Jack the Ripper ฆาตกรบันลือโลก มีตัวตนหรือไม่?

ภาพวาด ตำรวจ พบศพหญิงสาว มีความเชื่อมโยง คดี Jack the Ripper
ตำรวจพบร่างของ น.ส. แมรี่ แอนน์ เหยื่อรายแรกของแจ๊คในสภาพถูกชำแหละโดยพวกมืออาชีพ

คดีขวัญขวัญเกาะอังกฤษ! : “Jack the Ripper” ฆาตกรบันลือโลก มีตัวตนหรือไม่?

…ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ขณะที่ผู้เขียนยังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ สื่อมวลชนเมืองผู้ดีได้รื้อฟื้นคดีสะเทือนขวัญซึ่งได้เกิดขึ้น ณ กรุงลอนดอนและเป็นข่าวใหญ่โตสะเทือนภาพลักษณ์ของตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ดที่ได้ชื่อว่าเก่งและทันสมัยที่สุดในโลกในยุคหนึ่ง ทว่าไม่สามารถคลี่คลายปมปริศนาและจับตัวฆาตกรต่อเนื่องได้นานเกือบ 100 ปี

คดีที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) ก็คือคดี Jack the Ripper แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ (แปลตรงตัวว่า “แจ๊คผู้ชำแหละศพ”) หรือฆาตกรต่อเนื่องผู้โทรมหญิงโสเภณีในตำบลไวต์แชปเปิล แล้วฆ่าอำพรางคดีด้วยการใช้มีดเชือดทิ้งบาดแผลเหวอะหวะบนลำตัวเหยื่อให้เป็นปริศนาต่อการติดตามตัวคนร้าย สร้างความสยดสยองทั่วเกาะอังกฤษ

ที่ตั้งของตำบลไวต์แชปเปิล (Whitechapel) ในแถบอีสต์เอนด์ (East End) ของลอนดอนในสมัยควีนวิกตอเรียเป็นย่านเสื่อมโทรมที่สุดของมหานครหลวง เป็นชุมชนชั้นแรงงานในเขตท่าเรือ แหล่งมั่วสุมยาเสพติด และสวรรค์ของกะลาสีนักเที่ยวกลางคืนชั้นต่ำ ในยามค่ำคืนจะมืดสลัว วังเวงและอันตรายอย่างยิ่งแม้แต่กับบุรุษเพศทั่วไป

โดยในกลางปี 1888 ก็ได้เกิดคดีสะเทือนขวัญขึ้นครั้งแรกกับ น.ส. แมรี่ แอนน์ ช่วงปลายเดือนสิงหาคมของศกนั้น (21 สิงหาคม) และเกิดต่อเนื่องกับ น.ส. แอนนี่ แชปแมน (8 กันยายน) ต่อมาก็เกิดกับ น.ส. เอลิซาเบท สไตรด์ และ น.ส. แคทเทอรีน เอ็ดดอเวส (2 รายในคืนวันที่ 30 กันยายน)

รายสุดท้ายคือ น.ส. เจน เคลลี่ (9 พฤศจิกายน) ทุกรายจะถูกฆ่าชำแหละศพในลักษณะคล้ายคลึงกัน จากการสอบสวนพบว่าเหยื่อทั้งหมดเป็น “โสเภณี” ในละแวกนั้นทั้งสิ้น

ฆาตกรเป็นบุคคลที่กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง

ภาพวาดเหตุการณ์เมื่อตำรวจอังกฤษพบร่างของเหยื่อ Jack the Ripper จากคดีสะเทือนขวัญใน ค.ศ. ๑๘๘๘ และนายครีมผู้ต้องหาที่ยอมรับในวันประหารชีวิตว่าเขานั่นแหละคือแจ๊คผู้ก่อเหตุ (มุมซ้ายบน)

สภาพศพที่ล้วนถูกชำแหละและผ่าอย่างประณีตทำให้ตำรวจสันนิษฐานว่าฆาตกรต้องมีความรู้ด้านการแพทย์ มิฉะนั้นก็ต้องเป็นคนขายเนื้อที่มีความถนัดใช้มีดเป็นพิเศษ แต่แม้นว่าผู้ต้องสงสัยหลายรายจะถูกนำตัวมาสอบสวนก็ยังไม่มีหลักฐานมัดตัวผู้ใดได้เลย

ข้อสันนิษฐานใหม่พุ่งเป้าไปยังผู้มีอำนาจหรือคนในสังคมชั้นสูง ผู้มีอิทธิพลพอที่กฎหมายจะเอื้อมไปไม่ถึง รวมถึงข้อโจษขานว่าอาจเป็นเชื้อพระวงศ์อย่างท่านดุ๊คออฟคลาเรนซ์ พระราชนัดดาของควีนผู้เสียสติจากพิษของโรคซิฟิลิส หรือ เซอร์จอห์น วิลเลี่ยม แพทย์ประจำพระองค์ของควีนเอง

เมื่อมีเจ้านายและขุนนางมีอันดับเข้าไปเป็นผู้ต้องหาของสังคมย่อมทำให้ท่านนายกรัฐมนตรี (ลอร์ดซอลส์เบอรี่) ต้องเข้ามากำชับกรมตำรวจให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงคดี ไม่ให้แปดเปื้อนถึงราชสำนัก ก็ยิ่งทำให้งานของตำรวจจำกัดวงแคบลงไปอีก

หลักฐานใหม่ๆ ที่พบและเป็นเบาะแสภายหลังการฆาตกรรม เช่น จดหมายเขียนโดยบุคคลที่แสดงตนว่าเป็นฆาตกรถูกส่งไปยั่วยุตำรวจผู้ควบคุมคดี ในตอนแรกดูจะเข้าเค้าว่าเป็นฆาตกรตัวจริงที่เขียนมา แต่ภายหลังข้อมูลเริ่มเรรวนเมื่อจดหมายมีเข้ามาเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องโคมลอยจากผู้ไม่หวังดีที่สุด

และเนื่องจากสำนวนของคดีขาดความสมบูรณ์ตั้งแต่ต้น ทำให้คดีสะเทือนขวัญค่อนข้างบานปลายไปเป็นความขัดแย้งของคนในสังคมอังกฤษ เช่น การดูถูกกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและการปรักปรำคนต่างด้าว   

แต่แม้นว่าจะมีข้อสรุปว่าการฆาตกรรมเป็นฝีมือของคนจิตวิปลาส และอาจเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดของคนวงในที่รู้ความคืบหน้าของรูปคดีเป็นอย่างดี แต่ต้องการปิดบังคนผิดยิ่งทำให้การติดตามตัวคนร้ายลำบากยิ่งขึ้นจนทางการไม่อาจปิดคดีได้ และฆาตกรก็ลอยนวลต่อไปเป็นเวลาหลายปี

คนในสมัยต่อมาแม้แต่นักประวัติศาสตร์สมัยหลังเท้าความคดี แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ว่าเป็นการจัดฉากของหน่วยงานราชการและอาจเป็นการฆ่าตัดตอนพยานปากเอกในกรณีสมคบคิดที่ไม่อาจเปิดเผยความจริงได้ จึงเป็นด้านมืดของกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลอังกฤษครั้งประวัติศาสตร์

การชี้ตัว แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ การหมกเม็ดของประวัติศาสตร์

คดี เดอะ ริปเปอร์ ดำเนินไปราว 4 ปี มีผู้ต้องสงสัยหลายรายถูกจับมาสอบสวน บางรายก็มีอันเป็นไปเสียก่อนในขณะที่บางรายก็หลุดพ้นคดีเพราะถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้วิกลจริต

แต่แล้วใน ค.ศ. 1979 หรือหลังจาก 91 ปีที่เหยื่อรายแรกของแจ๊คถูกพบเป็นศพ คดีของ เดอะ ริปเปอร์ ก็กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยสื่อของอังกฤษและนานาชาติรายงานใหม่ว่า แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ถูกจับตัวโดยละม่อม และถูกตัดสินให้ได้รับโทษประหารชีวิตโดยเปิดเผยภาพและหลักฐานใหม่อย่างโจ๋งครึ่ม ทว่า ภายหลังจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ลาจากโลกนี้ไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการดำเนินคดีกับ เดอะ ริปเปอร์นั้น นายแมคนักเตน (Melvile Macnaghten) นักอาชญาวิทยาผู้สันทัดคดีของ เดอะ ริปเปอร์ เก็บสำนวนการสืบสวนทั้งหมดไว้ในหอจดหมายเหตุลอนดอน กล่าวว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดมีอยู่ด้วยกัน 4 ราย คือ

1. ดร. ดรูอิตต์  (Dr. M. J. Druitt) อาชีพแพทย์ทางศัลยกรรมมีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงแต่มีนิสัยกามวิตถาร ถูกเรียกตัวมาสอบสวนหลายครั้งก่อนที่จะพบเป็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำเทมส์ในเดือนธันวาคม 1888 โดยไม่ทราบสาเหตุ

2. นายคอสมินสกี (Mr. Kosminski) ชาวยิวจากโปแลนด์ ผู้มีถิ่นพำนัก ณ ตำบลไวต์แชปเปิล เป็นคนนอกกฎหมายและพวกเดนคุก มีอุปนิสัยเกลียดชังหญิงขายบริการ แต่ต่อมาศาลก็พิพากษาให้เป็นคนวิกลจริต ต้องเข้าสู่สถานบำบัดทางจิตเวชตั้งแต่เดือนมีนาคม 1889

3. ดร. ออสตร็อก (Dr. Michael Ostrog) แพทย์สัญชาติรัสเซียเคยต้องโทษคดีฆ่าคนตายมาก่อน ต่อมา
ก็ถูกศาลตัดสินให้เป็นคนวิกลจริตจำพวกบ้ากามถูกจองจำในสถานบำบัดทางจิตเวช ใน ค.ศ. 1889

ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในคดี เดอะ ริปเปอร์ และขอต่อสู้ในชั้นศาล แต่ต่อมาก็ต้องพบกับวิบากกรรมด้วยเหตุต่างๆ ถ้าไม่ตายเสียก่อนก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นคนสติวิปลาสดังที่กล่าวมาแล้ว

รายสุดท้ายคือ นายครีม (Thomas Neill Cream) อดีตศัลยแพทย์อาชีพผู้ผันตัวมาเป็นฆาตกรต่อเนื่องทั้งในอังกฤษและอเมริกาถูกตัดสินโดยศาลอาญา (Old Bailey) ณ กรุงลอนดอน ว่าเป็นคนผิดในคดี เดอะ ริปเปอร์ และเป็นผู้ต้องหารายเดียวที่ถูกตัดสินประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกันกับหญิงในตำบลไวต์แชปเปิล โดยการแขวนคอเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1892 ณ เรือนจำ New Gate Prison

มีการบันทึกไว้โดยเพชฌฆาต (Mr. Billington) ผู้ประหารนายครีมในวันนั้น กล่าวว่านักโทษได้พึมพำประโยคสุดท้ายก่อนจะสิ้นใจว่า “ฉันนี่แหละคือแจ๊คที่ทุกคนตามหา”

การสำเร็จโทษนายครีมใน ค.ศ. 1892 ไม่ได้เป็นข้อยุติของคดี เดอะ ริปเปอร์ อย่างสมบูรณ์นัก เพราะยังเกิดคดีชำแหละศพหญิงโสเภณีนอกพื้นที่ไวต์แชปเปิลต่อไปอีกจนสมญานาม “Jack the Ripper” กลายไปคำเรียกติดปากคนทั่วโลกเมื่อเกิดคดีทำนองเดียวกันนานนับ 10 ปีหลังจากนั้น

และยังเป็นปริศนาในยุคต่อมาว่า Neill Cream อาจเป็นแพะรับบาป ในคดี เดอะ ริปเปอร์ ก็ได้ จากการพิพากษาผู้ต้องหาแบบรวบรัดและคำตัดสินที่รวดเร็วเกินไปจนดูเหมือนการจัดฉากให้จบแบบขอไปที

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เรื่องที่คนเขียนประวัติศาสตร์ไม่อยากบอกให้คน (วงนอก) รู้” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2560