พระโลกนาถ จากวัดพระศรีสรรเพชญ เคยเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน แต่คนไทยรุ่นหลังก็ผูกพันกับพระศรีสรรเพชญ จากประวัติศาสตร์บาดแผลที่เราท่านทราบกันดี

ในขณะที่พระโลกนาถศาสดาจารย์เคยประดิษฐานในพระอารามเดียวกัน ซึ่งยังคงยืนตระหง่านอยู่ในพระวิหารทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนฯ ให้ยลโฉมกันได้จนทุกวันนี้ยังคงได้รับความสนใจน้อยกว่า

จารึกพระวิหารพระโลกนาถวัดพระเชตุพนฯ พ.ศ. 2331 ตรงกับรัชกาลที่ 1 ให้ข้อมูลของพระพุทธรูปนี้ค่อนข้างจะสังเขปว่าเป็น

“พระพุทธรูปยืนสูงญี่สิบศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถสาศดาจารย์ปรักหักพัง เชิญมาแต่วัดศรีสรรเพชญ์กรุงเก่า ปติสังขรณ์เสรจ์แล้วเชิญประดิษถานในพระวิหารทิศตะวันออกมุกหลัง” (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน 2554, 55)

แสดงให้เห็นว่าพระโลกนาถก็ตกอยู่ในสภาพชำรุดเช่นกันแต่คงน้อยกว่าพระศรีสรรเพชญมากจนสามารถปฏิสังขรณ์ได้ น่าเสียดายที่จารึกไม่ได้ให้ข้อมูลว่าเป็นพระพุทธรูปปางใดแต่ก็ยังดีที่ระบุว่ามาจากวัดพระศรีสรร

พระโลกนาถตามพุทธลักษณะปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ซ้ายประทานอภัย พระหัตถ์ขวาแนบพระวรกาย หรือปางห้ามพระแก่นจันทน์ ทรงครองจีวรห่มเฉียง พาดสังฆาฏิ จุดเด่นของรูปองค์นี้อยู่ที่ปางประทานอภัยพระหัตถ์ซ้ายที่พบไม่มากนัก รวมถึงริ้วจีวรที่พาดเฉียงลงหน้าสบงไปทางด้านขวาผิดแปลกไปจากพระพุทธรูปยืนทั่วไป

ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่าองค์พระพุทธรูปได้รับการปฏิสังขรณ์จนเปลี่ยนพุทธลักษณะไม่น้อย ดังเห็นได้ชัดเจนจาก “ปีกจีวร” ทั้งสองข้างที่เป็นลักษณะของการครองจีวร “ห่มคลุม”แผ่ออกจากพระวรกายทั้งสองข้าง พบเป็นปกติของพระพุทธรูปยืนในสมัยอยุธยา

ก่อนจะแก้ไขให้เป็น “ห่มเฉียง” ตามความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายและต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งจีวรจะ “คลุม” เฉพาะใต้ซอกพระพาหาซ้าย แต่จะ “โปร่ง” ที่ใต้ซอกพระพาหาขวา ซ่อมแปลงพระพักตร์ให้เป็นแบบหน้าหุ่นที่นิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระกรขวาเหยียดตรงแลดูแข็งกระด้าง และพระหัตถ์ซ้ายประทานอภัยมีสัดส่วน ที่ไม่รับกันกับพระกร

การตรวจสอบข้างต้นแสดงให้เห็นว่าพระโลกนาถองค์เดิมเมื่อแรกสร้าง ย่อมเป็นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุมอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนพระพักตร์ซ่อมแปลงใหม่ก็ไม่สามารถใช้ศึกษาในฐานแบบพระพักตร์ของพระพุทธรูปอยุธยาได้อีก เช่นเดียวกับพระหัตถ์และพระกรทั้งสองข้างที่ทำขึ้นใหม่ก็ไม่ใช่ของเดิม ปัญหาจึงมีอยู่ว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าพระโลกนาถองค์เดิมควรมีพุทธลักษณะเช่นไร

เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปที่ “จุดเด่น” ของพระโลกนาถที่ตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้น คือแถบจีวรที่พาดเป็นริ้วเฉียงลงด้านหน้าสบงของพระพุทธรูป ซึ่งในที่นี้เห็นว่าน่าจะเป็นส่วนที่หล่อขึ้นพร้อมกับพระโลกนาถองค์เดิม เพราะไม่ปรากฏรอยต่อเหมือนองค์ประกอบอื่น รวมไปถึงยังไม่ปรากฏลักษณะเช่นนี้ในพระพุทธรูปยืนสมัยต้นรัตนโกสินทร์

พิริยะ ไกรฤกษ์ (2552, 411) ให้ความเห็นว่าริ้วจีวรของพระโลกนาถเป็นการแสดงออกแบบสมจริงที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ที่เริ่มแพร่หลายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับคำให้การชาวกรุงเก่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นองค์เดียวกับพระติโลกนารถสูง 20 ศอกที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างขึ้น ซึ่งก็มีเหตุผลของความเป็นไปได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เห็นว่าริ้วจีวรดังกล่าวก็น่าจะเป็นลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในพระพุทธรูป “ปางอุ้มบาตร” ของอยุธยามากกว่าตัวอย่างจากพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร 3 องค์ ต่อไปนี้

องค์ที่ 1 พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังจันทรเกษม จ.พระนครศรีอยุธยา

ทรงครองจีวรห่มคลุม ปีกจีวรแผ่ออกทั้งสองข้าง ริ้วจีวรพาดผ่านสบงเฉียงลงทางด้านขวา ของพระพุทธรูปทางเดียวกับริ้วจีวรของพระโลกนาถ แลดูสมจริงกว่าที่ปรากฏในพระโลกนาถ แต่มีจำนวนริ้วน้อยกว่า พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระนาภีง้อมเข้าหากันเป็นพุทธกิริยาว่าทรงถือบาตร

องค์ที่ 2 พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พบในพระพาหาของพระมงคลบพิตร จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ทรงครองจีวรห่มคลุมแต่ปีกจีวรทั้งสองข้างชำรุด ยกพระหัตถ์ทั้งสองชี้ลงต่ำกว่าพระนาภี แสดงพุทธกิริยาอุ้มบาตร มีริ้วจีวรพาดผ่านหน้านางของสบงเฉียงลงทางด้านซ้าย ต่างไปจากของพระโลกนาถที่เฉียงลงด้านขวาของพระวรกาย

องค์ที่ 3 พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร

ทรงครองจีวรห่มคลุมพระวรกาย ปีกจีวรแผ่ออกทั้งสองข้าง พระหัตถ์ทั้งสองแสดงพุทธกิริยาถือบาตร ในระดับต่ำกว่าพระนาภี มีริ้วจีวรพาดผ่านพระกร ทั้งสองข้างคล้ายกับพระพุทธรูปอุ้มบาตร หรือ “พระเจ้าอุ้มโอ” ในพุทธศิลป์ล้านนา เช่นองค์ที่มีจารึกว่าพระมหาชวปัญญาณสร้างขึ้นตรงกับ พ.ศ. 2008 ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ขณะที่ริ้วจีวรเฉียงลงด้านซ้ายสลับข้าง กับพระโลกนาถแลดูโปร่งบางแนบไปกับสบงจนเห็นแถบหน้าของสบงได้ตลอดชัดเจน

จะเห็นว่าพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรทั้ง 3 องค์ดังกล่าว ล้วนมีพุทธลักษณะร่วมกัน 2 ประการ คือ การแสดงพุทธกิริยาอุ้มบาตรและการปรากฏริ้วของจีวรห่มคลุมพาดเฉียง ลงที่หน้านางของสบงเหมือนกันทั้ง 3 องค์ แม้จะเฉียงลงคนละข้างก็ตาม  ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของเหตุผลการออกแบบในเชิงช่าง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ที่ริ้วจีวรเฉียงลงด้านหน้าของสบงของพระโลกนาถจะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยเป็นพระพุทธรูป “ปางอุ้มบาตร” มาก่อน ภายหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พระโลกนาถได้รับความเสียหายอย่างหนักแต่ก็พอปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงให้คืนองค์ได้ดีกว่าพระศรีสรรเพชญ

จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้พระพุทธรูปทรงครองจีวรห่มเฉียงพาดสังฆาฏิตามที่นิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แก้ไขพระกรและพระหัตถ์ซ้ายให้ยกขึ้นประทานอภัยเพื่อให้รับกับแนวริ้วของจีวรที่เฉียงลงจากซ้ายไปขวา และปรับเปลี่ยนพระกรและพระหัตถ์ขวาให้ทอดลงข้างพระวรกาย แทนการง้อมพระหัตถ์ทั้งสองในพุทธกิริยาอุ้มบาตร

โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรคงหมายถึงการบิณฑบาตอันเป็นพุทธกิจตามปกติของพระพุทธองค์ ตามความคุ้นเคยจากประเพณีตักบาตรเทโวที่นิยมเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรมาแห่แหนหรือที่ภาคใต้เรียกว่า “พระลาก”

อย่างไรก็ดี ม.ล. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ (2558, 54 – 55) เสนอว่าเป็นคตินิยมจากลังกาและเกี่ยวข้องกับการขจัดโรคภัยไข้เจ็บ ดังปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ครั้งพระเจ้าอุปติสสะ (พ.ศ. 911 – 953) ทรงประกอบพิธีคังคาโรหณะขึ้น เพื่อขจัดทุพภิกขภัยและโรคระบาด โปรดให้หล่อพระพุทธรูปทองคำปางอุ้มบาตรและนำบาตรศิลาที่เชื่อว่าเป็นของพระพุทธเจ้าซึ่งพระมหินทเถระนำมาจากอินเดียบรรจุน้ำร่วมไปในขบวนแห่ ระหว่างนั้นพระสงฆ์ได้สวดรตนสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์พระปริตต์ ตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำเมื่อครั้งขจัดภัย 3 ประการในกรุงเวสาลี

ความเกี่ยวข้องกับพุทธานุภาพในการขจัดโรคภัยของพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่พบในประเทศไทย มีตัวอย่างจาก “หลวงพ่อบ้านแหลม” ว่าใน พ.ศ. 2416 เกิดอหิวาห์ระบาด เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลมฝันว่าหลวงพ่อได้ประทานคาถาบทหนึ่งให้ไปดูที่พระหัตถ์ซึ่งก็พบว่ามีทั้งซ้ายและขวา เมื่อจดคาถาไปทำน้ำมนต์ให้ชาวบ้านที่ป่วยดื่มก็หายจากโรค กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมจึงเป็นที่เลื่องลือนับแต่นั้น
(พิริยะ 2551, 438)

คตินิยมดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในล้านนา ดังรูป “พระเจ้าอุ้มโอ” ที่วัดเชียงมั่น พ.ศ. 2008 ถือเป็นพระพุทธรูปมีจารึกระบุปีสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนาด้วย (สุรสวัสดิ์ 2558, 55) และคงเป็นต้นแบบให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในอยุธยา อย่างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร ซึ่งริ้วจีวรที่ต้นพระพาหาใกล้เคียงกับพระเจ้าอุ้มโอของวัดเชียงมั่น

รวมไปถึงพระโลกนาถจากวัดพระศรีสรรเพชญซึ่งหากเคยเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ ก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก่อนการสร้างหลวงพ่อโตวัดอินทาราม กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พฺรหมรํสี) ที่เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ 4 ราว พ.ศ. 2410

บรรณานุกรม

  1. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
  2. พนรัตน์, สมเด็จพระ. 2558. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. ศานติ ภักดีคำ ผู้ชำระต้นฉบับ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์.
  3. พิริยะ ไกรฤกษ์. 2552. ลักษณะไทย 1 พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. http://www.laksanathai.com/book1/p411.aspx
    http://www.laksanathai.com/book1/p438.aspx
    http://www.laksanathai.com/book1/p039.aspx
  4. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์, ม.ล. 2558. พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระนิกายวัชรยาน. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

บทความเรื่องนี้นำมาจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์

https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts