ตามหารูปหล่อสัมฤทธิ์ เจ้านายสตรีสมัยอยุธยาที่หายไป

ภาพรูปหล่อสัมฤทธิ์ เจ้านายสตรีสมัยอยุธยา ที่พิมพ์ในหนังสือ "จิตรกรรมและศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ" เมื่อพ.ศ. 2501 (ภาพเผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2558)

ในบรรดาหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุสมัยอยุธยา เกือบทั้งหมดเป็นรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป เทวรูปในศาสนาต่างๆ จึงเป็นเหตุให้ใช้ศิลปวัตถุเหล่านี้ในการกำหนดอายุ หรือสร้างแนวทางในการกำหนดอายุว่าตลอดระยะเวลากว่า 400 ปีนั้น สามารถแบ่งยุคศิลปะอยุธยาได้อย่างไร อย่างไรก็ดี ศิลปวัตถุอื่นนั้นพบจำนวนน้อยมาก สูญหาย ถูกทำลาย หรือถูกลักขโมยไปก็มี การพบศิลปวัตถุอื่นนอกจากพระพุทธรูปจึงเป็นเรื่องอันดีที่จะช่วยให้เห็นภาพของศิลปกรรมอยุธยาได้ชัดเจนขึ้น

เมื่อปี พ.. 2465 ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ ภัณฑารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ได้เสนอบทความภาษาฝรั่งเศสเรื่องรูปเคารพของเจ้านายสตรีสมัยอยุธยา ในวารสารสยามสมาคม ปีที่ 16 เล่ม 1 ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะได้ใช้ข้อมูลทางกฎหมายตราสามดวงมาอธิบายลักษณะรูปทรง บทความนี้ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยจนปัจจุบันผู้เขียนบทความจึงได้ศึกษา แปลและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่ข้อสังเกตที่ว่าปัจจุบันรูปหล่อนี้ยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่


บทแปล

ข้อสังเกตว่าด้วยรูปหล่อเจ้านายฝ่ายในสมัยอยุธยา

โดย

ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์

ภัณฑารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ

กฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายสำหรับการรักษาความปลอดภัยในเขตพระราชวังหลวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อ ค.. 1458 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น มีเนื้อความอย่างรวบรัดที่กล่าวถึงราชประเพณีและเครื่องประดับพระองค์ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในยุคดังกล่าวสำหรับเจ้านายฝ่ายหน้าและเจ้านายฝ่ายในในราชสำนัก รวมทั้งยังมีความบางตอนระบุถึงฉลองพระองค์ในพระราชพิธีด้วย

ในกฎหมายมาตราดังกล่าวนี้ ดังที่ นายแพทย์แดนบีช บรัดเลย์ ได้นำมาพิมพ์ไว้ในกฎหมาย 2 เล่ม (เล่ม 2 น. 126127) ก็ยังมีความยากลำบากในการตีความอยู่ แม้จะเป็นชาวสยามที่รู้หนังสือมากแล้วก็ตาม ความลำบากนี้เกิดจากคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องทรงและเครื่องประดับที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาเขมรและเกิดจากปัญหาที่รูปแบบเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายในสมัยอยุธยาเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากยิ่ง

ด้วยเหตุดังนั้น รูปบุคคลที่เราได้ศึกษาในครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ทั้งในคุณค่าด้านความงามทางศิลปะและเสน่ห์ที่งดงามของวงหน้าและทรวดทรงที่หล่อขึ้นอย่างประณีตอ่อนช้อย รูปหล่อนี้จึงควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และเมื่อใช้ข้อมูลจากกฎมณเฑียรบาลในการช่วยตรวจสอบแล้ว ก็จะพบว่าเราสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบของรูปหล่อนี้ได้ พร้อมกันนั้น ข้อมูลบางประการที่ยังคลุมเครือก็จะกระจ่างชัดเจนมากขึ้น

รูปหล่อชั้นนี้หล่อจากสัมฤทธิ์สีดำ สูง 42 เซนติเมตร ฐานมีขนาด 27 x 22 เซนติเมตร เป็นสมบัติเดิมของพระยาสุนทรพิมล (เผล่ วสุวัต) ผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น หลังจากที่พระยาสุนทรพิมลถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ นาย C. Niel ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ภาพประกอบ ในบทความภาษาฝรั่งเศสเรื่อง “ข้อสังเกตว่าด้วยรูปหล่อของเจ้านายฝ่ายในสมัยอยุธยา” โดย ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ ในวารสารสยามสมาคม

ลักษณะทางกายภาพของรูปสัมฤทธิ์นี้ หากพิจารณาแต่แรกจะพบว่าต่างไปจากรูปเทวสตรีอย่างเด่นชัด กล่าวคือ รูปหล่อนี้สวมเสื้อปิดที่บริเวณด้านหน้าอก และบริเวณพระเศียรมีมงกุฎและมวยผม 2 มวย ปรากฏให้เห็นมวยหนึ่งอยู่กลางพระเศียรด้านบน อีกมวยหนึ่งอยู่ที่ท้ายทอยด้านหลัง

หากพิจารณาข้อความในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งพรรณนาเครื่องแต่งกายเต็มยศของพระมเหสี และเจ้านายฝ่ายใน ก็จะพบความดังนี้

พระอรรคมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชประโภค มีมกุฎ เกือกทอง อภิรุมสามชั้น พระราชยานมีจำลอง พระราชเทวี พระอรรคชายา ทรงราโชปโภค ลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่ สักหลาด มีอภิรุมสองชั้น เทวีราชยานมีมกรชู ลูกเธอ เอกโท ทรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภค ลายทอง หลานเธอ เอกโท ใส่เศียรเพศ มวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว

รูปสัมฤทธิ์ในที่นี้จึงมิใช่ทั้งพระอรรคมเหสีหรือพระอรรคราชเทวี เพราะว่าไม่ได้ใส่ทั้งมงกุฎยอดแหลม หรือทรงฉลองพระบาท แต่สวมเสื้อ และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ก็มิใช่รูปของพระราชเทวีหรือพระอรรคชายาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระเศียรมิได้ทรงพระมาลามวยหางหงส์

ในที่นี้ก็คงเหลือเฉพาะเจ้านายสตรีฝ่ายในชั้นพระราชธิดา และพระราชนัดดา ซึ่งทั้งสองชิ้นนี้ ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกัน และสีมวยผมทรงกลม อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ยากลำบากในการที่จะพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียดของฉลองพระองค์ว่าเป็นลายทองหรือลายดาวดารากร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความแตกต่างอย่างชัดเจน

ของรูปหล่อเจ้านายฝ่ายในนี้ แต่หากพิจารณาตามเนื้อความในมาตราที่ยกมา จะพบว่ามีเครื่องประดับพระเศียรที่มีลักษณะเฉพาะชั้นพระเจ้าหลานเธอเท่านั้นคือ ศิโรเพท (สันสกฤตว่าศิโรเวศ ซึ่งหมายถึงที่คาดศีรษะยอดแหลม) เครื่องศิราภรณ์ชิ้นนี้ก็คงเป็นชิ้นที่ประดับอยู่ที่พระเศียรของรูปสัมฤทธิ์นี้

ด้วยการจำแนกความต่างออกไป ทำให้เราสามารถบรรลุถึงการพิจารณากำหนดลักษณะของรูปสัมฤทธิ์ได้ว่าเป็นรูปสัมฤทธิ์ของเจ้านายชั้นพระเจ้าหลานเธอ พระราชนัดดาในพระเจ้าแผ่นดิน และดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าตัวบทกฎหมายในกฎมณเฑียรบาลได้ให้ข้อมูลอันน่าสนใจในระดับหนึ่งแล้ว เรายังได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นจากรูปสัมฤทธิ์ว่าศัพท์บางคำคือ เศียรเพศ มวยกลม เสื้อโภค นั้นมีลักษณะเช่นใด

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าได้พิมพ์เผยแพร่รูปหล่อสัมฤทธิ์ชิ้นนี้ ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองข้าพเจ้าขอขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงพระเมตตาชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบข้อความกฎหมายในกฎมณเฑียรบาล และขอขอบคุณ นาย C. Niel ที่อนุญาตให้ถ่ายภาพรูปสัมฤทธิ์ชิ้นนี้จากบรรดาสิ่งของสะสมส่วนตัว


ข้อสังเกตของผู้แปล

เครื่องประดับพระเศียรของเจ้านาย หรือเครื่องประดับศีรษะของชนชั้นสูงในสมัยอยุธยาที่ปรากฏในปัจจุบัน มีทั้งส่วนประดับพระเศียรพระพุทธรูปและรูปเคารพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในประเทศ อาจรวมเรียกได้ว่าเครื่องถนิมพิมพาภรณ์

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี อธิบายถึงเรื่องเครื่องประดับเศียรไว้อย่างกว้าง ๆ โดยอ้างอิงถึงโบราณวัตถุที่พบในกรุวัดราชบูรณะว่า ในกรุนั้นมีเครื่องทองที่เป็นเครื่องประดับพระเศียร 2 ชิ้น คือ จุลมงกุฎทรงน้ำเต้าชิ้นหนึ่ง และพระมาลาทองคำที่ใช้เส้นทองคำถักอีกชิ้นหนึ่ง เฉพาะชิ้นแรกนั้น ศาสตราจารย์ชินมีความเห็นว่าที่เป็นทรงน้ำเต้าคือส่วนปลายยอดของมงกุฎ ตัวมงกุฎด้านล่างอาจถูกคนร้ายลักไปแล้ว เพราะรูปที่ลายฉลุบนกาบบนของพระเต้าทองคำยอดพรหมพักตร์ มีมงกุฎครบทั้งส่วนบน (ทรงน้ำเต้า) และส่วนล่าง

พัฒนาการของมงกุฎทรงน้ำเต้านี้อาจเริ่มจากการไว้ผมสูงและโพกผ้ามาก่อน ต่อมาจึงมีผ้าแถบหรือเชือกรัดผมสูง เหมือนผูกผมจุกเด็ก แล้วมีการประดิษฐ์เครื่องครอบยอดผมสูงที่มีลักษณะโปร่ง ทำด้วยโลหะอันมีค่าเช่นทองคำหรือเงินเป็นรูปทรงน้ำเต้า พัฒนาการต่อมาคือมีกรอบหน้า ผ้าโพกเปลี่ยนเป็นส่วนล่างของมงกุฎ เพิ่มกรรเจียกจอนข้างหู ครั้นเมื่อคนไทยตัดผมสั้น ยอดผมสูงก็หายไป ทำให้ยอดน้ำเต้าก็เปลี่ยนไปด้วย คงเหลือเพียงหัวโขน เช่นเศียรพิเภกที่มีร่องรอยว่าเคยเป็นผมมาก่อนเท่านั้น จุลมงกุฎทรงน้ำเต้าที่ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี อธิบายนี้ กรมศิลปากรเรียกว่า สนองเกล้าทองคำ

ส่วนพระมาลาทองคำถักนั้นศาสตราจารย์ชินอธิบายว่าควรเป็นพระมาลามวยหางหงส์ของพระราชเทวีพระอัครชายา โดยใช้ข้อความในกฎมณเฑียรบาลว่าพระอัครมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชปโภค มีมงกุฎ เกือกทองเพราะลวดลายคล้ายกับภาพเขียนในซุ้มพระสถูป วัดเจดีย์เจ็ดแถวและลายพระวิหารพระศรีอาริย์ วัดพระเชตุพน เมืองสุโขทัยนอกจากนี้ศาสตราจารย์ชินยังให้ความเห็นต่อไปว่าเครื่องประดับพระเศียรทองคำชิ้นนี้เหมือนกับเครื่องประดับเศียรของรูปสัมฤทธิ์ที่ ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์อธิบายไว้ว่าเป็นเครื่องประดับของพระเจ้าหลานเธอ

อย่างไรก็ดี เครื่องประดับพระเศียร หรือที่เรียกว่าเครื่องศิราภรณ์นี้ในสมัยอยุธยาปรากฏหลายประเภทเช่น

พระมหามงกุฎ คือเครื่องประดับศีรษะ เดิมอาจเป็นมงกุฎทรงเตี้ยแบบเขมรที่เรียกว่ากะบังหน้ามงกุฎ ประกอบด้วยมงกุฎรูปกรวยและกะบังหน้าแยกจากกัน ซึ่งอาจมีวิวัฒนาการมาจากชฎามงกุฎ หรือผมที่ถูกรวบเกล้าไปเป็นจอมอยู่บนกระหม่อม บางครั้งอาจพบการใช้เทริดหรือเครื่องประดับเศียรพระพุทธรูปมักเป็นแบบกะบังหน้าพระพุทธรูป

สนองเกล้า คือเกี้ยวที่มีสาแหรกคลุมมวยผม

เศียรเพศ หรือศิรเพศ อาจหมายถึงกะบังหน้า กาญจนาคพันธุ์อธิบายว่าคำนี้มาจากภาษาเปอร์เซียสะระเพส หรือสีรเพส หมายถึงของที่ทำเป็นช่อสำหรับเสียบเครื่องประดับศีรษะ

มาลา มีชื่อปรากฏว่ามาลาหางหงส์ และมาลามวยกลม คือเกี้ยวธรรมดา

เกี้ยว เป็นเครื่องรัดมวยผม มีหลายชนิด เช่น เกี้ยวดอกไม้ไหว เกี้ยวแซม เกี้ยวธรรมดา

ในที่นี้รูปสัมฤทธิ์ที่ ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ อธิบายว่าควรเป็นรูปเจ้านายชั้นพระเจ้าหลานเธอนั้น ก็มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง เมื่อครั้งที่รูปสัมฤทธิ์นี้พิมพ์เผยแพร่ในวารสารสยามสมาคม มี 2 รูป คือ รูปด้านหน้าและรูปด้านข้างเท่านั้น ครั้นเมื่อกรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือเรื่องจิตรกรรมและศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.. 2501 ได้พิมพ์ภาพเครื่องประดับพระเศียรเจ้าหญิงไว้ที่ น. 81 รวม 4 อิริยาบถ คือ ด้านหน้าหลังซ้ายขวา แสดงว่ารูปสัมฤทธิ์นี้ยังคงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่สำคัญจะเห็นภาพด้านหลังรูปสัมฤทธิ์ว่ามีลักษณะเป็นมวยผมกลมเป็นตุ่มขึ้นมาอย่างชัดเจน และแสดงว่าในปี พ.. 2501 นั้น รูปเคารพสตรีนี้ยังอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นอกจากเครื่องประดับพระเศียรที่สามารถกำหนดสถานภาพของเจ้านายฝ่ายในว่า ควรเป็นพระราชวงศ์ชั้นใดชั้นหนึ่งของอยุธยาตามกฎมณเฑียรบาลได้แล้ว อาจศึกษาเสื้อหรือฉลองพระองค์ คือมีลักษณะแบบฉลองพระองค์ป้าย เห็นขอบฉลองพระองค์ที่บริเวณพระอุระได้ชัดเจนและที่สำคัญคือเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ คือ พระธำมรงค์ และทองพระกรที่ข้อพระหัตถ์ ที่แสดงพระยศได้อีกอย่างหนึ่ง เป็นไปได้ว่าฉลองพระองค์ที่รูปสัมฤทธิ์นี้ใส่เรียกว่าเสื้อโภคแพรดารากรเลวตามที่กฎมณเฑียรบาลกำหนดไว้ หรืออาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่เนื่องจากที่ลายเสื้อไม่มีลวดลายใด ๆ

ส่วนที่นิ้วพระหัตถ์ของเจ้านายฝ่ายในพระองค์นี้ ทรงพระธำมรงค์ 10 นิ้ว ทั้งมีทองพระกร หรือกำไลข้อพระหัตถ์อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าทรงเครื่องเต็มยศในงานสำคัญงานใดงานหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้เขียนพบว่ายังมีรูปหล่อสัมฤทธิ์ของบุคคลในสมัยอยุธยา (?) อีกรูปหนึ่งมีลักษณะร่วมคล้ายกันกับรูปสัมฤทธิ์นี้พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ Trésor d’art de Thailande-Musée Cernuchi Mai-Juillet 1964 โดยเป็นงานเขียนร่วมกันระหว่าง ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์และ ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) เพื่ออธิบายศิลปะไทยช่วงต่าง ๆ ศาสตราจารย์ทั้งสองกำหนดให้รูปสัมฤทธิ์นี้เป็นศิลปะเชียงแสน โดยเป็นรูปบุคคลนั่งคุกเข่าสูง 31.5 เซนติเมตร และอธิบายว่า อาจเป็นรูปเจ้านายบุรุษ (prince) หรือเทวดาก็เป็นได้ และเดิมคงถือสังข์ในพระหัตถ์เพื่อรดน้ำลงสู่พื้นดินทั้งเครื่องทรงและเครื่องประดับเป็นศิลปะแบบไทยแท้

อันที่จริงแล้ว ด้วยลักษณะเครื่องประดับพระเศียรของรูปสัมฤทธิ์ที่คุกเข่านี้ก็คล้ายกับรูปสัมฤทธิ์เจ้านายสตรีที่ศาสตราจารย์เซเดส์อธิบายมาก่อน ท่าทางของรูปไม่น่าจะถือสังข์ในมือดังที่มีคำอธิบาย แต่เป็นการพนมมือมากกว่า ผ้านุ่งมีการทำลวดลายประดับเป็นช่วง ๆ เหมือนลายผ้าทอ แต่รูปสัมฤทธิ์นั่งคุกเข่านี้ไม่มีพระธำมรงค์ประดับทุกนิ้ว มีเพียงใส่ทับทรวง กำไลข้อพระกร และพาหุรัดที่รัดต้นแขนเท่านั้น จึงไม่ใช่รูปเจ้านายในราชสำนัก

ปัญหาที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ ปัจจุบันนี้รูปเคารพเจ้านายสตรีรูปที่เคยมีอยู่นั้นยังอยู่หรือไม่ จากประวัติที่ศาสตราจารย์เซเดส์ระบุนั้นเดิมเป็นของพระยาสุนทรพิมล (เผล่ วสุวัต) ผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น หลังจากที่พระยาสุนทรพิมลถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.. 2464 แล้ว ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ นาย C. Niel ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 6 หากแต่บทความภาษาฝรั่งเศสชิ้นนี้เผยแพร่ในปี พ.. 2465 หมายถึงเพียง 1 ปี หลังจากที่พระยาสุนทรพิมลถึงแก่อนิจกรรม และอยู่ในครอบครองของผู้อื่น

ต่อมาคงมีการมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เพราะในหนังสือจิตรกรรมและศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อ้างว่าเครื่องประดับพระเศียรที่พบในกรุนั้นชิ้นหนึ่งเป็นแบบเดียวกับเครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยาเท่ากับว่ารูปสัมฤทธิ์เจ้านายสตรีที่ว่านี้มีทะเบียนโบราณวัตถุที่ 800 ก. ยังอยู่ในประเทศไทยในปีนั้น

ถ้าเป็นไปได้แล้ว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควรตรวจสอบว่ายังอยู่ในคลัง หรือที่ใด และควรนำออกจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะครบ 100 ปีในไม่กี่ปีข้างหน้านี้


หมายเหตุ : รูปหล่อสัมฤทธิ์เจ้านายสตรีนี้ คาดว่าปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Guimet (กีเม่) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยพบอยู่ในรายการ “ไกลบ้าน” ของ Youtube : FAROSE CHANNEL ชื่อตอนว่า “ไกลบ้าน EP49 สงฆ์ใดสาวกศาสดา หลวงเจ้พาทัวร์มิวเซียม (Guimet, Paris)” ปรากฏรูปหล่อสัมฤทธิ์เจ้านายสตรี ในนาทีที่ 31.03 แม้จะไม่ได้มีการอธิบาย แต่หากพิจารณาจากภาพจะเห็นว่ามีลักษณะสอดคล้องกัน ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าจะเป็นรูปหล่อองค์เดียวกันหรือไม่

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม


บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จิตรกรรมและศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2501.

_____. ถนิมพิมพาภรณ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2535.

สำนักนายกรัฐมนตรี. การแต่งกายไทย :วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบันกรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2543.

Coedès, Georges. “Note sur unestatue de princesse siamoise del’époque d’Ayudhya,” in Journal of Siam Society. vol. XVI part 1, 1922, pp. 36-42.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2561