ทวารวดีอีสาน : เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตมั่นในหลักหิน*

หลักหิน หินตั้ง ทวารวดีอีสาน
หินตั้งจากเมืองหัวเมือง แขวงหัวพัน ประเทศลาว

“ทวารวดีอีสาน” : เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตมั่นใน “หลักหิน”

ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีตกาลราวพันกว่าปีที่แล้วนิยมทำ หลักหิน ขนาดต่างๆ ปักอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง บ้างปักรวมกันเป็นกลุ่ม บ้างปักอยู่โดดๆ บ้างปักมีระเบียบแบบแผน บ้างปักไม่มีทิศทางแน่นอน หลายหลักมีรูปทรงคล้ายใบเสมาที่ปักล้อมรอบอุโบสถ จึงมักเรียกหลักหินเหล่านี้ว่าใบเสมา อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วก็มีรูปทรงอื่นๆ อีก เช่น แท่งสี่เหลี่ยม แท่งแปดเหลี่ยม และรูปทรงไม่แน่นอน

นักวิชาการมักกำหนดให้หลักหินที่พบในอีสานเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี เหตุผลสำคัญเป็นเพราะหลักหินจำนวนหนึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่เผยแผ่มาจากทวารวดีภาคกลาง อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจัดให้หลักหินเหล่านี้อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในภาคอีสานเอง ไม่ใช่แบบแผนที่รับมาจากทวารวดีภาคกลาง        

หลักหินทวารวดีอีสานส่วนหนึ่งสร้างขึ้นเนื่องในประเพณีพุทธศาสนาชัดเจน เห็นได้จากการปักล้อมรอบพัทธสีมาสงฆ์ สลักตกแต่งด้วยภาพพุทธประวัติและชาดก ฯลฯ แต่ก็พบว่าหลักหินอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ให้คุณให้โทษต่อมนุษย์ ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีปักหินตั้ง หลักฐานที่รองรับข้อสันนิษฐานนี้มีมากมายหลายอย่าง เช่น การปักอยู่บนสถานที่ที่พบโครงกระดูกมนุษย์หรือภาชนะบรรจุกระดูก การนำมาเป็นหลักเมือง

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างหลักหินกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อท้องถิ่นจะเป็นเนื้อหาหลักของบทความนี้

1. หลักหิน-หินตั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านและชนกลุ่มน้อยในไทยสมัยปัจจุบัน

นักวิชาการเชื่อกันว่า หลักหิน ทวารวดีอีสาน มีคติการสร้างสืบทอดมาจากประเพณีปักหินตั้งที่แพร่หลายมาแล้วนับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบแพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รูปลักษณ์หนึ่งของหินตั้งคือหลักหินที่ปักไว้เหนือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง โดยเฉพาะแหล่งฝังศพ เชื่อว่าหินตั้งมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเนื่องกับความตาย รวมถึงประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงถือปฏิบัติกันตราบปัจจุบันในชนกลุ่มน้อย เมื่อหลักหินทวารวดีอีสานบางแห่งปักอยู่บนเนินดินที่พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังเหยียดยาวหรือบรรจุอยู่ภายในภาชนะ จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่มั่นคงขึ้นว่าหลักหินในอีสานเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีปักหินตั้ง

หลักหิน หินตั้ง ทวารวดีอีสาน บ้านหนองเรือ ตำบลนาหนองม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
หลักหินจากวัดดงเฒ่าเก่า บ้านหนองเรือ ตำบลนาหนองม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

แม้ว่ายังไม่พบหลักฐานหินตั้งในดินแดนไทยที่เก่าแก่ไปจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ในประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว ปรากฏมาแล้วเนิ่นนานนับพันปี เช่น หินตั้งที่เมืองหัวเมือง แขวงหัวพัน ประเทศลาว น่าจะมีอายุราว 2,500-3,000 ปีมาแล้ว นับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มหนึ่งจะประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ๓ อย่าง คือ หลักหินซึ่งปักรวมกันหลายหลัก บางกลุ่มมีมากกว่า ๑๐ หลัก หลุมดินหรือรูพญานาคอยู่ใกล้ๆ หลักหิน และฝาหินวงกลมที่ปิดปากหลุม Madeleine Colani นักโบราณคดีที่ขุดค้นหินตั้งแหล่งนี้ได้พบกระดูกมนุษย์ที่ยังมิได้เผาไฟและเครื่องใช้ยุคสำริดอยู่ภายในหลุม สันนิษฐานว่าเสาหินอาจเป็นหลักสำหรับล่ามสัตว์ที่นำมาบูชายัญ [1]

รวมถึงเป็นที่หมายสำหรับสื่อสารกับผู้ตาย เสาหินจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีวิญญาณของสัตว์ที่ถูกฆ่าและวิญญาณผู้ตายสถิตอยู่ หินตั้งแห่งนี้ควรสัมพันธ์กับการบวงสรวงบูชาผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่ต้องบวงสรวงเป็นเพราะเชื่อกันว่าผู้ตายจะเปลี่ยนสถานภาพและบทบาทไปจากครั้งที่ยังมีชีวิต เช่น มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่คนที่ยังมีชีวิตได้ [2] ทั้งนี้ผู้ล่วงลับเหล่านี้อาจนับได้ว่าเป็นผีบรรพบุรุษนั่นเอง

หินตั้งอีกตัวอย่างหนึ่งในประเทศลาวพบจากแขวงหลวงน้ำทา จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลาว หินตั้งหลักหนึ่งสลักลวดลายสัญลักษณ์รูปวงกลมมีแฉกรัศมีตกแต่งภายในอยู่ 1 วง และรูปวงรีจำนวนมาก อีกหลักหนึ่งสลักรูปวงกลมที่มีแฉกรัศมีตกแต่งภายในจำนวนมาก

ภาพสัญลักษณ์รูปวงกลมมีแฉกรัศมีอยู่ภายในเช่นนี้ยังได้พบตามวัตถุต่างๆ อีก ได้แก่ ผนังเพิงผา ก้อน
หิน ก้อนดินเหนียว ไหดินเผา ฆ้อง นักวิชาการชาวลาวได้อธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์หรือดาวใหญ่ สื่อความหมายถึงแถนหรือเมืองแถน [3]

แถนหรือผีแถนคือผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองฟ้าหรือเมืองแถน เชื่อกันว่าหากกระทำความดีและบวงสรวงบูชาเมื่อตายไปจะได้กลับไปอยู่เมืองแถนบนฟ้า แต่หากกระทำไม่ดีแถนจะไม่พอใจ จะบันดาลให้เกิดเภทภัยต่างๆ เช่น แล้ง น้ำท่วม พายุร้ายแรง [4] หากเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานข้างต้นนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างหินตั้งกับการบวงสรวงบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติที่ให้คุณให้โทษต่อมนุษย์ได้

สำหรับดินแดนไทย พบประเพณีปักหลักหิน-หินตั้งที่สัมพันธ์กับพิธีกรรมอันเนื่องด้วยความตายและบูชาผู้ล่วงลับในกลุ่มชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลัวะในภาคเหนือและภาคตะวันตก นิยมเรียกว่า “วงตีไก่” มีทั้งที่เป็นหลักหินและหลักไม้ จากการศึกษาของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ที่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าเสาที่ปักบริเวณหลุมศพมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ “นาม” เป็นเสาที่ปักให้ศพผู้เป็นหัวหน้า ประดับตกแต่งด้วยเขาควาย และ “มะเบืยง” เป็นเสาปักให้ศพผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก [5]

รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวของวงตีไก่ไว้มาก เสนอข้อมูลว่าได้พบวงตีไก่ตามพื้นที่สูงในภาคเหนือและตะวันตกจำนวนมาก และล้วนสัมพันธ์กับการเป็นสถานที่ฝังศพ [6]

จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักหิน-หินตั้งกับสถานที่ฝังศพ การบวงสรวงบูชาผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าจะเป็นประเพณีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และของชนกลุ่มน้อยในปัจจุบัน แต่ก็น่าจะนำมาวิเคราะห์ต่อยอดและมองเห็นภาพของหลักหินทวารวดีอีสานในประเด็นนี้กระจ่างขึ้นมาก

2. หลักหิน ทวารวดีอีสาน กับเนินดินปลงศพ

หลักหินทวารวดีอีสานหลายต่อหลายแห่งปักอยู่บนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจพิธีอันเนื่องด้วยความตาย จึงอาจสร้างขึ้นเนื่องในคติที่คล้ายคลึงกันกับหินตั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือบริเวณหลุมศพของชาวลัวะในปัจจุบัน

จากลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มีถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุ
วัดติวงศ์ รวมพิมพ์ไว้ในสาส์นสมเด็จ ได้กล่าวถึงหลักหินที่ตำบลม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า เคยโปรดให้ลองขุดดูใต้นั้นก็ได้หม้อกระดูก [7]

นับเป็นหลักฐานข้อความที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักหินกับเนินดินที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความตาย ต่อมาการสำรวจของ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ยิ่งทำให้ได้พบหลักหินที่อยู่เหนือเนินดินฝังศพหรือกระดูกบรรจุภายในภาชนะอีกหลายแห่ง เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เมืองโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น [8]

หลักเมืองจังหวัดขอนแก่น

เป็นที่น่าเสียดายว่าเนินดินอันเนื่องด้วยพิธีกรรมความตายเหล่านี้ยังไม่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีมากนัก ที่ขุดค้นและเผยแพร่แล้ว ได้แก่ เนินดินที่บ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ดำเนินการโดยกรมศิลปากร แสดงให้เห็นว่ามีการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่องนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่ยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ โดยหลักฐานสำคัญในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ฝังในท่าเหยียดยาว ส่วนหลักฐานในยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นได้แก่ภาชนะดินเผาที่มีกระดูกมนุษย์บรรจุอยู่ภายใน [9]

นอกเหนือไปจากการค้นพบบนเนินดินฝังศพหรือฝังภาชนะบรรจุกระดูกแล้ว วิธีพิจารณาว่าหลักหินแห่งใดสัมพันธ์กับแหล่งปลงศพอาจดูได้จากการปักหลักหินอย่างไม่สม่ำเสมอและไม่มีทิศทางแน่นอน ทั้งนี้เพราะคนในชุมชนย่อมเสียชีวิตลงไม่พร้อมกัน ร่างหรือเถ้ากระดูกที่บรรจุในภาชนะจึงนำมาฝังไว้ไม่พร้อมกันด้วย ตำแหน่งของหลุมจึงไม่เป็นระบบระเบียบ หลักหินซึ่งปักขึ้นใกล้หลุมจึงปักไม่เป็นระบบระเบียบหรือไม่มีทิศทางที่แน่นอนตามไปด้วย เช่น วัดดงเฒ่าเก่า บ้านหนองเรือ ตำบลนาหนองม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวนี้จำเป็นต้องพิจารณาให้แน่ชัดว่าหลักหินเหล่านั้นได้รับการเคลื่อนย้ายมาจากแห่งอื่นหรือไม่ และทางที่จะพิสูจน์ได้แน่ชัดต่อไปคือการขุดค้นทางโบราณคดีว่าใต้ผืนดินมีกิจกรรมอันเนื่องด้วยพิธีกรรมความตายหรือไม่

หลักเมืองอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

แม้การค้นพบหลักหินอยู่เหนือโครงกระดูกหรือภาชนะบรรจุกระดูกจะทำให้เชื่อได้ว่าหลักหินควรมีความสัมพันธ์กับกิจพิธีอันเนื่องด้วยความตาย รวมถึงการบูชาผู้ตายที่อยู่ในฐานะผีบรรพบุรุษ แต่ก็ไม่อาจทราบถึงรายละเอียดที่แน่ชัด เช่น ใครเป็นผู้ดำเนินการ ตัวพิธีกรรมถือปฏิบัติกันอย่างไร มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร ความแตกต่างของสถานภาพและบทบาทของผู้ตายส่งผลอย่างไร ความศักดิ์สิทธิ์ของหลักหินเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดหลักฐานที่มีอยู่ก็พอจะบอกได้ว่าขั้นตอนหนึ่งของพิธีกรรมควรมีการบวงสรวงบูชาด้วยข้าวปลาอาหารเป็นแน่ เพราะภาพสลักที่พบแพร่หลายบนหลักหินคือภาพหม้อต่อด้วยกรวย ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพเครื่องบวงสรวงบูชาสมัยนั้นที่เทียบได้กับบายศรีในปัจจุบันและภาชนะบรรจุเครื่องเซ่นในหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ [10]

3. หลักเมือง เจว็ด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ : ความเชื่อของคนปัจจุบันสืบย้อนยังความเชื่อของคนในอดีต

เมื่อหลักฐานครั้งทวารวดีไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจภาพเคลื่อนไหวของพิธีกรรมอันแวดล้อมอยู่รอบๆ หลักหินได้อย่างละเอียด บางทีการพิจารณาความคิดความเชื่อของคนในปัจจุบันที่ถือปฏิบัติต่อหลักหินทวารวดีก็อาจจะช่วยสืบย้อนกลับไปยังความคิดความเชื่อของคนในอดีตได้บ้าง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่ หลักหินทวารวดีอีสาน เป็นของศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นวัตถุที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันให้คุณให้โทษได้สถิตอยู่ภายใน ถ้าปฏิบัติดีพลีถูกก็นำความสุขสวัสดีมาให้ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ดีก็นำเคราะห์ร้ายมาให้ได้เช่นกัน

ความเชื่อข้างต้นนี้ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตามแต่ก็ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของใครหลายคน เห็นได้ตามข่าวสารหรือรายการโทรทัศน์อยู่เนืองๆ เช่น รายการเรื่องจริงผ่านจอที่เคยนำเสนอว่าบ้านหลังหนึ่งสร้างอยู่บนพื้นที่ที่พบหลักหิน ส่งผลให้คนในบ้านหลังนั้นเสียชีวิตต่อๆ กันมา หรือที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ขุดพบหลักหินขณะขุดดินเพื่อเพาะปลูก จากนั้นไม่นานก็มีชาวบ้านฝันว่าพบคนโบราณมาบอกว่าไม่อยากให้เคลื่อนย้ายไปไหน เพราะว่าหลักหินเป็นของเจ้าเมืองสมัยก่อน ท่านขอมาอาศัยอยู่ที่นี่

ความเกี่ยวข้องระหว่างหลักหินกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้คนปัจจุบันเคลื่อนย้ายหลักหินไปไว้ยังวัดประจำชุมชน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกขานในชื่อต่างๆ กันไป เช่น ดอนเจ้าปู่ ศาลปู่ตา ยิ่งกว่านั้นหลักหินจำนวนหนึ่งได้รับการเคลื่อนย้ายมาไว้ยังบริเวณศาลหลักเมือง หรือกลายเป็นหลักเมืองเสียเอง เช่น หลักเมืองจังหวัดขอนแก่น เคลื่อนย้ายมาจากบ้านโนนเมือง อำเภอชุมแพ หลักเมืองอำเภอวังสะพุง ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้ประการหนึ่งว่า หลักหินอื่นๆ บางหลักอาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นเสาหลักบ้านเสาหลักเมืองมาแต่ครั้งทวารวดีก็ได้

การนำหลักหินทวารวดีอีสานมาเป็นเสาหลักบ้าน เสาหลักเมือง คงมิใช่ความสอดคล้องกันทางด้านรูปทรงเท่านั้น แต่แนวคิดการถือผีบรรพบุรุษมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง กล่าวคือ การถือผีบรรพบุรุษเกิดขึ้นเพราะเชื่อว่ามีอำนาจสามารถให้คุณให้โทษแก่การทำมาหากินหรือการดำรงชีวิต ผีบรรพบุรุษในที่นี้คือบรรพบุรุษของหมู่บ้าน ตามปกติก็คือผู้นำชุมชนที่ล่วงลับไปนั่นเอง ท่านจึงปกปักรักษาชุมชนหมู่บ้าน สถานที่สถิตของผีบรรพบุรุษมีมากมายหลายลักษณะ สำหรับในภาคอีสานจะนิยมทำเป็นศาลขนาดใหญ่พอให้คนเข้าไปอยู่ในนั้นได้ [11]

หลักหินสลักภาพบุคคลน่าเกรงขาม ภูพระอังคาร ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

เจ้าพ่อหลักบ้าน เจ้าพ่อหลักเมือง มีที่มาจากผีบรรพบุรุษนั่นเอง อย่างน้อยก็เห็นได้จากการเป็นผู้พิทักษ์รักษาชุมชนบ้านเมือง ร่องรอยความคิดดังกล่าวนี้เห็นได้ในหลายพื้นที่ เช่น ศาลหลักเมืองหนองบัวลำภูคือศาลพระวอและพระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภู หลักเมืองอุดรธานีได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้พัฒนาพื้นที่นี้จากหมู่บ้านชนบทจนเป็นเมืองใหญ่ มาสถิต ณ เสาหลักเมือง

นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ยังเรียกเจ้าพ่อหลักเมืองว่าเจ้าพ่อมเหสักข์ หรือมเหศักดิ์ เช่น หลักเมืองจังหวัดสกลนคร หลักเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด และหลักเมืองอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น คำดังกล่าวนี้มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตว่า เทวดาผู้เป็นใหญ่ บรรพบุรุษหรือผีปู่ตา เจ้าผีซึ่งเดิมเป็นเจ้าเมืองที่อยู่ในถิ่นนั้นๆ การนับถือผีบรรพบุรุษของชุมชนกับการบูชาหลักเมืองจึงเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกันตามเหตุผลที่กล่าวไป

แนวความคิดเกี่ยวกับเจ้าพ่อหลักเมือง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พิทักษ์รักษาเมือง ยังเกี่ยวข้องกันกับความคิดเรื่องเทวดาอารักษ์ตลอดจนพระภูมิเจ้าที่ได้ด้วย เชื่อกันว่าพระภูมิเจ้าที่จะสถิตอยู่ภายในศาล ภายในศาลมีเจว็ดซึ่งเป็นแผ่นไม้หรือแผ่นวัสดุอื่นๆ รูปทรงใบเสมา ประดับลายเทวดา มีความหมายถึงพระภูมิเจ้าที่หรือเทพารักษ์

ไม่อาจทราบได้ว่ารูปทรงของเจว็ดที่เป็นใบเสมาเกิดขึ้นเมื่อใด และเพราะเหตุใดจึงต้องทำในรูปทรงนี้ แต่น่าจะตั้งคำถามได้ว่ารูปทรงใบเสมาของเจว็ดอันเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่คงมีรากเหง้ามาจากหลักหินแบบแผ่นแบนในสังคมทวารวดีอีสาน ยิ่งเมื่อพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างหลักหินทวารวดีอีสานกับการถือผีบรรพบุรุษผู้คุ้มครองชุมชน ซึ่งอีกนัยยะหนึ่งก็คือผีผู้เป็นใหญ่เหนือผืนดินนั้น ก็จะยิ่งเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเจว็ดกับหลักหินอีสานมากยิ่งขึ้น และอาจตั้งคำถามย้อนกลับไปได้ว่า หลักหินทวารวดีคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สถิตของผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือที่หมายสำหรับติดต่อกับท่านเหล่านั้น เช่นเดียวกันกับเจว็ดในศาลพระภูมิใช่หรือไม่ และบางทีอาจนำไปเทียบเคียงกับป้ายสถิตวิญญาณในวัฒนธรรมจีนด้วยก็ได้

อนึ่ง ไม่อาจทราบได้ว่าผู้คนสมัยนั้นจินตนาการรูปลักษณ์ของผีบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในหลักหินว่ามีลักษณะเช่นไร แต่หากพิจารณาจากหลักหินสลักภาพบุคคลที่มีใบหน้าน่าเกรงขาม เช่น ที่ภูพระ
อังคาร ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการสักการบูชาโดยคนสมัยปัจจุบันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็อาจตั้งคำถามได้ว่าคนโบราณครั้งทวารวดีก็นับถือหลักหินเหล่านี้ว่าศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน และย่อมหมายความว่าภาพสลักบุคคลใบหน้าน่าเกรงขามก็คือภาพจินตนาการถึงเทพยดาศักดิ์สิทธิ์ที่คนเหล่านั้นสักการบูชานั่นเอง

4. ส่งท้าย

หลักหิน ทวารวดีอีสาน มีมิติที่สัมพันธ์กับคติความเชื่อต่างๆ มากกว่าการเป็นใบเสมาปักล้อมรอบพื้นที่ทำสังฆกรรมของสงฆ์อย่างที่เข้าใจกันแพร่หลาย แต่ความสัมพันธ์กับการนับถือผีบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันให้คุณให้โทษก็พบได้มาก เพราะเชื่อกันว่าหลักหินเป็นที่สถิตหรือที่หมายสำหรับสื่อสารกับท่านเหล่านั้น แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจทราบถึงรายละเอียดของคติความเชื่อตลอดจนวิธีปฏิบัติว่าเหมือนหรือต่างกันกับพื้นที่อื่นและช่วงเวลาอื่นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากที่พึ่งทางจิตใจยังคงเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นสังคมปัจจุบัน หนทางหนึ่งที่อาจนำมาใช้อธิบายจนเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ก็คือการเชื่อมโยงจากสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันกระทำต่อหลักหินเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งอาจทำให้เห็นภาพสังคมทวารวดีอีสานผ่านหลักหินในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็ได้

และในทางกลับกันก็อาจช่วยให้เห็นได้แน่ชัดขึ้นว่าประเพณีปฏิบัติในปัจจุบันหลายอย่างมีรากฐานมาจากอดีตอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


*หมายเหตุ บทความนี้ปรับปรุงมาจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “หลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร


เชิงอรรถ :

[1] ปรานี วงษ์เทศ. สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2543), น. 240-241, 243.

[2] ปรานี วงษ์เทศ. พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2534), น. 5-6.

[3] บุนมี เทบสีเมือง. หินดาวเล่านิทานพญาแถน. แปลโดย ไผท ภูธา. (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2554), น. 78-92.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 66-77.

[5] พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “จากทูตานา-อีญ สู่ดอยสุเทพ จากดอยผีสู่ดอยพุทธของลัวะ/เลอเวือะ,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 39 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2556), น. 84-85.

[6] ศรีศักร วัลลิโภดม. “แหล่งหินตั้งลุ่มน้ำอิง,” ใน คำถามใหม่ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542), น. 79-90.

[7] สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ, เล่ม 8. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), น. 107.

[8] ศรีศักร วัลลิโภดม. “เสมาหินอิสาน การสำรวจและศึกษาการสืบเนื่องของประเพณีปักหินตั้งในสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2528), น. 6-33.

[9] สุรพล ดำริห์กุล. “บ้านตาดทอง แหล่งโบราณคดีสำคัญของอีสานตอนใต้,” ใน แผ่นดินอีสาน. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549), น. 33-45.

[10] รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “เครื่องบวงสรวงบนใบเสมาทวารวดีอีสาน : พุทธบูชาและบูชาผี,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 52 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2552), น. 50-63.

[11] ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา. หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2525), น. 6-9.


บรรณานุกรม :

ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา. หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2525.

บุนมี เทบสีเมือง. หินดาวเล่านิทานพญาแถน. แปลโดย ไผท ภูธา. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2554.

ปรานี วงษ์เทศ. พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2534.

______. สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2543.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “จากทูตานา-อีญ สู่ดอยสุเทพ จากดอยผีสู่ดอยพุทธของลัวะ/เลอเวือะ,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 39 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2556), น. 76-97.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “เครื่องบวงสรวงบนใบเสมาทวารวดีอีสาน : พุทธบูชาและบูชาผี,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 52 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2552), น. 50-63.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “เสมาหินอิสาน การสำรวจและศึกษาการสืบเนื่องของประเพณีปักหินตั้งในสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2528), น. 6-33.

______. “แหล่งหินตั้งลุ่มน้ำอิง,” ใน คำถามใหม่ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542, น. 79-90.

สุรพล ดำริห์กุล. “บ้านตาดทอง แหล่งโบราณคดีสำคัญของอีสานตอนใต้,” ใน แผ่นดินอีสาน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549, น. 33-45.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2560