“เจ้าจอมแว่น” พระสนมที่พระมเหสีรัชกาลที่ 1 ทรงหึงขั้นดักตีหัว!

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เชิง สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพ ประกอบ บทความ พระพี่เลี้ยง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงรับ “เจ้าจอมแว่น” เป็นข้าบาทบริจาริกา ช่วงที่ไปตีเมืองเวียงจันท์ ถือเป็นอีกหนึ่งพระสนมหรือเจ้าจอมที่ต้องรับมือกับความหึงของเอกภรรยา คือ ท่านผู้หญิงนาค (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์) ที่ถึงขั้นดักตีศีรษะด้วยดุ้มแสม

เจ้าจอมแว่น พระสนมคนโปรด

เจ้าจอมแว่น อาจไม่ได้เป็นผู้มีความงามต้องตามพระเนตร แต่กลับเป็นพระสนมที่ทรงโปรดปรานและเกรงพระทัยมากอีกผู้หนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าจอมแว่นเป็นสนมเอก และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิด

เจ้าจอมแว่นเป็นธิดาขุนนางแห่งนครเวียงจันท์ เมื่อ พ.ศ. 2321 รัชกาลที่ 1 ครั้งยังเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพหลวงไปตีเวียงจันท์ คราเดียวกับอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระบางมาจากเวียงจันท์ เข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงรับเจ้าจอมแว่นมาเป็นข้าบาทบริจาริกาด้วย

ครั้นเข้าสู่บารมีแล้ว เจ้าจอมแว่นต้องเผชิญกับพระมเหสีที่มีคำเปรียบเทียบว่า “มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ” หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงเรื่องเจ้าจอมแว่นไว้ในหนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้” เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งเจ้าจอมแว่นเข้ามาอยู่ในทำเนียบสมเด็จพระยาฯ แล้ว “ท่านผู้หญิง” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหึงหวง มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่อง “คุณแว่น” บ่อยครั้ง เนื้อหาในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า

“คืนวันหนึ่งท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไปยืนคอยดักอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า ‘เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน’

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่แล้วปิดประตูลั่นดานไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครมๆ…”

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ผู้เขียนหนังสือ “ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก” เชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ “ครั้งที่สุด” ที่คุณหญิงแสดงออกซึ่งความหึงหวงในกรณีเจ้าจอมแว่น ต่อจากนั้นท่านผู้หญิงไม่ได้อยู่ร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกเลย ตราบจนรัชกาลที่ 1 สวรรคต

ผู้มีศิลปะในการเพ็ดทูล

คนในวังเรียก เจ้าจอมแว่น ว่า “เจ้าคุณข้างใน” ส่วนพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ให้สมญาเจ้าจอมแว่นว่า “คุณเสือ” เพราะความเข้มงวดและเคร่งครัดในระเบียบวินัย แต่แม้จะขึ้นชื่อเรื่องดังกล่าว จนพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์ขึ้นเฝ้าพากันกลัวเกรง แต่ยามที่พระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอแต่ละพระองค์ต้องการความช่วยเหลือ เจ้าจอมแว่นก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

เจ้าจอมแว่น เป็นผู้ใช้ศิลปะและความกล้าในการเพ็ดทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เช่น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงมีความรักต่อเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด (ต่อมาดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) ทั้งสองพระองค์ไม่กล้ากราบทูลรัชกาลที่ 1 แต่ก็ได้เจ้าจอมแว่นเป็นคนกลางช่วยประสานให้

ด้วยความกล้าและศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องที่เห็นว่าสมควรและถูกต้อง เจ้าจอมแว่นจะกราบทูลโดยไม่ได้เกรงกลัวพระราชอาญา ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงตระหนักถึงความภักดีและสุจริตใจของเจ้าจอมแว่น จึงไม่ทรงพิโรธ หากไม่เห็นด้วยจะพระราชทานคำอธิบายเหตุผล

เจ้าจอมแว่นยังเป็นผู้กราบทูลครั้งรัชกาลที่ 1 มีรับสั่งให้ทำพระโกศทองใหญ่ เพื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ และมีรับสั่งให้เชิญพระโกศเข้ามาตั้งถวายให้ทอดพระเนตร ขณะที่ไม่มีผู้ใดกล้ากราบทูล เจ้าจอมแว่นกราบทูลทัดทานว่า น่ากลัวและเป็นลาง เมื่อเห็นพระโกศแล้วจะร้องไห้ล่วงหน้าเสียก่อน

ศันสนีย์ อธิบายว่า นอกจากความกล้าและศิลปะการเพ็ดทูลแล้ว คุณสมบัติพิเศษของเจ้าจอมแว่นอีกประการคือฝีมือการทำอาหาร ท่านเป็นผู้คิดประดิษฐ์ “ขนมไข่เหี้ย” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อมีพระราชประสงค์จะเสวย “ไข่เหี้ย” ที่คนโบราณนิยมรับประทานกับมังคุด แต่หายาก เจ้าจอมแว่นจึงประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยขึ้นแทนและเป็นที่พอพระทัย ขนมยังมีให้หารับประทานกันได้บ้างในปัจจุบัน

เจ้าจอมแว่นถือได้ว่าเป็นพระสนมที่รุ่งเรืองอย่างมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังสิ้นรัชกาล ท่านได้ออกจากพระบรมมหาราชวังไปอยู่กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากทรงมีเชื้อสายเวียงจันท์เช่นเดียวกัน

เจ้าจอมแว่นไม่มีพระราชโอรสหรือพระธิดา และถึงแก่อสัญกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไม่ปรากฏวัน เดือน ปี ที่ชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2561