฐบาลจึงผ่อนผันให้เสียเป็นข้าว หรือเงินก็ได้และไม่ต้องส่งที่ฉางหลวงแค่ที่เดียว)

ส่วนไพร่ที่ทำไร่ก็ต้องเสียภาษีที่เรียกว่า “อากรสมพัตสร” เก็บตามชนิดพืชไร่ จำนวนครั้งที่ปลูก และจำนวนพื้นที่ปลูก ไพร่ที่ทำสวนต้องเสีย “อากรสวนใหญ่” ซึ่งแพงกว่าอากรค่านา และอากรสมพัตสร

ไพร่ที่หาปลาหรือจับสัตว์น้ำก็ต้องเสียอากรค่าน้ำ รัฐบาลจะเก็บปีละครั้ง เก็บในอัตราตามชนิดเครื่องมือที่มีอยู่ 76 ชนิด แม้สมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศยกเลิก แต่กลับมาประกาศใช้ใหม่ในรัชกาลที่ 4

แม้แต่ภรรยาไพร่ที่นำผลิตผลไปขายในตลาดก็ต้องเสียอากรยิบย่อย การหาบเร่ กระเดียดเร่ เสียเป็นรายวัน วันละ 10-15 เบี้ย หรือประมาณ .16-.23 สตางค์ แผงลอยเก็บวันละ 20 เบี้ย หรือประมาณ .31 สตางค์

อากรที่เสียยังมีประเภทอื่น อาทิ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรยาสูบ ซึ่งทำรายได้ให้รัฐบาลสูงมาก ผู้วิจัยแสดงความคิดเห็นว่า การเก็บภาษียิบย่อยขั้นรายวัน หรือรายเดือน ทำให้รัฐบาลเสียแรงงานและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษี ต่อมาจึงมีระบบให้เอกชนประมูลภาษีอากรไปจัดเก็บหรือผูกขาดการผลิต และขายกันเอง กลายเป็น “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” (ซึ่งภายหลังก็เป็นคนจีนเข้ามาทำเป็นส่วนใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 3 มีถึงร้อยละ 68.06 ที่เจ้าภาษีนายอากรเป็นคนจีน) ทำรายได้ให้รัฐบาลจำนวนมาก เมื่อเจ้าภาษีนายอากรเสนอให้รัฐบาลเก็บภาษีใหม่ๆ ก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดการขูดรีดไพร่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผลผลิตส่วนเกินที่จะเก็บไว้เป็นทุนการค้ายิ่งเหลือน้อย

ระบบแบบนี้อยู่ได้เนื่องจากทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ ขณะที่จำนวนประชากรสมัยนั้นยังไม่มาก รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2338) มี 4.4 ล้านคน แม้จะลำบากแต่ไพร่สามารถอยู่ได้โดยไม่ขัดสนมากนักโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่หาได้จากป่าและหนองน้ำ จะเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลก็จะประกาศยกเลิกเก็บอากรค่านาในปีนี้

เหล่านี้คือข้อมูลในด้านข้อจำกัดของคนไทย

โอกาสของ “คนจีน”

เมื่อหันมาดูฝั่ง “คนจีน” ผู้วิจัยพบว่า คนจีนมีอภิสิทธิ์และโอกาสในทางการค้าดีกว่าคนไทยที่เป็นไพร่ โดยสรุปคือ คนจีนไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นไพร่ มีเวลาทำการค้าได้ตลอด และคนจีนเสียภาษีน้อยกว่าไพร่

คนจีนเสียภาษีผูกปี้ 3 ปี 6 สลึง เสียปีละ 2 สลึงเท่านั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้นรัชกาลที่ 3 ปรับขึ้นเป็นคนละ 4-8 บาท เก็บ 1 ครั้งในรอบ 3 ปี นั่นหมายความว่าคนจีนมีโอกาสเก็บผลผลิตส่วนเกิน เมื่อผนวกเข้ากับนิสัยอันประหยัดของคนจีนยิ่งมีโอกาสสะสมทุนได้มากเพิ่มขึ้น

คนจีนที่ไม่ต้องเข้าสังกัดมูลนายกรมกอง ยิ่งทำให้มีอิสระในการเดินทาง คนจีนเริ่มเข้ามาเป็นพ่อค้าในเมือง ระหว่างเมือง และถึงระดับระหว่างประเทศ

สมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2365) ตลาดสินค้าไทยร้อยละ 88.59 อยู่ในประเทศจีน ในบรรดาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็เป็นสินค้าจีนมากที่สุด สะท้อนการผูกขาด ขณะที่การค้าระดับระหว่างเมืองก็เป็นคนจีนที่ทำการค้า เพราะไพร่ติดภาระ “เข้าเดือน” หรือทำงานให้หลวง

คนไทยส่วนมากที่มีโอกาสระดับในเมือง แต่ก็ต้องเป็นสตรีที่พอมีเวลาว่างนำของขายในตลาดมากกว่าไพร่ชาย

ภาพพ่อค้าชาวจีน (ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากร เจ้าภาษีนายอากร (ที่ส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนดังที่กล่าวข้างต้น) ก็หันไปทำการค้าอย่างอื่น บางคนทำการค้าอยู่แล้วควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าภาษีนายอากรก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

อัตราการเพิ่มจำนวนของคนจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในสมัยปลายรัชกาลที่ 2 มีคนจีน 440,000 คน เมื่อถึงปลายรัชกาลที่ 3 มีคนจีน 1,100,000 คน และยิ่งคนจีนนิยมให้ลูกหลานค้าขาย โดยเมินการรับราชการแบบคนไทย ประกอบกับความขยัน ประหยัด อดทน การถ่ายทอดความรู้ทางการค้ามาถึงลูกหลาน โอกาสขาดทุนมีไม่มากเลย

แม้ว่าระบบไพร่จะถูกยกเลิกในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผู้วิจัยมองว่า คนจีน ยังค้าขายเก่งกว่าไทย และค้าขายมากกว่าไทย จากที่รากฐานฝังลึกมากว่า 100 ปีจากบริบทโอกาสการค้าข้างต้น

ในยุคชาตินิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีกระแสเชิงลบต่อคนจีนด้วยซ้ำ รัฐบาลออกกฎหมายสงวนอาชีพให้คนไทยโดยเฉพาะ (แม้เป็นอาชีพที่ไม่ได้มีนัยยะอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ) ความรู้สึกต่อต้านคนจีนเริ่มคลายลงหลังผ่านยุคชาตินิยมไป

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบพื้นฐานประกอบด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ประกอบกับอุปนิสัยขยัน ประหยัด อดทน งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าสภาพเหล่านี้ทำให้คนจีนรักษาความเป็นหนึ่งใน “ภาพจำของวงการค้า” ในไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

สุวิทย์ ธีรศาสวัต. “ทำไม? คนไทยจึงค้าขายสู้คนจีนไม่ได้”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2, ฉบับเดือนธันวาคม 2526.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561