ความเป็นมาของ “ไวเบรเตอร์” ดูข้อโต้แย้งทฤษฏีเคยเป็นเครื่องมือแพทย์ก่อนเป็น Sex Toy

ผู้หญิง ไวเบรเตอร์
พนักงานหญิงโชว์ไวเบรเตอร์ ในงานแสดงสินค้าทางเพศที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2007 (ภาพจาก AFP)

เชื่อว่าแทบทุกคนรู้จัก “ไวเบรเตอร์” (Vibrator) ในฐานะเซ็กซ์ทอย (Sex Toy) ที่ได้รับความนิยมในตะวันตก (จะเคยใช้ไหมก็เป็นอีกเรื่อง) และอาจได้ยินว่าในศตวรรษที่ 19 แพทย์ในยุควิคตอเรียเริ่มต้นใช้อุปกรณ์นี้รักษาโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) แต่ข้อเท็จจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจกันแบบนั้น

ความเชื่อที่ยึดถือกันมานี้มีอยู่ว่า ในสมัยศตวรรษที่ 19 นั้น แพทย์เชื่อกันว่าการรักษาอาการ “ฮิสทีเรีย” (ซึ่งเป็นโรคทางจิตประสาทที่นิยามกว้างครอบคลุมตั้งแต่อาการปวดหัวไปจนถึงอาการหวาดระแวง) โดยใช้การถึงจุดสุดยอดสำหรับกรณีเพศหญิงจะช่วยบำบัดรักษาได้ และไวเบรเตอร์ ในฐานะอุปกรณ์สร้างการสั่นนี้ช่วยให้แพทย์ไม่ต้องใช้พลังงานจากการใช้ “มือ” เป็นการทุ่นแรง

ข้อมูลที่ว่ามานี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงในสื่อหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครเวที หรือสารคดีหลายชิ้น อย่างไรก็ตาม บทความ “ไวเบรเตอร์ : จากเครื่องมือการแพทย์สู่เซ็กซ์ทอยที่ปฏิวัติวงการ” (The Vibrator : from medical tool to revolutionary sex toy) โดย มาร์ธา เฮนริคส์ (Martha Henriques) จากเว็บไซต์บีบีซี (BBC) ยกข้อมูลมาโต้แย้งว่าเรื่องเล่าข้างต้นไม่น่าจะเป็นไปแบบที่เข้าใจกัน

เรื่องราวเดิมที่มักอ้างอิงกันนี้มาจากหนังสือ “เทคโนโยนี (เทคโนโลยีในการถึงจุดสุดยอด) : ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์ ฮิสทีเรีย และออร์กัสซั่มของผู้หญิง” (The Technology of Orgasm: “Hysteria,” the Vibrator, and Women’s Sexual Satisfaction) ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1999 เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อ ราเชล ไมนส์ (Rachel Maines) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยทำงานเป็นโปรเจกต์ให้กับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐอเมริกา

แต่ล่าสุด ฮัลลี ลีเบอร์แมน (Hallie Lieberman) นักประวัติศาสตร์ด้านเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย เจ้าของงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร “กิจกรรมทางเพศเพื่อประโยชน์ในเชิงบวก” (Journal of Positive Sexuality)โต้แย้งแนวคิดนี้ ข้อมูลจากงานศึกษาล่าสุดโต้แย้งข้อกล่าวอ้างจากหนังสือชื่อดังที่เผยแพร่เมื่อปี 1999 โดยผู้เขียนงานศึกษาชิ้นล่าสุดชี้ว่า หลักฐานที่ใช้อ้างอิงแนวคิดดังกล่าวมีช่องโหว่อยู่

ฮัลลี มองว่า จากที่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์กิจกรรมทางเพศแล้ว เชื่อว่า แพทย์ไม่น่าจะมีแนวโน้มมีพฤติกรรมดังที่เชื่อกัน และเสนอทฤษฎีที่เป็นทางเลือกใหม่แตกจากข้อมูลอันเป็นที่พูดถึงกันมายาวนาน โดยฮัลลี มองว่าอุปกรณ์ที่สร้างการสั่นสะเทือน ซึ่งเคยถูกประชาสัมพันธ์สำหรับใช้นวดคอหรือแผ่นหลัง มีผู้เริ่มต้นพลิกแพลงมาใช้สำหรับกิจกรรมทางเพศประมาณ 1900s หรือ 1910s เท่านั้น

ผู้วิจัยรายล่าสุดไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนพอสนับสนุนแนวคิดว่า “อุปกรณ์นี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกิจกรรมส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความต้องการทางเพศก่อนหน้ายุค 1900” ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไวเบรเตอร์ อยู่ในตลาดกลุ่มเฉพาะอย่างแพทย์ ไม่ใช่ถูกวางอยู่ในตลาดผู้บริโภคทั่วไป และยังโต้ข้อกล่าวอ้างที่ว่า “แพทย์สมัยนั้นยังไม่รู้ว่าการถึงจุดสุดยอดของเพศหญิงมีกลไกทำงานอย่างไรแบบทะลุปรุโปร่งจึงใช้อุปกรณ์นี้บำบัดรักษาโรคฮิสเทเรีย”

ความเชื่อดั้งเดิมจากหนังสือ

ความเชื่อดั้งเดิมยกข้อมูลที่ว่าในช่วง 1800s ไวเบรเตอร์ ถูกโฆษณาลงในสื่อหลายชนิด อาทิ นิตยสาร, วารสาร, หนังสือพิมพ์ และสื่อทางการแพทย์ โฆษณาไวเบรเตอร์ชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1904 ก็มีภาพบุคคลที่สวมเสื้อโค้ทคล้ายแพทย์ใช้ไวเบรเตอร์ไฟฟ้านวดกล้ามเนื้อให้ผู้รับการบำบัด ในภาพก็ไม่มีสิ่งที่สื่อว่าอุปกรณ์นี้ถูกใช้กับอวัยวะส่วนอื่นในร่างกายนอกเหนือจากคอของผู้รับการรักษา

โฆษณาของไวเบรเตอร์ เผยแพร่ช่วงประมาณ ค.ศ. 1913 เรียกชื่อของผลิตภัณฑ์ว่า “ซาโนฟิกซ์” (Sanofix) ที่บรรจุมาในกล่องไม้เรียบหรู และมีอุปกรณ์เสริมแถมมาให้อีกจำนวนหนึ่ง ภาพโฆษณาของอุปกรณ์นี้เป็นภาพผู้หญิงสวมชุดขาวถืออุปกรณ์ในมือสัมผัสหน้าผาก, กราม, ลำคอ และอก

ภาพเหล่านี้ทำให้ราเชล ไมนส์ สนใจค้นคว้าข้อมูลตลอด 19 ปีที่ผ่านมาจากห้องสมุดในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปเพื่อค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไวเบรเตอร์นี้

ข้อมูลจากหนังสือ “เทคโนโลยีในการถึงจุดสุดยอด” สรุปกรอบทฤษฏีของไมนส์ว่า ไวเบรเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงในการบำบัดรักษาอาการฮิสทีเรียจากกลุ่มแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนไข้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หนังสือที่ไมนส์ เขียนระบุว่า การสำเร็จความใคร่เพื่อช่วยบำบัดอาการทางจิตประสาทอย่างฮิสทีเรียมีมาตั้งแต่สมัยโรมันด้วยซ้ำ กลับมาที่การทำงานของแพทย์จากการอ้างอิงของไมนส์ พวกเขาจะชี้นำให้ผู้ป่วยหญิงมี “อาการตอบสนองอย่างเฉียบพลัน” ผ่านการ “สำเร็จความใคร่” แต่ด้วยความเข้าใจเรื่องสรีระทางเพศของผู้หญิงที่ยังมีจำกัดทำให้แพทย์ไม่รู้ว่าอาการเฉียบพลันทำนองสั่นกระตุกเกร็งที่ผู้ป่วยได้รับนั้น จริงๆแล้วเป็นอาการตอบสนองทางเพศ

ข้อโต้แย้ง

แต่ลีเบอร์แมน ที่เขียนงานวิชาการแย้งว่า แนวคิดที่ว่าแพทย์ในสมัยวิคตอเรียนจะทำแบบนี้โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจเพียงพอดูจะเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งลีเบอร์แมน ระบุข้อโต้แย้งว่า ความรู้เรื่อง “คลิตอริส” (Clitoris) และกิจกรรมทางเพศของผู้หญิงก็เริ่มมีปรากฏให้เห็นในยุคนี้แล้ว หลักฐานจากศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 พบว่าแพทย์ในสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรนำเสนอข้อมูลแนะนำพฤติกรรมทางเพศแบบไหนที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสำหรับเพศหญิง และมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าทางการแพทย์รับรู้เรื่องการถึงจุดสุดยอดแล้ว

ขณะที่หลักฐานในหนังสือ “เทคโนโลยีในการถึงจุดสุดยอด” ที่ไมนส์ ยกมาอ้างอิงจำนวน 5 ข้อสำหรับสนับสนุนทฤษฎีดั้งเดิมของไมนส์ ที่เชื่อว่าแพทย์ใช้ไวเบรเตอร์เพื่อนวดโดยเฉพาะ “นวดเชิงนรีเวชวิทยา” แต่ลีเบอร์แมน มองว่าแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิงไม่สนับสนุนแนวคิดนี้

ลีเบอร์แมน วิจารณ์ว่า แหล่งข้อมูลหนึ่งที่ยกมาอ้างไม่ได้พูดถึงไวเบรเตอร์, ฮิสทีเรีย และนรีเวชวิทยาเลย แต่แหล่งข้อมูลนั้นพูดถึงเรื่องการรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยเครื่องมือกระแสไฟฟ้า และผลของอาการปวดประจำเดือน

ไมนส์ ยอมรับข้อวิจารณ์ของลีเบอร์แมน แต่ยืนยันว่า การโต้ครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนมุมมองทางประวัติศาสตร์ของเธอ โดยไมนส์ มองว่า เป็นเรื่องปกติที่นักวิชาการรุ่นใหม่จะท้าทายงานของนักวิจัยที่มีมาก่อนหน้า

“ในหนังสือเทคโนโลยีในการถึงจุดสุดยอด สิ่งที่ฉันนำเสนอคือข้อสันนิษฐาน พวกเขา (ลีเบอร์แมน และผู้ร่วมเขียนงาน) มองว่าข้อสันนิษฐานของฉันไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ก็ไม่เป็นไร เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยในเรื่องเหล่านี้” ไมนส์ กล่าว

บทความในบีบีซี กล่าวถึงข้อมูลที่แทบทุกคนเคยประสบคือ “อุปกรณ์สร้างแรงสั่น” เคยถูกใช้งานบนร่างกายในฐานะเครื่องรักษาแบบครอบจักรวาล “แรงสั่น” สามารถช่วยโต้ตอบอาการมากมายโดยที่ฮิสทีเรีย ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ลีเบอร์แมน มองว่า สำหรับผู้ป่วยฮิสทีเรีย อุปกรณ์ไวเบรเตอร์มักถูกใช้สำหรับนวดคอและแผ่นหลังสร้างความผ่อนคลายมากกว่าทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศเชิงอีโรติก ไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์เรื่องนวดทางการแพทย์ในผู้หญิงเพื่อให้ถึงจุดสุดยอด นอกจากแพทย์ที่นอกลู่เชิงล่วงเกินผู้ป่วยบ้างเท่านั้น

นอกเหนือจากงานของลีเบอร์แมน แล้ว ยังมีงานของนักประวัติศาสตร์อย่างเฮเลน คิง (Helen King) จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในลอนดอนที่โต้แย้งทฤษฎีของไมนส์ เช่นกัน

แล้ว ไวเบรเตอร์ กลายเป็น Sex Toy เมื่อใด

สำหรับการใช้งานในเชิง “เซ็กซ์ทอย” คำถามที่หลายคนอาจรอคอยคือ แล้วใครเป็นคนเอาอุปกรณ์ไวเบรเตอร์ที่ว่ามาใช้เป็นของเริงรมย์ทางเพศ

ข้อมูลที่ไมนส์ ยกมาเป็นข้อมูลจากโฆษณาอีกครั้ง (ซึ่งนักวิชาการบางรายก็ยังตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลเช่นเคย) ข้อมูลที่ว่าพูดถึงผลกระทบจากการค้นพบทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 20 เมื่อแพทย์พบว่าไวเบรเตอร์ ไม่ได้ช่วยรักษาครอบจักรวาลแบบที่เข้าใจ ผู้ผลิตอุปกรณ์เลยต้องรับกรรมไป แต่ปี 1903 มีบริษัทที่กล้าท้าทายทำอุปกรณ์และโฆษณาสำหรับการสุขภาพทางเพศใช้ได้ทั้งชายและหญิง

ลีเบอร์แมน มองว่า ข้อมูลนี้เป็นแหล่งอ้างอิงแรกๆที่เชื่อมโยงไวเบรเตอร์เข้ากับเรื่องทางเพศ แต่ในความจริงแล้วการขายอุปกรณ์เครื่องใช้ทางเพศในสมัยนั้นแทบหายาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีเลย กฎหมายสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯห้ามโฆษณาอุปกรณ์สำหรับบำเรออารมณ์ทางเพศนานหลายปี กระทั่งปี 1915 สมาคมแพทย์อเมริกาแถลงว่าอุปกรณ์สร้างแรงสั่นที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เป็นเรื่องหลอกลวง ผลจากการใช้ที่มีต่อผู้ใช้งานเป็นเรื่องทางจิตวิทยาและไม่มีผลทางการแพทย์

ผู้ผลิตไม่ได้ยุติการทำสินค้าแต่เริ่มเบนเข็มกลุ่มเป้าหมายจากแพทย์มาเป็นผู้บริโภคทั่วไป โฆษณาไวเบรเตอร์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ไวเบรเตอร์ ถูกมองเป็นเครื่องใช้ในบ้านสำหรับผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ชักจูงให้เห็นว่าสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน

เมื่อโฆษณาเผยแพร่ไปนานวันก็เริ่มไม่ค่อยเขินอายในเชิงทางเพศ แม้ว่าจะมีความกระอักกระอ่วนอยู่บ้าง แต่ก็มีภาพผู้ชายหรือผู้หญิงถือไวเบรเตอร์ปรากฏบนโฆษณาให้เห็นเป็นประจำ แต่ด้วยความที่สังคมรอบข้างยังไม่กล้าพูดถึงไวเบรเตอร์ในแง่อุปกรณ์สร้างความบันเทิงทางเพศโดยตรงทำให้ยากจะระบุแบบเจาะจงว่าไวเบรเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ทางเพศเมื่อใด

ลีเบอร์แมน มองว่า “ไวเบรเตอร์” ในภาพจำแบบที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันในปัจจุบันน่าจะเริ่มต้นปรากฏชัดในช่วง 1950s และเริ่มได้รับความนิยม ผู้คนเปิดใจรับมากขึ้นราว 1960s แต่ก็ยังถือว่าเป็นข้อมูลที่ยังถกเถียงกันในหลายด้านอยู่ตราบจนวันนี้ ไวเบรเตอร์ก็ยังเป็นของต้องห้ามในหลายพื้นที่ อย่างในรัฐอลาบาม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมีกฎหมายห้ามโฆษณาและขายไวเบรเตอร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

Henriques, Martha. “The Vibrator : from medical tool to revolutionary sex toy”. BBC, 8 Nov 2018. <http://www.bbc.com/future/story/20181107-the-history-of-the-vibrator>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562