แขกตานี

“แขกตานี” ชาวมุสลิมทางภาคใต้กับข้าราชการสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพเก่า)

แขกตานีเป็นคำที่ใช้เรียกคนมลายูมุสลิมใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายร้อยปีมาแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลยุคหนึ่งเห็นว่ามันดูจะทำให้เกิดความแตกแยกในบรรดาประชากรในประเทศ จึงได้บัญญัติคำที่สวยงามขึ้นมาแทนว่า “ไทยมุสลิม” เพื่อสร้างความรู้สึกและปลูกจิตสำนึกความเป็นคนไทยมากยิ่งขึ้น (แต่ศาสนิกอื่นไม่มีการบัญญัติคำเฉพาะเช่นนี้?) โดยรัฐคงคาดว่าจะทำให้คนไทยมุสลิมทั้งหลายลืมความเป็นมาทางชาติพันธุ์ได้

และจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “มลายู” ให้มากที่สุด เช่นจะเรียกภาษามลายูที่ใช้ในสามจังหวัดให้เพี้ยน (ทั้งโดยเจตนาและความไม่รับรู้?) ว่า “ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาญาวี (Jawi) หรืออาจจะเลยเถิดว่าเป็นภาษาอิสลาม?” เพิ่งจะยอมรับว่าเป็นภาษาท้องถิ่นภาษาหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเขียนไว้ในแผนพัฒนาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เป็นแผนพิเศษที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไม่มี?)

แต่แผนคือกระดาษที่เป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้น ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังนัก อย่างน้อยได้สร้างความเกร็งแก่บรรดากลไกของรัฐบางคนบางระดับได้บ้างในบางโอกาส?

การแสดงออกของกลไกและมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ ไม่ได้แตกต่างกันกับที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีมากนัก เพราะสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๓๑๗) เคยออกคำสั่งเรื่องโทษฐานการห้ามคนไทยและมอญ (ในกรุงธนบุรี) เข้ารีตศาสนาพระมะหะหมัด และมีเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความแปลกแยกยิ่งหนัก เมื่อรัฐบาลแห่งรัฐชาตินิยมสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอให้พวกที่นับถือศาสนาพระมะหะหมัดใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนศาสนาเป็นพุทธให้หมด เพราะท่านผู้นำปรารภในนโยบายว่า “เมืองไทยเป็นของคนไทย มิควรให้คนศาสนาอื่นอยู่” (อิมรอน มะลูลีม ๒๕๓๘) และอีกมากมายนโยบายที่สร้างความรู้สึกถูกกดขี่โดยรัฐมาโดยตลอด

ผู้เฒ่าผู้แก่ในสามจังหวัดชายแดนเล่าให้ฟังว่า ในสมัยนั้นการเรียนการสอนศาสนาเป็นเรื่องที่ถูกเพ่งเล็งและข่มขู่สารพัด สังคมในทุกท้องถิ่นอยู่ในสภาพหวาดระแวงและเกรงกลัวต่อกลไกของรัฐอย่างหนัก ผู้นำศาสนาและคนเก่งคนดีของท้องถิ่นบางคนอพยพหลีกหนีความเลวร้ายไปยังที่ห่างไกล บ้างหนีไม่ทันถูกกระบวนการและกลไกของรัฐทำร้ายทั้งจิตใจและร่างกาย ผู้อาวุโสส่วนใหญ่เล่าเรื่องความเลวร้ายของชีวิตอารมณ์ความรู้สึกในช่วงนั้นอย่างเจ็บปวดและรวดร้าวยิ่งนัก เหตุการณ์เช่นนี้เวียนว่ายตายเกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง (จะต่างกันเพียงบุคคล เวลาและเงื่อนไขที่เกิด)

รัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลที่ผ่านพ้นในอดีต พยายามกระทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ โดยผ่านกลไกรัฐในท้องถิ่น การห้ามสอนและห้ามพูดภาษามลายูในสถาบันการศึกษาในท้องที่ การสร้างความรู้สึกให้เกิดการดูถูกดูแคลนในการพูดภาษาและการใช้วัฒนธรรมมลายูในที่ทำงานราชการ หลักสูตรการศึกษาภาษาไทยที่มีลักษณะเนื้อหาเด่นชัดเรื่องการเผยแพร่ภาษาตามแนวคิดพุทธนิยมในทุกระดับชั้น และเหมือนกันทั่วประเทศ ถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาใหม่แล้ว แต่ที่นี่สถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีก่อนมากนัก?

ความคิดเรื่องชาตินิยมของรัฐและประชาชนในแต่ละประเทศคงไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆ นัก เพราะเป็นความลึกซึ้งในการสั่งสมมาเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ถ้าหากการโหมกระพือและโฆษณาชวนเชื่ออย่าง “บ้าเลือดทั้งการใช้กำลังบังคับหรือสร้างกระบวนการให้รู้สึกไม่ปลอดภัยกับชีวิต และกระทำอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เฉกเช่นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ทำไว้ในอดีต ก็สามารถเห็นผลจนถึงปัจจุบัน”

แต่ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยในปัจจุบันมากมาย กรณีชนชาติที่มีและรักษาอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเข้มแข็งเช่นมลายูมุสลิมในภาคใต้ ย่อมจะต้องได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียด ที่ผ่านมาก็ยังตามแก้ปัญหายังไม่ถูกจุด รัฐต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งและจริงจังในการลงลึกถึงรากเหง้าอย่างแท้จริง (หากปรารถนาอยากจะแก้ปัญหาอย่างถาวร? และอย่างบริสุทธิ์ใจ?) เพราะสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน หลายๆ อย่างกำลังย้อนหาอดีต ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยตนเองอีกครั้ง แต่การย้อนอดีตครั้งนี้มันหนักหน่วงและค่อนข้างจะท้าทายความรู้สึกอีกหลายเท่าตัวนัก เพราะมีแรงผลักเรื่องศาสนาเป็นเรื่องหลัก โดยใช้ขบวนการก่อการร้ายเป็นตัวเร่งเร้าและเป็นหัวหอก มีกำลังและบารมีจากอเมริกาและพวกกระหายสงครามเป็นตัวขับเคลื่อน

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่แท้จริงเรื่อง “การไม่ยอมรับความแตกต่าง” ของกลไกของรัฐที่มิใช่มุสลิมส่วนใหญ่เป็นพวกที่ยังฝังแน่นเรื่องความเป็น “ชาตินิยม” และยังแสดงออกอย่างชัดเจนในการกระทำ (บางคนบอกได้ว่าทุกเวลาทั้งต่อหน้าและลับหลัง) ข้าราชการเกือบทุกระดับและเกือบทุกสาขาอาชีพ แสดงกิริยากระอักกระอ่วนต่อความเคลื่อนไหวและการช่วยเหลือมุสลิมในเกือบทุกเรื่อง (ที่ทำไปเพราะอาชีพ ความรับผิดชอบในหน้าที่ และบังเอิญคนที่ต้องบริการให้เป็นมุสลิม ถ้าหลีกได้เลี่ยงได้ก็จะเป็นความสบายใจและรู้สึกโชคดีแก่ตนเองมาก?)

ยิ่งข่าวคราวความวุ่นวายที่เกิดในสามจังหวัดถี่มากขึ้น จำเลยไม่ค่อยปรากฏว่า ไม่ใช่มุสลิมเป็นคนกระทำ? หรือถ้าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมโดยตรง (ตามที่คาดเดา) เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งกลายเป็นเงินเป็นทองของสื่อที่มันปาก (กา) กระจายข่าวกันครึกโครม ความเป็นจริง เช่นการทำร้ายร่างกายหรือข้าราชการที่ดีๆ ต้องพิการหรือสังเวยชีวิต ยังมีจำนวนหรือความถี่น้อยกว่ากับเบื้องหลังเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับกลไกของรัฐที่มีมูลเหตุจากเรื่องชู้สาว ผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน การค้าของเถื่อน เป็นเครือข่ายของการค้าขายยาเสพย์ติด ขัดผลประโยชน์และสารพัดความชั่วที่ตนกระทำ การวางตัวเป็นอันธพาลและรีดไถทุกเรื่องทุกที่เมื่อมีโอกาส รวมไปถึงการสร้างเงื่อนไข การข่มขู่ข่มเหงและรังแกประชาชน เพื่อหวังผลบางอย่างแก่ตนหรือพวก?

การสร้างหรือลดอคติต่อมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วอายุคน หากกระบวนการแก้ปัญหาและการเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ยังเป็นอยู่เช่นนี้ รากเหง้าแห่งชาติพันธุ์ที่เป็น “คนเชื้อชาติมลายู” คือ “แขกไม่ใช่คนไทยเชื้อสายมลายู” ต่อไปนี้คือตัวอย่างเล็กๆ ในสายตากลไกรัฐ แต่มันเป็นเงื่อนไขบางอย่างที่เป็นคะแนนสะสมความเข้าใจและความไม่เข้าใจของประชาชน อาทิ กิจกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเรียกเฉพาะ กลับถูกเจตนาเพิกเฉยในการจะเรียกให้ถูกต้อง เช่น มหกรรมไก่ฆอและที่ปัตตานี เขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือรูมาไนซ์ (ภาษามลายูเขียนด้วยอักขระอังกฤษ) เป็น KAI KOLAE ที่ถูกต้องควรเป็น CHIKEN GOLEK หรือ AYAM GOLEK แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเทศบาลเมืองปัตตานี กลับมีเหตุผลเรื่องการผสมผสาน (ทั้งภาษาและความรู้สึก) มากกว่าความถูกต้องที่เจ้าของผู้เข้าใจหลักภาษาได้แนะนำ (จึงเขียนภาษาที่ไม่มีในสารบบการเขียนและไม่รู้ว่ามีความหมายเป็นอะไรคือ KAI KOLAE อ่านว่า ไก่กอแล หรือจะให้อ่านเป็น กอลาเอ?)

การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นเรื่องสนุกสนานและการแทรกการละเล่นแสงสีเสียงของนิทานปรัมปรา แต่เพื่อให้มีรสชาติและดูขลังน่าเชื่อถือ ต้องลากโยงเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ และโหมโฆษณาในทุกชนิดของสื่อทางไกล ตลอดจนถ่ายทอดสดทั้งวิทยุโทรทัศน์ให้ออกอากาศไปทั่ว เพื่อกลบเกลื่อนหรือบดบังความดีงาม ความถูกต้องของประวัติศาสตร์ที่แท้จริงและยังปรากฏอยู่ในท้องถิ่น

ผู้ปกครองระดับสูงในสามจังหวัดหลายราย กระอักกระอ่วนกับการมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยของ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา และยิ่งไม่สบายใจเมื่อได้ยินชื่อเรียกบางชื่อที่สื่อให้เห็นความเด่นของท้องถิ่น เช่น เรียกชื่อทีมฟุตบอลว่า “ทีม ฟาฏอนี” (แทนจะเรียกว่าทีมปัตตานี) ชื่อเสียงเรียงนามของท้องถิ่นส่วนมากถูกแปลเปลี่ยนให้ดูเป็นภาษาไทยและให้เป็นไทย (พุทธนิยม) มากกว่าการเป็นท้องถิ่น (โดยเฉพาะชื่อหมู่บ้านตำบลและสถานที่อื่นๆ) หรือถ้าบังเอิญชื่อท้องถิ่นเมื่อฟังเป็นภาษาไทย เป็นการดูถูกดูแคลนหรือให้เพี้ยนไปเลยได้เป็นยิ่งดี เช่น บ้านบาเอะ (Ba-aeh) เปลี่ยนเป็น “บ้านใบ้” (ยะลา) ปูเลาเญอลาปี (Pulau-Jelapi) เป็น “เกาะเล่าปี่” (ปัตตานี) หรือชื่อผู้คนที่มีมงคล เช่น นายมูฮำหมัดดาวุด (เป็นชื่อศาสดาท่านหนึ่ง) แต่นายทะเบียนราษฎร์เขียนว่า “นายหมัดโหด” (สตูล) และอีกมากมายที่สามารถยกเป็นตัวอย่าง ยังไม่รวมถึงการพูดคุยกับประชาชนที่พูดและฟังภาษาไทยไม่ได้ เวลาไปติดต่องานราชการที่สำนักงานเกือบทุกที่ ชาวบ้านบางคนไม่อยากเป็นตัวตลกหรือถูกออรังเซียง (คนไทย) ดูถูกและมองตนเองว่าพูดไทยไม่ถูก ภาษาเพี้ยนหรือทองแดง ฯลฯ ตลอดจนการพูดจาถากถางกับเด็กๆ ที่เพิ่งเข้าเรียนก่อนวัยประถมหรือชั้นประถมว่าเป็นลูกแขกโง่ ดักดานไม่รู้เรื่องภาษาไทย

พฤติกรรมเหล่านี้และอีกมากมาย ที่ประชาชนคนท้องถิ่นถูกกระทำนับตั้งแต่อยู่ในท้อง (ในขณะที่แม่ตั้งครรภ์และถูกนางพยาบาลด่าที่อนามัยหรือที่โรงพยาบาล) เมื่อโตเข้าโรงเรียนอนุบาล ถูกคำพูดและกิริยาที่ไม่เป็นมงคลจากคนที่เป็นครูบางคน (กว่าจะผ่านชั้นประถมได้ต้องใช้เวลาอดทน อดกลั้นทั้งเด็กและผู้ปกครองไม่ต่ำกว่า ๖ ปี) และอีกสารพัดประสบการณ์อันขมขื่น ที่จะฟันฝ่ามรสุมการดูถูกเหยียดหยามจากกลไกของรัฐ หลายคนต้องทิ้งบ้านห่างลูกเมียญาติพี่น้องและบ้านเกิดไปจนตาย หลายครอบครัวและหลายชีวิตต้องระทมทุกข์ เก็บความเจ็บปวดต่อชะตากรรมและวิบากกรรมที่ตนเองและสมาชิกในครอบครัวได้รับจนหลายคนตรอมใจตายอย่างน่าเวทนา เพียงเพื่อการรักษาศักดิ์ศรีของตนและวงศ์ตระกูล ไม่ให้ตกลงไปในห้วงเหวลึกแห่งความเลวร้ายทั้งปวง

เสียงเพรียกร้องของวิญญาณในความเจ็บปวดทั้งกายและใจของคนท้องถิ่น เขาจะต้องอดทนและอดกลั้นต่อการทดสอบในชีวิตนี้อย่างหนักหน่วงมากน้อยปานใด จะต้องร้องรออีกกี่ชั่วอายุคนไม่มีใครตอบได้ ถึงแม้หลายชีวิตจะสามารถหาแนวทางเพื่อยกระดับสถานภาพของตนตามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ภายใต้โอกาสที่เหมาะสม หลายคนหาทางออกจนเลยเถิดชนิดคนทั่วไปยังมองว่า น่าเกลียดและไม่สง่างาม (ต่อพฤติกรรมที่แสดงออก) ก็มีให้เห็นมากมาย แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถหนีห่างความรู้สึกอันขมขื่นจากความเป็น “คนมลายู” ที่ได้รับเป็นมรดกมาตั้งแต่บรรพกาล ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงหรือเบี่ยงเบนได้ ถึงจะเปลี่ยนสัญชาติหรือถือมากกว่าหนึ่งสัญชาติ เขาก็ไม่สามารถให้บรรพชนที่ตายฟื้นขึ้นมาและเปลี่ยนตามความประสงค์ของลูกหลานตนได้

เป็นธรรมหรือไม่ เมื่อคนชาติพันธุ์มลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิด ตาย และมีลูกหลานสืบสายสัมพันธ์มาหลายสิบหลายร้อยชั่วอายุคน แต่ต้องกลายเป็นจำเลยและเป็นแขกในประเทศที่เป็นมาตุภูมิของตนเองตลอดกาล?