“ชลาคาร” วิหารใต้พิภพอินเดีย อาคารมหึมาในหลุม ใครสร้าง?

ชลาคาร จัน เบารี บ่อน้ําขั้นบันได อินเดีย
ชลาคาร “จัน เบารี” (ภาพจาก pixabay.com)

ในบรรรดาสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์แห่งอดีต มี “วิหารหิน” ของอินเดียประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ชลาคาร” ที่เก่าแก่และโอ่อ่าตระการตาไม่น้อยไปกว่าปราสาทขอมและชวา แต่ในขณะที่ปราสาทหินแห่งอาเซียนได้กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชลาคาร วิหารหินแห่งชมพูทวีปเหล่านี้ยังคงซ่อนตัวเงียบ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักพบเห็นแม้ในหมู่คนอินเดียเองเสียด้วยซ้ำ

ก็จะให้ประสบพบเจอได้ง่ายๆ อย่างไรเล่าครับ เพราะ วิหารหิน ที่เรียกว่า “ชลาคาร” เหล่านี้ ต่างถูกสร้างขึ้นเพื่อให้จมอยู่ใต้ผืนพิภพ แต่ถ้าหากสามารถกลับหัวเอาความลึกขึ้นมาตั้งบนแผ่นดินได้ หลายแห่งจะมีขนาดสูงใหญ่เกินกว่าปราสาทหินพิมาย พนมรุ้ง หรือโบราณสถานจำนวนไม่น้อยในภูมิภาคอาเซียนของเรา

อะไรคือ “ชลาคาร”

ชลาคาร คือ วิหารหิน ขนาดน้อยใหญ่ พบได้ทั่วไปในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ตั้งแต่เมืองเดลีไล่เฉียงลงไปยังแคว้นราชสถานจนถึงแคว้นคุชราต ซึ่งพื้นที่สองแคว้นนี้มีชลาคารกระจุกตัวอยู่นับพันแห่ง

ความน่ามหัศจรรย์ของชลาคารซึ่งในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เบารี” หรือ “วาว” ก็คือ แทนที่ผู้สร้างจะก่อมันขึ้นจากพื้นดินให้สูงเสียดยอดทะลุฟ้า ก็กลับขุดคว้านผืนพิภพเป็นหลุมยักษ์ แล้วก่อเป็นอาคารมหึมาในหลุมหรือกรุหลุมให้เต็ม ด้วยหมู่อาคารที่ค่อยๆ ทิ้งช่วงชั้นต่างๆ ดิ่งลึกลงใต้ดิน จนชลาคารบางแห่งมีสภาพเหมือนเมืองที่จมอยู่ใต้พิภพ

บ่อน้ำลึกชั้นล่างสุดของวิหารใต้พิภพ 5 ชั้น “ดาดา ฮารี นี วาว” (ภาพจาก คุณธีระพงษ์ วานิชานนท์)

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ชลาคาร (ชล+อาคาร) มีหน้าที่หลักเบื้องต้นเพื่อเป็น “วิหารเก็บกักน้ำ” ให้ชุมชนที่อยู่รอบๆ ได้มีไว้ใช้ตลอดปี ในแคว้นคุชราตและราชสถานซึ่งพบชลาคารเป็นจำนวนมากนั้น ภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะกึ่งแล้ง มีแม่น้ำน้อยสาย แต่จะมีฝนตกหนักเป็นช่วงสั้นๆ อยู่บ้างราวกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคม หรือปีละไม่เกิน 3 เดือน

ดังนั้น ผู้คนจึงต้องอาศัยการขุดหาตาน้ำ และสร้างบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงกว่า 9 เดือนที่เหลือของปี ต่อมาบ่อน้ำนี้ก็ได้พัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมใต้ดิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทั้งในด้านการใช้สอย ด้านสังคม ด้านพิธีกรรม ไปจนถึงด้านสุนทรียะและสถาปัตยกรรมอันงามวิจิตร เทียบเท่าศาสนสถานหรือปราสาทหินโบราณตามที่ต่างๆ ที่เราพบเห็นกันบนพื้นดิน

ชลาคาร ฮาดี รานี บ่อน้ำขั้นบันได อินเดีย
ชลาคารแบบสระ “ฮาดี รานี” แคว้นราชสถาน (ภาพจาก Steps to Water : The Ancient Stepwells of India)

ด้วยเหตุที่กลายมาเป็นสักการสถานนี้ จึงพบว่าชลาคารหลายแห่งถูกสร้างขึ้นด้วยหินคุณภาพดี มีการออกแบบที่สวยงามเป็นสัดส่วนช่วงชั้น มีการแกะสลักเสาคานและเครื่องค้ำยันอาคารต่างๆ เป็นลวดลายประณีตตระการตา มีรูปจำหลักเทพเจ้าไว้เพื่อสักการะ มีการสลักรูปสิงสาราสัตว์ พรรณพฤกษา และผู้คนประดับประดาวิจิตรเกลื่อนอยู่ทั่วไป ซึ่งหากมองดูจากภายในอาคารแล้ว ก็แทบไม่รู้เลยว่าโบราณสถานเหล่านี้ฝังตัวจมลึกอยู่ใต้ผืนดินหลายสิบเมตร

ชลาคาร ยุคต้นถูกสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 หรือราว 1,300 ปีที่แล้ว โดยยุคทองที่มีการสร้างชลาคารอย่างแพร่หลายตกอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9-13 (ร่วมสมัยกับยุคเมืองพระนครของกัมพูชา และก่อนที่อาณาจักรสุโขทัยของเราจะก่อตั้งขึ้น)

แรกเริ่ม ชลาคารถูกสร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดู ต่อมาเมื่อราชวงศ์มุสลิมเข้าครองอำนาจในชมพูทวีป ก็ยังคงรักษาและพัฒนาชลาคารต่อไป อย่างน้อยก็ด้วยเห็นประโยชน์ด้านการเก็บรักษาและใช้สอยน้ำ อย่างไรก็ดี รูปแบบและการตกแต่งชลาคารในยุคนี้จะปรากฏอิทธิพลของศิลปะแบบอิสลามเพิ่มขึ้น เช่น ลวดลายประดับแบบเรขาคณิต หลังคาหรืออาคารรูปโดม เป็นต้น (อิทธิพลฮินดูค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก็แทบดับสนิท)

นอกเหนือจากมีหน้าที่เก็บกักน้ำและประกอบพิธีกรรม ชลาคารยังมีหน้าที่ทางสังคม เพื่อให้ผู้คนต่างชั้นวรรณะได้ใช้เป็นที่พักผ่อน หรือ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น”

ในอาคารใต้ดินเหล่านี้ จากการวัดอุณหภูมิเปรียบเทียบพบว่า ในหน้าร้อน ชั้นล่างสุดของชลาคารขนาดความลึกประมาณ 25 เมตร (หรือประมาณตึกสมัยใหม่ 9-10 ชั้น) มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิของพื้นดินด้านบนถึง 5-6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่ก่อให้เกิด “ภาวะน่าสบาย” ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าอุณหภูมิบนพื้นดินในหน้าร้อนของอินเดียแถวคุชราตหรือราชสถาน สามารถพุ่งขึ้นสูงไปถึง 40 องศาเซลเซียสได้ไม่ยาก

ประเภทของชลาคาร

ชลาคารที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งในอินเดีย อาจแบ่งรูปลักษณะได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ชลาคารแบบสระ (stepped pond) และชลาคารแบบอุโมงค์ (stepped well)

ชลาคารแบบสระ จะวางตำแหน่ง “ตาน้ำ” ไว้ตรงกลาง จากนั้นก็ค่อยๆ ผายชั้นดินรอบบ่อออกไปทั้ง 4 ด้านเป็นบริเวณกว้าง (บางแห่งกว้างใหญ่ใกล้เคียงกับสนามฟุตบอล) โดย 3 ด้านมักกรุหินไล่ขึ้นไปเป็นผนังสูง โดยมีช่วงชั้นขั้นบันไดจำนวนมากไต่สลับไปตามผนังสูงนี้ ส่วนด้านที่ 4 ถ้าไม่เหมือนอีก 3 ด้านก็มักสร้างเป็นวิหารสูงหลายชั้น ดิ่งจากพื้นด้านบนลงสู่บ่อน้ำลึกเบื้องล่าง

วิหารบางแห่งสูง (หรือจริงๆ แล้วก็คือ “ลึก”) ถึงเกือบ 20 เมตร (ประมาณตึกสมัยใหม่ 8 ชั้น) ตัวอย่างคลาสสิคของชลาคารแบบสระนี้ ได้แก่ จัน เบารี (Chand Baori) แคว้นราชสถาน ซึ่งถือว่าเป็นชลาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย

แผนผัง ชลาคาร จัน เบารี บ่อน้ำขั้นบันได
ผังชลาคารแบบสระ “จัน เบารี” ที่อาภาเนรี ราชสถาน (ภาพจาก Steps to Water : The Ancient Stepwells of India)

ชลาคารอีกแบบ คือแบบอุโมงค์ จะวางตาน้ำลึกไว้ตรงปลาย แล้วขุดพื้นดินเป็นร่องยาวเข้าไปหาบ่อตาน้ำ ร่องดินขุดนี้จะค่อยๆ ลึกลงเรื่อยๆ จนเสมอระดับของบ่อน้ำที่อยู่ชั้นล่างสุด จากนั้นจะสร้างอาคารหินที่มีเสาค้ำยันขึ้นกรุร่องดินยาวนี้ให้เสมอกันทั้งหมด

ถ้ามองภาพตัดขวางจะเห็นเป็นวิหารเล่นระดับที่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนชั้นขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะทางที่เข้าใกล้บ่อน้ำ ซึ่งถือเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของอาคาร (บางแห่งลึกถึง 27 เมตร หรือประมาณตึกสมัยใหม่ราว 10-11 ชั้น) ตัวอย่างชลาคารแบบอุโมงค์ที่มีชื่อเสียงและขึ้นชื่อด้านความงาม ได้แก่ รานี คี วาว (Rani ki Vav) และอะดาลาจ วาว (Adalaj Vav) ที่แคว้นคุชราต ซึ่งบัญชาสร้างโดย 2 ราชินี

นอกจากนี้ ชลาคารแบบอุโมงค์อื่นที่อาจไม่อลังการเท่า แต่ไม่น้อยหน้าในแง่ความโอ่อ่าสง่างามของโครงสร้าง รวมทั้งยังคงสภาพที่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ อาทิ ดาดา ฮารี นี วาว (Dada Hari Ni Vav) ตั้งอยู่ที่แคว้นคุชราตเช่นกัน

ผังชลาคารแบบอุโมงค์ “ดาดา ฮารี นี วาว” ที่แคว้นคุชราต (ภาพจาก Steps to Water : The Ancient Stepwells of India)

นอกจาก 2 ประเภทหลักข้างต้นแล้ว ยังมีชลาคารหลายแห่งที่ผสมแบบสระกับแบบอุโมงค์เข้าด้วยกัน เช่น มีทางลงเป็นแนวยาวสู่บ่อตาน้ำ (ลักษณะของอุโมงค์) อีก 3 ด้านก่อเป็นผนังทึบสูงชันล้อมทางลงนี้ไว้ภายในกรอบสี่เหลี่ยม และเปิดส่วนบนทั้งหมดไว้ ไม่กรุปิด (ลักษณะของสระ) เพื่อยามหน้าฝน น้ำจะท่วมเต็มพื้นที่ทั้งหมดและกลบตาน้ำไปด้วยจนกลายเป็นสระใหญ่สระเดียว ชลาคารแบบผสมซึ่งเป็นที่รู้จักดี อาทิ อะกราเซ็นเบารี (Agrasen Baori) ที่เมืองเดลี

ชลาคาร สระน้ำ ขั้นบันได ของ อินเดีย
มหาชลาคาร “จัน เบารี” ตัวอย่างคลาสสิคของชลาคารแบบสระ (ภาพจาก ALEX OGLE / AFP)

ใครสร้าง ใครใช้ชลาคาร

จากการศึกษาพบว่า ชลาคารแบบสระและแบบอุโมงค์มักมีที่ตั้งและผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง รวมทั้งผู้ดูแลที่แตกต่างกัน

ชลาคารแบบสระมักตั้งอยู่ในบริเวณวัดหรือเทวสถาน ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นจากเงินบูชาศาสนาที่ชาวบ้านถวาย โดยทางวัดหรือเทวสถานเป็นผู้จัดการก่อสร้างและดูแลการใช้น้ำ ที่สำคัญก็คือ ชลาคารแบบสระที่ถูกออกแบบให้ 3 หรือ 4 ด้านของอาคารเป็นขั้นบันไดน้อยใหญ่ดิ่งตรงลงสระได้ทันที ก็สะท้อนภารกิจหรือหน้าที่ของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งต้องเปิดรับต่อผู้คนจำนวนมากในคราวเดียวกัน และต้องสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้คนมหาศาลเหล่านี้สามารถเข้าถึงบ่อน้ำตรงกลางได้พร้อมกันหรือในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น ในงานเทศกาลหรือพิธีกรรมมหาชนต่างๆ

สำหรับชลาคารแบบอุโมงค์ซึ่งผู้ใช้ต้องเดินจากปลายด้านตื้นก่อนค่อยๆ ลดระดับลงสู่บ่อน้ำที่อยู่ลึกสุดอีกหลายชั้นนั้น มักพบจารึกหรือหลักฐานที่ระบุว่า “บุคคลชั้นสูง” เป็นผู้บริจาคเงินก่อสร้างและอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติเพื่อทำบุญบูชาเทพเจ้า

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าบุคคลชั้นสูงผู้สร้างถวายเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นสตรี จึงมีข้อสันนิษฐานว่า เหตุที่หญิงผู้มีโอกาสมักทำบุญด้วยการอุทิศชลาคาร (แบบอุโมงค์) ให้เป็นสาธารณประโยชน์ อาจมีที่มาจากความเข้าใจภารกิจหน้าที่ของสตรีชาวชมพูทวีปโดยทั่วไป (แม้ในปัจจุบัน) ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับน้ำในชีวิตประจำวันมากกว่าชาย เช่น เป็นผู้ดูแลความสะอาด ซัก ล้าง ประกอบอาหาร เสาะหาและเก็บรักษาน้ำไว้ให้สมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

ในด้านวิศวกรรม ชลาคารได้รับการออกแบบให้รับมือกับสภาวะน้ำต่างฤดูได้อย่างน่าทึ่ง ในอดีต แม้ต้องประสบภาวะระดับน้ำลดลงอย่างมากในหน้าแล้ง แต่น้ำในชลาคารก็ยากจะเหือดแห้งหมดไป เพราะมีการจัดวางระบบให้น้ำใต้ดินซึมเข้าสู่บ่อได้ตลอดเวลา

โดยฤดูแล้งนี้กลับเป็นช่วงที่ชลาคารจะเผยความงามของโครงสร้างสถาปัตยกรรม ลวดลายประดับและรูปจำหลักจำนวนมากให้ผู้คนได้พบเห็นอย่างเต็มตา ครั้นเมื่อหน้ามรสุมมาเยือน น้ำฝนก็จะเติมบ่อลึกในชลาคารให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไล่ท่วมชั้นอาคารด้านล่างมิดไปทีละชั้นๆ คงเหลือไว้เพียงชั้นบนที่ผลุบๆ โผล่ๆ ให้ดูแปลกตา แต่ก็มักไม่ปรากฏว่าน้ำที่เพิ่มขึ้นจะเอ่อล้นท่วมเลยออกจากขอบบนของชลาคารที่วางอยู่บนพื้นดิน เนื่องด้วยผู้ก่อสร้างในอดีตได้คำนวณสัดส่วนของปริมาณน้ำกับขนาดความจุของอาคารได้อย่างเหมาะสม

“รานี คี วาว” ชลาคารขนาดมหึมาที่ดูเหมือนเมืองใต้พิภพ ปล่องที่เห็นไกลสุดคือตำแหน่งบ่อน้ำลึกด้านตะวันตก (ภาพจาก https://en.wikipedia.org)

ชลาคาร จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมื่อพื้นที่ต่างๆ ของอินเดียทยอยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทัศนะต่อ ชลาคาร ก็เริ่มเปลี่ยนไป เจ้าอาณานิคมอังกฤษมีมาตรฐานสุขอนามัยแบบของตน และเห็นว่าชลาคารซึ่งผู้คนหลายพ่อพันแม่ใช้สมาคมกันในโอกาสต่างๆ เป็นพื้นที่เสี่ยงของการแพร่เชื้อโรคหรือกระทั่งโรคติดต่อ จึงได้สั่งปิดชลาคาร ส่งผลให้ชลาคารที่เคยรับใช้ชนพื้นถิ่นมาหลายร้อยปีหมดบทบาททางสังคม และถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการบริหารจัดการดูแล

น้ำที่เคยถูกใช้สอยตามมาตรฐานคุณภาพของชุมชนก็กลายเป็นน้ำนิ่งและเน่าหรือตื้นลงด้วยตะกอนและวัชพืช เมื่อชลาคารขาดการรักษาปกป้อง หลายแห่งได้ถูกรุกล้ำโดยผู้คนหรือกลายสภาพเป็นแหล่งน้ำของวัว แพะ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ซึ่งซ้ำเติมให้คุณภาพน้ำวิบัติและเป็นภัยต่อสุขอนามัย เข้าทางวิธีการมองของเจ้าอาณานิคมไปในที่สุด

แม้ภายหลังจากที่อินเดียได้กลายเป็นประเทศเอกราชแล้ว สภาพการรุกล้ำชลาคารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถอนตัวออกไปตามเจ้าอาณานิคม ในปัจจุบัน เมื่อประชากรและเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชลาคารบางแห่งที่ยังคงสามารถเก็บน้ำไว้ได้ตามวัฏจักรธรรมชาติ ได้กลายสภาพเป็นบ่อน้ำของชุมชนแออัดรอบๆ ที่เอาแต่ใช้สอย ซักล้าง อาบ และเล่น โดยไม่มีผู้ใดคิดจะร่วมรักษาคุณภาพน้ำ

หลายแห่งที่ตื้นเขินหรือแห้งเหือดลง ได้กลายเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นล่างในเมือง หรือถูกซอยบางส่วนแปลงเป็นศาลสถิตของเทพเจ้าหลายร้อยที่มา โดยมีผู้ทำหน้าที่ตัวกลางทางจิตวิญญาณรายย่อยๆ ร่วมอาศัยอยู่ด้วยอย่างยั้วเยี้ย

เมื่อคุณค่าทางสังคมแบบเดิมต่อชลาคารถูกทำให้สิ้นสุดลง ไม่เพียงแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของชลาคารจะสูญหายไปด้วยเท่านั้น แต่การดูแลรักษาด้วยความเคารพไม่ว่าจะโดยธรรมเนียมประเพณี หรือโดยความตระหนักในคุณประโยชน์อย่างแท้จริง ก็พลอยปลาสนาการตามไปด้วย

ชลาคาร นับร้อยนับพันแห่งในทุกวันนี้จึงตกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง ความหวังที่มีคงได้แก่ ชลาคารที่กลับมาเป็นที่รู้จักจะช่วยสร้างสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารมหัศจรรย์แห่งอดีตประเภทนี้ ให้กลับมารับใช้สังคมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าในรูปแบบเดิมหรือรูปแบบใหม่ได้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2562