ทำไมโจโฉถูกเรียกว่า “กังฉินหน้าขาว” ?

นักแสดงงิ้ว แต่งหน้า กังฉินหน้าขาว โจโฉ
นักแสดงงิ้วแต่งหน้าก่อนขึ้นเวที เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1998 ณ โรงงิ้วแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง (AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER)

ทำไม โจโฉ ถูกเรียกว่า “กังฉินหน้าขาว”ภาพลักษณ์ตัวร้ายนี้มาจากไหน?

ตอนปลายราชวงศ์ฮั่น บ้านเมืองแตกแยก ขุนศึกชิงอำนาจกัน โจโฉนำทัพก่อการ กำจัดลิโป้ (หลี่ว์ปู้) ปราบเตียวซิ่ว (จางซิ่ว) พิฆาตอ้วนสุด (หยวนซู่) และอ้วนเสี้ยว (หยวนเส้า) สุดท้ายรวมจีนภาคเหนือเป็นปึกแผ่น มีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อการรวมจีนทั้งหมดในยุคต่อมา เขามิได้มีเพียงปรีชาสามารถแกล้วกล้าด้านการทหาร หากยังเป็นนักการเมืองผู้ปกครองบ้านเมืองได้ดีเลิศ ทั้งยังเป็นกวียอดเยี่ยมที่หาได้ยาก

ถึงแม้เขาจะปราดเปรื่องทั้งเรื่องบุ๋นและบู๊ แต่ภาพลักษณ์ในหมู่ชาวบ้านแล้ว โจโฉถือว่าโชคร้ายที่สุด คงเป็นเพราะถ้อยคำของเขาเฉียว (สี่ว์เส้า) พยากรณ์เขาไว้ว่า “เป็นขุนนางผู้ปรีชาสามารถในยุคสงบ เป็นยอดคนเจ้าเล่ห์ในยุคจลาจล”

คำพยากรณ์นี้มีความหมายว่า หากโจโฉเกิดในยุคบ้านเมืองสงบเขาจะเป็นขุนนางผู้มีความรู้ความสามารถดี ช่วยฮ่องเต้ปกครองบ้านเมืองให้เกิดสันติสุขได้สูงสุด แต่ถ้าเกิดในยุคบ้านเมืองแตกแยกจลาจล เขาจะเป็นยอดคนกล้าหาญชาญเล่ห์ ทำการปราบปรามผู้อื่นตั้งตัวเป็นใหญ่ได้สำเร็จ

ความจริงคำพยากรณ์นี้ยกย่องโจโฉ แต่เพราะคล้อยตามพัฒนาการของสังคมไป ผู้คนจึงเริ่มค่อยๆ “ตัดตอนแปลความหมาย” ดังนั้น โจโฉจึงกลายเป็นกังฉินติดปากคน

ความเปลี่ยนแปลงนี้คงจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต่อระหว่างราชวงศ์ซ่งเหนือกับราชวงศ์ซ่งใต้ พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ทางภาคเหนือซึ่งค่อยๆ เจริญเข้มแข็งขึ้นเข้าบุกยึดแผ่นดินของราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้คนเริ่มหนีข้ามแม่น้ำแยงซีมาอยู่ทางใต้ เมื่อมาอยู่ทางใต้แล้วก็ยิ่งหวาดกลัวศัตรูที่กล้าแข็งยิ่งขึ้นทางภาคเหนือ

ในชีวิตจริงสิ้นหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ จึงต้องใช้ศิลปะมาลดคุณค่าของภาคเหนือ โจโฉผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางภาคเหนือก็กล้าแกร่งเช่นเดียวกัน ยิ่งใหญ่อยู่ทางภาคเหนือเหมือนกัน และมุ่งยึดครองดินแดนภาคใต้เหมือนกันอีก โจโฉจึงค่อยๆ กลายเป็นศัตรูจำลองในหมู่บ้านชาวจีน

อนึ่ง ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือเป็นต้นมา ศิลปะพื้นบ้านจีนเริ่มรุ่งเรือง ตามโรงมหรสพในย่านชุมชนเป็นที่ทำมาหากินของศิลปินอาชีพ ดังนั้น ผู้คนจึงเริ่มใช้เวทีการแสดงทำลายเกียรติคุณโจโฉ นานเข้าก็กลายเป็น “แบบฉบับ” ของกังฉินชั่วร้าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสืบเนื่องจากนิยายสามก๊กซึ่งแต่งเสร็จราวช่วงต้นราชวงศ์หมิง ภาพลักษณ์โจโฉในหมู่ชาวบ้านลงตัวอย่างสมบูรณ์ แล้วนิยายเรื่องนี้ก็กลับมามีอิทธิพลต่อการสร้างภาพลักษณ์โจโฉบนโรงงิ้ว ตั้งแต่ราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา ผลพวงจากการเกิดงิ้วปักกิ่งและบทงิ้วเกี่ยวกับสามก๊กตอนต่างๆ มากมาย “โจโฉหน้าขาว” ก็กลายเป็นสีสันของโจโฉบนเวทีแสดงงิ้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

“ทำไมโจโฉถูกเรียกว่า ‘กังฉินหน้าขาว’ ?” โดย เฉิงเสี่ยวฮั่น จากหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2560