มูลเหตุเปลี่ยนธงชาติไทย กับการห้อยผ้าแดงเมืองอุทัยธานี-ธงช้างที่สะเทือนพระราชหฤทัย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ใต้พระกลดซ้ายมือของภาพ) และผู้ตามเสด็จกำลังจะเดินไปตามถนนในตัวเมืองสงขลา พ.ศ. ๒๔๔๘ ให้สังเกตรูปช้างที่แขวนระโยงระยาง แม้จะไม่ใช่ช้างนอนหงายแบบที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นในรัชสมัยของพระองค์ แต่ก็เห็นได้ว่ามีทั้งช้างอ้วนเตี้ยและสูงชะลูด มีทั้งงวงตกและงวงชี้ฟ้า เป็นธงที่ชาวบ้านทำกันขึ้นเอง รวมถึงธงที่ทำจากผ้าแดงผ้าขาว (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การห้อยผ้าแดงผ้าขาวนี้ดูออกจะคล้ายกับว่าเมืองอุทัยธานีของเราเต็มไปด้วยประเพณีชาวจีนไปเสียแล้ว” เป็นพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประพาสอุทัยธานี” .. 2459

ครั้งนั้นราษฎรแสดงความจงรักภักดีและปลื้มปีติในการเสด็จฯ ด้วยการพยายามจะหาธงทิวซึ่งขณะนั้นเป็นธงรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงมาประดับประดาเพื่อรับเสด็จ แต่ด้วยความที่ธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ ผ่าน

พระราชปรารภนี้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากระหว่างเสด็จประพาส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะธงชาติไทยครั้งสำคัญ

ธงช้างในภาพนี้เป็นธงช้างของหลวงจึงมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้เขียนเล่าไว้ ในฐานะข้าราชบริพารคนหนึ่งที่มีโอกาสตามเสด็จไปเมืองอุทัยธานี ครั้งนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก ปรากฏข่าวลือว่าทางเมืองเหนือมีน้ำมากกว่าปกติ และยังถูกฝนกระหน่ำซ้ำเติม ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั้งพืชผลเสียหาย จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงตรวจตราข้อเท็จจริง ได้เสด็จฯ ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาด้วยขบวนเรือยนต์พระที่นั่ง

ครั้นผ่านลำน้ำสะแกกรังเมืองอุทัยธานี ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่ใคร่จะมีผู้ใดเข้าไปถึง เพราะลำน้ำสะแกกรังมักตื้นเขินในยามแล้ง เรือเดินไม่สะดวก ทรงเห็นเป็นโอกาสจะเสด็จฯ ผ่านลำน้ำนี้เข้าไปเยี่ยมราษฎรเมืองอุทัยธานีได้

อุทัยธานี ครั้งนั้นเป็นคล้ายเมืองปิด เมื่อชาวเมืองรู้ข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเข้ามาเยี่ยมจึงเกิดความตื่นเต้นและตื่นตัว จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้เล่าถึงบรรยากาศเมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองอุทัยธานีว่า 

รอบบริเวณนั้นเล่า แออัดแจจันอยู่ด้วยมวลราษฎรซึ่งล้นหลามมาคอยเฝ้ารับเสด็จ จนตำรวจภูธรที่ฝ่ายบ้านเมืองจัดประจำเป็นระยะห่างๆ ไว้สองข้างทางแทบจะห้ามกันไว้ไม่ไหว เสียงบอกกล่าวเล่าสิบก็เซ็งแซ่อยู่มิขาด บรรดาชาวชนบททั้งใกล้และไกลที่มาชุมนุม ณ ที่นี้ล้วนแต่งตัวสีฉูดฉาดอย่างที่เขาคิดว่างดงามหรูหราเป็นประวัติการณ์ ขบวนเสด็จผ่านไปถึงที่ใดก็พากันก้มกราบลงกับพื้นและแซ่ซร้องสาธุการด้วยความชื่นชมพระบารมี 

แต่สิ่งที่ทรงสังเกตเห็นและสะดุดพระทัยมาโดยตลอดระยะทางเสด็จพระราชดำเนิน ก็คือ การใช้ผ้าทอสีแดงขาวห้อยแทนธงชาติ สำหรับเสด็จฯ ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนถึงกับมีพระราชปรารภว่าการห้อยผ้าแดงผ้าขาวนี้ดูออกจะคล้ายกับว่าเมืองอุทัยธานีของเราเต็มไปด้วยประเพณีชาวจีนไปเสียแล้ว แม้จะขัดต่อพระราชนิยมสักเพียงใด แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในเจตนาอันดี และทรงซาบซึ้งถึงจิตใจที่เจริญด้วยวัฒนธรรมแห่งศิลปะความงามของเหล่าพสกนิกรที่พยายามสรรค์สร้างขึ้น แม้สภาพความเป็นอยู่จะล้าหลัง เต็มไปด้วยความยากลำบาก

พระอาการที่เสด็จฯ ผ่านผืนผ้าสีขาวแดง ซึ่งประดับตกแต่งจีบห้อยในลักษณะต่างๆ ที่ประชาชนมองเห็นก็คือ พระอาการชื่นชมต่อการต้อนรับนั้นๆ จนกระทั่งเสด็จฯ ผ่านบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านหลังคามุงจากขนาดเล็ก บ่งบอกถึงฐานะที่ยากจน แต่สิ่งที่พระองค์และทุกคนในขบวนเสด็จเห็นสะดุดตาสะดุดใจก็คือ บนยอดหน้าจั่วหลังคามีธงช้างขนาดเล็กติดไว้เด่นชัด ส่วนเจ้าของบ้านและครอบครัวก็พากันมาหมอบเฝ้าด้วยสีหน้าปีติยินดีอยู่หน้าบ้าน จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บรรยายถึงธงช้างนั้นไว้ว่า 

จะเป็นด้วยความรีบร้อนจนหมดโอกาสพิจารณา หรือสะเพร่าไม่ทันสังเกต หรือโง่เขลาเบาปัญญาอย่างไม่น่าจะเป็นได้อะไรสักอย่างหนึ่งก็ตาม ธงชาติรูปช้างผืนนั้นปลิวสบัดอยู่ในลักษณะช้างนอนหงาย เอาสี่เท้าชี้ฟ้าอยู่ โดยเจ้าของบ้านจะแสดงกิริยาแปลกประหลาดหรือรู้ตัวแต่สักนิดก็หาไม่” 

บรรยากาศขณะนั้นจึงอยู่ในภาวะที่อึดอัด เพราะเมื่อทอดพระเนตรเห็นธงช้างในลักษณะนั้นพร้อมๆ กับข้าราชบริพารคนอื่นอีกแล้ว จมื่นอมรดรุณารักษ์บรรยายถึงบรรยากาศตอนนี้ไว้ว่า 

ฉับพลันพระเนตรก็แปรไปเมินมองทางอื่น เสมือนมิได้มีสิ่งใดเป็นที่พึงสังเกตผิดปกติขึ้น แต่ทว่าสีพระพักตร์นั้นสิ ผู้เขียนขอย้ำว่าได้สกิดความรู้สึกในใจขึ้นในบัดดลจริงๆ ว่าดูประหนึ่งจะทรงมีความสะเทือนพระราชหฤทัยไปในทางสลดสังเวชมากกว่าทรงพระพิโรธ หรือไม่พอพระทัยอย่างใดอย่างหนึ่ง

บรรยากาศเริ่มคลี่คลายลง เมื่อขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านบ้านหลังนั้นมาแล้ว พระพักตร์กลับทรงยิ้มแย้มทอดพระเนตรราษฎรและภูมิประเทศด้วยพระอาการเหมือนดังกำลังสำราญพระราชหฤทัย

หลังจากเสด็จฯ กลับจากเมืองอุทัยธานีแล้ว ทุกคนก็ได้ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครุ่นคิดถึงเรื่องราวและภาพที่ทรงผ่านพบอยู่ตลอดเวลา เพราะทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก เพราะทรงตระหนักพระทัยว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศจึงมีราคาแพง ราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน

ครั้งแรกทรงทดลองใช้ผ้าชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงขาวเพลาะสลับกันเป็น 5 ริ้ว วิธีทำก็ง่ายวิธีใช้ก็ง่าย เพราะจะใช้ด้านไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวจะติดผิดทางเหมือนธงช้าง ทรงใช้ธงแดงขาว 5 ริ้วนี้ชักขึ้นที่สนามเสือป่าเป็นครั้งแรก แต่เมื่อทางพิจารณาดูแล้วไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะดูจืดชืดไม่งดงามจับตา จึงทรงคิดที่จะหาวิธีที่จะตกแต่งให้งดงามและได้ลักษณะสมพระราชประสงค์

ทรงรำลึกถึงสีน้ำเงินอันเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ ซึ่งทรงยึดถือเป็นสีประจำพระองค์อยู่แล้ว ทรงจัดวางรูปริ้วผ้าใหม่โดยนำริ้วสีน้ำเงินที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของสีขาวและสีแดงไว้ตรงกลาง ขนาบด้วยสีขาวทั้งล่างและบน มีสีแดงอยู่ริม 2 ข้าง

พระองค์พระราชทานความหมายไว้ว่า สีแดง หมายถึงชาติ ซึ่งคนไทยทุกคนต้องรักษาไว้แม้ต้องสละเลือดและชีวิต สีขาว คือศาสนาซึ่งบริสุทธิ์ดุจสีขาว ส่วน สีน้ำเงิน หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นโปรดให้ทดลองนำขึ้นสู่เสา ดูสง่างาม และมีความหมายแสดงสัญลักษณ์ของชาติไว้อย่างครบถ้วนตามพระราชประสงค์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระราชทานนามว่า ธงไตรรงค์ ประกาศเป็นธงประจำชาติไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.. 2460

อาจกล่าวได้ว่า พระราชปรารภเรื่องการห้อยผ้าแดงของชาวเมืองอุทัยธานีในครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธงประจำชาติไทย จาก “ธงช้าง” มาเป็น “ธงไตรรงค์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2560