“ลัทธิเม้งก้า” แห่งดาบมังกรหยก มีจริงหรือไม่? เหตุใดจึงถูกมองเป็น “พรรคมาร” ?

แผ่นโฆษณา “ดาบมังกรหยก” จากนิยายกำลังภายในเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์หลายเวอร์ชัน

ในเรื่อง “ดาบมังกรหยก” หรือ “มังกรหยก ภาค 3” กิมย้ง ได้แต่งให้ เตียบ้อกี๋ ตัวเอก เป็นหัวหน้าลัทธิเม้งก้า หนึ่งในกลุ่มขบวนการที่ร่วมขับไล่มองโกลซึ่งปกครองจีนในยุคสมัยตามท้องเรื่อง ตรงกับช่วงปลายราชวงศ์หงวน (หยวน) โดยลัทธิเม้งก้าที่กิมย้งอ้างถึงนั้นเป็นกลุ่มความเชื่อที่มีอยู่จริง และเคยแพร่หลายอยู่ในประเทศจีนมานานหลายร้อยปี

อาจาย์ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องจีน เคยอธิบายที่มาของลัทธิเม้งก้าเอาไว้ว่า “…ลัทธิเม้งก้านั้นอาศัยหลักคำสอนของศาสนาแมนนีเป็นรากฐานผสมผสานกับหลักธรรมความเชื่อของลัทธิเต๋าและพระพุทธศาสนา พัฒนาขึ้นมาเป็นลัทธินิกายหนึ่งแพร่หลายในจีนตั้งแต่สิ้นราชวงศ์ถังจนถึงราชวงศ์เหม็ง ลัทธินี้ยกย่องเตียวก๊กหัวหน้าโจรโพกผ้าเหลืองในเรื่องสามก๊กเป็นศาสดาและบูชาแมนนีเป็นเทพสูงสุดประจำลัทธิ…

ลัทธิเม้งก้ารับความเชื่อเรื่องเทพแห่งแสงสว่าง (ความดี) และเทพแห่งความมืด (ความชั่ว) ไปเป็นหลักคำสอนพื้นฐาน คำว่า ‘เม้ง’ อันเป็นชื่อลัทธิแปลว่า ‘แสงสว่าง’ เกิดจากอักษร ‘พระอาทิตย์’ (日) กับ ‘พระจัทร์’ () ผสมกันเป็น ‘เม้ง’ () ลัทธินี้จึงมีพิธีไหว้พระอาทิตย์ไหว้พระจันทร์…”

ส่วนเหตุที่ “เม้งก้า” ได้ชื่อว่าเป็น “พรรคมาร” นั้น อาจารย์ถาวรอธิบายว่า ลัทธินี้เป็นที่ชื่นชอบของพวกกล้าต่อต้านอำนาจรัฐ มักมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนพวกกบฏอยู่เสมอ ราชสำนักจึงไม่ชอบลัทธินี้ บางยุคถึงกับประกาศห้าม ลัทธินี้จึงต้องดำเนินงานแบบหลบซ่อนเร้นลับ ประกอบกับชื่อเดิมของลัทธิคือคำว่า ‘แมนนี’ นั้น เสียงในภาษาจีนคล้ายกับคำว่า ‘มาร’ ที่จีนเรียกทับศัพท์สันสกฤต ลัทธินี้จึงถูกประณามว่าเป็นลัทธิมารร้าย เป็นฝ่ายอธรรมดังปรากฏในเรื่องมังกรหยกภาค ๓”

ส่วนข้อมูลจาก Encyclopedia Britannica ระบุว่า ลัทธิแมนนีหรือมณี (Manichaeism) ดั้งเดิมมาจากทางเปอร์เซีย ถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 โดยศาสดาที่ชื่อว่า “มณี” ซึ่งมีฉายาอีกนามหนึ่งว่า “สาวกแห่งแสงสว่าง”

มณีถือว่าตนคือผู้สืบทอดคนสุดท้ายในบรรดาอัครศาสดาผู้เผยแผ่ความจริงแก่ชาวโลกตั้งแต่อดัม มาถึงโซโรอัสเตอร์ พระพุทธเจ้า และพระเยซู โดย มณีมองว่าการประกาศศาสนาของศาสดาครั้งก่อนๆ มีข้อจำกัดเนื่องมาจากการมุ่งสอนในระดับท้องถิ่น ด้วยภาษาเดียว ต่อคนกลุ่มเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อที่ยึดถือกันมาในภายหลักของศาสนาเก่าๆ ต่างก็ห่างไกลไปจากความจริงตั้งต้นอันสมบูรณ์

มณีจึงตั้งตนเป็นผู้เผยแผ่ความจริงอันเป็นสากลที่จะมาแทนที่ศาสนาอื่นๆ ทั้งหมด (หลักการของเขาจึงเป็นการผสานความเชื่อต่างๆ ของศาสดาองค์ก่อนๆ เข้าด้วยกัน) และเพื่อป้องกันการบิดเบือนหลักคำสอนเขาจึงได้บันทึกคำสอนทั้งหมดเป็นลายลักษณ์อักษรและยกสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์ดังกล่าวในขณะที่เขายังมีชีวิต ต่างไปจากศาสนาก่อนๆ ที่คำสอนมักจะมีการจดบันทึกหลังจากที่ศาสดาได้เสียชีวิตไปแล้ว

ชิ้นส่วนของจิตรกรรมฝาผนังพบในเขตซินเจียง, ประเทศจีน, อายุประมาณศตวรรษที่ 8-9, คาดว่าน่าจะเป็นภาพของ มณี (ซ้ายสุด) และสาวก ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ที่ Museum für Indische Kunst กรุงเบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี

ในช่วงต้น ศาสนามณีได้เร่งการเผยแผ่ศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ ไกลไปถึงอาณาจักรโรมัน และแอฟริกาเหนือ แม้กระทั่งนักบุญออกัสตีนในวัยเยาว์ก็เคยหันมานับถือศาสนามณีอยู่ระยะหนึ่ง

ในช่วงศตวรรษที่ 4 ศาสนามณีในตะวันตกได้รุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด แต่เมื่อศาสนาคริสต์ได้ตั้งมั่นในอาณาจักรโรมัน ศาสนามณีก็ถูกมองเป็นพวกนอกรีตและถูกกำจัด จนถึงปลายศตวรรษที่ 5 ก็แทบไม่เหลือศาสนามณีอยู่ในยุโรปตะวันตกอีกเลย

ส่วนการเผยแผ่ศาสนามณีในฝั่งตะวันออกเริ่มขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 7 หลังจีนพิชิตดินแดนเตอร์กิสถานตะวันออกได้ และเริ่มเปิดเส้นทางสายไหมอีกครั้ง โดยคณะผู้เผยแผ่ศาสนามณีได้เดินทางมาเยือนราชสำนักถังในปี ค.ศ.694 ต่อมาในปี ค.ศ. 732 จีนได้รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา เปิดโอกาสให้ศาสนามณีได้เติบโตเป็นที่แพร่หลาย แต่พอถึงปี ค.ศ. 843 ศาสนามณีก็ถูกประกาศให้เป็นลัทธินอกรีตอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่รอดมาได้อย่างน้อยถึงศตวรรษที่ 14

วัดเฉ่าอัน วัดของลัทธิมณีในมณฑลฮกเกี้ยน (ภาพจาก วิภา จิรภาไพศาล)

แม้ปัจจุบันศาสนามณี หรือลัทธิเม้งก้าจะล่มสลายไปแล้ว แต่ก็ยังปรากฏหลักฐานหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น พระธรรมคัมภีร์บางส่วนที่ถูกพบในซินเจียง และอียิปต์ ช่วงศตวรรษที่ 20 รวมไปถึงโบราณสถาน เช่น วัดเฉ่าอัน ในมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) ซึ่งมีการพบรูปสลักของมณีผู้เป็นศาสดา ที่ว่ากันว่าน่าจะเป็นรูปสลักชิ้นเดียวที่เหลืออยู่

และสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นเครื่องยืนยันอิทธิพลทางความคิดที่น่าจะมีไม่น้อยในประเทศจีนของกลุ่มความเชื่อนี้ก็คือชื่อของ “ราชวงศ์หมิง” ซึ่ง Jacques Gernet นักจีนวิทยาชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไปว่า

“อย่างไรก็ตามลัทธิมณีได้เผยแผ่ความคิด และคำสอนอย่างยั่งยืนในจีนจนกระทั่งศตวรรษที่ ๑๔ ทั้งชื่อของราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) ที่มีความหมายว่าแสงสว่างนั้นอาจได้รับอิทธิพลมาจากนักบวชลัทธิมณี…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2560