“ลายมือ” และ “ลายเซ็น” ของรัชกาลที่ 4 กับอิทธิพลที่ส่งผลในภายหลัง

เอกสารในสมัยโบราณของไทยใช้การประทับตราประจำกรมของเสนาบดี เช่น กฎหมายตราสามดวง ใช้ตราบัวแก้ว ตราราชสีห์ และตราคชสีห์ แต่ไม่มีการลงชื่อเช่นในปัจจุบัน เราจึงไม่ทราบว่าคนที่ออกเอกสารนั้นคือใคร เพราะตัวเสนาบดีใช้ชื่อตำแหน่งเรียกแทนชื่อจริง เช่น พระยายมราช แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเอกสารนั้นเป็นของจริงที่ออกจากทางราชการ เสนาบดีผู้มีตราประทับไว้ครอบครองมีสิทธิออกคำสั่งได้ตามหน้าที่ เพราะตรานั้นเป็นตราที่รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าได้รับอำนาจโดยตรงจากพระองค์

พระมหากษัตริย์ก็มีตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ประทับเวลาออกพระบรมราชโองการหรือหมายรับสั่งต่างๆ เอกสารจะถูกบันทึกลงในสมุดข่อยหรือสมุดไทยที่มีรูปแบบเป็นพับ เนื้อกระดาษสีดำบ้างขาวบ้าง และแบบที่เป็นกระดาษม้วน เขียนด้วยดินสอที่ทำจากดินสอพองเป็นสีขาว สีเหลืองจากหรดาลหิน สีดำจากแท่งถ่าน เขียนโดยอาลักษณ์ของพระองค์ เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็นลายพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์หรือเสนาบดีเลย

ยุคแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงเอกสาร คือสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2397 มีพระบรมราชโองการว่า

“…ให้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลราษฎรทั้งปวง บรรดาที่ต้องทำฎีกา ทูลเกล้าฯ ถวาย อย่าให้เขียนกระดาษม้วนยาวๆ อย่าให้ต้องคลี่ลำบาก ให้เขียนใส่กระดาษตัดเป็นท่อนๆ แล้วติดเข้าเหมือนอย่างสมุดฝรั่ง จะได้ทรงทอดพระเนตรง่ายๆ…”

(ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2397-2400, พระนคร: องค์การค้าคุรุสภา, 2503)

เหตุน่าจะมาจากการที่พระองค์ทรงศึกษาตำราแบบฝรั่ง และทรงเห็นว่าเป็นแบบที่ถนัดต่อการอ่านมากกว่าจึงทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงเอกสารจากเดิมเพื่อความสะดวกของพระองค์

นอกจากรูปแบบเอกสารแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้ริเริ่มการลงพระปรมาภิไธย หรือการลงลายเซ็นประกอบกับการประทับตราพระราชลัญจกร และทรงเขียนด้วยลายพระหัตถของพระองค์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระสหายเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตกตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวช ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกัน และภาษาละตินจากสังฆราช ปาเลกัวส์ พระองค์จึงทรงเขียนและอ่านภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญ ทรงมีพระสหายชาวต่างชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการโต้ตอบทางจดหมายด้วยลายพระหัตถ์ ซึ่งการเขียนจดหมายแบบตะวันตกต้องมีการลงท้ายด้วยชื่อผู้เขียน

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงพระปรมาภิไธย โดยทรงลงพระอภิไธย ว่า T.Y. Chau Fa MongKut (Thun kramom Fa Yai Chau Fa MongKut) ย่อมาจากทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่เจ้าฟ้ามงกุฎ (จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. สำเนาคำแปลพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเถลิงถวัลยราชสมบัติรวม 4 ฉบับ แปลโดย ม.จ.พิมลพรรณ รัชนี. พระนคร: บุญส่งการพิมพ์, 2507)

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงเปลี่ยนมาใช้พระปรมาภิไธยว่า S.P.P.M. Mongkut (Somdet Pra Paramendr Maha Mongkut) อันย่อมาจากสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ ในพระราชสาส์น หรือพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษทุกฉบับ ควบคู่กับการประทับตราพระราชลัญจกรต่างๆ (สมบัติ พลายน้อย, ความรู้เรื่องตราต่างๆ พระราชลัญจกร. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, 2527)

พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเซอร์อดัมสัน พระสหายที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองและทรงลงพระปรมาภิไธยว่า S.P.P.M. Mongkut (Somdet Pra Paramendr Maha Mongkut) หรือสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ ควบคู่กับประทับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ (สำเนาและคำแปลพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: กรมศิลปากร, 2514.)

นอกจากนี้ยังทรงลงพระปรมาภิไธย ภาษาขอม และภาษาไทย สำหรับภาษาไทยพระองค์ทรงใช้กับใบพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกยาเธอกับสัญญาบัตรแต่งตั้งขุนนาง ทรงลงว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ที่สอง และพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นอีกพระองค์ที่มีการลงพระปรมาภิไธย ความรู้ภาษาอังกฤษของพระองค์จัดว่าอยู่ในขั้นดีเยี่ยม ทรงแปลตำราฝรั่ง เช่น ตำราทหารปืนใหญ่ ซึ่งเป็นความรู้ทางวิชาการทหารแบบตะวันตก เพื่อนำมาใช้ฝึกทหารของพระองค์

(ซ้าย) พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระสหาย ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า S.P. Pawarendrramesr, Second King of Siam (Somdet Pra Pawarendrramesr, Second King of Siam) มาจากสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรรังสรรค์ กษัตริย์องค์ที่สองแห่งสยาม ลายพระหัตถ์ของพระองค์มีความเรียบร้อยสวยงาม และบัตรพระนามาภิไธย (นามบัตร) ของพระองค์ (ที่ระลึกในพิธีเปิดพระบวรราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ๗ กรกฎาคม 2523. กรุงเทพฯ: กองทัพเรือ, ๒๕๒๓.)
(ขวา) พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเซอร์จอห์น เบาริง ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า S. Pin Klaw chau yu hua, Second King of Siam (Somdet Pra pin Klaw chau yu hua, Second King of Siam) สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ที่สองแห่งสยาม เป็นพระปรมาภิไธยอีกแบบหนึ่ง และทรงประทับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ (The Kingd om and people of Siam, Sir John Bowring; with and introd. by David K. Wyatt. Kuala Lumpur; London: Oxford University Press, 1969)

พระปรมาภิไธยของพระองค์มี 2 แบบ คือ S.P. Pawarendrramesr, Second King of Siam (Somdet Pra Pawarendrramesr, Second King of Siam) มาจากพระนามต้นของพระองค์คือ สมเด็จพระปวเรนทรา เมศวร์มหิศเรศรรังสรรค์ กษัตริย์องค์ที่สองแห่งสยาม และ S. Pin Klaw chau yu hua, Second King of Siam (Somdet Pra Pin Klaw chau yu hua, Second King of Siam) สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ที่สองแห่งสยาม ลงประกอบกับพระราชลัญจกรประจำพระองค์

ลายพระหัตถ์ของพระองค์เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม นอกจากนี้พระองค์ยังมีบัตรพระนามาภิไธยหรือนามบัตร สำหรับพระราชทานพระสหายชาวต่างชาติอีกด้วย

พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหลายภาษา แสดงพระปรีชาของพระองค์ ทั้งอักษรขอม อักษรไทย และอักษรอังกฤษ รวมทั้งตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์จากพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๔ ถวายวัดพระราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ (สมบัติ พลายน้อย, ความรู้เรื่องตราต่างๆ พระราชลัญจกร. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, ๒๕๒๗)

บัตรพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีหลักฐานกล่าวไว้เช่นกันในพระราชสาส์นของพระองค์ ซึ่งพระราชทานไปยังพระนางเจ้าวิคตอเรียพระราชินีแห่งประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2398 หลังจากที่เซอร์จอห์น เบาริงเข้ามาทำสนธิสัญญาแล้ว หนึ่งในบัญชีเครื่องราชบรรณาการมี

“ที่ 2 ซองทองคำใส่แผ่นทองที่จารึกพระนามเป็นอักษรอังกฤษด้วยลายพระหัตถ์คู่หนึ่ง ไพ่ตีพิมพ์แสดงพระนามคู่หนึ่ง (คือ การ์ดพระนาม) นั้นมีจดหมายลายพระหัตถว่า คำนับถึงสมเด็จพระนางเจ้ากวีนวิคตอเรียมหาราชินี พระเจ้ากรุงลอนดอนแผ่นหนึ่ง คำนับถึงเจ้าชายซึ่งเป็นคู่เคียงพระสามีของพระนางเจ้านั้นแผ่นหนึ่ง (มีการด์พระนามนั้นอีกคู่หนึ่ง) คือไพ่ตีพิมพ์พระนามคู่หนึ่ง ใส่ซองกระดาษสีชมพู ในไพ่พระนามนั้นมีลายพระหัตถเป็นอักษรอังกฤษ ว่าคำนับมาถึงพระราชบุตรชายพระองค์ใหญ่แผ่นหนึ่ง คำนับถึงพระราชบุตรีพระองค์ใหญ่แผ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระนางเจ้ากรุงลอนดอน ของทั้งนี้นั้นได้ใส่ในถุงแพรสีแดง”

(กรมศิลปากร. พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไปยังประเทศอังกฤษ. พระนคร: บริษัท ว.ศิลป, 2510)

ยุคนี้จึงถือเป็นยุคที่รูปแบบทางวัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างมีอิทธิพลต่อพระราชประเพณีเดิมๆ และข้อปฏิบัติราชการที่เป็นแบบโบราณจากการนำเข้าของชนชั้นผู้นำ ยกตัวอย่างเช่น การที่พระมหากษัตริย์ทรงเขียนพระราชหัตถเลขาด้วยพระองค์เองและมีพระปรมาภิไธยเกิดขึ้น ใช้กระดาษเป็นแผ่น การเขียนจดหมายแบบฝรั่งเริ่มเข้ามานิยมในราชสำนัก จากนั้นจึงเริ่มขยายวงกว้างไปสู่ระบบราชการและราษฎรไทย

ยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามาสู่บ้านเมืองสยาม เป็นยุคที่พระมหากษัตริย์มีพระปรมาภิไธยหลากหลายรูปแบบ มีความสวยงาม ทั้งของพระองค์เองและการลงพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการ

ลายเซ็นมีบทบาทชัดเจนในปี พ.ศ. 2431 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการวางระเบียบให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ ที่จะประทับตราประจำกระทรวง จะต้องลงชื่อตัวในท้ายตราด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน

การลงลายเซ็นจึงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตราประทับถูกลดบทบาทลงจนแทบไม่มีความสำคัญ จนถึงปัจจุบันคนไทยทั้งราชการและเอกชนให้การยอมรับการลงลายชื่อในเอกสารกันแพร่หลายทั่วไป

 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561