ทำไมเรียก “ทุเรียน”? และการเล่าขานผลไม้ที่กลิ่นเหม็นเหมือน “ขี้ซำปอกง”

ทุเรียน

ปริวัฒน์ จันทร เขียนเล่าเรื่องทุเรียนไปเมืองจีนกับซำปอกง ซึ่งเป็นคำบอกเล่าเก่าแก่ว่า คำว่า “ทุเรียน” ในภาษาจีนกลาง เจิ้งเหอ เป็นคนตั้งชื่อว่า “หลิวเหลียน” หรือสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “โถวเลี้ยง” แปลว่า ความหวนอาลัย หมายถึงผู้ใดที่ไม่เคยรับประทานทุเรียนมาก่อน ลองได้รับประทานเข้าก็จะหลงอาลัยในรสชาติจนยากที่จะลืมเลือนและไม่อยากกลับบ้าน

เชื่อกันว่าผลไม้ทุเรียนนี้ชาวจีนเพิ่งรู้จักครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง โดยลูกเรือของเจิ้งเหอที่ได้ลิ้มลองแล้วติดใจนำกลับไปเล่าขานให้คนที่เมืองจีนฟังกัน ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยมักเล่าให้ลูกหลานฟังว่า คำว่า “ทุเรียน” นั้นชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกงไส้” หรือ อาจมของซำปอกง?!

กล่าวคือ เมื่อเจิ้งเหอได้เดินเรือมาค้าขายในสยามนั้น ระหว่างทางที่ได้ไปเดินเที่ยวชมตามหมู่บ้าน ท่านเกิดปวดท้องหนัก เมื่อถ่ายแล้วจึงได้นำก้อนอาจมนั้นห่อใบไม้ นำปีนขึ้นไปแขวนไว้บนกิ่งไม้

บังเอิญในขณะนั้นมีชาวบ้านที่ทราบว่าซำปอกงเดินผ่านมา จึงได้มาขออาหารจากเจิ้งเหอที่ชาวจีนเชื่อว่าท่านเป็นผู้ที่มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จึงได้ชี้ขึ้นไปบนต้นไม้ บอกว่าให้ปีนขึ้นไปบนนั้น ข้างบนมีทุเรียนอยู่

ชาวบ้านคนนั้นจึงเชื่อ แล้วปีนขึ้นไปแกะห่ออาจมออกมาดู พบว่าข้างในเป็นผลทุเรียนสีเหลืองที่ส่งกลิ่นอันหอมหวนชวนรับประทานไปในพลัน!

ฉะนั้นใครที่ไม่ชอบกลิ่นของทุเรียนที่หอมฉุน ก็มักจะอ้างว่าทุเรียนมีกลิ่นเหม็นเหมือนขี้ซำปอกง

[สามารถอ่านเพิ่มเติมข้อมูลอื่นของเจิ้งเหอได้ในหนังสือ 3 เล่ม (1.) เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน 2546, (2.) เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์ ของ สืบแสง พรหมบุญ สำนักพิมพ์มติชน 2549, (3.) 600 ปี สมุทรยาตราเจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์ ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน 2548]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ ไขที่มา “กลิ่นทุเรียนเหมือนขี้ซำปอกง” ที่แท้มาจากนิทานแต้จิ๋ว. มติชนออนไลน์ วันที่ 26 มกราคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2561