กฤษณามนุษย์

ภาพจากภาพยนตร์เรื่องเรือมนุษย์ ฉบับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๓

ในบรรดานักเขียนรางวัลซีไรท์ของบ้านเรา ใครก็อิจฉาวินทร์ เลียววาริณ, และชาติ กอบจิตติ ที่มีฐานะดับเบิ้ลซีไรท์ แต่เหนือชั้นเมฆยังมีชั้นเมฆา เพราะว่ากฤษณา อโศกสิน ที่นับว่าเป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ที่น่าอิจฉาริษยาเป็นที่สุดกว่า เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าของรางวัลซีไรท์ในปี พ.ศ. 2528 ประเภทนวนิยายเรื่องปูนปิดทองแล้ว กฤษณายังเป็นนักเขียนรางวัล สปอ. (องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อันเป็นรางวัลต้นทางมาตรฐานของรางวัลซีไรท์ ซึ่งจัดว่าเป็นรางวัลที่ยากที่จะได้รับ เพราะรางวัลถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งกฤษณารับรางวัล สปอ. แบบดับเบิ้ล สปอ. คือ ปี พ.ศ. 2511 จากเรื่องเรือมนุษย์ และปี พ.ศ. 2515 จากเรื่องตะวันตกดิน

ปัจจุบัน กฤษณา อโศกสิน 1 ใน 50 นักเขียนทั่วโลกผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวรรณกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี กาเบียลา มิสตรัล นักเขียนคนแรกของชิลีที่คว้ารางวัลโนเบลปี 1945 แต่ที่สำคัญสำหรับเราคือเธอเป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) ปี พ.ศ. 2531

ผลงานทางความคิดของกฤษณา อโศกสิน เด่นในด้านอุดมคติและความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักประพันธ์ โดยได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องผลกรรมดีกรรมชั่วของมนุษย์ โดยอาศัยตัวละครที่เป็นมนุษย์ธรรมดามาเป็นตัวแทนทางความคิดเห็น

กฤษณา อโศกสิน เป็นนักเขียนผู้มีผลงานด้านวิเคราะห์มนุษย์มากกว่า 120 เรื่อง แต่เรื่องที่น่าสนใจและน่ากล่าวถึงอย่างเหมาะสมมากที่สุดคือเรือมนุษย์ ผลงานสำคัญที่เปรียบเทียบชีวิตของคนเราเหมือนเรือที่บรรทุกสัมภาระสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ดี เลว กิเลส ตัณหา ราคี ราคะ ธรรมะ ความดี และความชั่วร้าย เช่น

เดียวกับผลงานเขียนที่โด่งดังทั้งหลาย เรือมนุษย์ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ออกมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 โดยผู้กำกับ ดอกดิน กัญญามาลย์ แห่งกัญญามาลย์ภาพยนตร์ โดยดอกดินได้มีโอกาสร่วมงานกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งเสียที ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ใครๆ รู้จักกันดี วิมล พลกุล ผู้ที่ประสงค์จะนำเรือมนุษย์สร้างเป็นภาพยนตร์ ด้วยความตั้งใจเป็นที่ตั้ง วิมลจึงตั้งบริษัทหนังชื่อว่าราชพันธ์ฟิล์มออกมา และสร้างเรือมนุษย์

ภาพจากภาพยนตร์เรื่องเรือมนุษย์ ฉบับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๓

เรือมนุษย์ ภาคภาพยนตร์ ดัดแปลงออกมาเป็นเรื่องราวของมธุรส นักสังคมสงเคราะห์ที่สนใจแต่งานสังคมจนครอบครัวของเธอต้องถูกครรลองของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลร้ายตามมาจนครอบครัวของคนมีหน้ามีตาในสังคมต้องอับอายอยู่ภายใน

การดัดแปลงวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จนั้นมิใช่เรื่องง่าย อีกทั้งเรือมนุษย์เป็นนวนิยายเนื้อหาหนัก มีรายละเอียดมากมาย การดัดแปลงจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยการนี้ จึงมีการปรึกษากันระหว่างผู้กำกับดอกดิน, วิมล พลกุล, และกฤษณา อโศกสิน โดยเรือมนุษย์ถูกดัดแปลงให้มีอรรถรสแบบชาวบ้าน มีดรามา มีการปะทะคารม มีการแก่งแย่ง และการให้บทเรียนแก่กันและกัน ตามรสแห่งความบันเทิงของภาษาภาพยนตร์

สำหรับรายละเอียดในการทำงานนั้น ดอกดิน กัญญามาลย์ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การดัดแปลงเรือมนุษย์ เป็นภาพยนตร์ มีการทำความตกลงกับเนื้อหาที่จะต่างออกไปจากหนังสือ มีการนำดาราเด่นของยุค เพื่อผลของการรับชมมากกว่าการวางตัวให้เหมาะสมตามบุคลิกในหนังสือ แต่ สมบัติ เมทะนี, เพชรา เชาวราษฎร์, เมตตา รุ่งรัตน์, อดุลย์ ดุลยรัตน์, นงลักษณ์ โรจนพรรณ ก็แสดงออกมาได้อย่างเป็นที่พออกพอใจของคนดูในยุคนั้น

เรือมนุษย์ เป็นผลงานกำกับแหวกแนวการทำงานของดอกดิน เจ้าของฉายาล้านแล้วจ้า ผู้กำกับภาพยนตร์แนวตลก เฮฮา เน้นความรักชายหญิง ที่ต่างกับแนวหนังอย่างเรือมนุษย์

แม้ว่าจะมีรายรับล้านแล้วจ้าเล็กน้อย แต่ดอกดินก็มีความสุขในการทำงานชิ้นนี้ เพราะได้เห็นผลงานที่เป็นเรือแห่งความปรารถนาของ วิมล พลกุล แล่นออกมาผ่านภาพของภาพยนตร์ เพื่อให้เรือวิมลถูกปล่อยออกมาจากกฤษณาที่ซ่อนอยู่ภายในเรือมนุษย์ นั่นเอง