ใครคือ “มิตรแท้” ของร.5 ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงครอบครัว “เพื่อนทุกข์เพื่อนยาก”

พระบรมรูป สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ทรงฉาย กับ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ มิตรแท้ ของ พระองค์
พระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราชทรงฉายกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ มิตรแท้ของพระองค์ (ศิลปวัฒนธรรม, 2561)

พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่าพระองค์ทรงมีความห่วงใย และอาลัยต่อบุคคลใกล้ชิด ยิ่งเมื่อพูดถึง “มิตรแท้” แล้ว คนรุ่นหลังหลายท่านอาจมีโอกาสไม่มากนักที่จะได้เห็นพระศุภอักษรอำลามิตรแท้ในหนังสืองานศพของมิตรที่พระองค์ทรงอักษรว่า “เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก” อย่างเจ้า เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ หรือโต บุนนาค

“โต บุนนาค” ติดตามถวายงานในฐานะ “ราชองครักษ์ส่วนพระองค์” ซึ่งไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการประวัติศาสตร์เขียนเล่าในบทความ “จับใจ! พจนารถในรัชกาลที่ 5 คำนำหนังสืองานศพจากพระปิยมหาราช ถึง ‘ลูกรัก’ และ ‘เพื่อนยาก'” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2561 เล่าว่า แม้แต่วาระสุดท้าย พระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ก็ถึงแก่อสัญกรรมขณะถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ เป็นผู้ปิดทองหลังพระและถือได้ว่าเป็นเรื่องราวที่เล่าขานในหมู่ทหารราชองครักษ์ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญหรือเปิดเผยตัวเอง ทั้งที่ท่านมีสถานะเป็น “พี่ภรรยา” ของพระเจ้าแผ่นดิน โดยเป็นพี่ชายของเจ้าคุณจอมมารดาแพ (แพ บุนนาค) ใน รัชกาลที่ 5 (ประวัติ นายพลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต) สมุหราชองครักษ ร.ศ. 128)

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2395 เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอ่วม เป็นพระสหายที่เติบโตมาพร้อมพระเจ้าแผ่นดิน เป็นศิษย์ของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ และยังเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนกับเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์

พ.ศ. 2409 ได้ติดตามบิดาไปราชสำนักฝรั่งเศส ทำให้นายโต มหาดเล็กจึงเป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกที่เคยไปเรียนวิชาทหารต่างประเทศในฐานะลูกชายของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถึงแม้จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรนักเรียนนอกคนแรกที่จบวิชาทหารจากทวีปยุโรป แต่ท่านขอเข้ารับราชการเป็นนายทหารราชวัลลภรักษาพระองค์ในกรมทหารมหาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 และอาสาถวายอารักขาติดตามพระปิยมหาราชไปเกือบตลอดรัชกาลกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ทหารราชองครักษ์ยาวนาน 35 ปี

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ หรือโต บุนนาค

ท่านโตถึงแก่อสัญกรรมกระทันหันขณะปฏิบัติหน้าที่ตามเสด็จเมื่อเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักบ้านปืน ที่เพชรบุรี พ.ศ. 2452 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต 1 ปี

ผู้เขียนยกข้อมูลเหตุการณ์การเสียชีวิตว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ท่านโตที่มีโรคประจำตัวมีอาการกำเริบแน่นหน้าอกเฉียบพลัน ถึงแก่อสัญกรรมในเรือที่พักข้างพระที่นั่งในวัย 58 ปี

เมื่อทรงทราบเรื่อง สมเด็จพระปิยมหาราชทรงรุดเยี่ยมศพถึงเรือที่เกิดเหตุ พระราชทานผ้าคลุมศพกับธงราชธวัชสำหรับเรือพระที่นั่งเพื่อห่อศพ พร้อมกับพระราชหัตถเลขาพระราชทานท่านผู้หญิงตลับ ภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์

สำหรับพระราชหัตถเลขา 2 ฉบับถึง มิตรแท้ ที่ถูกบรรจุในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ฉบับแรกทรงมีถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์โดยตรงในสมัยที่ท่านยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระอมรวิไสยสรเดช ทรงยินดีในหน้าที่การงานอันสัมฤทธิผล ทรงชื่นชมความสามารถบริหารจัดการทหารได้อย่างเรียบร้อยสมกับที่ร่ำเรียนวิชามาอันเป็นประโยชน์ต่อราชการ

ฉบับที่ 2 ทรงมีถึง ท่านผู้หญิงตลับ ภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ บรรยายพระราชหฤทัยเมื่อทรงทราบข่าวจากการไปของมิตรแท้ ความว่า

วันที่ 9 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 128 

ถึงตลับ

ด้วยเมื่อเช้าจะเขียนหนังสือฝากไปกับศพก็ไม่มีความคิดอันใดให้ตลึงตไลไป พึ่งมาเขียนได้ต่อเวลาค่ำ เพื่อจะสำแดงความเศร้าโศกให้แก่เพื่อนทุกข์เพื่อนยากและถามข่าวคุณหญิงด้วย เจ้าพระยาสุรวงศ์ได้เคยเล่นหัวมาด้วยกันแต่หนุ่มจนกลางคนก็ได้เป็นเพื่อนตัวไปได้ความยากลำบากในทางไกลถึงประเทศยุโรป 2 คราวในบางกอกก็ได้เคยชิดตัวอยู่เสมอไม่เคยห่าง

อันความจงรักภักดีนั้นไม่ใช่เฉพาะน่าที่ราชการเลย เป็นด้วยใจต่อใจผูกพันรักกันเฉพาะตัวจริงๆ ในการที่ติดตามป้องกันไม่ใช่แต่เป็นเกียรติยศอย่างเจ้าแผ่นดินกับขุนนางได้ปฏิบัติทุกอย่างทั้งกินทั้งนอน ความผูกพันในใจของเจ้าพระยาสุรวงศ์นั้น ไม่ได้มีเวลาท้อถอยเลย ถึงจะเจ็บไข้อย่างไร ถ้าไม่ล้มหมอนนอนเสื่อแล้วสู้ทนทาน จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ใคร่ยอมทิ้งหน้าที่ได้ การที่มาด้วยกันครั้งนี้เห็นหายไป เข้าใจว่าเป็นด้วยขี่ม้าไม่ได้จะไม่เจ็บอันใดมาก ตัวเธอเองก็ไม่อยากจะให้รู้ว่าเจ็บมาก พึ่งมารู้เมื่อวันก่อนจะตายว่า อาการมากเกินปรกติที่เคยเป็น พอจะคิดการรักษาก็พอมาหมดอายุเสียเท่านี้

ความเศร้าโศกเสียใจ ไม่รู้ที่จะพรรณาได้ ขอกล่าวว่าอันจะหาข้าราชการและเป็นมิตรอันแท้จริงอย่างผู้ตายนี้หายากเป็นอย่างยิ่งแล้ว ไม่แลเห็นว่าจะหาแทนให้เหมือนได้ เป็นกรรมที่ต้องมาวิบัติพลัดพรากกันไปเสียดังนี้ ในการที่จะถามก็มีอย่างเดียวแต่ขอให้คุณหญิงทราบว่า มีผู้ซึ่งได้รักใคร่กับผู้ตายได้มีความเศร้าโศกด้วยกับคุณหญิงอีกคนหนึ่ง

ขอให้รฤกถึงผู้ตายด้วยความนิยมคุณความดีอันเธอได้กระทำไว้ในเวลามีชีวิตอยู่นั้น จะเป็นเหตุให้มีความรักใคร่และคิดอุปการะแก่ภรรยาและบุตรทั้งหลายของเธอที่อยู่ภายหลังเพราะเห็นแก่ผู้ตายนั้น เพราะฉนั้นขอให้คุณหญิงถือว่าเป็นหน้าที่ซึ่งจะช่วยอุปการะแก่คุณหญิงสืบไปทุกอย่างถ้าจะมีความลำบากขัดข้องประการใด ขอให้บอกให้ทราบจะได้ช่วยเป็นธุระทุกประการ

ขอจบหนังสือด้วยความเหือดแห้งสลดใจเขียนได้แต่เท่านี้

(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.”

นอกจากจะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์แล้ว พระพจนารถในสมเด็จพระปิยมหาราช ยังมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความเมตตาปรานี และความมีเยื่อใยต่อผู้น้อย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. “จับใจ! พจนารถในรัชกาลที่ 5 คำนำหนังสืองานศพจากพระปิยมหาราช ถึง ‘ลูกรัก’ และ ‘เพื่อนยาก’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2561)

ประวัติ นายพลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต) สมุหราชองครักษ, หนังสือแจกเป็นของชำร่วยร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ศ. 128


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561