ญี่ปุ่น กับการจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นเมื่อบุกประเทศไทย
*พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือชมรมเหรียญชัยสมรภูมิ นครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๕๓๓

รัฐบาลญี่ปุ่นประจักษ์ชัดแล้วว่า สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ สงครามโลกได้แผ่ขยายกว้างออกไป ลุกลามจากซีกโลกทวีปยุโรปแผ่มายังอีกซีกโลกหนึ่ง คือ “ภาคตะวันออกไกล” โดยมีญี่ปุ่นเหิมเกริมด้วยแสนยานุภาพทางทหารอันเกรียงไกร ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ได้เปิดฉากจุดชนวนสงครามทางด้านตะวันออกไกลขึ้น เรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพา โฆษณาว่าจะปลดแอกชาวเอเชียให้พ้นจากชนชาติผิวขาว

และเป็นเวลาภายหลังที่ได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรฝ่ายอักษะกับประเทศเยอรมนี และอิตาลี ในสมัยนายพลเอกฮิเดกิ โตโจ เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น และเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ายึดดินแดนอาณานิคมของชนชาติผิวขาวในเอเชีย โดยกำหนดแผนบุกทลายอาณานิคมกลุ่มอิทธิพลของชนชาติผิวขาวในเอเชีย ดังนี้

๑. ดำเนินตามแผนยุทธการ จัดส่งแนวที่ ๕ (หน่วยจารกรรม) สืบราชการลับจำนวนแสนกว่าคน ออกปฏิบัติการใต้ดินทั่วดินแดนในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ออสเตรเลีย หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดจีน มลายู และไทย

๒. จัดแบ่งกองกำลังกองทัพสนาม แบ่งตรึงกำลังไว้ในจีน แมนจูเรีย เกาหลี ส่วนที่เหลือจัดกำลังรบสู้ตามแผนบุกเอเชียอาคเนย์

๓. วางแผนจู่โจมฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เกาะฮาวาย เพื่อตัดกำลังไม่ให้ต้องผจญกับยุทธนาวีของจักรภพอังกฤษและอเมริการ่วมกัน

๔. ทำสัญญาไม่รุกรานกับโซเวียต

๕. เตรียมการยึดอินโดจีนเป็นฐานทัพเรือและอากาศ เพื่อเป็นการส่งกำลังทางบกเคลื่อนเข้าประเทศไทย พม่า มลายู (มาเลเซีย)

๖. ทำสัญญาลวงกับประเทศไทยให้ตายใจ

๗. กำหนดเข้าตี ยึดครองประเทศอาณานิคมในเอเชียอาคเนย์ ในการสู้รบและเคลื่อนกำลังครั้งแรกกำหนดไว้วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๔ แต่มีอุปสรรคในการสู้รบเนื่องจากเป็นฤดูฝน จึงเลื่อนมาเป็นวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔

ทีนี้เรามาเข้าเรื่องของข้อที่ ๑ ที่ว่า ดำเนินตามแผนยุทธการ จัดส่งแนวที่ ๕ (หน่วยจารกรรม) สืบราชการลับแสนกว่าคน ออกปฏิบัติการใต้ดินทั่วดินแดนในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ออสเตรเลีย หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดจีน มลายู และไทย

ผู้เขียนจะเขียนแนวที่ ๕ หน่วยสืบราชการลับหรือจารกรรมของญี่ปุ่น ที่ทำจารกรรมเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ท่าแพเท่านั้น

หน่วยจารกรรมญี่ปุ่นในเมืองนครศรีธรรมราช มีด้วยกันดังนี้ ๑. มาลู ๒. บริษัทเคียวแอไค รับเหมาสร้างทางสายนคร-ปากพนัง ๓. บริษัทญี่ปุ่นรับซื้อแร่ที่มาเช่าห้องแถว คุณสุนทร เลาหวนิช เชิงสะพานราเมศวร์

บริเวณท่าแพซึ่งเป็นที่กองทหารญี่ปุ่นยกเข้ามาและได้ปะทะกับกองทหารไทย สะพานท่าแพที่หักพังนี้ กองทหารญี่ปุ่นได้ลำเลียงพลมาขึ้นที่นี่ (๒๕-๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

๑. มาลู

เป็นชาวญี่ปุ่น มีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น แต่คนไทยเรียกแม่ศรี มาอยู่ที่เมืองนครตั้งแต่เมื่อใดผู้เขียนไม่ทราบ ขณะผู้เขียนเรียนอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลวัดเสาธงทอง มาลูได้มาตั้งร้านถ่ายรูปและรับจ้างทำฟันแล้ว

ร้านมาลูตั้งอยู่ที่หน้าวัดบริเวณติดกันระหว่างวัดเสาธงทองกับวัดวังตะวันตก ร้านมาลูตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของถนนราชดำเนิน มาลูมาดำเนินกิจการเปิดร้านถ่ายรูปและทำฟัน ผู้เขียนคิดว่าเป็นแผนจารกรรมของญี่ปุ่นที่วางไว้ระยะยาว ที่จะเปิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยส่งมาลูมาทำจารกรรม กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นคงวางแผนไว้นานแล้ว ก่อนที่นายพลเอกฮิเดกิ โตโจ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากเจ้าชายโคโนเยเป็นแน่

อาชีพถ่ายรูป ทำฟัน เป็นอาชีพบังหน้า ส่วนหน้าที่ของมาลูที่แท้จริง คงจะมาศึกษาภูมิประเทศทั่วไปของเมืองนครตลอดถึงการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำแล้วส่งรายงานไปยังประเทศญี่ปุ่น

แต่ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ท่าแพในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ การคมนาคมที่จะมาเมืองนครศรีธรรมราชมาได้เพียง ๒ ทาง คือ ทางรถไฟและทางเรือ

ผู้ที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ จะต้องขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช แล้วไปต่อรถด่วนที่สถานีชุมทางเขาชุมทอง เช่นเดียวกันผู้โดยสารจะมาจากกรุงเทพฯ จะต้องมาลงรถด่วนที่สถานีชุมทางเขาชุมทอง แล้วต่อรถไฟเข้าเมืองนคร ส่วนทางรถยนต์มีแต่เพียงสายนคร-ร่อนพิบูลย์เท่านั้น

โรงเรือนบริเวณกองทหารไทยถูกกระสุนปืนใหญ่ของเรือญี่ปุ่นเมื่อวันที่ได้ปะทะกัน (นครศรีธรรมราช ๒๕-๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การคมนาคมทางน้ำ ก็จะต้องลงเรือเล็กที่ท่าแพแล้วไปขึ้นเรือกลไฟที่ปากน้ำปากพูน เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ส่วนผู้โดยสารโดยทางเรือก็เช่นเดียวกันต้องลงจากเรือกลไฟใหญ่ที่ปากน้ำปากพูน แล้วก็ลงเรือเล็กมาขึ้นบกที่ท่าแพ แล้วจึงโดยสารรถยนต์จากท่าแพเข้านคร ตลอดถึงการรับส่งสินค้า โดยมีเรือเล็กไปรับสินค้าจากเรือใหญ่ที่ปากน้ำปากพูน มีบริษัทที่รับขนส่งถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่อยู่ ๒ บริษัท คือ บริษัทกิมหลีเชียง และตันยิดเส็ง ทั้ง ๒ บริษัทนี้ก็คือ บริษัทบวรพานิช และนครพันธุ์

มาลู ที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งมาสืบราชการลับ คงมาศึกษาภูมิประเทศและการคมนาคมและอื่นๆ ของเมืองนครมานานแล้วตามแผนยุทธการของญี่ปุ่นที่วางไว้ระยะยาว คงถ่ายภาพประกอบรายงานการเคลื่อนไหวต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบ และคงเป็นผู้วางแผนติดต่อยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นที่ตลาดท่าแพ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เพราะในตอนเย็นเกือบค่ำของวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ได้มีคนเห็นมาลูไปเดินอยู่บริเวณตลาดท่าแพ (จากหนังสือ “เมื่อญี่ปุ่นบุกเมืองนคร” เขียนโดย พ.อ.สอาด ขมะสุนทร ผู้บังคับหน่วยยุวชนทหารที่ ๕๕ นครศรีธรรมราช)

ท่าแพ เป็นท่าเรือเล็กๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ที่จะเดินทางไปปากพนัง ท่าศาลา สิชล ขนอม ต้องมาลงเรือที่ท่าแพ เพราะมีเรือโดยสารประจำ ส่วนผู้ที่จะโดยสารเรือไปกรุงเทพฯ หรือสิงคโปร์ ก็ต้องลงเรือเล็กท่าแพเช่นเดียวกันก่อน แล้วไปถ่ายขึ้นเรือกลไฟใหญ่ที่ปากน้ำปากพูน

ญี่ปุ่นได้ใช้เรือบรรทุกทหารเข้ามาทางปากน้ำปากพูน และเข้ามาตามลำคลองปากพูนซึ่งเป็นคลองเดียวกันกับคลองท่าแพ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาที่ทหารญี่ปุ่นลงจากเรือใหญ่มาขึ้นเรือระบายพล อันเป็นเรือเล็ก คงเป็นเวลาตอนกลางคืน และคงจะหลงทางเข้าปากน้ำปากพูน ทั้งๆ ที่ปากน้ำปากพูนมีกระโจมไฟที่เห็นแสงแต่ไกล แต่เนื่องจากฝนตกหนักในตอนนั้น เลยทำให้เข้าปากน้ำปากพูนล่าช้ากว่ากำหนด เมื่อทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ ก็ได้ปะทะกับทหารไทยในตอนเช้าตรู่

สถานที่ที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกคือตลาดท่าแพนั้นอยู่ติดกับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ ขณะนั้นมี ส.อ.ผ่อง เป็นผู้กองรักษาการณ์ของ ป.พัน ๑๕ ได้พาทหารกองรักษาการณ์ออกไปปะทะเป็นหน่วยแรก ส.อ.ผ่องถูกยิงที่สะโพก แล้วหลังจากนั้นก็มีกำลังหนุนของทหารไทยจากหน่วยต่างๆ ตำรวจและยุวชนทหารหน่วยที่ ๕๕ เข้าช่วยรบ เป็นผลให้การสู้รบถึงขึ้นตะลุมบอนระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารไทย ทหารญี่ปุ่นได้เสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนทหารไทยเสียชีวิตทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร รวมแล้ว ๓๙ นาย

ขณะที่ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ในการบังคับบัญชาของ พล.อ.หลวงเสนาณรงค์ กำลังสู้รบกับญี่ปุ่นที่ท่าแพตั้งแต่ตอนเช้าตรู่นั้น จะเป็นคำสั่งของ พ.ต.ต.ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือว่า พ.ต.อ.หลวงแสงนิติศาสตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ๘ ท่านใดท่านหนึ่งได้ออกคำสั่งให้ ส.ต.ท.พวง วัฒนนิพัท พร้อมด้วยตำรวจลูกแถวให้ไปควบคุมมาลูซึ่งถือเป็นชนชาติศัตรู

มาลูและภรรยายินยอมให้จับกุมโดยดี ส.ต.ท.พวง จึงควบคุมตัวมาลูกับแม่ศรีไปที่สถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช และนำไปควบคุมไว้ที่เรือนพยาบาล ซึ่งอยู่หลังสถานีตำรวจสมัยนั้น เมื่อทางรัฐบาลได้มีคำสั่งหยุดยิงแล้ว จึงได้เลิกควบคุมมาลูและภรรยา

ครั้นสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ยุติลงเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ มาลูได้ย้ายการทำมาหากินออกจากเมืองนครไปอยู่ที่หาดใหญ่ ทราบต่อมาภายหลังว่าถูกคนร้ายแทงตาย ส่วนแม่ศรีภรรยา เมื่อมาลูเสียชีวิตแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น เวลาได้ล่วงเลยมานานประมาณ ๔๕ ปี แม่ศรีคงจบชีวิตของตัวเองในประเทศญี่ปุ่นแล้ว

มาลูเคยพูดกับหลวงแสงนิติศาสตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ๘ ว่า การที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทยก็เพื่อเป็นทางผ่านไปโจมตีมลายู สิงคโปร์เท่านั้น

 

กองทหารไทยได้ไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช (ที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ๒๕-๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

๒. บริษัทเคียวแอไค

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ รัฐบาลไทยสร้างถนนสายนคร-ปากพนัง โดยมีบริษัทเคียวแอไค แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ประมูลรับเหมา เริ่มลงมือทำถนนใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ตั้งต้นจากหัวถนน ตำบลศาลามีชัย นายช่างและหัวหน้าใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นทั้งนั้น โดยตั้งแคมป์หรือสำนักงานของบริษัทที่หัวถนน ซึ่งเป็นบริเวณร้านโกขุ้นในปัจจุบันนี้

คณะนายช่างญี่ปุ่นเท่าที่สืบได้จากคุณน้อม ถาวรโสตร์ คนงานของบริษัท ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่หัวถนนบัดนี้ ช่างใหญ่ชื่อฟูจิฮารา นอกจากนั้นยังมีอิโนมาตา โกจิ โอซาวา

บริษัทเคียวแอไค เมื่อประมูลรับจ้างสร้างทางสายนคร-ปากพนังแล้ว ช่วงแรกจากหัวถนนถึงหัวตรุด ได้ให้นายกี่เป็นผู้รับเหมาจากบริษัทสร้างทาง ส่วนทางฟากตะวันออกของคลองหัวตรุด บริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง สำหรับสะพานตั้งแต่สะพานหัวตรุด จนถึงปากพนังทุกสะพาน นายอี.ซี. กาเนียร์ ลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส เป็นนายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง

การทำถนน ก็โดยวัดระยะกว้างของถนนกว้างเท่าใด เป็นตัวถนนเท่าใด เป็นคูถนนเสียเท่าใด แล้วเอาเสียมขุดดินที่ข้างถนน เป็นก้อนแบกขึ้นวางบนถนน ทำเช่นนี้ไปตลอด ทำให้สองข้างถนนเป็นคูน้ำ เนื่องจากเอาดินในคูไปถมถนน แล้วเอาหินก้อนใหญ่วางเหนือดินเหนียวสาดด้วยหินเล็กเอารถบดบดทับ รถบดสมัยนั้นเป็นรถบดไอน้ำ

ญี่ปุ่นที่เป็นนายช่าง ผู้ควบคุมสโตร์ ตลอดผู้ควบคุมเครื่องมือ เครื่องจักรกล ล้วนแต่เป็นนายทหารญี่ปุ่นทั้งนั้น ที่บริษัทเคียวแอไคส่งมาสร้างทางสายนคร-ปากพนัง ก็เพื่อร่วมสืบราชการลับของไทยแล้วรายงานไปประเทศญี่ปุ่น การสร้างทางสายนคร-ปากพนังคงเป็นแผนการยกพลขึ้นบกแผนหนึ่งเหมือนกัน คือพยายามดำเนินการสร้างให้เสร็จใช้การได้โดยเร็วให้ถึงบ้านบางจาก เพราะที่บางจากมีคลองใหญ่เรียกว่าคลองบางจากไหลออกสู่ทะเลที่ปากน้ำบางจาก ถ้าถนนทำเสร็จใช้การได้และไปสิ้นสุดที่บางจาก ทหารญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่บางจากและเดินทัพเข้ามาเมืองนครสะดวกมาก เนื่องจากมีถนนเรียบร้อยแล้ว

นายน้อม ถาวรโสตร์ คนงานของบริษัทเคียวแอไคเล่าว่า วันไหนเป็นวันหยุดพักไม่ทำงานสร้างทาง มิสเตอร์โอซาวา เจ้าหน้าที่สร้างทางคนหนึ่งของบริษัทจะชวนคนงานไปเที่ยวตกปลาที่ทะเล ใครตกปลาเล็กกับปลาใหญ่ จะได้รางวัล ส่วนขนาดกลางจะไม่ได้รับรางวัล

การตกปลาของมิสเตอร์โอซาวาก็คือการไปวัดระดับน้ำทะเลนั่นเอง และโอซาวา อาชีพที่แท้จริงที่ทราบก็คือเป็นทหารเรือ การวัดระดับน้ำทะเลก็เพื่อทราบกระแสน้ำ เพื่อความสะดวกในการยกพลขึ้นบกนั้นเอง

ก่อนที่กองทหารญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ให้คนงานไทยเก็บเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อย และบอกกับคนงานไทยว่าจะต้องเอาเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ ตลอดถึงรถยนต์ไปซ่อมแซมและฟิตเครื่องใหม่ แต่แท้ที่จริงแล้ว จารกรรมญี่ปุ่นที่มาสร้างทางที่หัวถนนเตรียมรถยนต์ไว้ใช้สำหรับทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราชนั้นเอง

แต่มีนายช่างไทยที่ทางราชการสั่งให้มาควบคุมการสร้างทางของบริษัทเคียวแอไค ท่านหนึ่งชื่อคุณอัมพร เถลิงรัศมี บอกกับคนงานไทยว่า อย่าพยายามรีบเก็บเครื่องมือ ให้เก็บช้าๆ ประวิงเวลาไว้ (นายน้อม ถาวรโสตร์ ผู้เล่า) เข้าใจว่า นายช่างอัมพร เถลิงรัศมี คงรู้แผนญี่ปุ่นในการยกพลขึ้นบกที่นครเป็นแน่ แสดงว่านายช่างและเจ้าหน้าที่ทุกคนของญี่ปุ่นในบริษัทเคียวแอไคต้องเป็นแนวที่ ๕ หรือหน่วยจารกรรมหรือสืบราชการลับทุกคน

ยิงญี่ปุ่นที่หัวถนน

โดยปกติที่บริษัทเคียวแอไคของญี่ปุ่นที่มาสร้างทางสายนคร-ปากพนัง จะมีตำรวจของสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช ผลัดเปลี่ยนกันมารักษาการณ์ที่แคมป์หรือที่ทำการของบริษัทที่หัวถนนเป็นประจำทุกวัน

ก่อนรุ่งอรุณของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ขณะที่ฝนกำลังตกหนักมีเสียงแตรเดี่ยวเป่าเหตุการณ์สำคัญ ที่สถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช ซึ่งในขณะนั้นมี พ.ต.ต.ขีด ศิริศักดิ์ เป็นผู้กำกับ และมี พ.ต.อ.หลวงแสงนิติศาสตร์ เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ๘ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายตำรวจ แตรเดี่ยวที่เป่าเหตุการณ์สำคัญ เพราะทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ บนสถานีตำรวจมีตำรวจเข้าเวรเตรียมพร้อมหลายคน สิ้นเสียงแตรเดี่ยวไม่นาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ๘ ได้ออกคำสั่งให้เปิดคลังอาวุธ จ่ายปืนให้ตำรวจที่อยู่เวรเตรียมพร้อมคนละ ๑ กระบอก เป็นปืนเล็กยาวแบบ ๘๓ และกระสุนคนละ ๖๐ นัด ตำรวจ ๑ หมู่ ได้รับคำสั่งให้ไปควบคุมญี่ปุ่นที่ทำงานที่บริษัทเคียวแอไคที่หัวถนน ในความควบคุมของ ร.ต.ต.สวัสดิ์ ปิ่นประไพ มีพลฯ แช่ม ช่องสกุล พลฯ หนูกลิ่น พลฯ กังวล พลฯ ประมวล พลฯ ตะปา วิสุทธิกาญจน์ และยังมีคนอื่นอีก

ร.ต.ต.สวัสดิ์ ปิ่นประไพ ได้นำกำลังตำรวจดังกล่าวพร้อมด้วยอาวุธ จำนวน ๑๒ คน ออกจากสถานีตำรวจ เดินมาถึงสะพานนครน้อย พบรถยนต์แม่ค้าปลาที่จะนำไปขายที่ตลาดเช้าวัดเสาธงทอง ร.ต.ต.สวัสดิ์ได้ให้แม่ค้าขนสินค้าลงและแจ้งแก่คนขับรถยนต์ว่า ญี่ปุ่นโจมตีประเทศไทยยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปควบคุมตัวญี่ปุ่นที่หัวถนน ให้นำรถยนต์บรรทุกตำรวจไปหัวถนนด้วย

เมื่อ ร.ต.ต.สวัสดิ์ พร้อมด้วยกำลังตำรวจมาถึงบริษัทเคียวแอไค ที่หัวถนน พลฯ ตะปาเล่าว่าเห็นรถยนต์บรรทุกของบริษัทเคียวแอไค ที่ใช้สำหรับทำทางประมาณ ๑๐ คัน จอดเรียงรายเป็นระเบียบ และมีธงชาติญี่ปุ่นปักไว้ทุกคัน แล้ว ร.ต.ต.สวัสดิ์ กับกำลังตำรวจก็พากันขึ้นไปบนสำนักงานของบริษัท

ร.ต.ต.สวัสดิ์ ปิ่นประไพ ได้เข้าไปพบญี่ปุ่น ๒ คน นั่งอยู่ที่โต๊ะที่ทำงานของบริษัท คือ เอช.ซี. ฮารา กับไมโนมาตา

ญี่ปุ่นทั้งสองคนได้พูดอะไรไม่ทราบกับ ร.ต.ต.สวัสดิ์ เห็นแต่ ร.ต.ต.สวัสดิ์พยักหน้า (พลฯ แช่ม ช่องสกุล เป็นผู้เล่า) ขณะที่ ร.ต.ต.สวัสดิ์และกำลังตำรวจที่ไปด้วยได้เจรจาอยู่กับญี่ปุ่น ๒ คนเพื่อจะควบคุมตัวอยู่นั้น ฝนก็กำลังเทลงมาอย่างหนักเหมือนตอนเช้ามืด เวลาประมาณ ๗ นาฬิกาเศษ ปรากฏว่าญี่ปุ่นทั้งสองคนคือ เอช.ซี. ฮารา และไมโนมาตาถูกยิงเสียชีวิต โดยฝ่ายตำรวจกล่าวหาว่าทั้งสองขัดขืนการจับกุม

เมื่อตำรวจได้ยิง เอช.ซี. ฮารา และไมโนมาตา จารกรรมญี่ปุ่นในคราบของนายช่างสร้างทางแล้ว ร.ต.ต.สวัสดิ์ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจที่ไปด้วยกันจัดการขุดหลุมฝังศพนายช่างญี่ปุ่นทั้งสองข้างๆ แคมป์ที่ทำการของบริษัทนั่นเอง แล้วยกกำลังกลับสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช รายงานผลการปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

พอมีคำสั่งหยุดยิงจากรัฐบาลไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้ ภายหลังจากเสียงปืนสงบลงทั้งสองฝ่ายแล้ว ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาพักอาศัยในโรงทหารของมณฑลทหารบกที่ ๖ (ปัจจุบันเป็นมณฑลทหารบกที่ ๕) ตั้งแต่กองทหารปืนใหญ่ ป.พัน ๑๕ ตลอดถึง ร.พัน ๓๙ (ร. ๑๕ พัน ๒) ทหารไทยและครอบครัวต้องอพยพออกจากโรงทหารและบ้านพักเข้ามาอยู่ในตัวเมืองนคร พักตามวัดบ้าง โรงเรียนบ้าง

นายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชานำกำลังทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ ได้เข้าพบหลวงแสงนิติศาสตร์ ได้มีการเจรจากันถึงเรื่องยิงญี่ปุ่นที่สร้างทางและรับซื้อแร่ตาย ให้ตำรวจไปขุดศพ เอช.ซี. ฮารา และไมโนมาตา ที่ฝังไว้ที่หัวถนนมาเก็บไว้ที่วัดท่ามอญ (ศรีทวีปัจจุบันนี้) ในตอนเย็นวันนั้นเอง

๓. บริษัทญี่ปุ่นรับซื้อแร่ที่มาเช่าห้องแถว คุณสุนทร เลาหวนิช เชิงสะพานราเมศวร์ ท่าวัง ชื่อโกโตคอนซือ

จากหนังสืองานฌาปนกิจศพของคุณสุนทร เลาหวนิช ๑๐ มิถุนายน ๒๘ เขียนโดย ดร.เย็นใจ เลาหวนิช หัวข้อ “แด่ป๋าของลูก” หน้า (๑๑) ดังนี้

ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ป๋ามีธุรกิจค้าขายแร่กับญี่ปุ่น มีโรงงานแยกแร่ที่รับซื้อมาแล้วส่งไปขายในประเทศญี่ปุ่น โดยป๋าเป็นเอเย่นต์ พอเกิดสงคราม “ก่อนวันญี่ปุ่นขึ้น” ไม่กี่วัน ทางตำรวจตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น นำป๋าไปขังไว้ที่สถานีตำรวจนครศรีธรรมราช ห้ามเยี่ยมห้ามประกัน และส่งกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งไปล้อมและสังหารพ่อค้าญี่ปุ่นที่พักที่บ้าน ซึ่งมีโรงงานแยกแร่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ปรากฏว่าหลังจากนั้นเพียงเล็กน้อย ไทยยอมเป็นมิตรกับญี่ปุ่น ยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้าประเทศได้

เมื่อทหารญี่ปุ่นทราบว่าคนญี่ปุ่นถูกฆ่าตายก็โกรธจัด นายทหารญี่ปุ่นรีบไปที่โรงพัก สั่งจับผู้บังคับการตำรวจและให้ปล่อยตัวป๋าออกมา พร้อมทั้งซักถามถึงสาเหตุการตายของคนของเขา แต่นายทหารญี่ปุ่นไม่รู้ภาษาไทย จึงต้องใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีป๋าทำหน้าที่เป็นล่าม

นายทหารญี่ปุ่นทราบว่าตำรวจไทยเป็นฝ่ายยิงญี่ปุ่นตาย จึงโมโหจัดชักดาบซามูไร เตรียมพร้อมที่จะตัดคอผู้บังคับการตำรวจในทันทีที่ได้รับการยืนยัน ป๋าตระหนักในความวิกฤตของสถานการณ์เวลานั้นดี และทราบระแคะระคายมาบ้างว่า ฝ่ายตำรวจเป็นผู้สังหารญี่ปุ่นหลายคนจนตายหมดสิ้นแต่ไม่ได้เห็นกับตา เพราะถูกจับกุมตัวมาก่อนหน้านั้น เมื่อญี่ปุ่นซักถามนายตำรวจๆ ก็แก้ตัวว่า เป็นเพราะเกิดความเข้าใจผิด และฝ่ายญี่ป่นต่อสู้ จึงเกิดการเสียชีวิตขึ้น

พูดไปพูดมาสักพักญี่ปุ่นโกรธจัด เงื้อดาบจะตัดคอนายตำรวจไทย ป๋าเลยรีบห้ามว่าทำไม่ได้ เพราะบัดนี้ไทยกับญี่ปุ่นเป็นสัมพันธมิตรกันแล้ว และช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

ในที่สุดนายทหารญี่ปุ่นได้สติเลยไม่เอาเรื่องฝ่ายใดอีก ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นเชื่อป๋ามากกว่าฝ่ายตำรวจ เห็นกับตาว่าตำรวจจับป๋ามาขังไว้ในโรงพัก ป๋าจึงไม่น่าจะเป็นพวกเดียวกันกับตำรวจ เป็นอันว่าผู้บังคับการตำรวจคนนั้นรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดเต็มที นี่ถ้าป๋ามีความอาฆาตนายตำรวจผู้นั้น เพียงแต่เฉยเสียศีรษะเขาก็คงจะหลุดจากบ่าในบัดนั้นแน่ (ข้อความที่เขียนของ ดร.เย็นใจ เลาหวนิช บุตรคุณสุนทร เลาหวนิช เขียนเฉพาะเรื่องญี่ปุ่นที่ตั้งบริษัทรับซื้อแร่ แต่เพียงเท่านี้)

ญี่ปุ่นที่มาตั้งบริษัทรับซื้อแร่ โดยมาเช่าห้องแถวของคุณสุนทร เลาหวนิช นั้นมีจำนวนหลายคน และบริษัทได้มาตั้งก่อนที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดก็ราว พ.ศ. ๒๔๘๒ รับซื้อแร่ดีบุก และมีโรงงานแยกแร่อยู่ภายในบริษัทด้วยเพื่อส่งไปขายยังประเทศญี่ปุ่น เข้าใจว่าคงส่งไปเพื่อนำแร่ดีบุกไปทำอาวุธใช้ในการสงคราม

สำหรับคุณสุนทร เลาหวนิช หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้วทราบว่าไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด เข้าใจว่าคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจารกรรมของญี่ปุ่นในการยกพลขึ้นบกครั้งนี้

ญี่ปุ่นที่มารับซื้อแร่นี้ก็คือหน่วยจารกรรมที่กองทัพญี่ปุ่นส่งมาเสริมหน่วยจารกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อสืบราชการลับของทางราชการ โดยมีมาลู และบริษัทเคียวแอไค ที่สร้างทางสายนคร-ปากพนัง บริษัทซื้อแร่นี้มีมิสเตอร์ชิมาโนเป็นผู้จัดการ ดำเนินการซื้อแร่บังหน้า ส่วนหน้าที่อันแท้จริงคงทำหน้าที่สืบราชการลับ หรือเป็นแนวที่ ๕ เช่นเวลาวันหยุดจะไปตกปลาที่ปากพูนเพื่อวัดระดับน้ำทะเล

ประมาณ ๑ เดือน ก่อนที่กองทัพลูกพระอาทิตย์จะยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ มิสเตอร์ชิมาโนได้หายไปจากบริษัทซื้อแร่ ที่นครศรีธรรมราชแล้ว

ในเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ขณะที่ทหารไทยและทหารญี่ปุ่นสู้รบที่ท่าแพ โดยคำสั่งจะเป็นหลวงแสงนิติศาสตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ๘ หรือ พ.ต.ต.ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านใดท่านหนึ่งดังกล่าวแล้วได้มีคำสั่งให้ตำรวจชุดหนึ่งมาควบคุมคนญี่ปุ่นที่รับซื้อแร่ ที่เช่าห้องแถวคุณสุนทร เลาหวนิช เชิงสะพานราเมศวร์ ตำรวจที่มาควบคุมญี่ปุ่นเท่าที่จำได้มี จ่าตั้น พลฯ ช่วง ส่วนอีกหลายคนจำไม่ได้และไม่รู้จัก

การควบคุมได้เรียกตัวพ่อค้าญี่ปุ่นซื้อแร่เหล่านั้น เพื่อจะนำไปควบคุมที่สถานีตำรวจ แต่อาจเป็นเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่ยอมให้จับกุม จึงเกิดยิงกันขึ้น

ตามคำบอกเล่าของผู้ทราบเหตุการณ์ว่าญี่ปุ่นเสียชีวิต ๑ คน และได้นำศพไปฝังไว้ที่วัดชะเมา พอประกาศหยุดยิงโดยรัฐบาลไทยอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย และเปิดการเจรจาระหว่างหลวงเสนาณรงค์ ท่านผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ กับฝ่ายนายทหารญี่ปุ่น ที่บริเวณสโมสรนายทหารมณฑลทหารบกที่ ๖ ในตอนบ่ายวันนั้นก็ได้มาขุดศพพ่อค้าญี่ปุ่นที่รับซื้อแร่ ที่ฝังที่วัดชะเมา แล้วพาศพไปเก็บไว้ด้วยกันกับศพของพนักงานบริษัทเคียวแอไค ที่วัดท่ามอญ (ศรีทวี) เช่นเดียวกัน

ได้มีการเปิดการเจรจากันขึ้นระหว่างหลวงแสงนิติศาสตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค ๘ กับนายทหารญี่ปุ่น นายทหารญี่ปุ่นแสดงอาการเกรี้ยวกราด มีความโกรธมากที่ตำรวจไทยฆ่าคนของเขาและต้องการเอาตัวตำรวจไทยผู้ยิงมาลงโทษ โดยชักดาบซามูไรอยู่บ่อยๆ (ทหารญี่ปุ่นทุกคนจะต้องมีดาบซามูไรติดตัวเป็นประจำ)

การเจรจา พูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะหลวงแสงนิติศาสตร์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ส่วนนายทหารญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษด้วยความโมโหโกรธา จึงได้มีผู้ไปตามคุณครูน้อม อุปรมัย ครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนเบญจมราชูทิศ หรือที่สมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนประจำจังหวัด มาเป็นล่าม (เสียดายที่คุณครูน้อม อุปรมัย เคยเล่ารายละเอียดเรื่องนี้มาครั้งหนึ่ง แต่ผู้เขียนจำไม่ได้เสียแล้วถึงรายละเอียดเหล่านั้น)

คุณครูน้อม อุปรมัย ได้แปลข้อความที่นายทหารญี่ปุ่นพูดกับหลวงแสงนิติศาสตร์ คือแปลคำพูดทั้งสองฝ่ายที่โต้แย้งกัน นายทหารญี่ปุ่นพูดด้วยอารมณ์โกรธจัด ชักดาบซามูไรบ่อยๆ หลวงแสงนิติศาสตร์ตอบโต้ คุณครูน้อม อุปรมัย แปลและพูดข้อความที่โต้ตอบที่วัดท่ามอญ (ศรีทวี) ต่างอ้างเหตุผลต่อกัน

ในที่สุดเหตุการณ์โต้แย้งได้ยุติทั้งสองฝ่าย เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุ และเป็นเวลาที่ติดพันการรบอยู่ มีภารกิจอื่นที่ต้องปฏิบัติมาก (ครูน้อม อุปรมัย เคยเล่าให้ผู้เขียนทราบมาครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นเวลานานจึงจำรายละเอียดไม่ได้) ญี่ปุ่นเพียงให้ขุดศพชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตมากระทำพิธีที่วัดท่ามอญ (ศรีทวี) แล้วเลิกเจรจากัน

พฤติกรรมของมาลู บริษัทเคียวแอไค และบริษัทรับซื้อแร่ของญี่ปุ่น เดินตามแผนชัดๆ ในข้อญี่ปุ่นกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ ข้อที่ ๑ ถือว่าเป็นหน่วยจารกรรมสืบราชการลับของทางราชการไทยเกี่ยวกับการยกพลขึ้นบก จะเข้าปากอ่าวไหน คลองใด สถานที่ยกพลขึ้นบกที่ไหน พาหนะที่นำมาใช้ สถานที่พักทหาร มาลู เจ้าหน้าที่บริษัทเคียวแอไค ตลอดบริษัทซื้อแร่ก็เป็นนายทหารญี่ปุ่นทั้งนั้น และจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้

 


เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 14 พฤศจิกายน 2560