“กูต้องตายเพราะอยากมีเมียแหม่ม” คดีความและวาทะของพระปรีชากลการ ผู้รับโทษประหาร

แฟนนี่ น็อกซ์ เมียฝรั่ง พระปรีชากลการ
(ซ้าย) แฟนนี่ น็อกซ์ (ขวา) พระปรีชากลการ ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ภาพถ่ายทางเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. 2489 ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“กูต้องตายเพราะอยากมีเมียแหม่ม” คำกล่าวข้างต้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ้างว่าเป็นของ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) เจ้าเมืองปราจีนบุรี และผู้ดูแลบ่อทองของรัฐบาลที่กบินทร์บุรี ซึ่งแต่งงานกับ แฟนนี่ น็อกซ์ ที่กล่าวไว้ก่อนถูกเพชฌฆาตลงดาบประหาร (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2422) ซึ่งใช้ข้อความที่ต่างกันออกไป แต่สื่อความในทำนองเดียวกันกับคำบรรยายเหตุการณ์ดังกล่าวในหนังสือ “ประวัติการและความทรงจำของรองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิการ (บุศย์ อเนกบุณย์)” ที่ระบุคำกล่าวของพระปรีชากลการก่อนตายไว้ว่า

“โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่งตัวจึงตายแดดร้อนอย่างนี้ ทำไมจะได้สติเมื่อตายแล้ว เราจะไปอยู่ที่หลังคาแดงโน้น”

คดีความของพระปรีชากลการ ถือว่ามีความสลับซับซ้อน เพราะแรงผลักดันในการดำเนินคดีส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมือง ด้วยแรกทีเดียว พระปรีชากลการ ถือเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรด แต่ภายหลัง พระปรีชากลการไปหลงรัก แฟนนี่ น็อกซ์ บุตรสาวของ มร.น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ วังหน้า (กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) และเคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ติเตียนวังหลวง ยกย่องวังหน้าอยู่เนืองๆ

(ซ้าย) พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล), (ขวา) แฟนนี น็อกซ์

เงื่อนไขอันนำไปสู่การดำเนินคดีกับพระปรีชากลการ ประกอบด้วยเรื่องหลักๆ คือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายบ้านเมือง จากกรณีการพาแฟนนี่นั่งเรือยอชต์ส่วนตัวไปดูงานฉลองพระราชวังบางปะอิน และค้างแรมบนเรือลำเดียวกัน แม้จะมิได้ค้างห้องเดียวกัน และการสมรสกับแฟนนี่ โดยมิได้ขอพระบรมราชานุญาต

สองคือ บกพร่องในหน้าที่ราชการเรื่องการควบคุมบ่อทอง ที่พระปรีชากลการเบิกเงินล่วงหน้า 15,500 ชั่ง แต่กลับผลิตทองได้เพียง 111 ชั่งเศษๆ และข้อกล่าวหาการทุจริตยักยอกทองมาให้ พระยากษาปณกิจโกศล ผู้เป็นบิดา

นอกจากนี้ ก็จะเป็นเรื่องการใช้อำนาจข่มเหงประชาชน เช่นการทรมาน นายเกิด ซึ่งเป็นเสมียนของตนเองจนถึงแก่ความตาย เนื่องจากนายเกิดต้องการร้องเรียนทางการว่าพระปรีชาฯ ทุจริต การยึดที่ดินจากชาวบ้านไปมอบให้คนใกล้ตัว และการปล่อยโจรผู้ร้ายไปปล้นเมืองอื่น

ในหนังสือ ประวัติการจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยังกล่าวว่า พระปรีชาฯ ใช้แรงงานคนอย่างทารุณ เช่น การขุดตอในแม่น้ำซึ่งขวางการเดินเรือ ได้ใช้วิธีเอาง่ามถ่อค้ำคอคนที่ดำน้ำลงไป จนบางคนถึงแก่ความตาย หรือการทรมานนักโทษ ด้วยการกักตัวไว้ในคอกเหมือนเล้าหมูใต้ถุนครัวไฟ ให้ต้องทนทุกข์อยู่ในน้ำครำตลอดเวลา

แต่จากการสืบค้นข้อมูลในคดีดังกล่าวของ สืบแสง พรหมบุญ หลักฐานที่พอจะเอาผิดกับพระปรีชาฯ ได้คือคดีเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานทางบัญชี ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่ควรต้องโทษถึงขั้นประหารหากเทียบเคียงกับกรณีข้าราชการอีกหลายคนที่เคยพัวพันกันการทุจริตมาก่อน ขณะที่ข้อหาพัวพันกับการฆ่าคนนั้นพยานหลักฐานส่วนใหญ่ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ส่วนปัจจัยที่น่าจะมีส่วนสำคัญทำให้ พระปรีชาฯ ต้องโทษหนักถึงขั้นประหารนั้น นายนิวแมน ชาวต่างประเทศที่อยู่ในเมืองไทยสมัยนั้นเคยวิเคราะห์ไว้ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ กระบวนการยุติธรรมของไทยในขณะนั้นไม่เป็นธรรม เพราะยังเป็นระบบไต่สวนที่จำเลยไม่มีสิทธิประกันตัว เพื่อเตรียมพยานหลักฐานในการสู้คดี อำนาจการตัดสินคดีก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารมิได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ

การที่ขุนนางคนสำคัญอย่าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีแต่ต้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ คือผู้ที่กราบทูลกับรัชกาลที่ 5 ให้เอาผิดกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับพระปรีชาฯ เป็นสำคัญ ยิ่งกว่าเรื่องของการทุจริต

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นด้วย โดยเมื่อครั้งที่มีการจับตัวพระปรีชาฯ พระองค์ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาสั่ง พระพิเรนทรเทพย์ เจ้ากรมตำรวจด้วยพระองค์เอง ให้จำตรวนและลงอาญาโบยเสีย 30 ที เพราะเห็นว่าพระปรีชาฯ ทำการดูหมิ่นอาญาแผ่นดินมาก “การกำเริบหมิ่นประมาทและไม่มีความยำเกรงผู้ใหญ่”

และพระองค์ก็เคยมีพระราชดำรัสกับ มร.น็อกซ์ เมื่อโปรดให้เข้าเฝ้าว่า “…ถ้าพระปรีชาฯ กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบตั้งแต่ต้นอาจจะไม่ได้รับผลร้ายเช่นนี้ก็ได้ แต่นี่กลับไม่ได้กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบเลย”

บุคลิกส่วนตัวของพระปรีชาฯ ที่ค่อนข้างดื้อดึง ไม่ให้ความร่วมมือกับการดำเนินคดี ก็ทำให้ไม่มีเหตุอันควรแก่การปรานี

อีกปัจจัยคือการที่พระปรีชาฯ แต่งงานกับแฟนนี่ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดธรรมเนียม และผิดคำสาบานในฐานะขุนนางซึ่งต้องถือน้ำพิพัตน์สัตยา อันมีความตอนหนึ่งว่า “อย่าเอาในไปเผื่อแผ่แก่ไทยต่างด้าวท้าวต่างแดน”

ความไม่พอพระทัยในกรณีของพระปรีชาฯ ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงวางเงื่อนไขสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางที่จะสมรสกับหญิงต่างชาติในการต่อไป ว่าจะต้องกราบทูลให้ทรงทราบ และได้รับพระราชทานบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการสมรสได้ อีกทั้งต้องลาออกจากราชการ สละผลประโยชน์ทั้งหมด โดยผู้นั้นต้องดำรงความเป็นไทย ภรรยาและบุตรก็ต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายไทย

และปัจจัยที่ถือว่าสำคัญที่สุดที่ทำให้โทษของพระปรีชาฯ หนักหนาเกินควร คือบทบาทของ มร.น็อกซ์ ที่พยายามแอบอ้างอำนาจของรัฐบาลอังกฤษมาข่มขู่ให้ปล่อยตัวพระปรีชาฯ ทำให้รัฐบาลไทยต้องแต่งราชทูตไปชี้แจงรัฐบาลอังกฤษ เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด

เมื่อทางอังกฤษไม่ให้การสนับสนุน ด้วยเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว มร.น็อกซ์ ที่ข่มขู่ไทยไว้มากจึงเสียหน้า และยังถูกเรียกตัวกลับ ฝ่ายไทยเองเมื่อถูกข่มขู่ไว้หนัก ก็ย่อมไม่อาจพิจารณาโทษสถานเบาแก่พระปรีชาฯ ได้ เพราะอาจต้องเสียหน้าด้วยเหมือนกัน

ความตายของ พระปรีชากลการ จึงประกอบด้วยหลายปัจจัย การมีเมียแหม่มของพระปรีชากลการอาจไม่เป็นปัญหาเลยก็ได้ หากได้รับพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 5 เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแหม่มรายนั้นมิได้เป็นบุตรสาวของกงสุลน็อกซ์ ทูตเจ้าอารมณ์ที่เรียกเรือปืนมาข่มขู่ว่าจะถล่มกรุงเทพฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สืบแสง พรหมบุญ. “วิเคราะห์เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ไทย” (พิมพ์ครั้งแรก 2526). ตัวจึงตายเพราะได้เมียฝรั่ง, สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.

คึกฤทธิ์ ปราโมช. “ความล้มเหลวของนักวิชาการคนแรก และวิสาหกิจแห่งแรก”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2524.  


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2561