พระเจ้าพรหมมหาราช ในตำนานล้านนา นัยสำคัญของกษัตริย์สืบสายทางธรรม VS สายเลือด

อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช อยู่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหา นำมาตกแต่งประกอบเท่านั้น)

เรื่องพระเจ้าพรหมมหาราชมีที่มาจากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณของล้านนา ที่มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เมื่อต้นปี 2545 กรมศิลปากรได้รับเรื่องในลักษณะตำนานจากจังหวัดเชียงราย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช ตำนานที่จังหวัดเชียงรายส่งมาเรียกชื่อว่าตำนานโยนกนาคนครไชยบุรีศรีช้างแส่น (ฉบับวัดร่องบง)

เนื้อหาสาระของตำนานเรื่องนี้ได้มีการคัดลอกกันไปมาในสมัยโบราณ มีการรวบรวมจัดพิมพ์ออกเผยแพร่โดยวัดในภาคเหนือเขตล้านนาแล้วหลายฉบับ เท่าที่พบมีฉบับพิมพ์วัดเจดีย์หลวง เชียงแสน จังหวัดเชียงราย (พ.ศ. 2516) กับฉบับพิมพ์วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2538)

ในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ มีฉบับหอสมุดแห่งชาติที่มีการนำมาจัดพิมพ์รวมอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 ในชื่อว่าตำนานสิงหนวัติ แต่เป็นฉบับพิมพ์ที่มีการตัดทอนข้อความบางตอนออกไปด้วยคิดว่าไม่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ก็ได้เก็บความรวบรวมอยู่ในหนังสือพงศาวดารโยนก ปริเฉท 3 ว่าด้วยสร้างเมืองนาคพันธุนคร

นอกจากที่กล่าวมานี้ เท่าที่ทราบมีฉบับตัวเขียนอื่นๆ ที่เก็บรวบรวมตามสถาบันการศึกษาของล้านนา และที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ก็น่าจะมีอยู่ด้วยเช่นกัน ฯลฯ ซึ่งเอกสารเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อว่าตำนานสิงหนวัติ

1. สังเขปเรื่องพระเจ้าพรหม ในตำนานสิงหนวัติ

เนื้อหาสาระของตำนานสิงหนวัติมีว่า เจ้าชายสิงหนวัติเป็นโอรสองค์ที่ 2 (บางฉบับว่าเป็นองค์สุดท้อง ในโอรสทั้งหมด 30 พระองค์) ของกษัตริย์กรุงราชคฤห์ในอินเดีย โอรสองค์โตพระนามภาทิยะ เป็นผู้สืบราชสมบัติกรุงราชคฤห์ คือพระเจ้าภาทิยะพระราชบิดาของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารคือกษัตริย์กรุงราชคฤห์ ผู้ทรงมีพระชนมายุร่วมวัยเดียวกับพระพุทธองค์ในพุทธประวัติ

ส่วนเจ้าชายสิงหนวัติทรงได้รับแบ่งราชสมบัติผู้คนเดินทางมาตั้งบ้านเมืองบนที่ราบเชียงแสนชื่อเมืองโยนกนาคพันธ์ มีทายาทสืบเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์กันต่อๆ มา โดยมิได้ปะปนกับชาวพื้นเมือง (เป็นวงศ์กษัตริย์บริสุทธิ์) เมื่อแรกๆ ได้ปราบปรามพวกขอมดำ เมืองอุมงคเสลา ชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนจึงได้เป็นใหญ่อยู่ในดินแดนที่ภายหลังเป็นล้านนา

จนถึงสมัยบิดาของพระเจ้าพรหม พวกขอมได้กลับมายึดเมืองโยนกนาคพันธ์ได้ ต้องเป็นเมืองขึ้นขอมอยู่หลายปี จนพระเจ้าพรหมเติบโตทรงได้ปราบขอมดำให้พ่ายแพ้ไป พี่ชายของพระเจ้าพรหมทรงได้ขึ้นครองเมืองโยนกนาคพันธ์ต่อไป ส่วนพระเจ้าพรหมได้ทรงแยกมาตั้งเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองไชยปราการ ตามหลักฐานที่บรรยายในตำนานตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำกก ในเขตท้องที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน

เมื่อพระเจ้าพรหมล่วงลับไปแล้ว เมืองไชยปราการมีกษัตริย์องค์ต่อมา คือพระเจ้าไชยศิริผู้เป็นพระโอรส ก็ถูกกองทัพเมืองสุธรรมวดีโจมตี พระเจ้าไชยศิริต้องทรงอพยพผู้คนทิ้งเมืองหนีลงใต้ไปสร้างเมืองอยู่บริเวณละแวกเดียวกันกับที่ภายหลังตั้งขึ้นเป็นบ้านเมืองกำแพงเพชร ส่วนที่เมืองโยนกนาคพันธ์มีกษัตริย์สืบต่อจากพี่ชายของพระเจ้าพรหมสองพระองค์ ถึงพระเจ้ามหาไชยชนะมีคนไปหาปลาได้ปลาไหลเผือกตัวใหญ่เอามาแบ่งกันกินทั้งเมือง ตกกลางคืนเมืองได้ถล่มจมลงกลายเป็นหนองน้ำเรียกว่าหนองหล่มในบัดนี้ เหลือยายแก่ที่ไม่ได้กินปลาไหลเผือกคนเดียวที่รอดตายมาได้ มาเล่าเหตุการณ์เมืองล่มให้คนทั้งหลายฟัง

จึงเป็นอันว่าเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์จากอินเดียได้หมดสิ้นไปจากที่ราบเชียงแสนตั้งแต่บัดนั้น

2. เวลาในตำนานสิงหนวัติ และความบิดเบือน

ตำนานสิงหนวัติมีปัญหาที่ทำให้ต้องถกเถียงกันมาแต่เดิมคือเรื่องของเวลา ประเด็นหนึ่งคือตัวเลขศักราช เนื่องจากเป็นเอกสารต้นฉบับตัวเขียนที่คัดลอกกันต่อๆ มา และแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง การคัดลอกเอกสารเก่าๆ ที่เป็นลายมือทำให้มีการผิดพลาดในการคัดลอก ตัวเลขศักราชที่กำกับเรื่องราวตามต้นฉบับตัวเขียนที่พบแล้วหลายฉบับจึงอาจไม่ตรงกัน ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ทำให้บางครั้งมีการถกเถียงกันว่าตัวเลขศักราชของฉบับใดจะถูกต้องมากกว่ากัน

อีกประเด็นหนึ่งคือ ศักราชที่ใช้ในตำนานปรากฏว่ามีถึง 3 แบบ ซึ่งตำนานเรียกว่าโบราณศักราช ทุติยศักราช และตติยศักราช โดยไม่บอกว่าเป็นศักราชอะไร และเนื่องจากตำนานสิงหนวัติที่ใช้กันแพร่หลายแต่เดิมในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 เป็นการถอดความจากใบลานเดิม มีการตัดทอนข้อความที่คิดว่าไม่สำคัญออกไป คือส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา ทำให้มีการแปลความหมายเวลาในตำนานผิดพลาดมาแต่สมัยโบราณ

ปัจจุบันได้พบตำนานสิงหนวัติอีกหลายฉบับ มีการปริวรรตจัดพิมพ์โดยมิได้ตัดทอนข้อความใดๆ ออกไป และเมื่อได้วิเคราะห์เปรียบเทียบกับเรื่องราวทางศาสนาที่จะมีการกล่าวถึงสลับกันอยู่ คือพุทธประวัติและเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎก ก็จะสามารถทราบได้ว่าศักราชที่กล่าวถึงในตำนานสิงหนวัตินั้นประกอบด้วย ที่เรียกว่าโบราณศักราชนั้นคืออัญชนะศักราช ซึ่งเก่ากว่าพุทธศักราช 148 ปี ทุติยศักราช ก็คือพุทธศักราช อันเป็นจำนวนปีหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และตติยศักราช ก็คือมหาศักราช ซึ่งหลังกว่าพุทธศักราช 621 ปี

โดยเฉพาะตำนานสิงหนวัติฉบับวัดร่องบงของจังหวัดเชียงรายที่ส่งไปนั้น มีข้อดีที่ผู้คัดลอกในสมัยโบราณได้พยายามกล่าวเปรียบเทียบในเหตุการณ์แต่ละตอนว่า ตรงกับพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วกี่ปี (คือตรงกับปีพุทธศักราชใด) บ่อยครั้งกว่าตำนานสิงหนวัติฉบับอื่นๆ ทำให้มีตัวเทียบกับพุทธศักราชได้มากกว่า

(ซ้าย) รูปปั้นพระเจ้าพรหมมหาราชภายในศาลหลักเมืองแม่สาย องค์ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์องค์ปัจจุบัน
(ขวา) หนองหล่ม อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีตำนานที่กล่าวถึงเมืองที่ล่มจมหายเพราะคนกินปลาไหลเผือก

จึงอาจกล่าวโดยสรุปว่า สาระตำนานสิงหนวัตินั้นได้สมมติเวลาว่าเกิดขึ้นก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน (ก่อนพุทธศักราช) 148 ปี และเรื่องจะจบลงที่วงศ์กษัตริย์จากอินเดียหมดไป (คือเวียงล่มจมหายไปกลายเป็นหนองหล่ม) จากดินแดนที่ราบเชียงแสนก่อนเริ่มจุลศักราช คือก่อนพุทธศักราช 1181 อันเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของเรื่องลวจกราช ปฐมบรรพบุรุษของราชวงศ์พระเจ้ามังรายบนที่ราบเชียงแสน

ปีเกิดของพระเจ้าพรหมในตำนานฉบับวัดร่องบง ตรงกับมหาศักราช 283 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกต้องเมื่อเทียบกับฉบับตัวเขียนอื่นๆ คือมหาศักราช 283 ตรงกับพุทธศักราช 904 (283+ 621) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาจเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว ที่ตำนานสิงหนวัติได้ตกทอดมาสู่กรุงศรีอยุธยา ได้มีการเข้าใจผิดว่าศักราช 283 เป็นจุลศักราช จึงมีการคำนวณโดยเข้าใจผิดว่าพระเจ้าพรหมเกิดเมื่อพุทธศักราช 1464(283 + 1181) ในหนังสือจดหมายเหตุโหร (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8)

เรื่องการเข้าใจผิดว่ามหาศักราชเป็นจุลศักราชนี้ มีหลักฐานเป็นมาตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ดังปรากฏเรื่องเล่าในบันทึกของลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยนั้น ที่ได้ฟังจากชาวอยุธยาเกี่ยวกับปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะเป็นตำนานทำนองเดียวกันกับเรื่องพระเจ้าไชยศิริทรงอพยพผู้คนจากเมืองไชยปราการ (เชียงราย) หนีข้าศึกลงใต้มาสร้างเมืองใหม่ในตำนานสิงหนวัติว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1400กว่าๆ

ข้อที่ทำความยุ่งยากแก่ตำนานเรื่องนี้มากขึ้นคือ เมื่อศักราชเรื่องพระเจ้าพรหมและทายาทผู้อพยพลงมาทางใต้ ถูกดึงให้ใหม่ขึ้นโดยความเข้าใจผิดถึง 660 ปี ภายหลังได้มีการนำตำนานของคนภาคกลางเรื่องท้าวแสนปมเข้าไปต่อ (มีหลักฐานจากเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับของวันวลิต เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ที่ส่อให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าพรหมเป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์อยุธยา)

จึงทำให้เรื่องพระเจ้าพรหมและทายาทที่อพยพทิ้งเมืองไชยปราการที่เชียงราย กลายเป็นต้นบรรพบุรุษของปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง ด้วยเหตุนี้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์สมัยก่อนที่ศึกษาจากเรื่องตำนานแท้ๆ อย่างเดียว โดยมิได้นำตำนานมาทำการวิพากษ์เสียก่อน จึงเรียกราชวงศ์กษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาว่าราชวงศ์เชียงราย

3. การทำความเข้าใจ เรื่องประเภทตำนานของล้านนา

เรื่องราวที่ปรากฏสาระในเอกสารประเภทตำนานนั้น ควรเข้าใจว่าเรื่องประเภทตำนานนั้นมิใช่เรื่องที่แสดงเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างตรงไปตรงมา ตำนานบางเรื่องเป็นเพียงคำอธิบายง่ายๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ทำไมฝนตกฟ้าร้อง การเกิดขึ้นของหนองน้ำขนาดใหญ่ ฯลฯ ตำนานบางเรื่องเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับกำเนิดของบ้านเมืองผู้คน ซึ่งคำอธิบายเหล่านี้ก็มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับภูมิความรู้ของผู้รู้ในสมัยโบราณ ผู้สร้างคำอธิบาย ตำนานประเภทนี้อาจมีที่มาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษคนสำคัญในอดีต ซึ่งได้รับความเชื่อถือในลักษณะของการเป็นผีของชนเผ่ามาก่อน

ต่อมาภายหลังก็ได้รับการเสริมเติมแต่งเรื่องราวให้พิสดารยิ่งขึ้น เรื่องที่นำมาตกแต่งเพิ่มเติมเท่าที่พบส่วนมากจะได้เค้าโครงมาจากเรื่องในชาดก ตำนานบางเรื่องก็แต่งขึ้นจากเค้าโครงเดิมที่เป็นคติในทางศาสนา ดังเช่นเรื่องในตำนานสิงหนวัติ อันเป็นเรื่องตำนานที่จะกล่าวเน้นเป็นสำคัญในบทความนี้ ฯลฯ

ดังนั้นก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าพรหมที่เป็นเรื่องอยู่ในตำนานสิงหนวัติต่อไป ในที่นี้ควรที่จะทราบเกี่ยวกับคติในทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่ควรทราบ อันเป็นพื้นฐานที่จะเข้าใจเรื่องในตำนานที่จะกล่าวถึงต่อไป

3.1 เรื่องของวงศ์กษัตริย์ในโลกนี้ ปรากฏอยู่ในอัคคัญสูตร ทีฆนิกายปาฏิกวัคค์ ในพระสุตตันตปิฎก ความว่า เมื่อไฟได้เผาผลาญสรรพสิ่งและชีวิตทั้งหลายในกัปป์ที่แล้วหมดไป ฝนตกน้ำท่วมดับไฟแล้ว และน้ำลดลง เกิดทวีป 4 ทวีป กับอีก 2,000 อนุทวีป กัปป์ใหม่ชื่อว่าภัททกัปป์ อันเป็นกัปป์ปัจจุบันได้เกิดขึ้น กัปป์นี้มีพระโพธิสัตว์ที่พร้อมแล้วจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ได้สถิตรออยู่แล้วในสวรรค์ชั้นดุสิต

ในช่วงเวลาที่แรกเกิดภัททกัปป์ ยังไม่มีพระโพธิสัตว์พระองค์ใดลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้เรียกว่าช่วงเวลาปฐมกัปป์ พรหมทั้งหลายในชั้นอกนิฏฐา ได้กลิ่นหอมของดินที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จึงลงมาเกิดเองเป็นมนุษย์ในโลก 84,000 คน เมื่อแรกกินดินเข้าไปกิเลสตัณหาทั้งหลายก็ได้พัฒนาขึ้นในมนุษย์เหล่านั้น แรกก็เป็นเรื่องราคะที่เกิดขึ้นก่อน มนุษย์จึงเกิดมีเพศชายหญิง เสพผสมพันธุ์กันเกิดลูกหลานเป็นมนุษย์สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเวลาล่วงนานเข้า ความเสื่อมโทรมในโลกมนุษย์ก็มีมากขึ้น อาทิ อาหารที่มีอยู่เองทั่วไปอย่างไม่จำกัดก็ไม่เหมือนเดิม ต้องมีการเพาะปลูก สะสม แบ่งที่ดินทำกิน ฯลฯ เกิดการแย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งไม่มีความสงบ พระโพธิสัตว์องค์ที่ 4 คือพระโคตมะโพธิสัตว์จึงลงมาเกิดเป็นมนุษย์ มหาชนทั้งหลายจึงแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ คำว่ากษัตริย์มีความหมายว่าผู้เป็นใหญ่แห่งนา

และด้วยเหตุที่มหาชนร่วมกันแต่งตั้งขึ้น ปฐมกษัตริย์จึงมีพระนามว่าพระมหาสมมติ ตำนานของล้านนาบางฉบับเรียกว่าพระสมันตราชก็มี พระมหาสมมติปฐมกษัตริย์ได้ทำหน้าที่แบ่งปัน ดูแลตัดสินข้อขัดแย้งในด้านทรัพยากร มหาชนจึงมีความสงบสุข กษัตริย์จึงได้รับการเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระราชา คือผู้ที่ทำความสุขใจให้แก่ผู้อื่น

(ซ้าย) แม่น้ำโขง ช่วงที่ไหลผ่านเมืองเชียงแสน
(ขวา) ภาพถ่ายเก่าพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย หลักแหล่งของปู่เจ้าลาวจกในตำนาน

พระมหาสมมติเป็นกษัตริย์ปกครองประชาชนอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก็สวรรคต กลับไปเป็นพระโพธิสัตว์อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตอย่างเดิม ในโลกมนุษย์ก็มีวงศ์วานว่านเครือปกครองบ้านเมืองกันต่อๆ มาจำนวนนับไม่ถ้วน ผ่านเวลาของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 1 คือพระพุทธกกุสันธะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 คือพระพุทธโกนาคม พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 คือพระพุทธกัสสปะ จนถึงเวลาของพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบัน คือพระพุทธโคตมะ เชื้อสายของพระมหาสมมติก็ได้เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ของพระเวสสันดร หรือราชวงศ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ (ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธโคตมะ พระพุทธเจ้าของเราปัจจุบัน) ก็ล้วนแต่สืบสายตระกูลมาจากพระมหาสมมติทั้งสิ้น เพราะวงศ์กษัตริย์ในโลกตามคติเดิมของชาวอินเดียนั้นถือว่ามีเพียงวงศ์เดียว

จากแนวคิดเกี่ยวกับวงศ์กษัตริย์ในพระไตรปิฎกเช่นนี้ เมื่อพิจารณาตำนานสิงหนวัติที่กล่าวว่า เจ้าชายสิงหนวัติกุมารเป็นโอรสกษัตริย์กรุงราชคฤห์ นำไพร่พลเสด็จมาตั้งเมืองโยนกนาคพันธ์บนที่ราบเชียงแสน โดยเดินทางข้ามแม่น้ำสรภูมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้น แสดงว่าตำนานเรื่องนี้ต้องการจะชี้ว่าราชวงศ์กษัตริย์วงศ์นี้มาจากชมพูทวีป (คืออินเดีย) สืบเชื้อสายมาจากพระมหาสมมติปฐมกษัตริย์ ชื่อแม่น้ำสรภู ก็เป็นชื่อแม่น้ำหนึ่งในปัญจมหานทีในชมพูทวีปตามที่ระบุอยู่ในอัคคัญสูตรนั่นเอง

เมื่อเป็นกษัตริย์ครองเมืองโยนกนาคพันธ์สืบต่อๆ กันมา ตำนานสิงหนวัติก็กล่าวว่าไม่มีการผสมกับไพร่เมือง คือเป็นวงศ์กษัตริย์บริสุทธิ์ ไม่ผสมปนเปกับคนพื้นเมืองท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อตอนสุดท้ายที่กล่าวถึงเมืองล่มจมหาย เพราะคนกินปลาไหลเผือก กลายเป็นหนองหล่ม ในท้องที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มาถึงบัดนี้นั้น เชื้อสายวงศ์กษัตริย์ที่อยู่ในเมืองตายหมด ไพร่บ้านที่อยู่นอกเมืองจึงตกลงกันเลือกโภชกนายบ้านขึ้นมาปกครองกันเอง

การที่ไม่ได้ให้โภชกนายบ้านเป็นกษัตริย์ ก็เพราะผู้แต่งตำนานเรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นความชอบธรรมของผู้ที่จะได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์นั้นว่า ต้องเป็นวงศ์กษัตริย์ที่สืบต่อๆ กันมา ซึ่งมีอยู่วงศ์เดียวในโลก คือวงศ์ของพระมหาสมมติ คนพื้นเมืองไม่มีสิทธิ์เป็นกษัตริย์

ก่อนเวลาที่เวียงโยนกล่มสิ้นวงศ์กษัตริย์นั้น ตำนานสิงหนวัติได้กล่าวถึงพระเจ้าพรหม ซึ่งทรงแยกไปสร้างเวียงไชยปราการ (ซึ่งพิจารณาตามสาระในตำนานเดิม ควรอยู่ประมาณท้องที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน) ดังนั้นจึงยังคงมีวงศ์กษัตริย์อยู่ที่เมืองนี้อีกเมืองหนึ่ง แต่เมื่อถึงรุ่นลูกของพระเจ้าพรหมในช่วงเวลาก่อนการตั้งจุลศักราช ก็ต้องหนีภัยข้าศึกทิ้งบ้านเมืองอพยพผู้คนไปจนหมด ลงไปตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองใหม่ใต้ลงไป (เชื่อกันว่าตรงกันกับเมืองไตรตรึงส์ ในจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน)

ด้วยเหตุนี้ตำนานสิงหนวัติจึงต้องการชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดในสมัยเวลาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (ก่อน พ.ศ.1181 อันเป็นปีตั้งจุลศักราช) พื้นที่ราบเชียงแสนปราศจากวงศ์กษัตริย์จากชมพูทวีปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับราชวงศ์ใหม่ คือวงศ์ลาวจก ต้นผีบรรพบุรุษของพระเจ้ามังรายที่จะลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ปกครองที่ราบเชียงแสนต่อไป ตั้งแต่จุลศักราช 1 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1181

3.2 เรื่องความเจริญความเสื่อมของบ้านเมือง เป็นคติทางพระพุทธศาสนาอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทราบ เพื่อเป็นแนวคิดในการนำมาพิจารณาตำนานของล้านนาและตำนานอื่นๆ ในสยามประเทศได้อีกเรื่องหนึ่ง มีปรากฏในพระไตรปิฎกในตอนต้นเรื่อง มหาสุทัสสนสูตร ทีฆนิกาย มหาวัคค์ ความว่า

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงราวป่าเมืองกุสินารา เพื่อเตรียมเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ที่นั้น พระอานนท์จึงถามพระพุทธองค์ว่า ทำไมทรงเลือกเมืองกุสินารา ซึ่งเป็นเมืองเล็กสำหรับเป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ทำไมไม่ทรงเลือกเมืองใหญ่ที่มีพระราชามหากษัตริย์เป็นพุทธสาวก ให้เหมาะสมกับการเสด็จปรินิพพานอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์

พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์มิให้คิดเช่นนั้นเป็นสำคัญ เพราะบ้านเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ ในอดีตกาลนั้นต่างก็เคยเป็นเมืองไม่ใหญ่ก็เล็กมาก่อนทั้งสิ้น ดังเช่นเมืองเล็กคือเมืองกุสินาราในปัจจุบัน ในอดีตอนันตกาลก็เคยเป็นเมืองใหญ่ ชื่อเมืองกุสาวดีของพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามพระเจ้ามหาสุทัสสนะมาก่อนแล้ว

หลังจากนั้นก็เป็นการบรรยายความใหญ่โตมโหฬารของเมืองพระเจ้าจักรพรรดิอย่างยืดยาว ซึ่งประเด็นสำคัญของพระสูตรเรื่องนี้นั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ของบ้านเมืองที่มีการเกิดและล่มสลายสลับสับเปลี่ยนกันไป เหมือนเมืองกุสาวดีของพระเจ้าจักรพรรดิพระเจ้ามหาสุทัสสนะที่ยิ่งใหญ่ ในที่สุดก็ต้องสิ้นสลายไป มาบัดนี้ได้เกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่อีกกลายเป็นเมืองขนาดเล็กชื่อเมืองกุสินารา

แนวคิดเช่นนี้เห็นได้ว่ามีการนำมาแต่งตำนานของล้านนาด้วย ซึ่งในการพิจารณาเรื่องตำนานสิงหนวัติ ควรพิจารณาประกอบกับตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งจัดอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 จึงจะสามารถทำความเข้าใจได้กระจ่างที่จะโยงไปยังตำนานอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของลาวจกต้นวงศ์ของพระเจ้ามังราย

ตำนานสุวรรณโคมคำ กำหนดเวลาของเรื่องตั้งแต่สมัยปฐมกัปป์ กล่าวตามอัคคัญสูตรที่เกิดแผ่นดิน 4 ทวีป เกิดสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกมนุษย์ และเกิดแผ่นดินที่ราบเชียงแสนอันเป็น 1 ใน 2,000 อนุทวีป คนสัตว์ทั้งหลายก็ได้เข้ามาอยู่อาศัย เวลาล่วงเลยผ่านสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑1 คือพระพุทธกกุสันธะ มาจนถึงสมัยปลายของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 คือพระพุทธโกนาคม

ครั้งนั้นเกิดโรคระบาดในชมพูทวีป วงศ์กษัตริย์เชื้อสายพระมหาสมมติพระองค์หนึ่งพร้อมพระมเหสีทรงหนีโรคระบาดเสด็จมาถึงเมืองของพวกขอมดำ และได้เกิดโอรสพระองค์หนึ่ง ด้วยบุญญาธิการในระยะเวลาต่อมาพระโอรสองค์นี้ทรงได้มีอำนาจเหนือพวกขอมดำ เป็นกษัตริย์ครองเมืองโพธิสารหลวง (คือเมืองพระนครหลวง หรือเมืองนครธมในกัมพูชา)

ต่อมาทรงได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาผู้สืบวงศ์กษัตริย์จากพระมหาสมมติเหมือนกัน ผู้ซึ่งเดินทางหนีโรคระบาดมาอยู่ในดินแดนแห่งนี้ด้วยอีกผู้หนึ่ง

เชื้อสายกษัตริย์พระมหาสมมติวงศ์แห่งเมืองโพธิสารหลวงพระองค์หนึ่ง ในเวลาต่อมาได้เกิดเหตุถูกใส่ร้ายจากขุนนางที่เป็นพวกขอมดำ ต้องออกจากบ้านเมือง เสด็จขึ้นมาตามลำน้ำโขง ถึงบริเวณปากแม่น้ำกกของบริเวณที่ราบเชียงแสน จึงตั้งเมืองขึ้น ณ ที่นั้น ชื่อเมืองสุวรรณโคมคำ

ส่วนที่เมืองโพธิสารหลวงภายหลังกษัตริย์วงศ์พระมหาสมมติที่นั่นทรงได้ทราบข้อเท็จจริง จึงคืนดีกันกับกษัตริย์เมืองสุวรรณโคมคำ และขับไล่พวกขอมดำออกจากเมือง ขอมดำบางพวกได้ขึ้นมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมืองสุวรรณโคมคำ บางพวกไปตั้งบ้านเมืองที่ต้นแม่น้ำกก ชื่อเมืองอุมงคเสลา

วงศ์กษัตริย์พระมหาสมมติทรงปกครองเมืองสุวรรณโคมคำสืบต่อกันมาจำนวนนับไม่ถ้วน ตำนานสุวรรณโคมคำกล่าวว่า กษัตริย์บางพระองค์ที่ดีก็มีที่ไม่ดีก็มี ครองเมืองมาจนถึงสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 คือพระพุทธกัสสปะ ก็สิ้นกษัตริย์วงศ์พระมหาสมมติแห่งเมืองสุวรรณโคมคำ พวกขอมดำได้เข้ามาอยู่ครอบครองเมืองแทน

ครั้งหนึ่งขอมดำเมืองสุวรรณโคมคำคดโกงพ่อค้าที่เป็นคนดี พญานาคผู้มีความสัมพันธ์ชอบพอกับพ่อค้าจึงโกรธ ขึ้นมาคุ้ยควักถล่มทลายเมืองสุวรรณโคมคำจมแม่น้ำโขงไป พวกขอมดำจึงหนีกระจัดกระจายไปทั่วทั้งสองฟากแม่น้ำโขง บ้างก็กลับไปเมืองอุมงคเสลา บ้างหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ซึ่งพวกขอมดำเหล่านี้ตำนานต้องการจะอธิบายที่มาของคนผิวดำที่เป็นอนารยชน ที่พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เผ่าพันธุ์หนึ่งที่รู้กันดีในปัจจุบันคือพวกขมุ

จากตำนานเมืองสุวรรณโคมคำที่กล่าวผ่านมา เมื่อพิจารณาประกอบกับตำนานสิงหนวัติ จะเห็นว่าตำนานทั้งสองแต่งขึ้นให้มีความสืบเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อแสดงว่าบนพื้นที่ราบเชียงแสนอันเป็นหนึ่งใน 2,000 อนุทวีปที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ ได้เคยเป็นบ้านเมืองที่มีวงศ์กษัตริย์สืบมาแต่พระมหาสมมติได้เข้ามาปกครอง เมืองแรกคือเมืองสุวรรณโคมคำ ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2-3 แต่ก็ต้องล่มจมลงในแม่น้ำโขงไป

ต่อมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 ก็เป็นบ้านเมืองใหม่ของพระเจ้าสิงหนวัติ คือเมืองโยนกนาคพันธ์ แต่ในที่สุดเมืองก็ล่มจมหายกลายเป็นหนองหล่มไปอีก

ทั้งหมดก็เพื่อปูทางไปสู่เรื่องในตำนานอีกเรื่องหนึ่ง คือตำนานลาวจก ผู้เป็นต้นผีบรรพบุรุษของพระเจ้ามังราย ผู้จะสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่บนที่ราบเชียงแสนอีกครั้งหนึ่ง คือเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน แต่ครั้งนี้ผู้เป็นกษัตริย์เป็นวงศ์พื้นเมืองที่มิได้สืบมาจากพระมหาสมมติตามเรื่องที่กล่าวผ่านมา

3.3 ตำนานลาวจก หรือลวจกราช เป็นเรื่องที่นำมาพิมพ์ต่อจากตำนานสิงหนวัติในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 เนื้อเรื่องสืบเนื่องมาจากตำนานสิงหนวัติเช่นกัน โดยเล่าว่าหลังจากเมืองโยนกนาคพันธ์ล่มสลายสิ้นวงศ์กษัตริย์พระมหาสมมติแล้ว พระเจ้าอนิรุธทรงได้ลบศักราชเดิม ตั้งจุลศักราชขึ้นมาใหม่ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 1181 ปี (พ.ศ. 1181)

พระเจ้าอนิรุธจึงทรงเรียกกษัตริย์เมืองต่างๆ เพื่อมาประชุมรับทราบการลบศักราชเก่า ตั้งศักราชใหม่ของพระองค์ ครั้งนั้นไม่มีกษัตริย์จากบริเวณที่ราบเชียงแสนมาประชุม เนื่องจากวงศ์กษัตริย์ได้สูญสิ้นไปแล้วตั้งแต่เวียงโยนกนาคพันธ์ล่มและวงศ์กษัตริย์เมืองไชยปราการอพยพหนีข้าศึกลงใต้ พระเจ้าอนิรุธจึงทรงขอให้พระอินทร์ขึ้นไปเชิญเทพบุตรลาวจกที่อยู่บนสวรรค์ลงมาเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองที่ว่างกษัตริย์แห่งนี้

ที่มาของลาวจกมีกล่าวอยู่ก่อนแล้วในตำนานสิงหนวัติ และในตำนานพระธาตุดอยตุงว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าโคตมะ พระพุทธเจ้าของเราเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระมหากัสสปะอรหันต์ได้นำพระธาตุรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) มายังเมืองโยนกนาคพันธ์ ตามคำทำนายของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนมายุอยู่ และได้เคยเสด็จมา ณ ที่นี้

ขณะนั้นกษัตริย์เมืองโยนกเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายสิงหนวัติ จึงได้มาขอซื้อที่บนดอยตุงจากลาวจกเพื่อเป็นที่สถาปนาพระธาตุ และได้สร้างสถูปขึ้นโดยให้ปู่เจ้าลาวจกกับเมียเฝ้าดูแลรักษา

ปู่เจ้าลาวจกกับเมียคือย่าเจ้าลาวจกดูแลรักษาพระธาตุเป็นเวลาถึง 200 ปีก็ตาย เมื่อตายแล้วด้วยผลบุญที่เฝ้าปรนนิบัติพระธาตุมานาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาบนสวรรค์ เมื่อแผ่นดินที่ราบเชียงแสนว่างกษัตริย์ลง พระอินทร์จึงเชิญให้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เทพบุตรเทพธิดาทั้งคู่ได้เนรมิตบันไดเงินเป็นทางลงมาบนแผ่นดินนี้ อุปปาติกะกำเนิดคือเกิดเป็นตัวตนมนุษย์ชายหญิงอายุ 16 ปี สร้างเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองมีลูกหลานสืบต่อกันมาจนถึงพระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้เสด็จไปสร้างเมืองเชียงใหม่ต่อมา

ตำนานเรื่องปู่เจ้าลาวจกหรือลวจกราชกับเมีย ลงมาจากสวรรค์อุปปาติกะกำเนิดเป็นมนุษย์อายุ 16 ปี สร้างเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ต้นบรรพบุรุษของพระเจ้ามังรายนี้ ปรากฏอยู่ในตอนต้นของตำนานเมืองพะเยา และตำนานเมืองเชียงแสนในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 และตอนต้นของตำนานเมืองเชียงใหม่ ที่มีการตีพิมพ์โดยสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่หลายฉบับ ซึ่งบางฉบับก็มีชื่อเรียกต่างกันออกไปบ้างก็มี

กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณาตำนานของล้านนาอันเป็นเรื่องหลักสำคัญ 3 เรื่อง คือเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ และตำนานลาวจก รวมทั้งตำนานพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย จะสามารถประมวลเรื่องราวได้ว่า เป็นคำอธิบายในสมัยโบราณเกี่ยวกับการเกิดขึ้นมาของแผ่นดินที่ราบเชียงแสน อันเป็นแผ่นดินบรรพบุรุษกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ผู้ครอบครองดินแดนล้านนาในเวลาต่อมา

มีความชัดเจนว่าคำอธิบายการเกิดขึ้นของแผ่นดิน บ้านเมืองที่มีวงศ์กษัตริย์ปกครองที่เกิดขึ้นแล้วล่มสลายไป 2 ครั้ง มีที่มาจากพระสูตรสำคัญในพระสุตตันตปิฎก คืออัคคัญสูตร และมหาสุทัสสนสูตร เป็นการแสดงถึงหลักธรรมคือ ความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งในโลก ที่เมื่อเกิดมาได้ก็ต้องสิ้นสุดลงหาความแน่นอนไม่ได้

ส่วนเรื่องวงศ์กษัตริย์ที่สืบมาจากพระมหาสมมติที่ได้ครอบครองเมืองทั้งสองนั้นก็เป็นการแสดงแนวคิดเกี่ยวกับวรรณะกษัตริย์ที่สืบมาแต่สมัยโบราณในชมพูทวีป ที่มีความชอบธรรมในการสืบสันตติวงศ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง อันเป็นการถือความสำคัญของการสืบสายเลือดในวงศ์ตระกูล

ตำนานล้านนาทั้งหลายล้วนแต่แต่งขึ้นโดยพระภิกษุที่ทรงภูมิรู้ในสมัยล้านนา ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ของพระเจ้ามังราย การที่จะแสดงความชอบธรรมของราชวงศ์มังรายที่มีอำนาจขึ้นเป็นกษัตริย์ครอบครองบ้านเมืองเริ่มแรกในพื้นที่ราบเชียงแสนเป็นครั้งที่ 3 ต่อจากวงศ์กษัตริย์สิงหนวัติ ให้มีเชื้อสายสืบมาจากพระมหาสมมตินั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้ เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ในตำนานพระเจ้ามังรายมีคติความเชื่อพื้นเมืองที่สืบต่อกันมาอยู่แล้วก่อนรับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับต้นผีบรรพบุรุษของตนคือปู่เจ้าลาวจกซึ่งสถิตอยู่บนดอยตุง

หลักธรรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการเป็นธรรมทายาท จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความกลมกลืนกับคติพื้นเมืองที่นับถือผีบรรพบุรุษ ดังจะเห็นจากตอนหนึ่งในตำนานสิงหนวัติและตำนานพระธาตุดอยตุง ที่เล่าถึงเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระมหากัสสปะอรหันต์ได้นำพระธาตุรากขวัญมายังดินแดนโยนกนาคพันธ์

กษัตริย์เมืองโยนกได้ขอซื้อที่ดินปู่เจ้าลาวจกบนดอยตุง เพื่อสถาปนาพระธาตุรากขวัญ ปู่เจ้า-ย่าเจ้าลาวจกได้เฝ้าปรนนิบัติพระธาตุบนดอยตุงถึง 200 ปี เมื่อตายจึงไปเกิดบนสวรรค์ รอเวลาเมื่อบ้านเมืองบนที่ราบเชียงแสนว่างกษัตริย์ลง พระอินทร์จึงขึ้นไปอัญเชิญลงมาอุปปาติกะกำเนิดเป็นมนุษย์ชายหญิง ลวจกราชสร้างเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ของพระเจ้ามังรายสืบต่อมา

ปู่เจ้า-ย่าเจ้าลาวจกที่ได้เฝ้าปรนนิบัติพระธาตุ จึงหมายถึงต้นผีบรรพบุรุษของพระเจ้ามังรายตามคติพื้นเมืองที่ภายหลังต่อมาได้รับนับถือพระพุทธศาสนา เท่ากับเป็นธรรมทายาท คือผู้สืบต่อจากพระพุทธองค์ผู้ทรงมีวรรณะเดิมเป็นวรรณะกษัตริย์ ราชวงศ์ของพระเจ้ามังรายจึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นกษัตริย์ครองแผ่นดินล้านนา แม้มิได้สืบสายเลือดมาจากพระมหาสมมติก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสันดานอย่างแท้จริงโดยทางธรรมจากพระพุทธองค์

ดังนั้นเรื่องในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ และตำนานลาวจก จึงมิใช่เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริงในระดับโลกย์ธรรม แต่จะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ความคิดของคนในช่วงเวลาหนึ่ง ที่มองโลกผ่านแนวคิดตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ผสมผสานกับคติพื้นเมือง เป็นการมองข้ามความจริงทางโลกย์ธรรม เพื่ออธิบายความจริงในระดับโลกุตรธรรม

หมายเหตุ มีหลายพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก ที่กล่าวถึงการถกเถียงปัญหาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพราหมณ์ ในประเด็นเรื่องวรรณะกษัตริย์มีความสำคัญมากกว่าวรรณะพราหมณ์ ซึ่งในตอนท้ายก็จะมีการสรุปว่า แม้วรรณะกษัตริย์จะมีความสำคัญมากกว่า แต่ผู้ที่นับถือปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ก็มีความหมายยิ่งกว่าการอยู่ในวรรณะใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญการสืบทอดทางสันดานมากกว่าการสืบทอดทางสายโลหิต

พระธรรมข้อนี้พิจารณาได้จากพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก เช่น โสณทัณฑสูตร อัมพัฏฐสูตร เป็นต้น

4. ความหมายของเรื่อง พระเจ้าพรหมในตำนานล้านนา

ดังได้กล่าวแล้วถึงเรื่องพระเจ้าพรหมว่า ปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติ ซึ่งในการจัดลำดับเวลาในตำนานเรื่องสิงหนวัติ (ซึ่งรวมทั้งเรื่องของพระเจ้าพรหมด้วย) จะต้องสิ้นสุดลงก่อน พ.ศ. 1181 อันเป็นเวลาเริ่มต้นของตำนานลาวจก แต่ด้วยความสับสนในเรื่องเวลามหาศักราชที่เข้าใจผิดว่าเป็นจุลศักราช ทำให้เรื่องของพระเจ้าพรหมถูกยืดเวลาให้ใหม่ขึ้นอีก 660 ปี กลายเป็นเรื่องเมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 เศษ และถูกนำมาต่อเข้ากับตำนานภาคกลางเรื่องท้าวแสนปม ดังนั้นเรื่องพระเจ้าพรหมจึงกลายเป็นตำนานต้นบรรพบุรุษของกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ความเชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มแรกมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย ผู้รู้ที่ศึกษาทางด้านนี้ล้วนเป็นนักวิชาการในส่วนกลาง ประวัติศาสตร์ไทยที่แรกเริ่มศึกษากัน จึงใช้ข้อมูลจากเอกสารที่มีลักษณะการมองออกไปจากศูนย์กลางเป็นหลัก เรื่องตำนานพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา มีบรรพบุรุษสืบมาจากพระเจ้าพรหมแห่งเมืองเชียงรายโบราณ จึงได้รับการเรียนรู้สืบกันต่อมาโดยระบบโรงเรียน หาใช่โดยระบบความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาในท้องถิ่นไม่

แท้ที่จริงแล้ว หากกลับมาพิจารณาเรื่องพระเจ้าพรหมที่ปรากฏในตำนานท้องถิ่นของล้านนาเองก็จะเห็นว่า มิใช่วัตถุประสงค์หลักของตำนานท้องถิ่นแต่อย่างใดที่มีการเล่าเรื่องพระเจ้าพรหม เพราะโดยรวมของตำนานทั้งตำนานเมืองสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนวัติ ก็มีความเพียงพอที่จะอธิบายการเกิดขึ้นและล่มสลายลงของบ้านเมืองบนที่ราบเชียงแสน ที่มีกษัตริย์สืบจากวงศ์พระมหาสมมติปกครองอยู่ ก่อนที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ในครั้งที่ 3 โดยกษัตริย์พื้นเมืองตามความชอบธรรมที่เป็นธรรมทายาทของพระพุทธศาสนาในตำนานลาวจกอันเป็นจุดประสงค์ของตำนานทั้งสามเรื่องนี้

ยิ่งพิจารณาโดยชื่อพระเจ้าพรหม ก็มีความชัดเจนว่าเป็นชื่อที่เป็นภาษาทางศาสนา หาได้มีชื่อที่มีลักษณะของการเป็นผีท้องถิ่น เช่น ลาวจก ลาวเก๊า ขุนเจือง พระยาร่วง ฯลฯ ไม่ ดังนั้นเรื่องพระเจ้าพรหมจึงเป็นเรื่องเพิ่มขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่วัตถุประสงค์หลัก ดังที่แสดงให้เห็นแล้วในภาพรวมของตำนานทั้งสามเรื่อง

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะตำนานของคนไทยอีกเล็กน้อยว่า ตำนานที่เป็นเรื่องยืดยาวหลายเรื่องติดต่อกันนั้น บางทีต้องมีการสอบค้นพอสมควร ที่จะทราบวัตถุประสงค์หลักที่ตำนานต้องการอธิบาย

ในขณะเดียวกันเรื่องตำนานที่กล่าวอย่างยืดยาวย่อมมีวัตถุประสงค์รองที่ตำนานต้องการอธิบายแทรกอยู่ด้วยเป็นบางตอน ที่ชัดเจนในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำก็คือ การอธิบายที่มาของชนเผ่าผิวดำที่พบอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในเอเชียอาคเนย์ว่า มีที่มาจากพวกขอมดำ ที่ในอดีตเคยมีบ้านเมืองใหญ่บ้างเล็กบ้างอยู่กันมาก่อน เรื่องเมืองโพธิสารหลวง ก็เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับชนชั้นปกครองที่มีอารยธรรมแห่งเมืองนครหลวงกัมพูชา ว่าสืบมาแต่ราชวงศ์กษัตริย์พระมหาสมมติจากชมพูทวีป ที่เข้ามาแทนที่พวกขอมดำชนพื้นเมืองเดิม

สำหรับตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ และตำนานสิงหนวัติย่อมแต่งขึ้นโดยพระภิกษุผู้ทรงภูมิรู้ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์มังรายครองแว่นแคว้นล้านนา ซึ่งในสมัยนั้นมีบ้านเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองในภาคกลางที่พระภิกษุเหล่านี้รู้จัก ที่สำคัญคืออยุธยาและละโว้หรือลพบุรี บ้านเมืองในภาคกลางเหล่านี้ล้วนได้รับพระพุทธศาสนา และศาสนาของพราหมณ์จากชมพูทวีปมาเป็นเวลานานแล้ว ก่อนเวลาการเขียนตำนานของล้านนา (เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 21) ก็เป็นเวลาร่วม 1,000 ปีมาแล้ว

เวลา 1,000 ปีมิใช่เวลาสั้นๆ จึงน่าเป็นไปได้ที่ความเชื่อใหม่จากชมพูทวีปไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา หรือศาสนาของพราหมณ์ได้เข้ามาครอบงำลึกลงถึงรากเหง้า จนคติเดิมเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษพื้นเมืองในท้องถิ่นภาคกลางได้สูญสิ้นไป ดังนั้นเมื่อภิกษุล้านนาแต่งตำนานที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในภาคกลาง เช่น เรื่องพระนางจามเทวี จึงเล่าว่าเป็นธิดากษัตริย์แห่งกรุงละโว้ คำว่ากษัตริย์ในตำนานจามเทวีวงศ์นั้นจะหมายถึงอื่นใดมิได้ นอกไปจากหมายถึงราชวงศ์กษัตริย์ผู้สืบสายพระมหาสมมติจากชมพูทวีป

และเช่นเดียวกันกับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อันเป็นบ้านเมืองเก่าแก่สืบกันมาในภาคกลาง จึงได้รับการอธิบายว่า สืบมาจากวงศ์กษัตริย์พระมหาสมมติเช่นเดียวกัน โดยมีรายละเอียดว่าสืบมาแต่พระเจ้าพรหมแห่งเมืองไชยปราการ (เชียงราย) ผู้สืบสายมาจากพระเจ้าสิงหนวัติ โอรสกษัตริย์สมมติวงศ์แห่งกรุงราชคฤห์ในชมพูทวีป

หลักฐานที่ชัดเจนเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 ตอนที่กล่าวถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ความว่า

…จุลศักราช 930 ตัว ฟ้ามังทลาไปรบเมืองอโยธยาได้ แล้วฆ่าพระมหากษัตริย์อโยธยาอันเป็นชาติเชื้อวงศาแห่งพระยาพรหมกุมารเมืองโยนกนครเชียงแสนนั้นเสีย แล้วเอาพระยาพิษณุโลกอันเป็นชาติเชื้อเมืองละโว้เก่านั้นไปกินเมืองอโยธยา สืบไป…

ใคร่ขอเปรียบเทียบ เมื่อตำนานของล้านนากล่าวถึงผู้ครองเมืองสุโขทัยคือพระร่วงหรือพระยาร่วง เนื่องจากสุโขทัยพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองและนับถือพระพุทธศาสนา ก่อนหน้าบ้านเมืองศูนย์กลางของล้านนาเล็กน้อย ในช่วงเวลาที่มีการเขียนตำนานของล้านนา ทางสุโขทัยก็ยังปรากฏความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษอยู่ (เช่น ขุนจิดขุนจอด ในศิลาจารึกหลักที่ 45)

ดังนั้นเมื่อตำนานล้านนาอธิบายต้นตระกูลของราชวงศ์พระร่วง จึงกล่าวว่าเป็นลูกนางนาคหรือลูกของนางผีเสื้อ มิได้ยกให้เป็นเชื้อสายกษัตริย์สมมติวงศ์จากชมพูทวีป เหมือนกับกษัตริย์ของบ้านเมืองในภาคกลาง ที่ความเชื่อผีบรรพบุรุษดั้งเดิม ได้ถูกครอบงำโดยศาสนาจากชมพูทวีปหมดจนไม่เห็นเค้าเดิมแล้ว

กล่าวโดยสรุป เรื่องตำนานพระเจ้าพรหมมิใช่วัตถุประสงค์หลักของคำอธิบายความหมายในตำนานสิงหนวัติ แต่เสมือนเป็นคำอธิบายเพิ่มเติม ถึงบ้านเมืองที่ล้านนามีความเกี่ยวข้องด้วยขณะที่แต่งตำนาน เป็นบ้านเมืองที่การเชื่อถือผีบรรพบุรุษดั้งเดิมได้ลบเลือนไปหมดแล้ว เรื่องพระเจ้าพรหมซึ่งเป็นเชื้อสายสมมติวงศ์ตามคติทางศาสนา จึงได้รับการนำมาอธิบายถึงที่มาของราชวงศ์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา

ดังนั้นพระเจ้าพรหมจึงมิใช่ผีบรรพบุรุษของชาวล้านนาที่นับถือสืบต่อกันมา แม้ว่ารายละเอียดของเรื่องราวพระเจ้าพรหม เช่น เรื่องช้างคู่ใจที่ได้มาจากแม่น้ำ จะมีความเหมือนกันกับเรื่องช้างของขุนเจือง ผู้เป็นผีแห่งภูมิภาคล้านนาล้านช้าง ก็มิได้หมายความว่าพระเจ้าพรหมในตำนานจะเข้ามาแทนที่ผีเจือง เรื่องรายละเอียดที่เหมือนกันเป็นเพียงการยืมเรื่องพื้นเมืองเข้ามาเสริมเรื่องที่แต่งขึ้นให้มีความพิสดารมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

หรือแม้แต่เรื่องพระเจ้าพรหมปราบขอมดำ ก็น่าจะมีที่มาจากเรื่องพื้นเมืองดั้งเดิมของสุโขทัย เรื่องพระร่วงปราบขอมก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องหลังนี้น่าจะเป็นเรื่องสมอารมณ์ของการเขียนประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์ที่แพร่หลายเรื่องพระเจ้าพรหมเข้าสู่การสืบทอดตามระบบโรงเรียนยิ่งขึ้น

สรุป

จากแนวคิดทางพระพุทธศาสนา และหลักฐานที่เป็นตำนานสามเรื่อง คือสุวรรณโคมคำ สิงหนวัติ และลวจกราช (กับตำนานเบ็ดเตล็ด เช่น ตำนานพระธาตุดอยตุง) อาจสร้างคำอธิบายได้ว่า เป็นเรื่องที่ต้องการยกย่องกษัตริย์ในราชวงศ์ของพระเจ้ามังราย (ซึ่งสืบสายมาจากลวจกราช) ว่า แม้จะมิใช่วงศ์กษัตริย์ที่มาจากชมพูทวีป (อินเดีย) เหมือนกษัตริย์ในเรื่องสุวรรณโคมคำและสิงหนวัติ แต่ก็เป็นกษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงเป็นธรรมทายาทหรือหน่อพระพุทธเจ้า

อันถือได้ว่าเป็นผู้สืบสายมาจากพระพุทธองค์ เป็นการสืบสายโดยทางธรรมมิใช่โดยสายโลหิตเหมือนวงศ์กษัตริย์ ซึ่งตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการสืบสายโลหิต เพราะวงศ์กษัตริย์ที่เคยปกครองแผ่นดินที่ราบเชียงแสนที่ผ่านมา 2 วงศ์นั้นก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะต้องเป็นคนดีเสมอไป ดังที่ตำนานสุวรรณโคมคำและสิงหนวัติกล่าวว่ามีทั้งดีทั้งไม่ดี

ตำนานของล้านนาทั้ง 3 เรื่อง จึงมีข้อสรุปโดยรวมที่ต้องการเน้นพระธรรมคำสอน ในส่วนที่ไม่ให้ความสำคัญของชาติตระกูล แต่เห็นความสำคัญของการเป็นธรรมทายาทมากกว่า หรืออาจกล่าวด้วยสำนวนปัจจุบันว่า เห็นความสำคัญของการสืบสันดานมากกว่าการสืบสายเลือด

เรื่องลาวจกว่าเดิมเป็นชาวเขาอยู่บนดอยตุง (ไม่นับถือศาสนา) แต่ต่อมาเมื่อกษัตริย์ในวงศ์สิงหนวัติองค์หนึ่งนำพระธาตุรากขวัญมาไว้บนดอยตุง ลาวจกและเมียได้มีโอกาสเฝ้าปรนนิบัติรักษาเป็นเวลา 200 ปีกว่า จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ เมื่อถึงเวลาเริ่มต้นจุลศักราช (พ.ศ. 1181) แผ่นดินเชียงแสนว่างกษัตริย์ (ซึ่งถือว่าต้องสืบสายมาจากวงศ์กษัตริย์ซึ่งมีราชวงศ์เดียวในโลก) ลาวจกจึงลงจากสวรรค์มาเป็นลวจกราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายเป็นใหญ่เหนือที่ราบเชียงแสน ลวจกราชจึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ที่แม้จะมิได้สืบสายเลือดจากวงศ์กษัตริย์พระมหาสมมติ แต่สามารถเป็นกษัตริย์ได้เพราะเป็นผู้สืบสายจากพระพุทธองค์ คือเป็นธรรมทายาทนั่นเอง

เรื่องเช่นนี้ชี้ให้เห็นอีกอย่างหนึ่งถึงการผสมผสานความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษราชวงศ์มังรายที่มีอยู่ก่อน เมื่อนำพระพุทธศาสนาเข้ามาจึงไม่อาจนำคติเกี่ยวกับกษัตริย์วงศ์พระมหาสมมติมาลบความเชื่อเรื่องนี้ไปได้ จึงได้มีการปรับเรื่องโดยให้ผีบรรพบุรุษนับถือพระพุทธศาสนาเสียก่อน เมื่อตายไปขึ้นสวรรค์แล้วจึงได้เป็นกษัตริย์ลงมาครองแผ่นดินได้โดยชอบธรรม ตามสาระในพระธรรมที่เน้นการให้ความสำคัญในเรื่องการสืบธรรมทายาทมากกว่าการสืบสายกันในวรรณะ

ราชวงศ์ลวจกราชที่สืบมาถึงพระเจ้ามังราย และกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ต่อๆ มา จึงเป็นธรรมทายาท และจะเป็นผู้ค้ำชูพระพุทธศาสนาตลอดไปตราบชั่ว 5,000 พระวสา บนผืนแผ่นดินเชียงแสนที่เคยมีวงศ์กษัตริย์ (ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง) มาปกครองอยู่ 2 วงศ์ แล้วบ้านเมืองต้องล่มจมหายไปจากแผ่นดินเชียงแสนทั้ง 2 เมืองก่อนหน้านี้แต่ดึกดำบรรพ์

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นว่าเรื่องของพระเจ้าพรหมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องกษัตริย์ที่สืบมาแต่วงศ์กษัตริย์พระมหาสมมติในอัคคัญสูตร อันมีลักษณะของเรื่องที่ต้องการอธิบายในระดับที่เป็นโลกุตรธรรม หรือธรรมอันช่วยให้พ้นโลก แต่ในรายละเอียดของเรื่องที่เล่าย่อมหลีกไม่พ้นการนำเรื่องราวที่เป็นโลกย์ธรรมไปใส่ไว้

ดังจะเห็นว่าบทบาทบางตอนของพระเจ้าพรหมก็เป็นการยืมเรื่องราวของขุนเจือง ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษตนหนึ่งของพระเจ้ามังรายไปใช้ ซึ่งถ้าหากพิจารณาให้ลึกลงไปอีกก็จะพบอีกว่า เรื่องของขุนเจืองบางตอนก็มีความเหมือนกันกับเรื่องของพระเจ้ามังรายด้วย

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นอาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าพรหมในตำนานสิงหนวัตินั้น เป็นบุคคลที่ถูกสร้างขึ้น โดยมีพื้นฐานของเรื่องราวที่เป็นคติพื้นเมือง เรื่องขุนเจืองและตำนานเกี่ยวกับพระเจ้ามังราย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายที่มาของวงศ์กษัตริย์เมืองอื่นที่ชาวล้านนามีความสัมพันธ์ด้วย ซึ่งในที่นี้คือราชวงศ์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และเนื่องจากกรุงศรีอยุธยาอยู่ในภาคกลาง ที่คติทางศาสนาจากชมพูทวีปเข้ามาแพร่หลายก่อนหน้าการเขียนตำนานของล้านนานับพันปี คติความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับบรรพบุรุษในรูปของผีจึงถูกลบเลือนออกไปจนหมดสิ้น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการง่ายสำหรับพระภิกษุผู้ทรงความรู้ของล้านนาผู้แต่งตำนาน ที่จะอธิบายกษัตริย์ต้นราชวงศ์ของบ้านเมืองเหล่านี้ว่า มีเชื้อสายพระมหาสมมติวงศ์ตามคติทางพระพุทธศาสนา

ไม่เหมือนกับบรรพบุรุษของราชวงศ์พระเจ้ามังราย ที่ความทรงจำเกี่ยวกับต้นผีบรรพบุรุษลาวจกยังคงมีอยู่ เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจึงต้องใช้ความกลมกลืนกับคติความเชื่อดั้งเดิม โดยใช้หลักธรรมอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับการเป็นผู้สืบธรรมทายาทจากพระพุทธองค์ มาสวมให้แก่ต้นเค้าผีในคติดั้งเดิม ให้มีความชอบธรรมต่อการเป็นลวจกราช ต้นราชวงศ์กษัตริย์พื้นเมืองของพระเจ้ามังราย (และผู้สืบราชวงศ์ต่อมาในขณะแต่งตำนานอยู่นั้น)

จึงนับเป็นความสับสนอย่างยิ่ง ที่หากจะมีการดึงบุคคลในระดับโลกุตระให้ลงมาปนเปกับบุคคลในระดับโลกียะ


หมายเหตุ : จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ เผยแพร่เนื้อหาในออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2560