วลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย.. ยายมีขายเหล้า” กับวิวัฒนาการโรงโสเภณีกทม. 100 ปีก่อน

ฉากเที่ยวสถานบันเทิงยามราตรีในภาพยนตร์ "หลงทาง" (2475) เป็นฉากจูบแรกในภาพยนตร์ไทย (ภาพจาก ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์. หนังไทยในอดีต)

แหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ปฏิเสธได้ยากว่า การท่องเที่ยวยามค่ำคืนเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกำเม็ดเงินเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกระตุ้น “เศรษฐกิจ” ในประเทศไทยให้คึกคัก โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวด้าน “บริการทางเพศ” ซึ่งสมัยก่อนเรียกกันว่า “โรงโสเภณี”

กว่าจะเป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ในสภาพที่เห็นกันในปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนในกรุงเทพฯเมื่อหลายร้อยปีก่อนก็มีแหล่ง “โสเภณี” เป็นองค์ประกอบสำคัญมาโดยตลอดอยู่แล้ว

นับตั้งแต่ประเทศไทยต้องทำข้อตกลงในสนธิสัญญาเบาริ่งในปี พ.ศ. 2398 ซึ่งทำให้ต่างชาติเริ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในไทย อิทธิพลจากตะวันตกเริ่มส่งผลต่อสภาพเมืองในไทยอย่างต่อเนื่อง

วิถีชีวิตในเมืองยามค่ำคืนในกรุงเทพฯก็ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเช่นกัน และเห็นได้ชัดตั้งแต่ทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา ขณะที่ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงช่วงระหว่าง 2420-2450 ช่วงนี้มีวัฒนธรรมความบันเทิงที่ได้รับนิยมเริ่มต้นตั้งแต่งานเลี้ยงเต้นรำที่บ้านหรือวังเจ้านาย มาสู่การรวมตัวพบปะสังสรรค์ทางสังคมในสถานที่ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรม เรียกกันว่า “คลับ” (Club) หรือสโมสรและสมาคม ทำกิจกรรม อาทิ เต้นรำ เล่นกีฬา ฟังปาฐกถา และอ่านหนังสือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในคลับมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่มีข้อมูลว่าบางคลับอนุญาตเฉพาะผู้ชายเท่านั้น

วีระยุทธ ปีสาลี ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต เรื่อง “ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2427-2488 เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปีการศึกษา 2555 และหยิบมาเรียบเรียงใหม่เป็นหนังสือชื่อ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” ระบุว่า การไปเที่ยวสโมสรสำหรับผู้ชายบางรายอาจไม่ได้สื่อความหมายถึง “สโมสร” อย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการเที่ยวโรงโสเภณี จากที่ยุคนั้น (2420-2450) คำว่า “คลับ” รวมถึง “บาร์” (Bar) ถูกใช้เรียกโรงโสเภณีชั้นดีด้วย

“คลับที่เป็นโรงโสเภณีมีลักษณะคล้ายกับสถานกินดื่มสาธารณะและสถานเริงรมย์ที่มีหญิงสาวไว้คอยบริการลูกค้า และหากเป็นที่ต้องตาต้องใจก็ร่วมหลับนอนด้วยได้”

คลับที่มีชื่อเสียงในหมู่คนไทยและจีน คือคลับจางวางหม็อง ที่ถนนวรจักร คลับเบอร์ 10 ที่ถนนเจริญกรุง และคลับยี่สุ่นเหลือง ที่ตรอกยายแพ่ง

กิจการโสเภณีในยุคนี้ (2420-2450) ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ อ้างอิงว่าเป็นโสเภณีรูปแบบเก่าที่มีลักษณะ “นางประจำสำนัก” โดยสำนักที่โด่งดังที่สุดคือ “สำนักยายแฟง” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนมีคำพูดติดปาก (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523) เป็นวลีที่ว่า

“ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย… ยายมีขายเหล้า”

ผู้เขียนหนังสือระบุว่า เมื่อกิจการรุ่งเรืองจนร่ำรวย ยายแฟงนำเงินไปสร้างวัดใหม่ยายแฟง หรือที่เรียกว่าวัดคณิกาผล หมายถึงผลที่ได้จากนางคณิกาคือหญิงโสเภณีนั่นเอง

กิจการการค้าประเวณีในกรุงเทพฯ ขยายเพิ่มเติมจากย่านสำเพ็ง (ซึ่งเริ่มมาก่อนทศวรรษที่ 2420) ในลักษณะตั้งเก๋งริมฝั่งน้ำมาตั้งตามตรอกซอกซอยของถนนต่างๆ เพื่อหลบสายตาผู้คน มีตรอกลือชื่ออย่าง ตรอกแตง ตรอกเต๊า ตรอกโรงเขียน และตั้งอยู่ตามพื้นที่บันเทิงยามค่ำคืนของเมืองอย่างโรงบ่อนและโรงหวย

สำเพ็งสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาด (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม ๒๕๕๖)

กิจการการค้าประเวณีเติบโตมาจนถึงช่วง 2460-2480 ทั้งสำเพ็งและเยาวราชถือเป็นเขตเศรษฐกิจและย่านกลางคืนของเมืองสมัยใหม่ มีสถานที่พักผ่อนยามค่ำคืนผุดขึ้นมากมาย รวมไปถึงสำนักโสเภณีซึ่งเปิดตลอดคืน (อ่านเพิ่มเติม “สำเพ็งและเยาวราช” อดีตย่านกลางคืนของกรุงเทพฯ)

วีระยุทธ ปีสาลี ระบุว่า กิจการโสเภณีในท้องที่สำเพ็งเติบโตพร้อมกับการพัฒนาของเมืองกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็น “สังคมบก” สำนักโสเภณีต้องเสียภาษีบำรุงถนนเพื่อซ่อมแซมและพัฒนาให้รองรับลักษณะเมืองสมัยใหม่

สำหรับการแขวนโคมเขียวของสำนักโสเภณีเกิดขึ้นเมื่อมีประกาศพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ.127 เมื่อ พ.ศ. 2452 สำนักโสเภณีทุกแห่งต้องแขวนโคมเขียวเพื่อแสดงว่าจดทะเบียนและเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว ส่วนโสเภณีที่ไม่ได้เสียภาษีก็ต้องแอบยืนขายบริการตามพื้นที่บันเทิงในเมืองเช่นโรงบ่อนและโรงหวย

ข้อมูลจากการสืบค้นระบุว่า โรงโสเภณีชั้นดีจะปรนนิบัติผู้ใช้บริการอย่างพิถีพิถัน มีที่หลับนอนหมอนมุ้งสะอาดเรียบร้อย หญิงโสเภณีก็อ่อนหวาน ไม่ลักทรัพย์ลูกค้าเนื่องจากมีนายโรงดูแลอย่างดี ส่วน “โสเภณี” อีกระดับชั้นที่ด้อยกว่าจะบริการลักษณะนั่งม้านั่งหน้าสำนัก ส่งเสียงร้องดึงดูดลูกค้า และยังฉุดลากผู้ผ่านทางเข้าไปในสำนัก

หลังทศวรรษ 2460 กิจการโสเภณียิ่งเติบโตมากขึ้นเช่นเดียวกับโสเภณีเถื่อน หลังจากนั้นกิจการค้าบริการในกรุงเทพฯเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นลักษณะแอบแฝงในสถานที่บันเทิงยามค่ำคืนในเมืองสมัยใหม่ เช่น โรงหนัง โรงแรม สถานบันเทิง กลายมาเป็นสภาพเมืองกลางคืนในอีกยุคหนึ่ง

ทศวรรษที่ 2460-2480 เปลี่ยนรูปแบบออกมาสู่ตามท้องถนนและพื้นที่สาธารณะปะปนกับกลุ่มคนที่ท่องเที่ยวราตรี

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503” นิยามโสเภณีที่แอบแฝงขายบริการตามสถานที่ต่างๆ ว่า “โสเภณีแห่งยุคการเปลี่ยนแปลง” (2464-2487) ถือเป็นยุคโค้งเปลี่ยนผ่านระหว่างโสเภณีแบบเก่าที่สำเพ็ง (2411-2463) กับโสเภณีใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒธรรมอเมริกัน (2488-2503)

ความเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องมาจากความพยายามหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐ ประกอบกับต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ค่านิยม และวัฒนธรรมสมัยใหม่ (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2526)

บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการบริหารควบคุมสถานโสเภณีก็มีบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์ยุคนั้นด้วย หนังสือพิมพ์ “ออบเซอรเวอร” วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2458 รายงานว่า

“เวลานี้ตัวกามโรคเที่ยวพลุกพล่านมากตามแถวหลังโรงหนังยี่ปุ่นหลวง ถึงกับฉุดค่าชวนชายไปสมสู่ พลตำรวจบางคนเห็นเข้าก็ห้ามปราม แต่บางคนก็เห็นเป็นสนุกหัวเราะเล่น ใช่แต่เท่านั้น พวกหญิงตามที่พักคนเดินทางก็เลี่ยงกฎหมายได้อยู่มาก…”

ผู้ศึกษาระบุว่า รูปแบบบริการยุค 2460-2480 เริ่มซับซ้อน ทศวรรษที่ 2460 โรงบ่อนถูกยกเลิกไป การบริการก็มาจากที่แฝงตัวอยู่ในอาชีพอื่น เช่น หญิงบริกรตามโรงน้ำชาและโรงฝิ่น หมอนวดตามที่พักคนเดินทาง หรือแม้แต่หญิงคู่เต้นตามสถานเริงรมย์

หญิงบริกรและหญิงคู่เต้นรำยุคแรกมีทั้งหญิงไทยและจีน โดยเฉพาะหญิงกวางตุ้ง และจากจีนที่ส่งตรงจากเซี่ยงไฮ้ ราคาค่าบริการแตกต่างกันออกไป หญิงจีนอยู่ที่ประมาณคนละ 200 บาท ซึ่งถือว่าสูงพอสมควรสำหรับค่าครองชีพสมัยนั้น

 


อ้างอิง:

ขุนวิจิตรมาตรา. 80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, 2523, หน้า 183

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2561