ที่มาของชาวจีนแต้จิ๋ว อ่าวจังหลิน อพยพมาไทยระยะแรก ถึงครอบครัวของแต้สิน (ตากสิน)

อำเภอเท่งไฮ้ จังหวัดซัวเถา จีน ถิ่นที่อยู่ของ จีนแต้จิ๋ว

ว่ากันว่าชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์มีจำนวนมหาศาล และเชื่อว่ามาอยู่ในไทยก็ไม่น้อย เรียกได้ว่าไทยอาจเป็นลำดับต้นๆ ก็ว่าได้ ในจำนวนชาวจีนโพ้นทะเลที่มาในไทยช่วงแรกเชื่อว่ามากกว่าครึ่งเป็น “จีนแต้จิ๋ว” การเดินทางของชาวจีนแต้จิ๋วสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยมากทีเดียว เนื่องจากบรรดาชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาสยามในระยะแรกมีครอบครัวของแต้สิน หรือพระเจ้าตากที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ถ้าจะพูดถึงการอพยพของ จีนแต้จิ๋ว นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า ต้องไม่มองข้ามอ่าวจังหลิน ซึ่งเป็นปากน้ำที่แม่น้ำหานเจียงไหลมาสู่ทะเล เป็นอ่าวที่เรือขนาดใหญ่เทียบจอดได้ มีความเจริญค่อนข้างมากทีเดียวในช่วงราชวงศ์เช็ง (แมนจู)

อย่างไรก็ตาม บริเวณที่ราบแต้จิ๋วในยุคนั้นมีประชากรหนาแน่นแต่พื้นที่น้อย ผลผลิตไม่เพียงพอประชากร คนในพื้นที่หันพึ่งการประมงมากกว่าร้อยละ 70 ประกอบกับเกิดภัยธรรมชาติหลายครั้งในช่วงราชวงศ์เช็ง ชาวนาล้มละลาย เริ่มต้องอพยพกันไปทั่ว

ขณะเดียวกัน ในช่วงต้นรางวงศ์เช็ง ทางการสั่งห้ามประชาชนออกไปโพ้นทะเล ปีแรกของสมัยกษัตริย์คังซี ทางการยังตรากฎหมายให้ประชาชนที่อยู่ริมทะเลอพยพเข้าไปจากชายฝั่ง 50 ลี้ เนื่องจากมีกองกำลังของเจิ้งเฉิงกง โจมตีเมืองหลายแห่งซึ่งทำให้ราชวงศ์เช็งปั่นป่วนอย่างมาก

กระทั่งปีที่ 22 ของกษัตริย์คังซี (ค.ศ. 1683) กลุ่มผู้ก่อการยอมสยบต่อราชวงศ์ ทางการแก้นโยบาย อนุญาตให้ประชาชนริมฝั่งออกทะเลได้ หลังจากนั้นสภาพในพื้นที่ก็เจริญไปตามลำดับ

ค.ศ. 1722 มณฑลกวางตุ้ง และฮกเกี้ยนประสบปัญหาขาดแคลนข้าว ทางการรับรู้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของสยามจากทูตที่เดินทางไปเยือนจึงส่งเสริมให้ไปซื้อข้าวจากสยาม กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวแต้จิ๋วผูกพันกับแผ่นดินไทย

ข้อมูลจากบทความชื่อ “อ่าวจังหลินที่อำเภอเฉิงไห่ (เทงไฮ้) กับชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมายังไทยระยะแรก” เขียนโดย ต้วน ลี่ เซิง อธิบายการไปมาหาสู่ระหว่างกันในระยะแรกว่า นับตั้งแต่ชาวจังหลินเริ่มค้าข้าวกับสยาม อ่าวจังหลินก็เจริญอย่างรวดเร็ว บริเวณท่าเรือเริ่มสร้างถนน ร้านค้าเกิดขึ้นตามข้างทาง มีโกดังเก็บของ และยังมีหอมองทะเล

ระหว่างที่มีติดต่อการค้ากัน ผู้เขียนบทความระบุว่า ช่วงเวลานี้พ่อค้าจีนแต้จิ๋วจำนวนมากอพยพไปอยู่ในสยาม ข้อมูลส่วนนี้อ้างอิง “ประวัติเจียซิ่ง” ซึ่งเคยกล่าวว่า “ชาวเมืองเฉิงไห่ได้ขอใบอนุญาตไปซื้อข้าวเมืองสยาม เพื่อนำกลับมาช่วยแก้ปัญหาอดอยาก แม้จะดำเนินมากว่า 40 ปีแต่จากคำบอกเล่า ที่ไปแล้วกลับมามีไม่เกินห้าหรือหกในสิบเท่านั้น”

นอกจากผู้ที่ลงเรือสำเภาเพื่อการค้าแล้ว ยังมีกลุ่มชาวนาล้มละลาย และชาวนายากจนไร้อาชีพ ซึ่งต้วน ลี่ เซิง ระบุว่า กลุ่มนี้มีเพียงไม้ไผ่ ไม้คานไม้ไผ่ และหมอนไม้ไผ่ อย่างละชิ้นติดตัวไปเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตซึ่งต้องจากบ้านเกิดไป

“การเดินทางจะเริ่มราวเดือน 9 เดือน 10 ของแต่ละปี อาศัยลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาไป ใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งจึงถึงประเทศสยาม คนที่ออกทะเลมักจะนึ่งขนมเข่งติดตัวไปเป็นเสบียงระหว่างทาง เพราะว่าขนมเข่งทำจากข้าวเหนียว เก็บได้นานและอยู่ท้อง นอกจากนี้ก็ยังนำฟักเขียวไปด้วย เพราะมีประโยชน์หลายอย่าง ต้มน้ำแกงดื่มแทนน้ำก็ได้ และเมื่อเรือแตกก็ใช้แทนห่วงชูชีพ”

บทความของ ต้วน ลี่ เซิง ระบุว่า ในจำนวนชาวแต้จิ๋วที่อพยพสู่สยามในระยะแรกของราชวงศ์เช็ง มีครอบครัวหนึ่งซึ่งทำให้เกิดผลสะเทือนต่อประวัติศาสตร์ไทย นั่นก็คือครอบครัวของแต้สิน (ตากสิน) ผู้สร้างกรุงธนบุรีขึ้นในภายหลัง

“พ่อของแต้สินชื่อแต้ย้ง (ที่ชื่อว่าไทฮง นั้น เพราะเข้าใจผิด คิดว่ามาจากตำบลดังกล่าว ซึ่งที่จริงมาจากตำบลหัวฟู่) อำเภอเฉิงไห่ ลงเรือสำเภาแดงมายังสยามสมัยกษัตริย์หยงเจิ้ง ตอนแรกนั้นขายผลไม้เพื่อยังชีพ ต่อมาเป็นนายอากรบ่อนเบี้ย ค่อยๆ มั่งคั่งขึ้น แต่งงานกับสาวไทยชื่อนกเอี้ยง ให้กำเนิด แต้สิน”

บทความระบุว่า แต้สิน ได้รับการศึกษาจากวัดตั้งแต่เด็ก เรียนทั้งภาษาไทย จีน ญวน และบาลี เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กเมื่ออายุ 24 ปี

หมู่บ้านที่ประสูติของบิดาพระเจ้าตากสิน ในอำเภอเท่งไฮ้ จังหวัดซัวเถา (ต้วน ลี่ เซิง, 2526)

ขณะที่เฉิงไห่ บ้านเกิดของพระบิดาของพระเจ้าตากสิน ยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแต้สิน กองการผลิตใหญ่ฟู่หัว คอมมูนซั่งหัว ในอำเภอเฉิงไห่ก็มีศาลเจ้าตระกูลแต้อยู่ สภาพเป็นตึกแถวชั้นเดียว สามหลังเรียงติดกัน ลานนอกหมู่บ้านก็มีหลุมเสื้อผ้าของบิดาแต้สิน จากที่ไม่มีศพฝังจึงนำเสื้อผ้ามาฝังแทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อ่าวจังหลินที่อำเภอเฉิงไห่ (เทงไฮ้) กับชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมายังไทยระยะแรก“. ต้วน ลี่ เซิง. วิภาดา จันทน์จารุสิริ แปล. ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2526.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2561