ประวัติ “รูปล้อการเมือง” เมื่อร.6 ทรงวาดภาพล้อข้าราชการ และอิทธิพลภาพเสียดสีในสมัยร.5

รูปล้อทหารฝรั่งเศสทำร้ายทหารไทยในชุดนักรบโบราณ ล้มตายเหมือนตุ๊กตาไม้ ในร.ศ. 112 (ภาพจาก THE SKETCH, 1893)

ในช่วงการเมืองเข้มข้น (หรืออาจจะไม่เข้มข้นก็ได้) เหตุการณ์ทางการเมืองมักถูกแปรเป็นรูปล้อการเมือง ล้อบุคคลหรือเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างสนุกสนาน รอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาที่กรอบการแสดงออกถูกกระชับมากขึ้น รูปล้อการเมืองก็เฟื่องฟูตามกันไปด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า รูปล้อการเมืองยุคตั้งต้นมีที่มาอย่างไร

ในยุคที่กล้องถ่ายรูปยังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้น การล้อเลียนบุคคลจำเป็นต้องอาศัย “การวาด” ขึ้นมา การวาดรูปต้องอาศัยการจำลองสถานการณ์มาประกอบเข้ากับจินตนาการบอกเล่าออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “การ์ตูน”

ข้อมูลจากไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ภาพร่างอย่างหวัด (ภาพสเก๊ตช์) แบบวาดแล้วนำไปเป็นแบบแกะลายไม้ก่อนขึ้นแท่นพิมพ์ปรากฏให้เห็นกันตั้งแต่ ค.ศ. 1721 โดยถูกตั้งชื่อว่าเป็นรูป “การ์ตูน” ตั้งแต่แรก

ขณะที่การ์ตูนลายเส้นที่ล้อเลียนบุคคลพบในครั้งแรกที่พิมพ์เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ในทวีปยุโรป (ซึ่งมีภาพจากเหตุการณ์การเสด็จประพาสยุโรปในรัชกาลที่ 5 รวมอยู่ด้วย) ส่วนคนไทยเริ่มรู้จักการ์ตูนการเมืองกันมาบ้างในสมัยรัชกาลที่ 5

สำหรับรูปล้อการเมืองที่มีตัวละครในรูปเริ่มต้นจากประเทศอังกฤษที่ทำให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ได้ผลดี นายริชเชตติ (John Richetti) บันทึกในหนังสือ “The Cambridge history of English Literature, 1660-1780” ว่า พัฒนาการเริ่มมาจากรูปล้อบุคคลจากการล้อ “โครงการทะเลใต้” ถูกวาดเป็นตอนๆ เพื่อเสียดสีความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ซึ่งมีการเมืองอังกฤษอยู่เบื้องหลังในช่วง ค.ศ. 1721 จนเป็นผลให้การระดมเงินลงทุนกับภาคเอกชนขาดทุนมหาศาลนำมาสู่วิกฤติการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกในอังกฤษ

รูปล้อจากอังกฤษแพร่หลายตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีนักวาดชาวอังกฤษวาดรูปล้อความทะเยอทะยานของกษัตริย์อังกฤษคือพระเจ้าจอร์จที่ 3 ซึ่งเข้าไปก้าวก่ายการปฏิวัติในฝรั่งเศสไปจนถึงการเข้ามาในเวทีทางการเมืองใหม่ของพระเจ้านโปเลียน

ไกรฤกษ์ ยังระบุว่า ยุคนโปเลียน (ค.ศ. 1820-1840) เป็นช่วงเวลาที่นักวาดการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกๆ แจ้งเกิด อาทิ George Cruikshank ผู้เปิดโปงความฉ้อฉลของนักการเมืองในยุโรปหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งทำให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามาแทรกแซง ปรามนักวาดจากการวาดภาพกระทบสถาบันและความมั่นคงทางสังคม

ย้อนไปที่ช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น นักวาดล้อการเมืองในอังกฤษยังสร้าง “ตัวละคร” สมมติคือ นายจอห์น บุลล์ (John Bull) เป็นตัวแทนซึ่งปรากฏขึ้นเพื่อจะกล่าวถึงอังกฤษหรือตัวแทนรัฐบาลอังกฤษในช่วงค.ศ. 1790

ช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่า นักวาดการ์ตูนล้อการเมืองจากอังกฤษมีชื่อเสียงและส่งอิทธิพลไปทั่วยุโรป อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ “สื่อ” แพร่หลายอันสืบเนื่องมาจากผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรม สื่อสิ่งพิมพ์กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนเสาะหาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ สื่ออังกฤษยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และราชสำนัก ภาพวาดจึงมีแนวโน้มสนับสนุนและปกป้องสถาบัน

รูปล้อทหารเรืออังกฤษ (จอห์น บุลล์) ห้ามรังแกสาวชาวพื้นเมือง (ผ้าคาดเอวหญิงสาวมีข้อความ SIAM) จากเหตุ ร.ศ. 112 ภาพจาก PUNCH, 1893

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมารูปล้อการเมืองได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองอังกฤษและนโยบายในต่างประเทศที่อังกฤษเข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่ออิทธิพลของรูปล้อการเมืองแพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับสยาม ไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 รูปล้อการเมืองยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีนักการเมืองและนักการเมืองให้ตรวจสอบ ไม่มีการแข่งขันทางการเมืองให้วิจารณ์ หนังสือพิมพ์ก็ยังไม่แพร่หลายเช่นกัน

เหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศในยุโรปสมัยนั้นเป็นช่วงแข่งขันล่าอาณานิคมระหว่างมหาอำนาจ นิตยสาร PUNCH ในอังกฤษก็เคยวาดภาพล้อสยามในช่วงร.ศ. 112 วาดภาพลูกแกะสยามกับหมาป่าฝรั่งเศสจนเป็นที่ฮือฮา พลอยทำให้คนอังกฤษรู้จักสยามมากขึ้นจากการเล่าเรื่องของการ์ตูนที่สยามถูกฝรั่งเศสรังแก

หรือภาพวาดล้อการเมืองระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป สื่อสารเรื่องที่รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับความช่วยเหลือจากซาร์รัสเซีย กดดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสผ่อนปรนข้อผูกมัดที่ไม่เป็นธรรม เป็นภาพพระเจ้ากรุงสยามหยิบนายเดลกัสเซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสจากกระเป๋ามาใช้ สะท้อนกุศโลบายของพระองค์ที่ใช้อย่างได้ผลและการยอมรับของชาวตะวันตก

ขณะที่ลูกหลานเจ้านายหรือพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเคยเสด็จฯศึกษาในต่างแดน เป็นกลุ่มที่สนใจและรับรู้ถึงความนิยมในรูปล้อการเมือง สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พำนักนานถึง 9 ปี ไกรฤกษ์ นานา สันนิษฐานว่า ทรงเคยทอดพระเนตรรูปล้อการเมืองของ PUNCH นิตยสารอังกฤษที่แจ้งเกิดเมื่อ ค.ศ. 1842 และเคยวาดรูปล้อการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสยามด้วยในปี 1893

จากอิทธิพลจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) ทรงมีพระราชดำริออกหนังสือพิมพ์ในราชสำนักประเภทอ่านง่ายและเบาสมอง แต่ยังแฝงด้วยคติเตือนใจข้าราชบริพาร การดำเนินงานจึงเป็นไปในแนวทางของนิตยสารของอังกฤษตามไปด้วย และหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์ขนาดจิ๋ว มี 16 หน้าก็ถือกำเนิดในปีนี้ เป็นหนังสือพิมพ์ประจำเมืองดุสิตธานี เมืองจำลองภายในพระราชวังพญาไทเป็นแบบจำลองประชาธิปไตยให้ได้ศึกษากัน

รัชกาลที่ 6 ทรงใช้ภาพล้อฝีพระหัตถ์ วาดรูปล้อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงรู้จักคุ้นเคยกันอย่างดี ทรงวาดภาพล้อเลียนเชิงสั่งสอนหรือบันทึกเหตุการณ์รวมแล้วเป็นหลักร้อยภาพ เชื่อได้ว่าอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตก็ทำให้ข้าราชการอยู่ในร่องในรอย ไม่กล้าประพฤตินอกเรื่องเพราะกลัวหนังสือพิมพ์จะเก็บไปวิจารณ์

 



อ้างอิง: 

ไกรฤกษ์ นานา. “ประวัติ และ อิทธิพล ของรูปล้อการเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 5”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2561)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2561