พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ ตอนที่ 1

(ซ้าย) พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนหลังช้าง เคลื่อนขบวนจากเชียงรายไปเชียงใหม่ (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหงส์รัตนาราม) (ขวา) พระเจ้าอนุรุทธทูลขอ พระแก้วมรกต จากพระเจ้ากรุงลังกา (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหงส์รัตนาราม)

เมื่อผู้เขียนอ่านตำนานพระแก้วมรกต ในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ที่รวบรวม “เอกสารอันเป็นหลักฐานที่แสดงความเป็นมาดั้งเดิมของ พระแก้วมรกต…หลายสำนวน” จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ในโอกาสที่ศิลปวัฒนธรรมรายเดือนมีอายุขึ้นปีที่ 25[2] ก็ได้เกิดคำถามหลายข้อขึ้นมาในใจ

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ

ทำไมตำนานในล้านนาจึงพยายามเล่าว่า “พระแก้วมรกต” ไม่ได้ทำมาจาก “แก้วมณีโชติ” อันเป็นแก้วที่สำคัญที่สุดในบรรดาแก้วทั้งเจ็ดประการของพระจักรพรรดิราช? ทำไมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงให้ความสำคัญแก่ “พระแก้วมรกต” มาก ถึงกับทรงเฉลิมพระนามราชธานีใหม่และพระนามพระอารามประจำพระบรมมหาราชวังให้สอดคล้องกับพระพุทธรูปพระองค์นี้?

ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเรียกว่า “พระมหามณีรัตนปฏิมากร” โดยตัดเรื่องพระอินทร์ไปขอแก้วมณีโชติไม่สำเร็จและต้องเปลี่ยนมาใช้ “แก้วอมรกต” แทนออกไปเสีย ทั้งๆ ที่ในคำบรรยายภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องตำนาน “พระแก้วมรกต” ณ วัดหงส์รัตนาราม ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 4 นี้ ยังคงเรื่องราวตอนนี้เอาไว้[3] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในเวลานั้นเรื่องราวในตำนานที่มีมาแต่โบราณยังมิได้ถูกลืมเลือนไปแต่อย่างใด? และทำไมในที่สุดแล้วคนไทยจึงคิดว่า “พระแก้วมรกต” ทำมาจากแก้วที่มีมูลค่าสูง ตรงกันข้ามกับความคิดเดิมในตำนานฉบับล้านนาและฉบับหลวงพระบางที่เน้นความเป็นแก้วไม่มีราคา? ฯลฯ

พระอินทร์ขอแก้วมณีโชติจากราชากุมภัณฑ์ (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหงส์รัตนาราม)

คำถามข้างต้นทำให้ผู้เขียนสร้างสมมุติฐานเบื้องต้นว่า ความหมายหรือความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” มิได้หยุดนิ่ง หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท และเมื่อผู้เขียนได้ศึกษา “การเดินทางของพระแก้วมรกต จากล้านนาสู่ล้านช้างถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ” ก็พบว่าความหมายหรือความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” มีความเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลาด้วยกัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของความหมายหรือความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” นี้ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลึกซึ้ง

ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์การเดินทางของ “พระแก้วมรกต” จึงไม่เพียงแต่ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของความหมายหรือความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคพื้นทวีปได้ไม่น้อยอีกด้วย

ในที่นี้จะขอแบ่งประวัติศาสตร์การเดินทางและความหมายของ “พระแก้วมรกต” ออกเป็น 5 ยุค เพื่อวิเคราะห์ความหมายของ “พระแก้วมรกต” ในแต่ละยุค ดังนี้

1. ยุคที่ “พระแก้วมรกต” มีฐานะเป็น “แก้วมณีโชติ”

หากอ่าน “ตำนานพระแก้วมรกต” ที่ได้รับการเขียนขึ้น ในระหว่าง พ.ศ. 2060-2071 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชินกาลมาลีปกรณ์ และเป็นตำนานฉบับแรกที่เล่าประวัติของ “พระแก้วมรกต” ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็จะเห็นถึงความพยายามของพระรัตนปัญญาเถระ พระภิกษุนักปราชญ์แห่งเชียงใหม่ ในการพรรณนาให้เห็นว่าเมื่อพระอรหันต์นาคเสนเถระคิดจะสร้าง “พระแก้วมรกต” ขึ้นนั้น พระอินทร์ได้เสด็จไปขอแก้วมณีโชติของพระจักรพรรดิราชมาจากพวกกุมภัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าแก้วมณีโชติอยู่ เพื่อจะใช้ในการสร้างพระพุทธรูป แต่ทรงขอไม่สำเร็จ ต้องเปลี่ยนมาใช้ “แก้วอมรกต” (คือแก้วที่เทวดาสร้าง) แทน[4]

ความพยายามที่จะปฏิเสธว่า “พระแก้วมรกต” ไม่ใช่แก้วมณีโชติ สะท้อนว่า ก่อนที่พระรัตนปัญญาเถระจะเขียนชินกาลมาลีปกรณ์ (คือก่อนปี พ.ศ. 2060) นั้น คงมีความเชื่อกันทั่วไปในล้านนาว่า “พระแก้วมรกต” ก็คือแก้วมณีโชติของพระจักรพรรดิราช มิฉะนั้นก็คงไม่มีความจำเป็นอันใดที่ผู้แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ จะต้องบรรยายถึงความพยายามของพระอินทร์ (ท้าวสักกะเทวราช) ที่จะนำเอาแก้วมณีโชติของพระจักรพรรดิราชมาสร้างพระพุทธรูป

โดยเล่าว่าเมื่อพระอินทร์มีพระบรมราชโองการให้พระวิสสุกรรมไปขอแก้วมณีโชติ แล้วพระวิสสุกรรมกราบบังคมทูลว่า ราชากุมภัณฑ์คงจะไม่ยอมให้แก้วมณีโชติมาเป็นแน่ เนื่องจากเป็นเครื่องราชูปโภคของพระจักรพรรดิราช พระอินทร์ก็ถึงกับเสด็จไปขอด้วยพระองค์เอง แม้กระนั้นราชากุมภัณฑ์ก็หาได้ให้แก้วมณีโชติแก่พระอินทร์ไม่ แต่แนะนำให้ใช้แก้วอมรกต (ซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่า) แทน

เพราะเหตุใดพระรัตนปัญญาเถระจึงต้องเขียนถึงความล้มเหลวในการขอแก้วมณีโชติ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ต่อไปข้างหน้า

“พระแก้วมรกต” ได้รับการสร้างขึ้นในล้านนา ยุคที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัย ดังที่อาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย[5] เมืองซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ “พระแก้วมรกต” นี้อาจจะได้แก่เมืองเวียงไชยซึ่งเป็นเมืองโบราณสำคัญเมืองหนึ่งใกล้กับเมืองเชียงราย เพราะเป็นบริเวณที่พบพระพุทธรูปหินทรายจำนวนหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “พระแก้วมรกต”[6] แต่เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จึงมีการเล่าและเขียนประวัติให้ “พระแก้วมรกต” เดินทางผ่านกาลเวลาอันยาวนานในโลกพระพุทธศาสนา เริ่มจากกำเนิด ณ เมืองปาฏลีบุตรในอินเดีย ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาช่วยพระอรหันต์นาคเสนในการสร้าง โดยได้ทรงเชิญ “พระวิสสุกรรม” ลงมาเป็นช่าง เมื่อสร้างเสร็จก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึง ๗ องค์เข้าไปสถิตอยู่ในส่วนต่างๆ ขององค์พระรัตนปฏิมา หลังจากนั้นก็พรรณนาถึงการเดินทางของ “พระแก้วมรกต” จากอินเดียสู่ลังกา กัมโพช กำแพงเพชร แล้วจึงมาถึงล้านนา

พระแก้วมรกต ขณะมิได้ประดับเครื่องทรง

ตามตำนานนั้น “พระแก้วมรกต” เป็นที่ปรารถนาหรือได้รับการบูชาจากพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์สากลของพุทธศาสนาหลายพระองค์ด้วยกัน รวมทั้งพระเจ้าอนุรุทธแห่งอาณาจักรพุกามด้วย แต่กษัตริย์แห่งพุกามไม่เคยได้ “พระแก้วมรกต” ไปบูชาเลย เมื่อพระเจ้าอนุรุทธเสด็จไปอัญเชิญพระไตรปิฎกและ “พระแก้วมรกต” มาจากลังกานั้น บางตำนานเล่าว่าพระเจ้าอนุรุทธดีใจที่ได้พระไตรปิฎกจนลืม “พระแก้วมรกต”[7] แต่บางตำนานผู้เขียนคงต้องการเน้นความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” มากเกินกว่าจะเล่าว่าเป็นพระพุทธรูปที่ถูกลืม จึงเล่าไปในทำนองว่าเรือลำที่บรรทุกพระไตรปิฎกไปนั้นลอยไปพุกาม แต่เรืออีกลำหนึ่งได้นำ “พระแก้วมรกต” ลอยไปสู่พระนครหลวง (นครธม) ประหนึ่งว่าลอยไปด้วยบุญญานุภาพของ “พระแก้วมรกต” เอง[8] นัยยะของเรื่องนี้ก็คือ “พระแก้วมรกต” ไม่เคยประดิษฐานอยู่ในประเทศพม่าและคงไม่เป็นที่รู้จักในประเทศพม่า ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อกองทัพพม่าตีได้เมืองเวียงจันครั้งแรกใน พ.ศ. 2106 นั้น ได้นำเอาเจ้านางคำไข เจ้านางแท่นคำ พระยานคร และเจ้าอุปราช ไปพม่า[9] แต่หาได้อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” ไปไม่ “พระแก้วมรกต” จึงเป็นพระพุทธรูปที่นับถือกันอย่างสูงในหมู่ชนชาติไท-ลาว แต่คงไม่เป็นที่รู้จักในพม่าแต่อย่างใด

อนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า แม้แต่คนไทยในพระราชอาณาจักรอยุธยาก็มิได้รู้จัก “พระแก้วมรกต” ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาทั้ง ๓๓ พระองค์นั้น “หาได้พระพุทธรัตนปฏิมากรอันวิเศษพระองค์นี้ลงมาไว้ในพระนครไม่ แต่ข่าวคราวว่าพระแก้วมีอยู่ก็ไม่ได้ความว่าทราบมาเลย”[10]

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบถึงความสำคัญของพระแก้วมรกตเป็นอย่างดี เมื่อได้ “พระแก้วมรกต” มาจากเวียงจันจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ดังปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับงานฉลอง “พระแก้วมรกต” ใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ว่า “การฉลองพระนี้ดูเจ้ากรุงธนบุรีเองจะสนุกมากกว่าคนอื่น”[11]

ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าชนชั้นนำของราชอาณาจักรอยุธยาคงจะมีความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของ “พระแก้วมรกต” อยู่แล้ว เมื่อเจ้าพระยาจักรีตีได้นครเวียงจันจึงได้อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” กลับมา และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิทรพิทักษ์เสด็จขึ้นไปรับถึงท่าเจ้าสนุก เมืองสระบุรี และพระองค์เองก็ “เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกฎ ณ พระตำหนักบางธรณี”[12] แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เช่นนั้น

“พระแก้วมรกต” คงได้รับการสร้างขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นเวลาที่เมืองสำคัญหลายเมืองในล้านนาเข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองพะเยา เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ น่าน เพราะในช่วงเวลานี้การค้าในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวมาก รวมทั้งการค้าทางบกในอาณาบริเวณภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน อันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนาและล้านช้าง

โดยมีเส้นทางการค้าทางบกเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงดินแดนเหล่านี้เข้าหากัน และมีเส้นทางการค้าเชื่อมโยงดินแดนแถบนี้กับตลาดสำคัญในสองภูมิภาคใกล้เคียง คือเมืองท่าชายฝั่งทะเลอันดามันซึ่งในเวลานั้นการค้าทางทะเลได้ขยายตัวขึ้นมาก และเมืองต่างๆ ในแถบยูนนาน ซึ่งจำนวนประชากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาของประชาชนจากเอเชียกลางและตอนกลางของจีน[13] ผู้ปกครองเมืองต่างๆ ในล้านนาและล้านช้าง มีรายได้จากการทำให้เมืองของตนเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ คือมีสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดที่จะดึงดูดพ่อค้าจากต่างถิ่น (ซึ่งอาจเป็นเจ้า ขุนนาง หรือตัวแทนการค้าของเจ้าและขุนนาง ตลอดจนพ่อค้าทั่วไป) ให้เดินทางเข้ามาค้าขาย

วัดพระแก้ว เชียงราย เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน

เนื่องจากการค้าแบบโบราณต้องอาศัยการจัดตั้งกำลังคนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน และพ่อค้าบางคนก็อาจทำการปล้นสะดมในบางโอกาส (ถ้าเป็นการค้าทางเรือก็อาจเป็นทั้งพ่อค้าและโจรสลัดไปพร้อมกัน) และพ่อค้าที่มั่งคั่งและมีกำลังคนมากนี้เองที่จะสามารถตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์และพยายามขยายอำนาจออกไป โดยที่การทำสงครามก็คือการปล้นขนาดใหญ่นั่นเอง เพราะถ้ารบชนะก็จะทำการกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สิน และบังคับให้ส่งสินค้าไปให้เป็นรายปีที่เรียกเป็นศัพท์ว่าเครื่องราชบรรณาการ

อย่างไรก็ตามเมื่อพ่อค้าตั้งตัวเป็นใหญ่ในบ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง จนมีลักษณะเป็นแคว้นหรือเป็นรัฐขนาดเล็กแล้ว ย่อมจะต้องสร้างสรรค์พิธีกรรมและประเพณีของความสัมพันธ์ทางสังคมที่จะทำให้เกิดระเบียบและความสงบสุขขึ้นมาในรัฐ เพื่อเอื้อให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น สามารถทำการผลิตและทำการค้าอย่างสะดวกและมั่นคงพอสมควร การขยายอำนาจก็มิได้ใช้อำนาจดิบคือกองทัพเสมอไป แต่อาจอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และการแสดงแสนยานุภาพให้ปรากฏเพื่อบีบบังคับให้ผู้ปกครองเมืองที่อ่อนแอกว่ายอมถวายบรรณาการ

ช่วงเวลาที่ “พระแก้วมรกต” ได้รับการสร้างขึ้นในล้านนานี้ เป็นช่วงเวลาที่เมืองต่างๆ ในล้านนาเข้มแข็งขึ้นจากการขยายตัวของการค้า และต่างก็พยายามขยายอำนาจออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะครอบครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (คือกำลังคน แหล่งผลิตสินค้า ตลาด และเครื่องราชบรรณาการ) เกิดเป็นอาณาจักร คือมีเมืองราชธานีเป็นศูนย์กลาง และมีเมืองที่อ่อนแอกว่าเป็นบริวาร แต่อาณาจักรในยุคแรกนี้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เท่านั้น ผู้ปกครองเมืองต่างๆ มักเป็นญาติกัน อาจโดยทางสายเลือดหรือโดยการแต่งงาน แต่การเป็นญาติกันก็ไม่เป็นหลักประกันว่าจะไม่แย่งอำนาจกัน หรือว่าจะช่วยให้รวมตัวกันได้มั่นคงเสมอไป

การแย่งชิงอำนาจกันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้แต่พระเจ้าติโลกราชก็แย่งอำนาจจากพระราชบิดา คือพระเจ้าสามฝั่งแกน โดยได้รับความช่วยเหลือจากขุนนางและพระปิตุลาซึ่งเป็นเจ้าครองนครลำปาง ส่วนพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งในเวลาต่อมาได้ครองเชียงใหม่ก็หาได้กลับไปครองล้านช้างอย่างราบรื่นไม่ หลังจากที่พระโพธิสารราชพระราชบิดาสวรรคต ก็ต้องทำการแย่งชิงอำนาจจากพระอนุชาต่างพระมารดา และแม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มากของล้านช้าง แต่ในที่สุดก็ถูกผู้อื่นแย่งชิงราชสมบัติไปเช่นกัน และทรงหายสาบสูญไปเมื่อมีพระชนมายุเพียง 38 พรรษาเท่านั้น[14]

ในท่ามกลางการเกิดอาณาจักรอย่างหลวมๆ และการช่วงชิงอำนาจกันเพื่อครอบครองผลประโยชน์ทางการค้าตลอดจนผู้คน ช้างม้า ทรัพย์สินเงินทองดังกล่าวข้างต้นนี้ พระพุทธศาสนาและ “พระแก้วมรกต” มีบทบาทอย่างมาก

ก่อนที่ลัทธิลังกาวงศ์จะเข้ามาในล้านนา พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบหริภุญไชยมีอิทธิพลอยู่ในเมืองต่างๆ อยู่แล้ว ลัทธิลังกาวงศ์คงมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเหนือคณะสงฆ์มากขึ้น ดังปรากฏว่าเมื่อลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยมาถึงเชียงใหม่ในรัชกาลพญากือนา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์นิกายเดิมคือเถรวาทแบบหริภุญไชยนั้น ทำพิธีบวชใหม่ถึง 8,400 รูป[15] เมื่อพระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ที่ไปบวชจากลังกาโดยตรงเดินทางมาถึงเชียงใหม่ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช พระองค์ก็ทรงอุปถัมภ์พระสงฆ์นิกายลังกาวงศ์ใหม่ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดป่าแดง เพื่อลดอิทธิพลของพระสงฆ์นิกายลังกาวงศ์เดิม โดยอ้างว่าวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก (นิกายลังกาวงศ์เดิม) ครอบครองทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งผิดหลักพระธรรมวินัย[16]

นอกจากศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์จะช่วยให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเหนือคณะสงฆ์มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ทรงได้รับความเคารพเชื่อฟังจากประชาชน ด้วยการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาสร้างความเชื่อร่วมกันในหมู่คนทั้งหลายในอาณาจักร และการแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีอายุครบห้าพันปีตามคติปัญจอันตรธาน รวมทั้งการเป็นผู้ครอบครองและปฏิบัติบูชาศาสนวัตถุและศาสนบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน เช่น พระพุทธรูปสำคัญ พระธาตุสำคัญ พระภิกษุสงฆ์สำคัญ ที่จะดึงดูดพุทธศาสนิกชนให้เดินทางมาสักการบูชาและทำบุญอยู่เสมอ ส่งผลให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นผู้นำในการดูแลรักษา และทรงเป็นประธานในพระราชพิธีบูชาพระพุทธรูปและพระธาตุเหล่านั้น ทั้งนี้โดยจะมีการแต่งตำนานเมืองและตำนานปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เน้นการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์นำไปถ่ายทอดเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาร่วมกันอีกด้วย

ในพุทธศตวรรษที่ 20 และ 21 แนวคิดสำคัญที่มาจากการตีความพระพุทธศาสนาซึ่งได้รับการเน้นในล้านนา อยุธยา และหลวงพระบาง คือแนวคิดเรื่องพระจักรพรรดิราช คือกษัตริย์ที่เป็นใหญ่เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย เนื่องจากได้ทรงขยายพระราชอำนาจออกไปโดยมีแก้วมณีโชตินำเสด็จไปในทิศต่างๆ จนกระทั่งทรงมีพระบรมเดชานุภาพเหนือเมืองทั้งปวง และทรงเป็นประธานในการจรรโลงธรรมะในเวลาที่ไม่มีพระพุทธเจ้าทรงบังเกิดในโลกมนุษย์

แนวคิดนี้เห็นได้ชัดเจนในพระนามของพระมหากษัตริย์ซึ่งแสดงถึงความเป็นใหญ่ในจักรวาล หรือความเป็นใหญ่ในไตรภูมิ เช่นพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา (พ.ศ. 1985-2034)[17] พระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา (พ.ศ. 1991-2031) และพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว (พ.ศ. 1999-2022) กับพระยาหล้าแสนไตรภูวนาถ (พ.ศ. 2028-2038) แห่งหลวงพระบาง พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีบทบาทในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองและการอุปถัมภ์พุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แนวคิดเรื่องจักรพรรดิราชตามคติพุทธศาสนาจึงสอดคล้องกับการขยายอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกษัตริย์เหล่านี้เป็นอย่างดี

“พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปสำคัญในช่วงเวลาที่กษัตริย์เชื้อสายไท-ลาวทั้งหลายกำลังพยายามขยายอำนาจออกไปให้กว้างขวางที่สุด ทั้งโดยการทำสงครามระหว่างกันและการสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ในเวลานั้น “พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปเพียงองค์เดียวที่ทำจากแก้ว จึงน่าจะเป็นความจงใจของผู้สร้างที่จะทำให้ “พระแก้วมรกต” มีความหมายในฐานะเป็น “แก้วมณีโชติ” ของพระจักรพรรดิราช (จนกระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 22 จึงมีการสร้างพระพุทธรูปอื่นๆ ด้วยแก้ว ซึ่งก็เป็นเพียงพระพุทธรูปขนาดเล็กเท่านั้น)[18]

๑ พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนหลังช้าง เคลื่อนขบวนจากเชียงรายไปเชียงใหม่ (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหงส์รัตนาราม),  ๒ รัตนพิมพวงศ์ หรือตำนานพระแก้วมรกต ต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดไทย,  ๓ พระเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในสมัยพระเจ้าติโลกาช

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระประสบการณ์เกี่ยวกับพระพุทธรูปโบราณมามาก ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า “พระแก้วมรกต” น่าเป็นฝีมือช่างลาวในแถบเมืองเชียงแสน และผู้ครอบครอง “พระแก้วมรกต” ก็น่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นจนสามารถแผ่อาณาจักรได้ใหญ่โต ดังความว่า

เมื่อเปรียบเทียบไปโดยละเอียด ดูเหมือนว่าจะเป็นฝีมือช่างลาวเหนือโบราณข้างเมืองเชียงแสน…แลถึงจะเป็นช่างที่เมืองลาวก็จะเป็นช่างดีช่างเอกทีเดียวมิใช่เลวทราม ด้วยเป็นของงามดีเกลี้ยงเกลาอยู่ไม่หยาบคาย…คงจะเป็นของท่านผู้มีบุญ เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองของชนที่นับถือพุทธศาสนามากกว่าถือผีสางเทวดา…และมีบุญญานุภาพแข็งแรงมากกว่าเมืองใกล้เคียงโดยรอบคอบ และแผ่อาณาจักรได้โตใหญ่สมควรแก่เวลาเมื่อมนุษย์ยังไม่มีปืนใหญ่ปืนน้อยใช้ [19]

ด้วยเหตุที่เชื่อกันว่า “พระแก้วมรกต” เป็น “แก้วมณีโชติ” ของพระจักรพรรดิราชนี้เอง ที่ทำให้กษัตริย์ที่ต้องการเป็นใหญ่เหนือกษัตริย์อื่นๆ ในล้านนา พยายามช่วงชิง “พระแก้วมรกต” มาครอบครอง

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ประมาณว่า “พระแก้วมรกต” มาเชียงใหม่ราว พ.ศ. 2022-2025 ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช[20] ก่อนที่ “พระแก้วมรกต” จะได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานในเชียงใหม่ พระแก้วประดิษฐานอยู่ที่เชียงรายซึ่งเป็นเมืองสำคัญไม่น้อยไปกว่าเชียงใหม่ เพราะอาณาจักรล้านนาในยุคต้นนี้ เมืองที่เป็นศูนย์อำนาจหรือเป็นที่ประทับของกษัตริย์มิใช่มีแต่เชียงใหม่เมืองเดียว แต่มีหลายเมืองด้วยกัน ในสมัยที่พญาสามฝั่งแกนครองเชียงใหม่ (พ.ศ. 1945-1984) เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่มีอำนาจมากขึ้น พระองค์คงจะทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าผู้ครองนครเชียงรายส่ง “พระแก้วมรกต” มาถวาย

“ตำนานพระแก้วมรกต” ทั้งฉบับที่เป็นส่วนหนึ่งของชินกาลมาลีปกรณ์ และฉบับที่มีชื่อว่ารัตนพิมพวงศ์ ซึ่งพระพรหมราชปัญญาเป็นผู้แต่ง เล่าไว้ตรงกันว่า ช้างทรงของ “พระแก้วมรกต” ไม่ยอมเดินทางมาเชียงใหม่ แต่เดินทางไปลำปางแทน เข้าใจว่าในเวลานั้นเจ้าผู้ครองนครเชียงรายยอมอ่อนน้อมต่อพญาสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่แล้ว จึงต้องส่ง “พระแก้วมรกต” มาถวายพญาสามฝั่งแกน ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อพญาสามฝั่งแกนเกณฑ์ทัพจากเมืองต่างๆ อันได้แก่เชียงแสน ฝาง พะเยา เชียงของ ไปต่อสู้กับกองทัพฮ่อ (ซึ่งยกมาโจมตีล้านนา เนื่องจากเชียงใหม่นับตั้งแต่รัชกาลพญากือนาเป็นต้นมา ไม่ยอมส่งส่วยให้แก่ฮ่อ) ก็ปรากฏว่าเชียงรายถูกเกณฑ์ทัพไปรบกับฮ่อด้วย

อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่ามีกองทัพลำปางรวมอยู่ในรายชื่อเมืองที่ร่วมมือกับเชียงใหม่ในการทำสงครามกับฮ่อแต่อย่างใด[21] เป็นไปได้อย่างมากว่าในระยะนั้นลำปางซึ่งมีหมื่นโลกนครเป็นใหญ่สามารถมีอำนาจเป็นอิสระจากกษัตริย์เชียงใหม่ และปรากฏในเวลาต่อมาว่าหมื่นโลกนครได้สนับสนุนหลาน คือเจ้าลก โอรสองค์ที่หกของพระเจ้าสามฝั่งแกนซึ่งเกิดจากพระราชชายาซึ่งเป็นพี่สาวของหมื่นโลกนคร ให้ชิงราชสมบัติจากพระเจ้าสามฝั่งแกนจนได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน[22] ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอันใดที่ “พระแก้วมรกต” จะถูกชิงไปยังนครลำปางในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกนนี้

เมื่อถึงรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ซึ่งเสด็จจากเมืองยวมมาแย่งพระราชอำนาจจากพระราชบิดาที่เมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ โดยความช่วยเหลือของหมื่นโลกนครแห่งลำปางดังที่กล่าวมาข้างต้น พระองค์ทรงขยายอำนาจได้กว้างขวางกว่ากษัตริย์แห่งเชียงใหม่แต่ก่อน คือทรงได้แพร่และน่านไว้ในอำนาจของเชียงใหม่เป็นครั้งแรก แล้วยังได้รับบรรณาการจากเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ตลอดจนเมืองต่างๆ ของไทใหญ่และไทลื้อ อีกหลายเมือง[23]

เข้าใจว่าในเวลาต่อมา คือหลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ประมาณสามสิบเศษ (คงเป็นเวลาที่หมื่นโลกนคร-พระปิตุลาของพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว) พระองค์ทรงได้ลำปางไว้ในอำนาจด้วย ลำปางจึงต้องส่ง “พระแก้วมรกต” มาถวาย ใน พ.ศ. 2022 พระเจ้าติโลกราชโปรดให้บูรณะพระเจดีย์หลวงเพื่อประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” ไว้ ณ ซุ้มบนองค์เจดีย์ด้านตะวันออก และ “พระแก้วมรกต” คงจะเป็น “แก้วมณีโชติ” ของ “จักรพรรดิ” แห่งล้านนานับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ ตอนที่ 2


เชิงอรรถ

[1] เรื่อง “พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้างถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ” นี้ ปรับปรุงจากบทความที่ผู้เขียนนำเสนอในงาน “มติชน แฮปปี้ บุ๊คเดย์” ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 กุมภาพันธ์ 2547.

[2] สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

[3] สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 233-293.

[4] พระรัตนปัญญาเถระ, “พระรัตนปฏิมา ตำนานพระแก้วมรกต” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ) พระแก้วมรกต. หน้า 12.

[5] โปรดดูรายละเอียดในศักดิ์ชัย สายสิงห์, “พระแก้วมรกตคือพระพุทธรูปล้านนาที่มีความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบกับพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ) พระแก้วมรกต. หน้า 313-323.

[6] ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ที่กรุณาให้ข้อมูลนี้

[7] โปรดดูพระรัตนปัญญาเถระ, “พระรัตนปฏิมา ตำนานพระแก้วมรกต” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ) พระแก้วมรกต. หน้า 14.

[8] โปรดดูรายละเอียดในพระพรหมราชปัญญา, “รัตนพิมพวงศ์” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ) พระแก้วมรกต. หน้า 50.

[9] สิลา วีระวงส์, ประวัติศาสตร์ลาว. แปลโดยสมหมาย เปรมจิตต์ กรุงเทพฯ : มติชน, 2539. หน้า 96.

[10] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “เรื่องตำนานพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 199.

[11] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 152.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 146.

[13] โยซิยูกิ มาซูฮารา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรล้านช้าง กรุงเทพฯ : มติชน, หน้า 3-36.

[14] สิลา วีระวงส์, ประวัติศาสตร์ลาว แปลโดยสมหมาย เปรมจิตต์. หน้า 106.

[15] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2544. หน้า 135.

[16] โปรดดูรายละเอียดในตำนานมูลศาสนาฉบับวัดป่าแดง เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2519.

[17] พระนามของพระองค์ที่ปรากฏในตำนานคือ “พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิติลกราชาธิราช”

[18] ผู้เขียนขอขอบพระคุณอาจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพระพุทธรูปในประเทศไทย ซึ่งกรุณาให้ข้อมูลนี้

[19] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล”, ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 198.

[20] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, “คำนำเสนอ พระแก้วมรกตกับประวัติศาสตร์ตำนาน”, ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า (19).

[21] โปรดดูสรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา หน้า 167.

[22] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, “เส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกต” ในสุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระแก้วมรกต. หน้า 328-329.

[23] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา หน้า 141.


เผยแพร่บทความในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 เมษายน พ.ศ.2560