จักรพรรดิจีน “เจ้าควงอิ้น” ราชวงศ์โซ่ง ป้องกันทหารปฏิวัติด้วยวลีในงานเลี้ยงมื้อเดียว

แฟ้มภาพกองทัพตุ๊กตาดินเผาในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ในจีน ภาพจาก AFP PHOTO / GEORGES BENDRIHEM

ถ้าให้นับการยึดอำนาจการปกครองที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ยุคโบราณคงเป็นเรื่องยากลำบากทีเดียว แต่ถ้าจะให้ศึกษาวิธีป้องกันปฏิวัติที่น่าสนใจอาจง่ายขึ้นมาก ในลิสต์รายชื่อวิธีป้องกันปฏิวัติทั้งหลายน่าจะมีบันทึกวิธีของเจ้าควงอิ้น จักรพรรดิผู้สถาปนาราชวงศ์โซ่งเอาไว้ด้วย

ในประวัติศาสตร์จีนช่วงราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161-1450) เป็นต้นมา นักประวัติศาสตร์ยกให้เป็นอีกหนึ่งยุคที่การปฏิวัติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บทความชื่อ “ศิลปะการปฏิวัติและการป้องกันการปฏิวัติของจักรพรรดิจีน” โดยประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2528 ระบุว่า หลังสิ้นสุดราชวงศ์ถังไปแล้ว ในรอบกว่า 50 ปี เกิดการปฏิวัติถึง 16 ครั้ง เปลี่ยนราชวงศ์กันครั้งแล้วครั้งเล่า

จุดเปลี่ยนมาอยู่ที่จักรพรรดิผู้สถาปนาราชวงศ์โซ่ง (ซ้อง) คือเจ้าควงอิ้น ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1503 ด้วยการยึดอำนาจ พระองค์ทรงมีแผนป้องกันปฏิวัติ และทรงปราบปรามแคว้นต่างๆ อย่างราบคาบในพ.ศ. 1522

เดิมทีพระองค์เป็นจอมพลในกองทัพบกของแคว้นโห้วโจว กษัตริย์ของแคว้นนี้มีพระนามว่ากั๋วหยง นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถแล้ว ยังมีเจ้าควงอิ้นเป็นผู้ใกล้ชิด ช่วยเหลือการศึกสงคราม แต่พระองค์ทรงครองราชย์ได้แค่ 6 ปีก็สิ้นพระชนม์ กั๋วจงซิ่น โอรสของพระองค์ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 7 พรรษาทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อใน พ.ศ. 1502

วันขึ้นปีใหม่ของปีต่อมา ราชสำนักจัดงานเลี้ยงขึ้น แต่ระหว่างงานเลี้ยงทางการได้รับรายงานด่วนว่ากองทหารเผ่าคีตาน กำลังเคลื่อนกำลังมาใกล้ชายแดนเหนือ อัครเสนาบดีนามว่า ฝั่นจื๋อ เป็นผู้ออกคำสั่งให้เจ้าควงอิ้น นำกำลังไปต่อต้านอย่างเร่งด่วน

พระราชพงศาวดารราชวงศ์โซ่งบันทึกว่า เมื่อกองทัพเดินทางถึงด่านเฉินเฉียวอี้ (ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน) ประมาณ 10 กิโลเมตรจึงตั้งค่ายพักแรม

เมื่อถึงเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เจ้าควงอิ้น กลับพบนายทหารน้อยใหญ่แต่งเครื่องแบบเต็มยศตั้งแถวต้อนรับพร้อมกล่าวว่า “ปัจจุบันทหารทุกเหล่าทัพขาดประมุขจึงพร้อมกันขออัญเชิญให้ท่านแม่ทัพเป็นจักรพรรดิ”

เจ้าควงอิ้น ยังไม่ทันหายฉงนก็มีนายทหารนำฉลองพระองค์ลายมังกรมาสวมให้เสร็จเรียบร้อย นายทหารก็น้อมตัวลงกราบถวายบังคม อัญเชิญจักรพรรดิองค์ใหม่เสด็จกลับเมืองหลวง…อาณาจักรโห้วโจวเป็นอันสิ้นสุดลง

ผู้เขียนบทความ อธิบายว่า กองทัพที่ว่ากำลังเคลื่อนตัวมานั้นก็ “หายสาบสูญ” แบบไร้ร่องรอยอย่างน่าประหลาด เรียกได้ว่าเป็นแผนอันแนบเนียน สมควรนับเป็น “ศิลปะ” ได้เลยทีเดียว ฟากจักรพรรดิเจ้าควงอิ้น พระองค์สถาปนาราชวงศ์โซ่งสืบต่อเนื่องมา 3 ศตวรรษโดยไม่ถูกปฏิวัติเลย

นอกเหนือจากรากฐานทางการปกครองแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือวิสัยทัศน์ตั้งแต่แรกเริ่มของอัครเสนาบดีคนใหม่ที่ชื่อ “เจ้าผู่” ตามพระราชพงศาวดารราชวงศ์โซ่งบันทึกว่า เจ้าผู่กราบบังคมทูลว่า

“นับแต่ยุคกลางราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ทำสงครามรบพุ่งไม่หยุดหย่อน แผ่นดินปราศจากความสงบสุข สาเหตุไม่ใช่อื่น เนื่องจากอำนาจทางทหารของภาคต่างๆ มีมากล้น นัยหนึ่ง จักรพรรดิมีกำลังอ่อนแอแต่เสนาอำมาตย์กลับมีกำลังแข็งแรงกว่า

ดังนั้น วิธีการที่พึงจัดทำก็คือ ตัดรอนอำนาจของบรรดาแม่ทัพภาคลงบ้าง และควบคุมการเงินการคลังพร้อมทั้งดึงเอาทหารที่แข็งแกร่งรวมไว้ที่ส่วนกลางดังนั้นแผ่นดินก็จะสงบสุขสันติ”

จักรพรรดิเจ้าควงอิ้นทรงเชื่อมั่นว่า พระองค์ปฏิบัติต่อแม่ทัพภาคอย่างดีเลิศ มีบุญคุณดั่งภูเขา ทรงเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาเด็ดขาด

สิ่งที่อัครเสนาบดีเจ้าผู่ กราบบังคมทูลตอบก็น่าสนใจเช่นกัน พระราชพงศาวดารบันทึกเนื้อหาที่อัครเสนาบดีรายนี้ตอบไว้ว่า จักรพรรดิกั๋วหยงแห่งอาณาจักรโห้วโจวก็มีพระมหากรุณาธิคุณต่อจักรพรรดิเจ้าควงอิ้นมากล้นเช่นกัน สิ่้งที่เป็นตัวแปรสำคัญไม่ใช่แม่ทัพ พวกเขาไม่ใช่แม่ทัพที่ดีนัก แต่เมื่อคราใดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพวกเขาเกิดโลภในยศ และทรัพย์สิน จากนั้นนำเอาฉลองพระองค์สีเหลืองลายมังกรมาให้แม่ทัพสวมใส่ เมื่อถึงขั้นนั้น ถึงแม่ทัพไม่คิดกบฏก็หลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่ได้

พ.ศ. 1504 ปีรุ่งขึ้นหลังจากทรงครองราชย์ จักรพรรดิเจ้าควงอิ้นทรงจัดงานพระราชทานเลี้ยงแม่ทัพภาคที่รับใช้ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง หลังจากดื่มเหล้ากันพอสมควร พระองค์ทรงถอนหายใจและตรัสว่า พระองค์ไม่สุขกายสบายใจเท่าเป็นแม่ทัพภาคเนื่องจากเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วกลับรู้สึกว่าบัลลังก์เป็นสิ่งที่ใครก็ต่างปรารถนา เมื่อมนุษย์ต้องการลาภยศสรรเสริญ แม้พวกแม่ทัพอาจไม่ต้องการเช่นนั้น แต่เมื่อมีฉลองพระองค์ลายมังกรมาคลุมบนร่างกาย คิดปฏิเสธก็ยากแล้ว

พระราชพงศาวดารราชวงศ์โซ่งบันทึกว่า เหล่าแม่ทัพภาครีบกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยพร้อมขอให้ทรงแนะนำการปฏิบัติในอนาคตข้างหน้า

พระราชพงศาวดารราชวงศ์โซ่งบันทึกข้อความที่จักรพรรดิตรัสตอบว่า

“…มนุษย์เราที่ขวนขวายดิ้นรนมุ่งเจริญก้าวหน้า ใฝ่ฝันลาภยศก็หนีไม่พ้นเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความร่ำรวยในทรัพย์สินศฤงคาร อันจะทำให้ตนเองอยู่สบาย และตกทอดให้แก่บุตรหลานมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ทั้งสิ้นทั้งปวงก็มีอยู่เท่านี้เอง ตามความเห็นของฉัน

พวกท่านหากจะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ทางทหารก็ดี แล้วเปลี่ยนไปรับตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นสูง ซื้อหาสะสมที่ดินที่นาที่อุดมสมบูรณ์ให้มาก ปลูกสร้างเคหะสถานอันสวยงามใหญ่โตโอ่โถง เสาะหานักร้องนางระบำจากทั่วประเทศไว้ในบ้านเพื่อบันเทิงเริงรมย์ ดื่มสุราหาความสุขทั้งค่ำเช้า ฉันขอสัญญากับท่านทั้งหลายว่า เราจะดองกันเป็นญาติกันทุกชาติทุกภพ เรา-ระหว่างกษัตริย์กับข้าราชบริพารจะไม่ต้องระแวงสงสัยซึ่งกันและกันอีกต่อไป…”

บทความระบุว่า บรรดาแม่ทัพทั้งหลายต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ในวันรุ่งขึ้นบรรดาแม่ทัพภาคต่างถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งทางทหารโดยอ้างเรื่องปัญหาสุขภาพไม่เอื้อต่อราชการทางทหารอีก

ต่อมาพระองค์ทรงแต่งตั้งอดีตแม่ทัพภาคเป็นข้าหลวงปกครองท้องถิ่นมียศศักดิ์ แต่ไม่มีกำลังอำนาจที่แท้จริง จากที่ส่วนกลางส่ง “ผู้ช่วย” ไปบริหารงานแทน อำนาจทางการทหาร การเงิน การคลัง ถูกเรียกกลับคืนส่วนกลาง นับแต่นั้นมาอิทธิพลทางการเมืองของแม่ทัพภาคเป็นอันหมดสิ้นจากเวทีการเมือง เช่นเดียวกับประเพณีปฏิวัติที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้


อ้างอิง: 

ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี. บทความ “ศิลปะการปฏิวัติและป้องกันการปฏิวัติของจักรพรรดิจีน”. นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 ฉบับธันวาคม 2528


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561