ตัวอย่างงานช่างในรัชกาลที่ ๔ : หันรีหันขวาง

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ “…รูปสำเภาใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเปรียบดังนายสำเภา...”

เป็นที่ทราบกันดีว่า งานช่างในรัชกาลที่ ๔ นั้นบทบาทของแนวสัจนิยมตะวันตกเริ่มเด่นชัด ขณะที่แนวอุดมคติตามแบบแผนประเพณีโบราณก็ยังทอดเนื่องมาไม่ได้ขาดสาย

ขณะทรงผนวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา รัชกาลที่ ๔ ทรงสนพระทัยด้านวิทยาการฝ่ายตะวันตก แต่ก็โปรดเสด็จไปเมืองราชธานีเก่าเพื่อทรงศึกษาอดีต ซึ่งรวมทั้งเรื่องงานช่างโบราณด้วย ดังภายหลังเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้จำลองแบบพระเจดีย์สี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา มาสร้างในวัดพระเชตุพนฯ ครั้นปลายรัชกาลยังได้โปรดให้จำลองแบบเจดีย์ประธาน วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังกลม มาสร้างในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (คือพระศรีรัตนเจดีย์) เป็นต้น

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม้ทรงมีแนวพระราชดำริในกระแสตะวันตก แต่พระองค์ก็ยังทรงผูกพันอยู่กับแบบแผนโบราณ จึงมีผลให้ทรงรอบคอบระมัดระวังในการผ่อนปรนยิ่งกว่ารัชกาลที่ ๕ ซึ่งกระแสตะวันตกเพิ่มความรุนแรงยิ่งกว่า

ตัวอย่างด้านจิตรกรรม : จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ
บนผนังระหว่างช่องหน้าต่างของวัดบวรนิเวศฯ

ขณะยังทรงผนวชได้เสด็จฯ จากวัดราชาธิวาสฯ มาครองวัดบวรนิเวศฯ โปรดให้สร้างเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์เป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่าวัดบวรนิเวศวิหาร ในครั้งนั้นรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระตำหนักทรงปั้นหยาพระราชทานให้เป็นที่ประทับ

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ “…รูปดอกบัวใหญ่บานอยู่กลางสระหมายถึงพระพุทธเจ้า…”

พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างของพระอุโบสถ คือภาพปริศนาธรรม ซึ่งเขียนอย่างภาพเขียนฝรั่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตอนหนึ่งมีความว่า ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ ๔) โปรดให้อาจารย์อินโข่งเขียนปัญหาธรรมเป็นภาพฝรั่ง “…อาจารย์อินโข่งไม่เคยไปยุโรปก็จริงอยู่ แต่แกได้อาศัยรูปภาพที่ฝรั่งทำกระดาษปิดฝาเรือนเข้ามาขาย เขียนรูปภาพฝรั่งครั้งสมัยต้นศตวรรษที่ ๑๙ ได้…” ไม่ว่ารัชกาลที่ ๔ จะทรงคิดผูกเรื่องปริศนาธรรมเอง หรือขรัวอินโข่งเป็นผู้คิดผูกก็ตาม ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า คงคิดจากเมื่อดูรูปภาพฝรั่งแล้ว และวาดโดยใช้รูปภาพฝรั่งนั้นเป็นต้นแบบ เช่น ภาพ “เป็นรูปสำเภาใหญ่ มีนายสำเภาคุมไป แล่นไปอยู่กลางทะเลด้วยใบ ประชุมพร้อมด้วยสมบัติ และผู้โดยสารได้ถึงฝั่งด้วยสำเภานั้น ที่นี้มีความว่าพระพุทธเจ้าเปรียบดังนายสำเภา พระธรรมเปรียบดังสำเภา พระสงฆ์พร้อมด้วย คุณสมบัติถึงฝั่งนั้นด้วยพระธรรมนั้นแล้ว เปรียบดังประชุมชนพร้อมด้วยสมบัติได้ถึงฝั่งนั้นด้วยสำเภานั้นแล้ว”

ภาพเรือใบท่ามกลางคลื่นลมดังกล่าว ซึ่งเขียนตามแบบฝรั่ง คือแสดงแสงเงา สีอ่อนแก่ และสีที่แตกต่าง เพื่อลวงตาให้เห็นเป็นระยะใกล้-ไกล โดยไม่มีการตัดเส้นขอบคมอย่างภาพปรัมปราคติของไทย

แต่จิตรกรรมฝาผนังเหนือช่องหน้าต่างอีกภาพหนึ่ง คงคิดผูกเรื่องไว้ก่อน “เป็นรูปดอกบัวใหญ่บานเต็มอยู่ที่กลางสระ มีหมู่ผึ้งกำลังเข้าบริโภครสหวานที่เกิดขึ้น ณ ดอกบัวนั้น มีหมู่ชนยืนชมอยู่ริมสระ ที่นี้หมายความว่าพระพุทธเจ้าเปรียบดังดอกบัวที่บานแล้ว พระธรรมเปรียบดังรสหวาน เกิดขึ้น ณ ดอกบัวนั้น พระสงฆ์ผู้เข้าไป บริโภคพระธรรมเปรียบดังหมู่ผึ้งอันเข้าไปบริโภครสหวานนั้น” ภาพหลักคือดอกบัว ใบบัวกลางสระน้ำ เชื่อว่าขรัวอินโข่งออกแบบเขียนเองตามเรื่องที่คิดผูกขึ้น ส่วนประกอบของภาพ คือภาพชาวฝรั่งริมสระน้ำ ภาพรถม้าฝรั่ง ย่อมได้แบบจากภาพของฝรั่ง

ความกะทันหันในส่วนของงานด้านจิตรกรรมปริศนาธรรมด้วยภาพแนวฝรั่ง ควรถือเป็นปรากฏการณ์ชั่วครั้งคราว เพราะนอกจากยังไม่พบว่ามีเรื่องปริศนาธรรมเป็นภาพฝรั่งในรัชกาลที่ ๕ แล้ว จิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังสะท้อนลักษณะที่นับได้ว่าเป็นการตั้งหลักใหม่ช่างเขียนไทย เช่น จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช ในวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ

ตัวอย่างประติมากรรม : พระพุทธรูปนิรันตราย

พระพุทธรูปซึ่งรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างตามพระราชดำริตั้งแต่ยังไม่เสวยราชย์ ให้แปลงแบบอย่างของพระพุทธรูปเพื่อให้ใกล้ความสมจริงอย่างมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่โปรดให้ทำอุษณีษะ (เกตุมาลา) ซึ่งแตกต่างจากแบบอย่างประเพณีโบราณ องค์แรกคือพระสัมพุทธพรรณี ปัจจุบันประดิษฐานบนฐานชุกชีด้านหน้าฐานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

พระพุทธนิรันตราย

เมื่อเสวยราชย์แล้ว ราว พ.ศ. ๒๔๓๐ ก็ได้โปรดให้หล่อขึ้นอีก เช่น พระพุทธรูปนิรันตราย ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานในหอพระสุลาลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

แนวความคิดอย่างสัจนิยมตะวันตกที่มีผลต่อการปรับปรุงพุทธลักษณะ คือเลียนอย่างลักษณะสามัญ ทั้งด้านสรีระ จีบริ้วอย่างสมจริงของจีวร รวมทั้งไม่มีอุษณีษะดังกล่าวข้างต้น แต่กระนั้นก็ยังต้องคงพระรัศมีรูปเปลวที่อยู่เหนือเศียรไว้ตามแบบแผนโบราณ เพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธรูป หาไม่แล้วจะดูเหมือนรูปพระภิกษุ อนึ่งการที่โปรดให้มีรูปศีรษะโคที่ฐานเพื่อเป็นทางไหลของน้ำสรง หมายถึงพระโคตรของพระพุทธองค์ คือโคตมะด้วย๑๐

พระพุทธรูปแบบพระราชนิยมที่ไม่มีอุษณีษะ เมื่อผ่านรัชกาลที่ ๕ มาแล้ว ก็หวนกลับมาทำกันตามแบบแผนประเพณีเดิม

ตัวอย่างด้านสถาปัตยกรรม : พระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ

นอกจากการจำลองแบบอย่างของพระเจดีย์โบราณมาสร้างตามกล่าวมาแล้วข้างต้น การผสมผสานรูปแบบศิลปะต่างๆ ในงานก่อสร้างก็มีตัวอย่าง อย่างสำคัญคือที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ

พระอุโบสถวัดนี้เป็นอาคารตรีมุข กรุผนังด้วยแผ่นหินอ่อน หลังคาลดชั้นเป็นมุขยื่นออกทางด้านหน้า หน้าบันของมุขหน้าประดับด้วยชิ้นกระเบื้องสีต่างๆ เป็นลายพรรณไม้ดอกใบทำนอง “ลายเทศ” (ลายลูกผสม ไทย-จีน-ฝรั่ง) เหนือขึ้นไปเป็นหน้าบันของอาคารประดิษฐานรูปพระมหามงกุฎตอนล่างเป็นพระขรรค์ อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ ๔ อยู่ท่ามกลางลวดลายพรรณไม้ดอก ทำนองลายเทศ และทำด้วยชิ้นกระเบื้องสีเช่นกัน หลังคาลูกฟูกแบบจีนเป็นกระเบื้องเคลือบซึ่งทำกันมาในรัชกาลก่อนๆ แล้ว

พระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ งานประดับเสาเหลี่ยมและหัวเสาของมุขหน้า เป็นลายใบไม้ทำนองฝรั่งโบราณ แนวตั้งเซาะเป็นร่องเรียงรายที่ลำเสา ก็ทำนองฝรั่งโบราณด้วย

แต่ที่เลียนอย่างฝรั่งชัดเจนกว่าส่วนอื่น คืองานประดับเสาเหลี่ยมและหัวเสา (capital ) ของมุขหน้า (ช่างไทยมีที่เรียก “บัวหัวเสา” ว่า “บัวปลายเสา”) เป็นลายใบไม้ทำนองฝรั่งโบราณ แนวตั้งเซาะเป็นร่องเรียงรายที่ลำเสา (fluting) ก็ทำนองฝรั่งโบราณด้วย เพียงแต่เสาฝรั่งมักเป็นท่อนกลม

แบบอย่างงานช่างฝรั่งที่ปรับใช้ในรัชกาลที่ ๔ เป็นการกะทันหัน ยังตั้งตัวกันไม่ทัน จึง “หันรีหันขวาง” หากเปรียบเทียบกับงานช่างในส่วนที่เป็นฝรั่งอย่างเป็นงานเป็นการในรัชกาลที่ ๕ ในกรณีพิเศษ เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดให้จ้างสถาปนิกฝรั่งมาออกแบบเป็นตึกฝรั่ง แต่แปลงเครื่องยอดเป็นทรงไทย๑๑ และอีกแห่งหนึ่งคือ พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน โปรดให้จ้างช่างฝรั่งเข้ามาออกแบบก่อสร้างเช่นกัน ให้เป็นแบบโกธิคอย่างยุโรปยุคกลาง๑๒ โดยมิได้ปรับแก้ให้เป็นอย่างไทย


เชิงอรรถ

๑. จดหมายเหตุรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ เรียกชื่อเจดีย์ที่ให้ไปถ่ายแบบมาว่า “เจดีย์วัดสวนหลวงสบสวรรค์” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธเจดีย์. กรุงเทพฯ, ๒๕๔๕ : ๒๕๗.) จนถึงรัชกาลที่ ๖ คราวเสด็จมาที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ โปรดให้เรียก “เจดีย์ศรีสุริโยทัย” (ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๓๗ (เรื่องกรุงเก่า). กรุงเทพฯ, ๒๕๑๒ : ๒๐๐.)

๒. พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นองค์สุดท้ายในบรรดาพระเจดีย์ทรงระฆังกลม ซึ่งมีพระราชนิยมเป็นพิเศษ สร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคต (อ่านเพิ่มเติมใน หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ไขแสง ศุขะวัฒนะ และผุสดี ทิพทัส. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่มที่ ๒. กรุงเทพฯ, ๒๕๓๑ : ๒๘๔.)

๓. กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม ๔ : วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๕ : ๑๗๑-๑๗๓.

๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๒๒. กรุงเทพฯ, ๒๕๐๕ : ๓-๔.

๕. คัดจาก สำนักราชเลขาธิการ. ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๘ : ๒๙.

๖. คัดจาก สำนักราชเลขาธิการ. ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๘ : ๓๑.

๗. อีกแห่งหนึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ (อ่านเพิ่มเติมใน กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม ๔ : วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๕ : ๒๗-๒๘.)

๘. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล “พระพุทธรูปสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์,” ใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร (ฉบับพิเศษกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี). ๒๕๒๓ : ๑๐๐.

๙. เรื่องเดิม, หน้า ๑๐๒.

๑๐. หน้าเดิม.

๑๑. อ่านเพิ่มเติมใน หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ไขแสง ศุขะวัฒนะ และผุสดี ทิพทัส. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๑. กรุงเทพฯ, ๒๕๓๑ : ๑๐๐-๑๐๑.

๑๒. กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม ๔ : วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๕ : ๒๔-๒๕.