ลูกชิด-ลูกจาก : ลูกจากต้นจาก ลูกชิดต้นตาว

ลูกชิด ลูกจาก ต้นจาก

เหตุเกิดเนื่องจากสี่ดุษฎีบัณฑิตจากสี่สถาบันไปนั่งรับประทาน “ไอติมเจริญผล” ร้านดั้งเดิมในตัวเมืองพิษณุโลก ร่วมกัน เมื่อมีการสั่งเครื่องที่ใส่ร่วมกับไอศกรีม คนหนึ่งเรียกเจ้าลูกแบน ขาวใส ขนาดหัวแม่โป้งว่า “ลูกชิด” ส่วนอีกหนึ่งด๊อกเตอร์เรียกมันว่า “ลูกจาก” เลยกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันขึ้น เพราะสามในสี่ยืนยันว่า ลูกชิดหรือลูกจาก คือสิ่งเดียวกัน ครั้นลองถามคนขายก็ได้คำตอบว่า

“เขาเรียกว่าลูกจาก แต่ที่จริงแล้วมาจากต้นตาว จะเรียกลูกตาวก็ได้”

เลยยิ่งสับสนไปใหญ่ ข้าพเจ้าผู้ยืนยันว่า ลูกชิดกับลูกจากเป็นคนละสิ่งกัน จึงต้องทำหน้าที่หาหลักฐานมายืนยันท่ามกลางเสียงแสดงความไม่เชื่อถือของผู้คนรอบข้าง หลังจากได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว จึงเกิดความคิดว่าควรบันทึกข้อมูลที่ได้ค้นคว้ามา เผื่อว่าจะช่วยลดความสับสนแม้ในเรื่องเล็กน้อยนี้ไว้

ลูกจาก ได้มาจาก ต้นจาก ส่วน ลูกชิด นั้น ได้มาจาก ต้นตาว ไม่ใช่ ต้นชิด

พืชทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชตระกูลปาล์ม แต่ถูกจัดแบ่งไว้ในวงศ์ที่ต่างกัน ต้นจากมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nypa fruticans Wurmb. เป็นพืชในวงศ์ Nypaceae ส่วนต้นชิด เอ๊ย! ต้นตาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arenga pinnata (Wurmb.) Merr. เป็นพืชในวงศ์ Palmae วงศ์เดียวกับมะพร้าว

ต้นจากเป็นพืชเพียงชนิดเดียวในสายสกุลของมัน ด้วยความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง จึงถูกแยก “จาก” พวกพ้องไป ส่วนต้นตาวนั้นมีพืชที่อยู่ในสายสกุลเดียวกันสิบกว่าชนิด เรียกว่าอุ่นหนาฝาคั่งใกล้ “ชิด” สนิทสนมกันดี

ต้นจากนั้นฝรั่งเรียกว่าเป็น ปาล์มชายเลน (Mangrove Palm) เพราะเป็นต้นปาล์มชนิดเดียวที่พบบริเวณป่าชายเลน ส่วนต้นตาว ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทางเหนือเรียก ต๋าว มะต๋าว ทางใต้เรียก ฉก นั้นมีชื่อเรียกอย่างทั่วไปว่า ปาล์มน้ำตาล (Sugar Palm) ขึ้นอยู่ในป่าดงดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณร่องห้วยที่มีความชื้นสูง เรียกได้ว่าสองต้นนี้ขึ้นในพื้นที่คนละแบบกันเลย ป่าจากจะพบในเขตจังหวัดแถบชายทะเล ส่วนดงตาวจะพบในเขตป่าทึบ เช่น ที่จังหวัดน่าน

ทลายและผลของต้นตาว หรือต๋าว

จะขอพูดเลยไปถึงลักษณะการขยายพันธุ์ซึ่งส่งผลต่อการแพร่กระจายของต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้ ต้นจากนั้นค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องการกระจายพันธุ์ เพราะเมื่อเมล็ดเริ่มแก่ก็จะงอกรากตั้งแต่ตอนยังติดอยู่กับทะลาย พอแก่เต็มที่ก็หล่นตูมลงในน้ำ สามารถลอยตามน้ำไปเจริญเติบโตต่อในที่ไกลๆ ได้ ส่วนต้นตาว จะแทงช่อดอกจากยอดลงมาด้านล่าง ติดผลต้นละ 3-5 ทะลาย

หลังจากผลทุกผลแก่เต็มที่ (ใช้เวลามากกว่า 1 ปี) ต้นจะตาย ข้อเสียเปรียบคือ ผลแก่เหล่านั้นมีเปลือกหนาหุ้มอยู่ ทำให้ไม่มีการแตกกระเด็นของเมล็ด เรียกว่าไม่เปิดโอกาสให้ไปเติบโตในที่ไกลๆ แม้ในธรรมชาติจะมีหนอนมาเจาะกินส่วนของเส้นใย จนเหลือแต่เมล็ด แต่เมล็ดแก่เหล่านั้นก็ยังมีเปลือกแข็งคล้ายกะลามะพร้าวหุ้มอยู่ เมื่อทดลองนำไปเพาะ พบว่ามีอัตราการงอกต่ำ ในธรรมชาติจึงพบการแพร่กระจายของต้นตาวน้อยกว่าต้นจาก

ประโยชน์ที่ได้จากต้นจากและต้นตาวนั้น โดยทฤษฎีแล้วน่าจะมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ได้ใกล้เคียงกัน เพราะพืชสองต้นนี้มีความคล้ายคลึงกัน แต่สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีการใช้ประโยชน์จากต้นจากมากกว่า

ประโยชน์จากต้นตาวเท่าที่เห็นคือ การนำส่วนเนื้อของเมล็ด (endosperm) ที่เรียกว่าลูกชิด ซึ่งมีลักษณะขาวใสกว่าเนื้อลูกจากมารับประทาน พบอยู่บ้างที่มีผู้ตัดเอายอดตาวมารับประทาน ผลตาวจะเก็บได้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเส้นใยของผลมียางคันระคาย ก่อนจะบีบลูกตาวออกจากผล จึงต้องต้มให้ยางจับเป็นก้อนและให้เปลือกผลนิ่มเสียก่อน เมื่อตัดส่วนหัวของผลแล้ว จึงใช้เครื่องหีบให้เมล็ดทะลักออกมา

ในละแวกเพื่อนบ้าน เช่น ที่เมือง Surabaya ประเทศอินโดนีเซีย ในอดีต มีการใช้เปลือกผลตาวมาวางตามพื้น ป้องกันพวกขโมย (ตีนเปล่า) ส่วนเนื้อในใช้สำหรับล่อปลา

การใช้ประโยชน์จากต้นจากนั้นมีอยู่มากมาย ล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวและคุ้นเคย ตั้งแต่ใบอ่อนนำมามวนยาฉุนหรือยากรายสูบเรียกว่า “มวนใบจาก” ใบที่ยังเขียวนำมาใช้ห่อขนมเรียกว่า “ขนมจาก” ใบแก่นำมาเย็บเป็น “ตับจาก” ใช้มุงหลังคา ส่วน “หมาจาก” คือภาชนะตักน้ำที่ทำจากใบจาก เป็นสัญลักษณ์ของชมรมชาวปากผนัง

ใบจากยังสามารถนำมาดัดแปลงเป็น “หมวกเปี้ยว” “แชง” “อีหุบ” และ “แมงดา” ซึ่งล้วนเป็นเครื่องป้องแดดกันฝน ล่าสุดเห็นข่าวว่าที่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงผลิตภัณฑ์ “งอบน้ำเชี่ยว” โดยได้นำใบจากมาจัดทำเป็นงอบทรงต่างๆ ถึงสิบทรง ได้แก่ ทรงงอบ ทรงหัวแหลม ทรงกระทะ ทรงกระดองเต่า ทรงกะโหลก ทรงสมเด็จ ทรงดอกจอก ทรงหัวใจ ทรงผีเสื้อ และทรงใบโพธิ์

ลูกจากอ่อนชาวใต้นิยมนำมารับประทานเป็นผักเหนาะ แก่ขึ้นมาหน่อยก็นำมาหั่นเป็นชิ้น เชื่อมเป็นขนมหวาน ลูกจากที่ยังเป็นน้ำอยู่นั้นเรียกว่า “ไข่น็อก” เขาว่ามีรสหวานน้อยๆ และมีกลิ่นหอม ต่างจากลูกชิดซึ่งมีรสจืด ข้าพเจ้าเองยังไม่เคยมีโอกาสได้เห็นและรับประทานเจ้าไข่น็อกที่ว่าเลย

ถ้าปาดช่อดอกที่ยังอ่อนหรือ “งวงจาก” ก็จะได้น้ำตาลเช่นเดียวกับต้นตาลโตนด แต่ไม่ใคร่นิยมทำกันแล้ว ความจริงน้ำในลูกจากและลูกตาวนั้น สามารถนำมาหมักทำน้ำส้มสายชู หรือน้ำตาลก็นำมาหมักเป็นน้ำตาลเมา (arrack) ได้ แต่ยังไม่เห็นว่ามีใครคิดทำผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ขึ้นเพื่อการค้าในประเทศไทย

ปัจจัยซึ่งส่งเสริมให้มีการนำต้นจากมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง คงเกี่ยวกับการที่ต้นจากมีการแพร่กระจายในวงกว้างมากกว่าต้นตาว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากลักษณะของการขยายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น

จากข้อมูลที่ได้นำเสนอ จะเห็นว่าทั้งต้นจากและต้นตาว ล้วนเป็นไม้มีคุณประโยชน์ ข้าพเจ้าหวังว่าคงไม่มีใครคิดพิเรนทร์ลุกขึ้นมาเปลี่ยนชื่อ “ลูกจาก” ไปเป็น “ลูกชิด” เพราะคิดว่าชื่อไม่เป็นมงคล ด้วยชื่อทั้งสองนั้นปรากฏอยู่แล้วและต่างมีความสำคัญอยู่ในตัวของมันเอง อย่าทำให้ลูกหลานต้องสับสนมากขึ้นเมื่อย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์แล้วไม่รู้ว่าพืชที่เรียกว่า “ลั่นทม” กับ “แห้ว” คือต้นอะไร เพราะรู้จักแต่ “ลีลาวดี” และชอบที่จะ “สมหวัง” เพียงอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2560