เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น ปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม

เพลงยาว อนุสรณ์สถาน เจ้าฟ้าเหม็น วัดอไภยทาราม
(ซ้าย) เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ (ขวา) พระอุโบสถวัดอไภยทาราม

เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น ปฏิสังขรณ์ “วัดอไภยทาราม” เป็นอย่างไร?

เจ้าฟ้าเหม็น หรือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติแต่พระมารดาซึ่งเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2322 ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้เปลี่ยนพระนามเป็น “เจ้าฟ้าอไภยธิเบศ” เมื่อพุทธศักราช 2326 แล้วสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต เมื่อพุทธศักราช 2350 และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในข้อหากบฏ เมื่อพุทธศักราช 2352 หลังจากรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคตเพียง 7 วัน

เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระราชนัดดา “องค์โปรด” ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ดังจะเห็นได้จากคราวที่ทรงสถาปนาเป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุน” เมื่อพุทธศักราช 2350 โปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระนามลงในพระสุพรรณบัฏ โดยใช้แผ่นทองคำที่มีน้ำหนักมากกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอองค์อื่นๆ ทั้งเป็นทองเนื้อ 8 เสมอด้วยพระสุพรรณบัฏของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งการใช้เนื้อทองที่ต่างกันจารึกพระนามนั้น เป็นการแบ่งชั้นของเจ้านายที่ได้รับการสถาปนาอย่างชัดเจน

กระนั้นเรื่องราวของเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์พระองค์นี้ ก็หาได้ปรากฏในพระราชพงศาวดารและเอกสารต่างๆ มากนัก แม้อนุสรณ์สถานที่พระองค์ได้ทรงสถาปนาไว้จะมีอยู่ แต่กลับไม่มีใครรู้จัก และอนุสรณ์สถานแห่งนั้นน่าจะมีส่วนในการสิ้นบุญวาสนาของพระองค์ด้วย

พระอุโบสถวัดอไภยทาราม หรือวัดอภัยทายารามในปัจจุบัน ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ตรงบริเวณพระอุโบสถเก่า เมื่อ พ.ศ. 2489

เพลงยาว “เจ้าฟ้าเหม็น” ปฏิสังขรณ์ วัดอไภยทาราม

เอกสารที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกิจสำคัญของ “เจ้าฟ้าเหม็น” ที่จะนำเสนอในข้อเขียนนี้คือ เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม ต้นฉบับเรื่องนี้เป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร แต่งเป็นเพลงยาว 189 คำกลอน

เนื้อหาว่าด้วยเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตทรงปฏิสังขรณ์ “วัดอไภยทาราม” ปลายคลองสามเสน เมื่อจุลศักราช 1160 (พุทธศักราช 2341) ใช้เวลาก่อสร้างอยู่นานถึง 8 ปี จึงสำเร็จ และมีการฉลองอย่างมโหฬารในจุลศักราช 1168 (พุทธศักราช 2349) เพลงยาวดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้แต่งและปีที่แต่ง เริ่มต้นว่า

สุริย์วารอาสุชมาสี

กาฬปักษ์ทวาทัศมี

ปีมะเมียสัมฤทธิศกประมาณ

สมเด็จพระขัตติยาภากรมขุน

กระษัตรานุชิตสุนทรไพศาล

ประณามน้อมอัญชลิตกฤษดาญ

ถวายกฐินทานสงฆ์สังวรครอง

ในอารามที่ปลายซองคลองสามเสน

เห็นบริเวณเป็นแขมคาป่าร่องหนอง

ไม่รุ่งเรืองงามอร่ามด้วยแก้วทอง

ไร้วิหารห้องน้อยหนึ่งมุงคา

คำประพันธ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า แต่งขึ้นหลังจากที่เจ้าฟ้าเหม็นได้ “ทรงกรม” แล้ว ในที่นี้สันนิษฐานว่าข้าในพระองค์ผู้ใดผู้หนึ่งแต่งขึ้นเฉลิมพระเกียรติในคราวที่ได้ “ทรงกรม” ลีลากลอนที่ปรากฏค่อนข้างอิสระ คล้ายกับกลอนที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 1 เรื่องอื่นๆ เช่น เพลงยาวพระราชนิพนธ์และนิพานวังหน้า

สาระในคำประพันธ์ข้างต้นนั้นสรุปได้ว่า “เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่วัดปลายคลองสามเสน เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 12 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1160” และเสด็จฯ ทรงก่อฤกษ์อุโบสถในเดือนยี่ ปีเดียวกัน

เสนาสนะที่ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาขึ้นใหม่ ประกอบด้วย อุโบสถก่ออิฐถือปูน เครื่องบนทำเป็นรูปพรหมพักตร์แทนช่อฟ้า เทพนมแทนหางหงส์ หน้าบันรูปนกยูง บานประตูเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง ผนังเขียนจิตรกรรมลายก้านแย่ง พระประธานนั่งสมาธิมีพระอัครสาวกซ้ายขวา กำแพงแก้วมีประตู 4 ด้าน ตรงมุมมีเจดีย์ด้านละองค์ ด้านทิศใต้ของอุโบสถมีเจดีย์ใหญ่ นอกกำแพงแก้วมีศาลาท่าน้ำ 2 หลัง หอไตร กุฎีสงฆ์ หอระฆังและเสนาสนะต่างๆ ครบบริบูรณ์ ตัวอย่างความในเพลงยาวที่กล่าวถึงพระอุโบสถ เช่น

สัณฐานทรงทรงสร้างเป็นอย่างตึก

สูงพิฦกลอยล้ำประจำสนาม

แทนช่อฟ้าหน้าพรหมจำรัสงาม

ตามลำยองทองทาบกระจังเรียง

ต่างเศียรนาคนั้นเทพพนมหัตถ์

โฉมสวัสดิ์ดังจะหยัดแย้มเสียง

ทรงสร้อยเทริดสังวาลวรรณกรรเจียกเคียง

รัดเอวเรียงสายรัตน์วไลกร

ถึงจุลศักราช 1163 (พุทธศักราช 2344) ตัวอุโบสถแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเสนาสนะอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จฯ ผูกพัทธสีมา ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสององค์

ผู้ทรงธรรม์อันสถิตมหาสถาน

ก็เสด็จด้วยราชบริพาร

กระบวนธารชลมารคมหึมา

ถึงประทับพลับพลาอาวาสวัด

ดำรัสการที่จะสืบพระศาสนา

สะท้านเสียงดุริยสัทโกลา

กาหลดนตรีประโคมไชย

ฉลองอารามยิ่งใหญ่

การก่อสร้างทุกอย่างสำเร็จบริบูรณ์เมื่อปีขาล จุลศักราช 1168 (พุทธศักราช 2349) ขนานนามว่า วัดอไภยทาราม ตามพระนามของผู้ทรงสถาปนา เจ้าฟ้าอไภยธิเบศจัดงานฉลองอารามอย่างยิ่งใหญ่

พันร้อยหกสิบแปดปีขาล

กำหนดการกิจฉลองเสร็จประสงค์

คู่นาวีศรีแย่งสุวรรณผจง

จงกลทรงพู่ผ้าหน้าดาวทอง

ฝีพายสวมเสื้อหมวกศรีสักหลาด

ลำพาหนาสน์พระที่นั่งนั้นทั้งสอง

บรรทุกบาตรแลกาสาผ้าไตรครอง

เรือพายชักชักประคองสองคู่เคียง

ฝ่ายหน้าข้าราชการในกรมแห่

พร้อมกลองแตรปี่พาทย์หวาดหวั่นเสียง

เรือนางเหล่ามโหรีมีสำเนียง

ขับเรียงลำตามไปในหลังชล

บานประตูเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง ตามลายเดิมของพระอุโบสถเก่า

กระบวนแห่คราวนั้นใช้คนถึง 2,000 นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมในงาน 1,700 รูป ประกาศพระบารมีว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญที่น่าจับตามอง มีงานฉลอง 7 วัน 7 คืน ตั้งศาลาทาน 10 แห่ง บริจาคยาจกวณิพกถ้วนหน้า มหรสพกลางคืนประกอบด้วยละครในเล่นเรื่องอิเหนา หนัง 2 โรง หุ่น 2 โรง นอนหอกนอนดาบ โตล่อแก้ว หกคะเน ไต่ลวด เล่นเพลง จุดดอกไม้เพลิงนานาชนิด

แต่คืนวันที่หนึ่งถึงที่เจ็ด

แม้นเอาเพชรขึ้นไปปรายรายเวหา

แสนทะนานก็ไม่ปานแสงไม้ระทา

พลุลั่นเลื่อนลอยฟ้าแลเลือนดาว

จะเห็นว่ามหรสพต่างๆ ในงานสมโภชเป็นของหลวงทั้งหมด แสดงถึงบารมีของผู้เป็นเจ้าของงาน ซึ่งอยู่ในฐานะสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ “องค์โปรด” มหรสพกลางวัน มีละครในเล่นเรื่องอิเหนา มีมวยทั้งชายและหญิง ประทานรางวัลอย่างไม่อั้น

ทิ้งรางวัลแล้วร้องเรียกมวยผู้หญิง

ดูขันจริงทำแสยะแบะแบย่าง

เอาหมัดสั้นตีถองถูกปากคาง

เลือดไม่แดงเหมือนน้ำฝางอย่างมือชาย

กอดคอฟัดสลัดล้มลงทั้งคู่

ผ้าบังอยู่จึ่งไม่เห็นเป็นเบี้ยหงาย

ถึงให้ทองก็ควรที่มิเสียดาย

จึ่งเรียกเงินท้ายที่นั่งให้รางวัล

วันสุดท้ายตั้งบายศรีเงิน บายศรีทอง บายศรีแก้ว เวียนเทียนสมโภชรอบพระอุโบสถ ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนับแต่สร้างกรุงถ้าไม่นับงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ หลังจากสมโภชวัดอไภยทารามแล้ว ปีต่อมา รัชกาลที่ 1 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าฟ้าอไภยธิเบศเป็น “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต”

พระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ตอนสุดท้ายของเพลงยาวสมโภชวัดอไภยทาราม ผู้ประพันธ์ทิ้งปริศนาไว้น่าคิดคือ

เมื่อฉลองมีเทศน์ยี่สิบแปดกัณฑ์

เลี้ยงพระสงฆ์พันเจ็ดสิบสาม

เงินร้อยสามสิบชั่งสิ้นพองาม

แจกจำหน่ายตามอย่างบัญชี

คิดทั้งสร้างแลฉลองเข้ากันเสร็จ

เป็นเงินร้อยเก้าสิบเบ็ดชั่ง

ขอเป็นพระชนะมารได้บัลลังก์

จะนำสัตว์ไปยังนิพพานเอย ฯ

“ขอเป็นพระชนะมารได้บัลลังก์” หมายถึงขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งตามคติไทยถือว่าผู้ที่อยู่ในสถานะดังกล่าวมีแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น เหตุนี้กระมังเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าเหม็นจึงถึงกาลอวสาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2561